Skip to main content
sharethis

 

19 ส.ค 2557 ในการสัมมนาหัวข้อ ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำประเทศไทย จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งเมื่อปี 2554 ทุกคนก็ทราบกันดีว่ามีน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย หลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีข้อกังวลเกี่ยวกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการน้ำของ คสช.ว่าด้วยในด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากรัฐยังมองว่าโครงการป้องกันน้ำท่วมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรเป็นผู้ที่เสียสละ ทั้งนี้ปัญหาที่ตามมาก็คือการรวมตัวออกมาคัดค้านของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้ง คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่แบ่งหน้าที่ของอนุกรรมการชุดต่างๆ ตามรายกระทรวง ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลว่า โครงการที่หน่วยงานนำเสนอขึ้นมาจำนวนมาก เป็นรูปแบบของขนมชั้น ที่ขาดการบูรณาการและไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

นิพนธ์กล่าวว่า คสช.ไม่ควรเร่งสรุปผลภายใน 15 ต.ค.นี้ และควรให้สภาปฏิรูปร่วมกับ สศช.เดินทางสายรับฟังความเห็นประชาชน ดำเนินการภายใน 1 ปี เพื่อให้ คสช.นำข้อมูลไปประกอบการวางแผน ไม่ให้ซ้ำรอยกับโครงการ 3.5 แสนล้านที่เอาทุกโครงการมารวมกันโดยบางโครงการไม่มีความพร้อมและยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ


“ในอนาคตโครงการป้องกันน้ำท่วม จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อคนที่มีฐานะและชนชั้นกลางที่อาศัยในชานเมืองและชนบท ปัจจุบันจะเห็นว่าชุมชนย่านชานเมืองที่อาศัยนอกคันกั้นน้ำ ล้วนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของชนชั้นกลางและฐานะดี ส่วนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางและเป็นฐานเสียงที่กลุ่มใหญ่ที่สุด

ชุมชนบางแห่งในพื้นที่จะถูกเวนคืนที่ดิน แต่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถเนื่องจากคนในชุมชนร่วมมือกัน ปัจจุบันชาวบ้านมีการศึกษาและรายได้เพิ่มขึ้น จึงแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านให้ความสำคัญต่อมูลค่าสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมากขึ้น” 

นิพนธ์ พัวพงศกร กล่าวเพิ่มเติม ปัจจุบันมักจะพบเห็น ชาวบ้าน เอ็นจีโอ นักวิชาการ ออกมาต่อต้านโครงการน้ำท่วมหรือโครงการชลประทาน ยกตัวอย่างเช่นกรณีแก่งเสือเต้น ประชาชนเริ่มออกมาตั้งคำถามว่าใครได้รับผลประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำท่วม ใครแบกรับภาระของการป้องกันน้ำท่วมและมีทางเลือกอื่นในการจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมไหม

สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านพลังงานซึ่งคาดการณ์ว่าทรัพยากรธรรมชาติจะหมดภายใน 70 ปี ทางออกคือการซื้อทรัพยากรธรรมชาติจากต่างประเทศ ในอนาคตการพัฒนาคือการขยายตลาด AEC จุดเด่นคือ ธุรกิจขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และภัยพิบัติมากขึ้นโดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก เนื่องจากมีความต้องการน้ำมากขึ้น น้ำจะเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของประเทศ ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้จะต้องมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้นให้เหมาะสม

“ขั้นตอนในการดำเนินการ แยกเป็น 2 โครงการ ด้านโครงการใหญ่ (top down) จัดทำโครงการ พร้อมศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบ อาจรวมถึงการจัดทำประชาพิจารณ์ จัดทำการของบประมาณ ดำเนินโครงการและการบำรุงรักษา ด้านโครงการขนาดเล็ก (ชุมชน) (bottom up) มีการจัดทำเวทีในชุมชน รวมเป็นโครงการใน อปท. เลือกเสนอโครงการผ่าน อปท. จังหวัด หน่วยงาน ในการดำเนินการขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้มา”

สุจริต กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องดูว่าศักยภาพแหล่งน้ำของประเทศไทยมีปริมาณเท่าไรถึงจะพอที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน และเห็นว่าควรมีการทบทวนทั้งภาครัฐและประชาชนเพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหา ในการจัดการเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฎิบัติ ควรมีการทำวิจัยเกี่ยวเก็บเรื่องทรัพยากรน้ำไว้เป็นข้อมูล ที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลแนวทางการจัดทำนโยบายและการปฎิบัติ

ด้านภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ บุษบงก์ ชาวกัณหา เครือข่ายลุ่มน้ำปราจีน กล่าวว่า นโยบายของประเทศไทยนิยมนำแนวทางของต่างประเทศมาเป็นนโยบายแก้ปัญหา ซึ่งบางอย่างก็ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศไทย ปัญหาน้ำท่วมที่ภาคตะวันออกได้ส่งผลกระทบต่อการเกษตรเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาคือกระทรวงวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านพบว่ามีการวางท่อใยหิน ซึ่งมีอายุการใช้งานเพียง 20 ปี ปัจจุบันพื้นที่ตอนล่างได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ อีกทั้งมีการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการกว้านซื้อที่ดินตอนล่างทำให้ชาวบ้านต้องเช่าที่ทำการเกษตร

“ปัจจุบันพื้นที่ตอนล่างมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะมีการแก้ปัญหาจากภาครัฐโดยการตั้งเครื่องสูบน้ำจากที่ต่ำไปที่สูง น้ำในอ่างเก็บน้ำก็เก็บไว้ใช้สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังประสบปัญหาเรื่องของน้ำเค็มที่หนุนขึ้นมาทำให้ยากต่อการเจริญเติบโตของพืชผลทางการเกษตร หน่วยงานของรัฐควรจัดอบรมหรือเวทีให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรี จุดแข็งคือการปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ อยากให้คำนึงถึงเรื่องปากท้องของชาวบ้านด้วย” บุษบงก์กล่าว


กัมปนาท ภักดีกุล รองศาสตราจารย์คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรให้ความสำคัญกับการผันน้ำระหว่างประเทศ เพราะในอนาคตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมีการสร้างเขื่อนผุดขึ้นมาอีกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลกับประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน ควรมีการเตรียมตัวรับมือเช่นการออกแบบถนนที่ระบายน้ำท่วม ออกแบบวิจัยบ้านที่รับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากฝากไว้ให้พิจารณา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net