Skip to main content
sharethis

แอปพลิเคชันตัวใหม่ล่าสุดที่ให้ผู้ใช้ช่วยกันรายงานสภาพพื้นที่ที่รู้สึกแปลก ไม่น่าไว้วางใจหรืออันตราย ลงในแผนที่ ถูกสื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะเหยียดสีผิว เนื่องจากอาจถูกใช้เหมารวมคนในย่านหนึ่งๆ ด้วยอคติ แต่ผู้พัฒนาแอปฯ ก็พยายามแก้ข้อกล่าวหา โดยบอกว่าเป็นแอปฯ ที่ทุกคนใช้ได้


10 ส.ค. 2557 โปรแกรมแอปพลิเคชันชื่อ 'สเก็ตช์แฟกเตอร์' (SketchFactor) ซึ่งให้ผู้ใช้งานสามารถรายงานสภาพในพื้นที่ซึ่ง "ให้ความรู้สึกแปลกๆ" ให้กับผู้ใช้รายอื่นๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ

แอปพลิเคชันมือถือ 'สเก็ตช์แฟกเตอร์' เป็นโปรแกรมที่ให้ผู้ใช้สามารถระบุสิ่งที่ตนเองรู้สึกเกี่ยวกับสถานที่ "ให้ความรู้สึกแปลกๆ" และมีการให้คะแนนลงในแผนที่ได้ ซึ่งจะขึ้นเป็นรูปใบหน้าสีต่างๆ ปรากฏในแผนที่ เช่น ระบุว่าในพื้นที่ซอยหนึ่งมีคนตัวใหญ่ๆ น่ากลัวๆ อยู่ในแถบพื้นที่นั้น หรือมีอยู่รายหนึ่งที่ระบุถึงแหล่งพักพิงคนจนหรือคนไร้บ้านว่า "คนที่อาศัยอยู่ออกมาสังสรรค์กันด้านหน้าอาคารและดูเหมือนจะไม่มายุ่งกับคนอื่น แต่มันก็ชวนให้รู้สึกไม่สบายใจ"

สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์รายงานถึงแอปพลิเคชันนี้ในเชิงตำหนิว่า เป็นโปรแกรมที่ผลิตโดยคนผิวขาวเพื่อทำให้ย่านของคนผิวสี "ดูแปลกๆ" ซึ่งเว็บล็อกของทีมงานสเก็ตช์แฟกเตอร์ระบุว่าสิ่งที่ "ให้ความรู้สึกแปลกๆ" หมายถึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สบายใจและดูผิดปกติ

แซม บิดเดิล บล็อกเกอร์ของเว็บ Gawker วิจารณ์ไปในทำนองเดียวกัน เขาระบุในบทความว่า คำว่า "ให้ความรู้สึกแปลกๆ" หรือ "sketchy" เป็นคำที่วัยรุ่นผิวขาวใช้บรรยายถึงสถานที่ๆ พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งการใช้คำแบบนี้มักจะเป็นการพูดถึงย่านที่มีคนผิวสีอาศัยอยู่จำนวนมาก

แอปพลิเคชันนี้พัฒนาโดยอัลลิสัน แมคไกวร์ และแดเนียล เฮอร์ริงตัน ซึ่งเป็นคนผิวขาวทั้งคู่ แต่พวกเขาก็กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อฮัฟฟิงตันโพสต์ว่า ในแอปพลิเคชันนี้มีระบบโหวตให้คะแนนหรือลดคะแนนซึ่งจะทำให้โพสต์ที่มีลักษณะเหยียดเชื้อชาติอย่างหนักมีอยู่ไม่มาก และนอกจากเรื่องสุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับอาชญากรรมแล้วผู้ใช้ยังสามารถใช้ค้นหาเกี่ยวกับเรื่อง "ปรากฏการณ์ประหลาด" หรือ "ภาวะการเรื่องเชื้อชาติ" ได้ด้วย

แมคไกวร์อ้างว่ามันเป็นเรื่องดีที่มีการเตือนคนก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ภารกิจในชีวิตของเธอคือการทำให้คนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงได้มีสิทธิมีเสียงจากการใช้โปรแกรมผ่านสมาร์ทโฟน เธอบอกอีกว่าแอปพลิเคชันนี้ไม่ได้จำกัดให้คนผิวขาวใช้ได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใดก็สามารถใช้ได้ อีกทั้งยังยืนยันว่าแม้เธอและเฮอร์ริงตันจะเป็นคนผิวขาวที่ยังอายุไม่มาก แต่ไม่ได้ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายแค่คนวัยเดียวกันและสีผิวเดียวกัน

ทางด้านเฮอร์ริงตันกล่าวว่าเป้าหมายหลักๆ ของแอปพลิเคชันนี้คือให้ทุกคนได้นิยามคำว่า "ให้ความรู้สึกแปลกๆ" ในแบบของตัวเองได้

หลังถูกสื่อวิจารณ์พวกเขาก็โพสต์ในเว็บไซต์ของตนเองว่า "มันไม่ใช่ความลับ พวกเราเห็นสื่อกล่าวถึงในเชิงแย่ๆ มาแล้ว" โดยในเนื้อหามีการตัดพ้อว่าผู้คิดค้นแอปพลิเคชันนี้โดนกล่าวโจมตีตัวบุคคล และอ้างว่าสื่อที่โจมตีพวกเขาไม่ได้สัมภาษณ์พวกเขาเลย อีกทั้งยังยืนยันว่าแอปพลิเคชันของพวกเขามีไว้สำหรับทุกคน

ก่อนหน้านี้เคยมีโปรแกรมที่อาศัยข้อมูลจากผู้ใช้เพื่อรายงานในรูปแบบเดียวกับสเก็ตช์แฟกเตอร์มาก่อน คือเว็บไซต์ชื่อ 'เก็ตโต้แทรกเกอร์' (GhettoTracker) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเหยียดเชื้อชาติเช่นกัน เนื่องจากการอนุญาตให้แปะป้ายย่านต่างๆ ว่าเป็นย่าน "ชุมชนแออัด" หรือ "ghetto" ได้ โดยมาจากความรู้สึกของผู้ใช้แทนข้อมูลสถิติอาชญากรรมของทางการ ต่อมาเว็บไซต์นี้ก็ปิดตัวลงในที่สุด

ไมโครซอฟต์เองก็มีโปรแกรมแบบเดียวกัน ในปี 2555 ไมโครซอฟต์ได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ในขณะที่เดินทางไปพื้นที่นั้นๆ ผ่านระบบแผนที่ของ Bing ซึ่งมีการตั้งชื่อสิทธิบัตรว่า สิทธิบัตรจีพีเอสหลีกเลี่ยงแหล่งเสื่อมโทรม (avoid ghetto)

แต่ก็มีแอปพลิเคชันจำพวกนี้บางแอปฯ ที่ประสบความสำเร็จเนื่องจากใช้วิธีการเน้นไปที่ชุมชนโดยเฉพาะ เช่น แอปพลิเคชันชื่อ เน็กซ์ดอร์ (Nextdoor) ซึ่งเป็นโปรแกรมเครือข่ายสังคมที่เน้นการสื่อสารกันของคนในย่านชุมชนเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องในท้องถิ่น รวมถึงเรื่องการรายงานอาชญากรรมและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

ผู้เชี่ยงชาญบอกว่า ปัจจัยสำคัญของแอปพลิเคชันเหล่านี้อยู่ที่ตัวผู้ใช้เอง

"เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ดีได้ขึ้นอยู่กับทั้งสังคมผู้ใช้และผู้พัฒนา" ซีตา ปีนา กันกาดารัน ผู้ช่วยนักวิจัยระดับสูงที่สถาบันเทคโนโลยีของมูลนิธินิวอเมริกากล่าว

"เครื่องมืออย่างสเก็ตช์แฟกเตอร์อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือชุมชนในการสร้างความปลอดภัยได้อย่างดีเยี่ยมมาก โดยให้ผู้คนสามารถแชร์เรื่องราวต่างๆ ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบท คุณอาจจะนึกถึงชุมชนที่มีแนวโน้มหวาดกลัวคนนอกอย่างไม่มีเหตุผล หรือมีแนวโน้มอย่างมากที่จะใช้แอปฯ เช่นนี้ไปในทางเสริมสร้างอคติที่มีอยู่แล้ว" กันกาดารันกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

SketchFactor app for unsafe areas in racism row, BBC, 08-08-2014
http://www.bbc.com/news/technology-28712227

White People Create App To Avoid, Um, 'Sketchy' Areas, The Huffington Post, 08-08-2014
http://www.huffingtonpost.com/2014/08/08/sketchfactor-app-white-creators_n_5660205.html

Smiling Young White People Make App for Avoiding Black Neighborhoods, Gawker, 07-08-2014
http://valleywag.gawker.com/smiling-young-white-people-make-app-for-avoiding-black-1617775138

Going to a sketchy neighborhood? New app called SketchFactor will tell you, NY Daily News, 07-08-2014
http://www.nydailynews.com/news/national/new-sketchfactor-app-shows-streets-safe-article-1.1896091

เว็บไซต์ 'สเก็ตช์แฟกเตอร์'
http://www.sketchfactor.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net