Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
'บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล' นำชมพร้อมบทวิเคราะห์นิทรรศการ “Bekeerd: Moslim Worden, Moslim Zijn” (Converted: Becoming Muslim, Being Muslim) หรือในภาษาไทย “เปลี่ยนศาสนา: การกลายเป็นมุสลิม, ความเป็นมุสลิม” ที่เนธอร์แลนด์  
 
 
 
“ความเป็นมุสลิม” ในประเทศยุโรปตะวันตกอย่างเนเธอร์แลนด์เป็นประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมที่มีการพูดคุยถกเถียงกันทั้งในชีวิตประจำวัน การกำหนดนโยบายของประเทศ และในแวดวงวิชาการมาตลอด ซึ่งเป็นผลพวกจากการอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มคนจากประเทศมุสลิมอย่างตุรกีและโมร็อกโกในฐานะแรงงานรับเชิญ (guest workers) ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ต่อมาคนเหล่านี้ได้ตั้งรกรากสร้างครอบครัวและผลิตทายาทหรือคนอพยพรุ่นสองและรุ่นต่อๆมา ปัจจุบันคนที่มีพื้นเพตุรกีหรือโมร็อกกันเดินปะปนกับคนดัตช์เป็นจำนวนมากในสังคมเนเธอร์แลนด์ พวกเขามีมัสยิด ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาเก็ตหรือร้ายขายเนื้อที่มีสัญลักษณ์ฮาลาลจำนวนมากในย่านที่คนมุสลิมอาศัยอยู่ 
 
กระนั้นความเป็นมุสลิมในสังคมดัตช์ยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและส่งผลต่อพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ฆาตกรรมธีโอ ฟาน ก๊อก (Theo van Gogh) ผู้กับกำภาพยนตร์ชื่อดังในเดือนพฤษจิกายน 2547 โดยฆาตกรเป็นมุสลิมเชื้อสายโมร็อกกัน หลังจากเขาได้ผลิตภาพยนตร์วิจารณ์หลักศาสนาอิสลามที่กดทับความเป็นผู้หญิงชื่อ Submission ซึ่งจุดไฟความไม่พอใจของฆาตกรเป็นอย่างมาก ประเด็นความรุนแรงที่เชื่อมโยงกับความเป็นมุสลิมกลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน มีการต่อต้านและโจมตีกลับต่อชาวมุสลิมในเนเธอร์แลนด์ เช่นการทำร้ายร่างกายกาย การทำลายมัสยิดหรือสถานที่อื่นๆกว่าร้อยเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียง 2-3 อาทิตย์หลังเหตุการณ์ฆาตกรรม
 
เนเธอร์แลนด์ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเสรีนิยมระดับต้นๆของโลก ให้เสรีภาพกับคนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ใช้เสพยาเสพติดแบบอ่อนในพื้นที่ที่รัฐกำหนด การค้าบริการทางเพศและอาชีพโสเภณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรืออนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันโดยรัฐให้การรับรอง ในขณะเดียวกันคนในสังคมก็เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออกตามอัตลักษณ์หรือความเชื่อของตนเองทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น ความเป็นมุสลิมของสังคมดัตช์โดยรวมจึงยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนมุสลิม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้หญิงโดยตรงคือการคลุมฮิญาบ (Hijab) ซึ่งไม่ใช่แค่ในเนเธอร์แลนด์เท่านั้น อย่างประเทศฝรั่งเศสก็พยายามออกฎหมายห้ามสวมผ้าคลุมศีรษะ (headscarf/veil) ในพื้นที่สาธารณะ เพราะจากมุมมองจากสังคมดัตช์แล้วการคลุมศีรษะขัดต่อสิทธิของผู้หญิง หากผู้หญิงดัตช์มีความเสรี ผู้หญิงมุสลิมก็เหมือนกับการถูกกขี่ภายในกรอบปฏิบัติของความเป็นมุสลิมโดยการคลุมศีรษะ 
 
ความเป็นอิสลามของผู้คนในสังคมดัตช์จึงมีทั้งการยอมรับ การตั้งคำถาม การต่อต้าน และปฏิกริยาที่เป็นไปได้ในหลายกรณีและผสมปนเปกันอีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจขึ้นในสังคมของประเทศเนธอร์แลนด์  คือการที่คนดัตช์ โดยเฉพาะผู้หญิงหันมาสนในความเป็นมุสลิม ศึกษาอย่างแท้จริง ลึกซึ้งและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งหลายคนได้หันมานับถือศาสนาอิสลามในเวลาต่อมา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากการชมนิทรรศการในภาษาดัตช์ว่า  “Bekeerd: Moslim Worden, Moslim Zijn” (Converted: Becoming Muslim, Being Muslim) หรือในภาษาไทย “เปลี่ยนศาสนา: การกลายเป็นมุสลิม, ความเป็นมุสลิม” ของวาเนสซา โฟรน (Vanessa Vroon) เจ้าของนิทรรศการที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน จนถึงวันที่ 14 กันยายน ที่พิพิธภัณฑ์ (ประวัติศาสตร์) อัมสเตอร์ดัม ในกรุงอัมสเตอร์ดัม
 
 
 
นิทรรศการนี้มาจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของวาเนสซาที่เพิ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในชื่อว่า “ Sisters in Islam, women’s conversion and a politics of belonging: A Dutch case study” โดยศึกษาผู้หญิง 47 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ ผ่านกลุ่มผู้หญิงมุสลิมหลากหลายชาติพันธุ์ 5 กลุ่ม ในย่านอัมสเตอร์ดัมตะวันตก ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี2554 งานนี้ตั้งคำถามว่ากระบวนการการกลายเป็นมุสลิมของผู้หญิงเหล่านี้ต้องต่อรองกับความขัดแย้งหรือความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับความรู้สึกความเป็นตัวตนหรือเจ้าของ (Sense of belonging) ที่เชื่อมโยงกับชาติพันธุ์ (ethnic) ความเป็นชาติ (national) และศาสนา (religious) ของตนเองอย่างไร
 
งานวิจัยนี้เสนอข้อถกเถียงว่า ตามความเข้าใจของคนทั่วไป เชื่อว่าการที่ผู้หญิงดัตช์ตัดสินใจนับถือศาสนาอิสลามนนั้นมีแนวโน้มเกิดจากการแต่งงานกับคนมุสลิม และกลายเป็น “มุสลิม” หลังจากนั้น ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ใช้เวลาสั้นและรวดเร็ว แต่ความจริงแล้วหลายคนที่เปลี่ยนเป็นมุสลิมเป็นผู้หญิงโสด ไม่ได้แต่งงานกับชาวมุสลิม บางคนสนใจความเป็นมุสลิมมาเป็นระยะมากกว่า 10-15 ปี บางคนฝึกปฏิบัติถือศีลอดในระหว่างวันของช่วงเวลารอมฎอน (Ramadan) ก่อนตัดสินใจกลายเป็นมุสลิมเสียด้วยซ้ำ 
 
โดยการกลายเป็นมุสลิมนั้นต้องกล่าวคำว่า “ชะฮาดะฮฺ” (Shahada) หรือการกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ต้องเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดนั้นเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ” ในภาษาดัตช์เขียนว่า “Ik getuig dat er geen god is behalve God, en ik getuig dat Mohammed Zijn boodshapper is.” (I testify that there is no God but Allah and that  Mohammad is His Messenger) โดยกระบวนการกลายเป็นมุสลิมของผู้หญิงดัตช์ในงานศึกษานี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆและค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า วาเนสซากล่าวว่าความจริงแล้วการกล่าว “ชะฮาดะฮฺ” หรือกลายเป็นมุสลิมในปัจจุบันนั้นไม่ได้เคร่งครัดที่ต้องทำพิธีกรรมในมัสยิด พิธีกรรมดังกล่าวอาจทำได้ในบ้าน พื้นที่อื่นๆที่เหมาะสม แม้กระทั่งในโลกสมัยใหม่ที่ใช้การสื่อสารออนไลน์หรือไร้สาย คือสามารถทำได้ผ่านโทรศัพท์หรือห้องแชตรูม (Chat room) เป็นต้น 
 
ขณะเดียวกัน พบว่าข้อมูลในภาษาดัตช์เกี่ยวกับศาสนาอิสลามนั้นเพิ่มมากขึ้นในหลายสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ คลิบวีดีโอยูทูป เวบไซต์ รวมไปถึงช่องทางที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างงานประชุม เสวนา การบรรยายทางวิชาการ และเวิร์คช็อปต่างๆ และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ในเนเธอร์แลนด์มีวันเปลี่ยนเป็นศาสนาอิสลามประจำชาติที่จัดขึ้นในวันหนึ่งของปีสำหรับผู้ที่ต้องการทำพิธีกรรมดังกล่าว โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมพิธีต้องทำการจองที่นั่งล่วงหน้า ปรากฏว่ามีการจองที่นั่งหมดก่อนที่งานจะจัดขึ้นทุกปี และพิธีกรรมนี้ยังเป็นที่สนใจของผู้ที่สนใจเและผู้สังเกตการณ์เป็นจำนวนร้อยๆอีกด้วย
 
 
 
ด้วยเนื้อหาวิทยานิพนธ์ของวาเนสซามีรายละเอียดค่อนข้างมาก เธอจึงคัดเลือกบางส่วนมานำเสนอในนิทรรศการ พร้อมด้วยภาพถ่ายจากซัสเกีย เอาเคมา (Saskia Aukema) ที่ใช้ความรู้ด้านมานุษยวิทยาทัศนา (Visual ethnography) มาถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ที่เปลี่ยนศาสนาใน 2 ประเด็นหลักคือ ประเด็นแรกคือการทำละหมาด 5 เวลาต่อวันของคนมุสลิม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องปฏิบัติในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือที่อื่นๆ วิถีปฏิบัติดังกล่าวอาจสร้างความอิหลักอิเหลื่อในสังคมที่ยังไม่มั่นใจกับความเป็นมุสลิม ทำให้หลายคนเลือกที่จะทำละหมาดในพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้นหรือเลือกที่จะปฏิบัตินอกเวลาที่หลักศาสนากำหนด นิทรรศการนี้แสดงให้เห็นว่าคนดัตช์ที่ตัดสินใจเป็นมุสลิมต้องเรียนรู้หลักปฏิบัติดังกล่าวด้วยตนเอง หลายคนไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องศึกษาเอาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่นเวบไซต์ยูทูป เป็นต้น เพราะในเนเธอร์แลนด์ไม่มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เพราะถือว่าการเป็นมุสลิมเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่มีวันหยุดราชการที่เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลาม หากคนมุสลิมต้องปฏิบัติตามหลักการศาสนา พวกเขาต้องขอลาหยุดเองเป็นการส่วนตัว
 
กรณีของคนดัตช์ที่กลายเป็นมุสลิมนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งผู้ชายและผู้หญิง คนมีอายุและเด็กสาววัยรุ่น ในนิทรรศการได้นำเสนอรูปภาพซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงสาวสองคนก่อนที่เธอจะทำพิธีชะฮาดะฮฺหนึ่งในนั้นเป็นเด็กสาวอายุ 17 ปี ชื่อฟลอร์เจอะ(Floortje) โดยหลังจากพิธีกรรมแล้วแต่ละคนมีสิทธิที่จะคลุมศีรษะหรือไม่คลุมก็ได้ ขณะที่การละหมาด 5 เวลาในหนึ่งวันนั้น ก็น่าสนใจว่าคนที่กลายเป็นมุสลิมจะปฏิบัติหรือต่อรองกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันอย่างไร ในนิทรรศการมีรูปหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก คือภาพของนูเฮดีน (Noureddine) กำลังทำละหมาดบนพื้นโล่งในเมือง ใกล้ๆกับตัวเขาคือสเก็ตบอร์ดสีสันบาดตา
 
 
 
 
 
สาวชาวดัตช์สองคนคือคันตัล (Chantal) และแนนซี (Nancy) อายุ 34 ปีเช่นเดียวกัน เป็นผู้ที่ที่ตัดสินใจเป็นมุสลิมในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ถึงความเชื่อในหลักศาสนาอิสลาม ความเป็นมา และสถานการณ์ก่อนและหลังจากที่เธอทั้งสองได้กลายเป็นมุสลิมแล้ว แต่ทั้งคู่เริ่มสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอิสลามมาก่อนหน้านี้นานมาก ก่อนที่จะตัดสินใจมานับถือศาสนาอิสลาม กรณีของคันตัลนั้นน่าสนใจว่าเธอได้บอกเรื่องให้พ่อแม่ทราบ และย้ำว่าเธอจะเปลี่ยนเป็นมุสลิมโดยที่จะไม่คลุมศีรษะ แต่หลังจากผ่านไปได้ปีกว่าๆเธอเองตัดสินใจที่จะคลุมฮิญาบด้วยความสมัครใจ
 
อีกประเด็นหลักของนิทรรศการที่น่าสนใจคือรูปแบบที่หลากหลายของการคลุมฮิญาบของสาวมุสลิมที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ต่างกัน เช่นหญิงสาวตุรกีนิยมทำมวยข้างหลัง สาวโมร็อกโกที่นิยมใช้ผ้าสีเดียว หรือสาวจากอินโดนีเซียที่มักมีการตกแต่งผ้าคลุมอย่างสวยงามรอบๆด้วยลูกปัดหรือเลื่อมต่างๆ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงมุสลิมสมัยใหม่ก็หารูปแบบที่สร้างสรรค์หรือสร้างแฟชั่นขึ้นเอง เช่นการเอาริบบิ้นหรือโบว์มาประดับ การผูกผ้าเป็นปมบนศีรษะ การใช้ลวดลายผ้าที่หลากหลายและมีสีสันโดดเด่น หรือการใส่อัตลักษณ์ความเป็นดัตช์ลงไปด้วยการเลือกผ้าคลุมสีส้ม สีประจำชาติของเนเธอร์แลนด์ สลับกับลายธงประจำชาติ เป็นต้น
 
 
 
 
 
ด้านที่น่าชื่นชมอีกอย่างคือการตั้งคำถาม 3 ข้อเพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจาก 3 กรณีหรือสถานการณ์ คือ 1.ศรัทธาคือสิ่งที่อยู่ข้างในตัวคุณ ดังนั้นคุณไม่ต้องแสดงออกมาสู่ภายนอก 2.เสรีภาพคือการตัดสินใจสำหรับตัวคุณเองว่าจะเป็นอย่างไรหรือถูกมองอย่างไร และ 3.การละหมาดในช่วงเวลาพักที่โรงเรียนหรือที่ทำงานต้องเกิดขึ้นได้ในเนเธอร์แลนด์ โดยคำตอบจากการเลือกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแสดงเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เห็นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามจำนวนคนที่เลือกคำตอบตั้งแต่เริ่มจัดนิทรรศการ
 
 
 
ความเป็นอิสลามในสังคมดัตช์ปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่แน่ใจ อาจมองในแง่ลบหรือมีทัศนคติที่ไม่ดี กระนั้นสังคมดัตช์ก็ยังเปิดกว้าง ยอมรับมากกว่าจะต่อต้านด้วยความรุนแรง ในงานวิจัยของวาเนสซาพบว่ามีหลายครอบครัวที่พ่อแม่ยอมรับเมื่อลูกของตนเองเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม แม้ในช่วงแรกอาจกังขาว่าการกลายเป็นมุสลิมนั้นทำให้ลืมรากของความเป็นดัตช์ดั้งเดิมซึ่งหมายถึงการเป็นคนขาว มีเชื้อสายดัตช์ และการปฏิบัติแบบปกติ (act normal) แต่ผู้หญิงหล่านี้ได้กลายเป็นตุรกีหรือโมร็อกกันไปแล้ว คือการคลุมศีรษะที่มองว่าไม่ใช่วิถีปกติ แต่กลายเป็นว่าคนรอบข้างคนที่เปลี่ยนเป็นมุสลิมยอมรับและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และการที่พิพิธภัณฑ์อัมสเตอร์ดัมสนใจจัดนิทรรศการนี้ก็เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ต้องการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้เกิดการเรียนรู้ ถกเถียงและอภิปรายอย่างกว้างขวาง และทำให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างอย่างมีสติและเหตุผล
 
 
 
อ้างอิง
 
Vroon, V.E.2014.“Sisters in Islam. Women’s conversion and the politics of belonging: A Dutch case study”. Dissertation, Faculty of Social and Behavior Science, University of Amsterdam, the Netherlands
 
Vanessa Vroon-Najem (text) and Saskia Aukema (photography).2014. Uitgeverij Komma/d'Jonge Hond
 
http://www.cultureunplugged.com/documentary/watch-online/play/4876/Hearing-the-Other- Side (documentary film)
 
http://en.wikipedia.org/wiki/Theo_van_Gogh_%28film_director%29
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net