Skip to main content
sharethis

ผู้ให้บริการสารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียกล่าวในการรายงานความโปร่งใส ครั้งแรกบอกว่ามีกรณีที่กูเกิลแจ้งเตือนพวกเขาว่าจะนำการค้นหาซึ่งนำไปสู่ เนื้อหาบางหน้าเว็บออกไป เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนโดยอ้าง "สิทธิในการถูกลืม" ทำให้พวกเขาวิจารณ์ว่าเป็นการปิดกั้นสื่อและบิดเบือนประวัติศาสตร์


Wikipedia logo silver


6 ส.ค. 2557 จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียเปิดเผยในรายงานความโปร่งใสฉบับแรกว่า กฎหมาย "สิทธิในการถูกลืม" ของสหภาพยุโรปถือเป็น "การปิดกั้นสื่อ" อย่างหนึ่ง

เวลส์เปิดเผยว่าเว็บไซต์กูเกิลถูกร้องเรียนให้นำลิงก์เชื่อมโยงไปสู่วิกิพีเดียออกจำนวน 5 ลิงก์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มูลนิธิวิกิมีเดียซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งตั้งเว็บสารานุกรมให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการผลิตเนื้อหาได้โพสต์แสดงให้เห็นการแจ้งเตือนที่พวกเขาได้รับจากกูเกิล

การแจ้งเตือนดังกล่าวระบุว่าจะมีการนำลิงก์เชื่อมโยงดังต่อไปนี้ออกจากผลการค้นหา ได้แก่ รูปของชายคนหนึ่งกำลังเล่นกีตาร์, ลิงก์บทความเกี่ยวกับอดีตอาชญากรปล้นธนาคารชื่อเกอร์รี ฮัทช์ ซึ่งปัจจุบันออกจากคุกแล้วและหันมาทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาส, รวมถึงหน้าเพจเกี่ยวกับเรนาโต วาลลันซาสกา แก๊งมาเฟียอิตาลี

ในที่ประชุมรายงานความโปร่งใสของมูลนิธิวิกิมีเดีย เวลลส์ยังวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่คิดจะใช้ "สิทธิในการถูกลืม" เพื่อสั่งถอดลิงก์จากเว็บค้นหาไปสู่วิกิพีเดีย โดยบอกว่า "ประวัติศาสตร์เป็นสิทธิมนุษยชน และสิ่งที่แย่ที่สุดที่คนๆ หนึ่งจะกระทำคือการใช้กำลังปิดปากผู้อื่น"

"ผมเองก็เป็นคนที่อยู่ท่ามกลางสายตาของสาธารณะมาได้ช่วงหนึ่งแล้ว บางคนก็พูดเรื่องที่ดี บางคนก็พูดเรื่องไม่ดี นั่นล่ะที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ แล้วผมก็จะไม่ใช้กระบวนการทางกฎหมายใดๆ ที่เป็นการพยายามห้ามปรามพวกเขา" จิมมี่ เวลส์กล่าว

เวลส์โต้แย้งคำสั่งกฎหมาย "สิทธิในการถูกลืม" ว่า การตัดสินใจจัดการลิงก์เชื่อมโยงควรจะเป็น "การตัดสินของบรรณาธิการ" เช่นเดียวกับที่หนังสือพิมพ์เลือกว่าเรื่องใดควรขึ้นหน้าหนึ่ง และการแทรกแซงของรัฐในการตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการปิดกั้นสื่อ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางกูเกิลกล่าวยืนยันมาโดยตลอดว่าพวกเขาไม่ต้องการใช้สิทธิ "การตัดสินของบรรณาธิการ" ในการปรับเปลี่ยนผลการค้นหาและอยากให้เน้นใช้ "ความเป็นกลาง" ของเครื่องมืออัตโนมัติในการตัดสินผลการค้นหา

จีออฟ บริกแฮม ที่ปรึกษาทั่วไปของวิกิพีเดียกล่าวว่ามีอีกหลายลิงก์เชื่อมโยงที่ถูกนำออกจากการค้นหาโดยที่วิกิพีเดียไม่ได้รับรู้เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับให้เว็บค้นหาต่างๆ ต้องส่งประกาศเตือนให้กับเว็บที่ถูกนำผลการค้นหาออก ซึ่งบริกแฮมคิดว่าเรื่องนี้ขาดความโปร่งใสในเชิงนโยบาย

ทางด้านไลลา เตรติคอฟ ผู้อำนวยการบริหารของมูลนิธิวิกิมีเดียกล่าวว่า คำตัดสินอนุญาต "สิทธิในการถูกลืม" โดยศาลยุโรปเป็นการสร้าง "ช่องโหว่ความทรงจำ" แบบเดียวกับในนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์ เพราะทำให้ผลการค้นหาส่วนหนึ่งหายไปจากสายตาของชาวยุโรปโดยไม่มีคำอธิบาย ไม่มีการพิสูจน์อย่างแท้จริง ไม่มีการพิจารณาจากศาล และไม่มีขั้นตอนการอุทธรณ์

"พวกเราไม่สามารถสร้างพื้นที่รวบรวมความรู้ของมนุษย์ไว้ได้โดยไม่มีแหล่งข้อมูลที่แท้จริงที่มาจากประวัติศาสตร์ก่อนหน้าที่จะถูกบิดเบือน" เตรติคอฟกล่าว

ขณะเดียวกันทางมูลนิธิวิกิมีเดียก็ยอมรับว่าควรจะมีการแก้ไขข้อมูลให้กับคนที่ถูกระบุข้อมูลผิดพลาดแล้วมีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้กฎหมายว่าด้วยการใส่ร้ายป้ายสี แต่ผู้บริการวิกิมีเดียทั้ง 3 คนต่างยืนยันว่าข้อมูลที่ถูกต้องแม้จะล้าสมัยไปแล้วก็ยังควรจะคงอยู่ในอินเทอร์เน็ตต่อไป และควรมีการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ค้นหาเช่นกูเกิล

นอกจากวิกิพีเดียแล้ว บริษัทไอที เช่น ทวิตเตอร์, แอปเปิล และทัมเบลอร์ ต่างก็เปิดเผยข้อมูลเรื่องที่พวกเขาได้รับการร้องเรียนจากตัวแทนของรัฐให้นำเนื้อหาและข้อมูลของผู้ใช้ออกจากเว็บ

ในรายงานความโปร่งใสของวิกิมีเดียระบุว่าระหว่างช่วงเดือน ก.ค. 2555 ถึง มิ.ย. 2557 ทางวิกิมีเดียได้รับคำร้อง 304 คำร้องให้นำเนื้อหาออกจากเว็บหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่วิกิมีเดียไม่ได้ปฏิบัติตามคำร้องใดๆ เช่น ในกรณีที่มีคนเรียกร้องให้นำรูปลิงถ่าย 'เซลฟี่' (การถ่ายภาพตัวเอง) ออกจากเว็บเพราะอ้างว่ารูปนี้มีลิขสิทธิ์จากช่างภาพที่เป็นผู้โพสต์รูป แต่ทางเว็บวิกิพีเดียโต้แย้งว่าช่างภาพนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพนี้

อีกตัวอย่างคำร้องเรียนหนึ่งมาจากศูนย์ภาษาชาวพื้นเมืองทัสมาเนียซึ่งเรียกร้องให้นำบทความเรื่อง "pawala mani" ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษออกโดยอ้างว่าพวกเขามีลิขสิทธิ์ด้านภาษา แต่ทางวิกิมีเดียระบุว่า "กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่สามารถนำมาอ้างให้คนหยุดใช้ภาษาทั้งหมดได้ หรืออ้างไม่ให้คนถกเถียงเกี่ยวกับภาษานั้นๆ ได้"

นอกจากนี้ยังมีคำร้องจำพวกที่ขอข้อมูลส่วนบุคคล 56 ครั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งวิกิมีเดียปฏิบัติตามเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น โดยที่วิกิมีเดียยังไม่เคยถูกขอข้อมูลส่วนบุคคลด้วยข้ออ้างด้านกฎหมายเช่น จดหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Letters - NSLs) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบังคับให้เปิดเผยข้อมูล การประกาศตัวเองในครั้งนี้ของวิกิมีเดียจึงคล้ายเป็นการรับประกันว่าพวกเขาไม่ได้ทำงานช่วยเหลือคนของทางการ

 

เรียบเรียงจาก

Wikipedia swears to fight 'censorship' of 'right to be forgotten' ruling, The Guardian, 06-08-2014
http://www.theguardian.com/technology/2014/aug/06/wikipedia-censorship-right-to-be-forgotten-ruling

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Gerry_Hutch

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net