Skip to main content
sharethis

"เรียนเล่นเล่น" โปรเจ็คใหม่ของเว็บไซต์ประชาไท ที่จะชวนผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยในประเด็นที่น่าสนใจทุกวันศุกร์ต้นเดือน ครั้งแรกนี้ จับกระแสการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในอินโดนีเซีย ในหัวข้อ "ประชาธิปไตยอินโดนีเซีย จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด: ผลผลิตจากการกระจายอำนาจ การดิ้นรนของเครือข่ายเผด็จการทหาร" วิทยากรโดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วย วิษณุ ตรี ฮังโกโร ผู้จัดการโครงการพัฒนาสื่อจากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) และโดดี ปริอัมโบโด เจ้าหน้าที่โครงการเทคโนโลยีและธรรมาภิบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATTI) จากอินโดนีเซีย ดำเนินรายการโดย พิณผกา งามสม บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท

วิดีโอจากการเสวนา "เรียนเล่นเล่น" ตอน "  "ประชาธิปไตยอินโดนีเซีย จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด: ผลผลิตจากการกระจายอำนาจ การดิ้นรนของเครือข่ายเผด็จการทหาร" 

อรอนงค์ ทิพย์พิมล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิณผกาเริ่มด้วยคำถามว่า ทำไมต้องสนใจอินโดนีเซีย และการเปลี่ยนตัวผู้นำจะส่งผลต่อนโยบายอาเซียนหรือไม่

อรอนงค์ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่ออาเซียน โดยเปรียบเทียบว่า เวลาที่พรรคการเมืองในไทยอย่างพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์แถลงนโยบายอะไร ก็ไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรต่อประเทศในอาเซียน แต่ก็อาจส่งผลต่อบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยที่โปร่งใส

ถามต่อว่า ช่วงที่ไทยมีรัฐประหาร ผู้นำในอาเซียนคนเดียวที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยคือ ซูซิโล บัมบัง ยุดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน หากเป็นโจโกวี เขาจะพูดเรื่องนี้ไหม

อรอนงค์มองว่า โจโกวีอาจจะดีกว่า ซูซีโล บัมบัง ยุดโยโน ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีพื้นฐานจากสายทหาร แต่เป็นนักการเมืองที่มาจากธุรกิจที่ไม่ได้มีทุนหนา หรือทุนใหญ่ เขาคงไม่เห็นด้วยรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เตือนว่าอย่าลืมว่าเราคืออาเซียน เขาคงไม่พูดมากกว่าที่อาเซียนจะทำ

ขณะที่วิษณุเชื่อว่า แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร แต่ก็จะคงความร่วมมือกันต่อไป

 

โจโกวี-ผลผลิตของการกระจายอำนาจ

โดดี ปริอัมโบโด จาก SEATTI ประเทศอินโดนีเซียร่วมวงเสวนา

คำถามต่อมาคือ เราสามารถกล่าวได้ไหมว่า โจโกวีคือผลผลิตการกระจายอำนาจ จากสายตาคนนอก การต่อสู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ โจโกวี เป็นผู้ว่ากรุงจาการ์ตา มีภาพคนรุ่นใหม่ ติดดิน เข้าถึงผู้คนมากขึ้น จะสรุปได้ไหมว่าเขาเป็นตัวแทนของคนที่มาจากผลผลิตของการกระจายอำนาจ

โดดีกล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าโจโกวีเป็นผลผลิตของการกระจายอำนาจเสียทีเดียว แต่มีคาแรกเตอร์ มีเสน่ห์ส่วนตัว มีเครือข่าย ไม่ได้แย่มาก แต่ก็ไม่ได้ดีอย่างที่เคลม

วิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจหรือไม่นั้นก็ยากจะพูด เพราะภายใต้ระบอบซูฮาร์โต ทุกอย่างอยู่ในภาวะอำนาจรวมศูนย์มานาน และเครือข่ายเครือญาติของซูฮาร์โตก็สามารถขยายอิทธิพลไปยังการเมืองระดับท้องถิ่นด้วย ดังนั้นอินโดนีเซียต้องการเวลากระจายอำนาจออกไป ซึ่งไม่ใช่การกระจายอำนาจทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องในทางเศรษฐกิจด้วย โดยยกตัวอย่างว่าตอนนี้ งบประมาณของประเทศ 70% ยังอยู่ที่จาการ์ตา

วิษณุ มองว่า ปรากฏการณ์โจโกวีไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการต่อเนื่องของภาคประชาสังคมอินโดนีเซีย ในการต่อต้านซูฮาร์โต โดยเป็นการกลับมารวมตัวของนักกิจกรรมยุค 1980-1990 ในยุคนั้น ภาคประชาสังคมอ่อนแอ และมีการสร้างภาคประชาสังคมที่สนับสนุนรัฐบาลยุคระเบียบใหม่ขึ้นมา ครั้งนี้ ถ้าโจโกวีไม่ชนะ ระบอบซูฮาร์โตอาจจะกลับมาก็ได้

ขณะที่อรอนงค์บอกว่า แม้จะเห็นด้วยกับข้อสังเกตเรื่องปรากฏการณ์ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง แต่ก็มองต่างว่า ด้านหนึ่งก็มีคนไม่เอาระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตด้วย อย่างไรก็ตาม คะแนนของทั้งสองไม่ได้ทิ้งห่างกันมาก คนที่เลือกโจโกวีก็ไม่ได้แปลว่าไม่เอาระเบียบใหม่ทั้งหมด

 

โจโกวี ไม่เอาทหาร?

เมื่อถามว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงประชามติปลดเปลื้องไม่เอาเครือข่ายทหารที่มีมาตลอดเกือบ 30 ปีหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนจะมีการเรียกหาระบบระเบียบเผด็จการ โดยยกกรณีที่ปักกึนเฮ ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีเผด็จการปักจุงฮี ชนะการเลือกตั้ง เหล่านี้เป็นการโหยหาระเบียบเก่า สังคมเป็นระเบียบ เห็นแนวทางบริหารชัดเจนของผู้คนในยุคปัจจุบันด้วยหรือเปล่า

อรอนงค์ชี้ว่า คนที่เลือกปราโบโว ไม่ได้แปลว่าเอาระบอบเผด็จการหรือทหารทั้งหมด โดยอธิบายว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตหลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจไปแล้ว พวกเขานึกไม่ออกว่าอะไรคือระเบียบใหม่ ซูฮาร์โตคือใคร เขาเป็นทั้งนักธุรกิจและทหาร ขณะที่ภาพคำว่าทหารของคนอินโดนีเซีย แม้จะมีการละเมิดสิทธิเยอะ แต่ทหารก็คือกลุ่มคนให้กำเนิดชาติอินโดนีเซีย เขาสลัดคุณความดีนี้ไม่พ้น ทหารเป็นผู้มีบุญคุณต่อชาติ มีทั้งเงินและบารมี คนส่วนหนึ่งต้องการได้คนที่เข้มแข็ง มีความเป็นชาตินิยม มีนโยบายชัดเจน กล้าตัดสินใจ รวมถึงเป็นอิสลาม ซึ่งข้อนี้มีส่วนเพราะแม้ว่าอินโดนีเซียจะไม่ใช่รัฐศาสนา แต่ก็เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมเยอะที่สุดในโลก นอกจากนี้ อินโดนีเซียเปรียบเหมือนประเทศผู้ชาย มีลักษณะของความเป็นผู้ชายมาก จึงต้องการคนที่กล้าหาญ มาปกครอง

อรอนงค์ชี้ด้วยว่า การชนะเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ก็น่าสนใจ โดยปราโบโวซึ่งเป็นทหาร ชนะในอาเจะห์ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาก่อน ทั้งที่ในยุคที่มีปฏิบัติการทางทหาร ชาวบ้านเกลียดทหารมาก แต่วันนี้ อาเจะห์เลือกทหารเป็นผู้นำ มีการวิเคราะห์ว่า ปราโบโว คือพรรคอาเจะห์ ที่พัฒนามาจากขบวนการที่จะแยกตัวออกไป ซึ่งเป็นสมาชิกกับซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ซึ่งตอนนี้หนุนปราโบโว และด้วยแนวคิดก็เป็นทหาร วิธีสั่งการก็เป็นแบบจากบนลงล่าง แกนนำพรรคสั่งอย่างไร ผู้ร่วมก็ทำตามนั้น

ด้านโดดีบอกว่า การที่ปราโบโวชนะเพราะใช้สื่อด้วย โดยในยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตนั้น สื่อตกอยู่ในมือทหารเกือบหมด ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีการใช้สื่อโจมตีโจโกวีเต็มที่ เช่น ขาดประสบการณ์ เป็นอิสลามไม่พอ บ้างก็ว่าเป็นคริสเตียน ซึ่งประเด็นเรื่องศาสนานี้ขายได้ เพราะก่อให้เกิดคำถามว่า คนในอินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากที่สุดในโลกจะรับได้ไหมที่จะมีผู้ปกครองที่ไม่ใช่อิสลาม นอกจากนี้ ยังโจโกวียังถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย ทั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์และผู้ที่ถูกบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ถูกกวาดล้างไปแล้วตั้งแต่ปี 1986

 

บทบาทภาคประชาสังคมอินโดนีเซีย

เมื่อถามว่า ในบริบทที่อินโดนีเซียดูเหมือนก้าวไปข้างหน้า แต่ก็ยังมีกลุ่มพลังอนุรักษนิยมอยู่เยอะ รวมถึงมีกลุ่มเคร่งหรือคลั่งศาสนาเยอะด้วย อินโดนีเซียจัดการภาวะเห็นต่างแบบนี้อย่างไร

อรอนงค์ออกตัวว่าขอมองโลกแง่ดีว่าแม้จะมีปรากฏการณ์เผาหนังสือฝ่ายซ้าย มีการข่มขู่ ประทุษร้ายทางร่างกาย แต่ในภาพใหญ่ สำนึกการเติบโตของภาคประชาสังคมสำคัญมาก มีการสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้อินโดนีเซียไม่กลับไปเป็นแบบนั้นอีก และอีกเรื่องคือ ในสังคมอินโดนีเซีย มีความอดทนอดกลั้นสูง ทนต่อความต่างได้เยอะกว่าที่คิด เรื่องกฎหมายอย่างชารีอะห์ในอาเจะห์ ก็ถูกสื่อขยายใหญ่โตเกินไป หรืออย่างเรื่องกลุ่มศาสนา ถ้าดูจะเห็นว่า ผู้นำศาสนาในปอเนาะเล็กๆ ก็อาจจะเลือกโจโกวีก็ได้

เมื่อเล่าถึงภาคประชาสังคมอินโดนีเซีย วิษณุเท้าความว่า ตอนที่ซูฮาร์โตขึ้นสู่อำนาจ ในปี 1966 นักศึกษาต่างสนับสนุนเขา เพราะหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แต่ไม่นาน นักศึกษาก็เริ่มรู้สึกว่าเขาจะอยู่ในอำนาจนานแน่ๆ และเริ่มมีความเป็นเผด็จการใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ในปี 1974 จึงมีการประท้วง ตามมาด้วยการปราบปรามโดยรัฐ ขณะที่นักศึกษาไม่หนี แต่ตั้งกลุ่มอภิปรายเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และเคลื่อนไหวมาตลอด พอปี 1998 ซึ่งอินโดนีเซียมีคำถามว่า จะปฏิรูปหรือจะปฏิวัติ ภาคประชาสังคมมองว่า หากปฏิวัติจะนองเลือดและเสียหายมาก จึงเลือกปฏิรูป ซึ่งก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก็มีการแก้ไขกฎหมายสื่อ ซึ่งยุคซูฮาร์โต จะถูกยึดใบอนุญาต ถ้าวิจารณ์รัฐบาลหนัก

โดดีเสริมว่า โจโกวีมีนโยบายมองไปข้างหน้า ให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ดึงเอ็นจีโอมาทำงานร่วมกัน ไม่ได้มองว่า เอ็นจีโอเป็นศัตรู โดยดูจากการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ ตอนเป็นผู้ว่ากรุงจาการ์ตา

 

การเลือกข้างของสื่อ

ด้านบทบาทสื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ วิษณุ เล่าว่า บทบาทสื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมากในการให้ข้อมูลกับประชาชน สื่อแบ่งออกเป็นสองฝั่งและประกาศตัวชัดเจนว่าสนับสนุนใคร โดยสื่อหลักจะหนุนปราโบโว ขณะที่สื่อเล็กๆ หัวก้าวหน้า ประกาศตัวหนุนโจโกวี แต่ตอนหลัง เริ่มมีการโจมตีโจโกวีเยอะ และมีเฮทสปีช มีการโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์ ให้ข้อมูลบิดเบือน ส่งผลให้สื่อทางเลือกที่พยายามวางตัวเป็นกลางเช่น จาการ์ตาโพสต์ ประกาศตัวหนุนโจโกวี โดยเมื่อเขาสอบถามไปทางอดีต บก.บห.จาการ์ตาโพสต์ ก็ได้ความว่า เขาไม่อาจเป็นกลางได้อีกต่อไป และเมื่อเลือกข้างแล้ว ก็ขอประกาศตัวไปเลยดีกว่า

โดดีเสนอว่า จากกรณีนี้ ทำให้เห็นว่าอินโดนีเซียยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบบังคับสื่อว่าจะสามารถร่วมแคมเปญ หรือมีส่วนในการเลือกตั้งแค่ไหน อินโดนีเซียยังต้องทำการ้บานมากขึ้น รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของสื่อ เพราะยังมีนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการรณรงค์การเลือกตั้ง

ผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่งถามว่าจากผลการเลือกตั้ง มีลักษณะประชากรของสองพรรคต่างกันอย่างไร วิษณุ บอกว่า ความต่างไม่ใช่เรื่องชนชั้น แต่เป็นเรื่องศาสนามากกว่า โดยโจโกวี จะอยู่ฝั่งเสรี หรืออยู่กลางๆ แต่ปราโบโว จะมีภาพสุดโต่ง เรื่องศาสนา ไม่ว่าอิสลามหรือคริสเตียน อย่างไรก็ตามผู้คนก็จะซื้อภาพความเป็นมุสลิมมากกว่า

มีคำถามว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เสียงก็ไม่ขาด สื่อก็ไม่หนุน จะเกิดการกดดันจนถึงทางตันทางการเมือง ในการเมืองอินโดนีเซียหรือไม่ หรือถึงทางตันแล้วจะมีช่องทางพิเศษอื่นอีกไหม ที่จะทำให้ประชาธิปไตยอินโดนีเซียสะดุด จากคำถามดังกล่าว อรอนงค์ ชี้ว่า การที่ทหารจะลุกมายึดอำนาจอีกเป็นศูนย์ พวกเขาไม่เคยมาแบบยึดอำนาจ และไม่มีข้ออ้างอะไรมาอ้างยึดอำนาจได้

ด้าน วิษณุ เล่าว่า ในปี 1998 คิดกันว่า ทหารจะแทรกแซงการเมือง แต่ทหารก็ไม่เข้ามา ยุคเมกาวาตี ซูการ์โน ปุตรี คนคิดกันว่า ทหารจะมาแทรกแซงทาง แต่ก็ไม่ออกมา และจนถึงจุดนี้ก็ไม่น่าจะมีการแทรกแซงแล้ว ส่วนประเด็นโจมตีนั้นมีแน่ๆ แต่ก็คิดว่าสื่อจะไม่รีบโจมตีโจโกวีมากนัก อาจจะปล่อยให้บริหารประเทศไปก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net