สมองคนเราทำงานอย่างไร เวลาที่อยากลงโทษคนอื่น

เมื่อเรื่องของสมอง ถูกเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ นักวิจัยพบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ของคนจะถูกกระตุ้นอย่างมากเมื่อมีการสื่อให้เห็นการกระทำผิดอย่างจงใจและการบรรยายสะเทือนขวัญ แต่ในกรณีที่ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจสมองส่วนอื่นก็จะพยายามควบคุมสมองส่วนอารมณ์ที่อยากสั่งลงโทษผู้อื่น
 
9 ส.ค. 2557 วารสารเนเจอร์นิวโรไซเอนซ์เผยแพร่บทความสรุปผลการวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมองกับการตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดในวารสารของฉบับวันที่ 3 ส.ค. โดยระบุว่า หลายส่วนของสมองมีการทำงานในเชิงขับเคี่ยวกันเพื่อตัดสินใจว่าควรจะตัดสินโทษผู้กระทำผิดอย่างไรให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามหลักยุติธรรม
 
ผลการวิจัยระบุว่าผู้เข้ารับการทดลองมักจะเรียกร้องให้มีการลงโทษอย่างหนักเมื่อความผิดที่ก่อขึ้นเป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้อื่นและมีการให้รายละเอียดที่น่าสยดสยอง แต่ถ้าหากทราบว่าอันตรายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่ตั้งใจ พื้นที่สมองบางส่วนก็จะตอบสนองในเชิงข้ามพ้นความรู้สึกเหล่านี้ได้ไม่ว่าเหตุการณ์จะสะเทือนขวัญเพียงใดก็ตาม
 
ในการทดลองอาศัยอาสาสมัครเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน โดยให้พวกเขาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ชื่อจอห์น ผู้ได้กระทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสตีฟและแมรี่ในการจำลองสถานการณ์หลายแบบ โดยความเสียหายในแต่ละสถานการณ์แตกต่างกันตั้งแต่การทำให้เสียชีวิต ทำให้พิการ ทำร้ายร่างกาย และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของพวกเขา นอกจากนี้ยังแบ่งการจำลองเรื่องราวให้ครึ่งหนึ่งเป็นการกระทำอย่างจงใจ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องไม่ได้ตั้งใจ
 
ในขณะที่ให้กลุ่มตัวอย่างอ่านเนื้อเรื่องเหล่านี้ก็มีการตรวจสมองของพวกเขาด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI เพื่อดูว่าส่วนไหนของสมองที่ทำงาน
 
เนื้อเรื่องฉบับหนึ่งระบุถึงการเสียชีวิตอย่างน่าสยดสยองว่า "สตีฟตกลงไปที่ก้อนหินเบื้องล่าง กระดูกของเขาแทบทั้งหมดในร่างกายหักหมดในตอนที่กระทบพื้น เสียงกรีดร้องของสตีฟถูกกลบด้วยเลือดที่แตกเป็นฟองหนาไหลออกมาจากปากในขณะที่เขากำลังจะเสียชีวิตจากการที่เลือดไหลออกจากร่างกาย"
 
นักวิทยาศาสตร์พบว่าเพื่อมีการบรรยายถึงการเสียชีวิตในลักษณะเช่นนี้ อาสาสมัครในการทดลองมักจะเรียกร้องให้มีการลงโทษหนักขึ้นมากกว่าการบรรยายถึงเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึก อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเรื่องกล่าวถึงการเสียชีวิตที่มาจากความจงใจทำเท่านั้น
 
"การกระตุ้นด้วยภาษาที่มีอารมณ์ความรู้สึกไม่มีผลต่อการเรียกร้องลงโทษในกรณีที่ผู้สร้างความเสียหายไม่ได้จงใจกระทำ" ไมเคิล ทรีดเวย์ นักวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดในรัฐบอสตันกล่าว
 
กล่าวคือ ในเนื้อเรื่องตามที่บรรยายมาข้างต้นอาสาสมัครในการทดลองจะมีความรู้สึกอยากลงโทษจอห์นน้อยกว่า ถ้าหากจอห์นทำผิดพลาดแบบไม่ได้ตั้งใจด้วยการที่เชือกเลื่อนหลุดมือ เทียบกับในกรณีที่จอห์นจงใจปล่อยมือจากเชือก
 
การวัดการทำงานของสมองในกลุ่มตัวอย่างระบุว่า เมื่อพวกเขาทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากความจงใจ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นอารมณ์เช่นสมองส่วน 'อมิกดาลา' จะมีการตอบสนองมากขึ้นเมื่อได้อ่านภาษาที่บรรยายอย่างสะเทือนขวัญ นอกจากนี้สมองในส่วนกระตุ้นอารมณ์เหล่านั้นยังมีการสื่อสารกับสมองส่วนที่ชื่อ 'ดอร์โซเลเทอรอล พรีฟรอนทอล คอร์เท็กซ์' ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหน้า มีความสำคัญในเรื่องการตัดสินใจลงโทษ
 
ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากการเสียชีวิตของคนในเนื้อเรื่องเกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ สมองส่วนอมิกดาลาจะไม่ตอบสนองต่อการใช้คำบรรยายสะเทือนขวัญ และดูเหมือนจะถูกควบคุมโดยสมองส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลเรื่องเจตนาของคนอื่น จนส่งผลต่อการตัดสินใจ
 
ดร.เรเน มาโรยส์ ศาตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแลนเดอบิลต์ ผู้ร่วมเขียนรายงานการวิจัยกล่าวว่า มนุษย์มีพื้นฐานอยากลงโทษการกระทำที่เป็นอันตราย แม้ว่าเหยื่อจะเป็นคนที่พวกเขาไม่รู้จักเลยก็ตาม สิ่งที่สำคัญเท่าๆ กันอีกประการหนึ่งคือมนุษย์ยังมีความสามารถในการยับยั้งความคิดหุนหันพลันแล่นเมื่อรู้ว่าการกระทำเสียหายที่เกิดขึ้นกระทำโดยไม่ได้ตั้งใจ
 
นักวิจัยระบุว่าส่วนที่หยุดความคิดหุนหันพลันแล่นได้นั้นเป็น "กลุ่มเชื่อมโยงควบคุม" ในสมองซึ่งไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง พวกเขาสรุปอีกว่างานวิจัยชิ้นนี้อาจนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นนอกจากอาชญวิทยา อย่างเช่นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้
 
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยออกตัวว่าพวกเขาไม่สามารถระบุได้ถึงตัวแปรเรื่องยุคสมัยและวัฒนธรรมว่ามีส่วนในการตัดสินใจหรือไม่ เช่น ในบางวัฒนธรรมอาจจะมีการลงโทษอย่างหนักกับผู้ก่ออาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น การตัดมือคนขโมยขนมปังผู้กำลังอดอยาก
 
เรียบเรียงจาก
 
How the Brain Picks Punishments, Livescience, 06-08-2014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท