Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านค้านเหมืองทองเลยเรี่ยไร-หาทุนเป็นหลักทรัพย์เตรียมฟังไต่สวนคดีชายนิรนามทำร้ายชาวบ้านเมินประชุมร่วมอำเภอ-ชี้ชุมชนไม่ไว้ใจ

6 ส.ค.2557 เว็บไซต์คนชายข่าว คนชายขอบ(Transborder Reporters) รายงานว่า นางพรทิพย์ หงชัย ชาวบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย สมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ที่คัดค้านเหมืองทองคำ เปิดเผยว่า ในวันนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันประชุมประจำหมู่บ้านเพื่อติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับเหมืองทองคำและหารือการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับเหมืองทองคำ โดยตัวแทนชาวบ้าน 10 คนได้ตกลงนำโฉนดที่ดินและ นส.3 ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ส่วนบุคคล ไปประเมินราคายังสำนักงานที่ดิน จังหวัดเลย เพื่อนำหลักทรัพย์ไปเป็นหลักประกันต่อศาลชั้นต้น เพื่อไต่สวนคดีความกรณีกลุ่มชายนิรนามทำร้ายชาวบ้านวังสะพุง เนื่องจากต้องการเปิดทางให้รถบรรทุกแร่เข้าไปขนแร่จากเหมืองทองคำเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งศาลชั้นต้นได้รับฟ้องมาระยะหนึ่งแล้ว

“นอกจากทุนส่วนนี้ ยังมีทุนเรื่องการต่อสู้คดีนั้น ซึ่งชาวบ้านได้ขอจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม แต่ขั้นตอนล่าช้า และศาลก็นัดไต่สวนวันที่ 22 สิงหาคมนี้แล้ว เรากลัวว่า เงินกองทุนมาไม่ทันการณ์เลยตัดสินใจหาทุนสำรองไว้ เพื่อช่วยพี่น้องที่เป็นคู่คดี และอาจจะต้องระดมทุนสำรองในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีเหมืองทองคำต่อไป เพราะเรายังไม่เชื่อใจคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำที่ได้ตั้งมา โดยไม่มีตัวแทนชาวบ้านและผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนเข้าร่วมด้วย ในกรรมการมีแค่คนมีสี จากหน่วยงานต่างๆ เราไม่เชื่อว่าท่าทีการดำเนินการลักษณะนี้จะสำเร็จและยุติปัญหาได้ วันนี้จึงไม่เข้าหารือตามที่ทางอำเภอวังสะพุงได้เชิญเข้าร่วม ” นางพรทิพย์ กล่าว

นางพรทิพย์ กล่าวด้วยว่า ตามกำหนดการเดิมนั้นวันนี้ชาวบ้านได้รับข่าวสารจากผู้ใหญ่บ้านว่า นายอำเภอวังสะพุงได้นัดประชุมชาวบ้าน6หมู่บ้านเพื่อชี้แจงรายละเอียดตามข้อเสนอ6 ข้อที่ชาวบ้านเคยเสนอไว้ ได้แก่ 1. เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน 2. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย 3. เคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ทั้งหมด ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร4. ขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วออกจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรทั้งหมด 5.ทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 6.ให้ทำการเยียวยาประชาชน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำทุกด้าน

นางพรทิพย์กล่าวว่า ทางอำเภอคณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อประชุมชี้แจงในขั้นตอนและรายละเอียดว่า แต่ละข้อจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนหรือจะสามารถดำเนินการอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้บ้าง โดยทางอำเภอได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละบ้านว่าให้นำชาวบ้านเข้าร่วมหมู่บ้านละ20คน เพื่อรับฟังคำชี้แจงในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายทางอำเภอและคณะกรรมการฯจะประชุมกับ บริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งหลังจากการประชุมในวันที่ 6 แล้วจะมีการนัดเจรจา 2 ฝ่ายในวันที่13สิงหาคม 2557 เพื่อหาข้อตกลงระหว่างชาวบ้านกับเหมืองทองคำ แต่ชาวบ้านตัดสินใจปฏิเสธกิจกรรมดังกล่าว

“คณะกรรมการฯที่แต่งตั้งขึ้นนั้นมีผลงานและการดำเนินการที่ไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านเพราะไม่มีมติสั่งปิดเหมืองตามข้อเสนอ ทั้งที่ชาวบ้านเผชิญกับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองมานานนับสิบปี อย่างไรก็ตามทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการฯ แล้วว่า การแสดงจุดยืนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและประชาชน6หมู่บ้านที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีเจตนาเป็นอื่น แต่เพื่อปกป้องภูเขาแม่น้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อนเอื้อประโยชน์กับประชาชน6 หมู่บ้านในการดำรงชีวิตเท่านั้น” นางพรทิพย์ กล่าว

 

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยันไม่เข้าร่วมคณะกรรมการ 4 ชุด

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ โพสต์โดยระบุว่าเมื่อวันทที่ 4 ส.ค. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้รับข่าวสารจากผู้ใหญ่บ้านว่า นายอำเภอวังสะพุง ได้นัดประชุมชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน เพื่อชี้แจงรายละเอียดตามข้อเสนอ 6 ข้อของชาวบ้าน ได้แก่  (1) เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน (2) เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย

(3) เคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ทั้งหมด ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร  (4) ขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วออกจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรทั้งหมด (5) ทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน  (6)ให้ทำการเยียวยาประชาชน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำทุกด้าน

ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้าน 6 หมู่บ้านได้ประชุมปรึกษาหารือกัน และมีมติจะไม่เข้าร่วมประชุมกับอำเภอและคณะกรรมการฯ ดังกล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net