Skip to main content
sharethis

ยังเป็นปัญหาไม่จบ จากความพยายามของ คสช. ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

เหตุอันเนื่องมาจาก กระบวนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาที่มีการเปิดเวทีเจรจาระหว่าง ตัวแทนจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน มาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557 ที่บริษัทฯ และข้าราชการในพื้นที่ ได้เปิดเวทีเจรจากับผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต. และการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 17 ส.ค.2557 นั้น ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เห็นว่า เวทีเจรจาที่จัดขึ้นทั้งสองครั้ง ไม่ได้มีการเจรจาเกิดขึ้น เพราะทั้งตัวแทนของบริษัทฯ และส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการตอบรับข้อเสนอและเงื่อนไขใดๆ ของชาวบ้าน ตามที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองได้ลงมติในการประชาคม เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2557 โดยเห็นชอบกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 ข้อ ได้แก่ประเด็นปัญหาเรื่อง การปิดเหมือง การขนแร่ และการฟื้นฟู ซึ่งมีการจัดทำขึ้นเป็นเอกสารรายละเอียดและขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนแล้ว

แต่ตัวแทนบริษัทฯ กลับไม่ได้เจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงตามกรอบแนวทางทั้ง 3 ข้อ อีกทั้งยังเพิ่มประเด็นใหม่ คือ ขอพื้นที่ทำเหมืองแร่เพิ่มอีก 2 แปลง ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบแนวทางการเจรจาตามที่มีการทำประชาคม 6 หมู่บ้าน แต่อย่างใด

ส่วนประเด็นที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ต้องการให้ข้อตกลง หรือสัญญาฯ ที่จะจัดทำขึ้น เป็นสัญญาฯ 3 ฝ่าย โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะต้องลงนามในฐานะคู่สัญญาฯ ไม่ใช่พยาน ก็ไม่มีการตอบรับจากหน่วยงานราชการในจังหวัดที่เข้าร่วมในเวทีเจรจาในวันนั้น

โดยสรุปแล้วตามหลักการ การเจรจาที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง จึงเป็นเพียงการประชุมเพื่อสอบถามความต้องการและความเป็นไปได้ทั้งจากตัวแทนบริษัททุ่งคำ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านได้ยืนยันความต้องการตามที่ได้เสนอไป ซึ่งหากมีการนำความต้องการดังกล่าวไปจัดทำเป็นข้อสรุปเพื่อร่างข้อตกลงหรือสัญญาฯ ก็จะเป็นการดำเนินงานในขั้นตอนแรกของการแก้ไขปัญหาฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการประชุมในวันที่ 17 ส.ค. 2557 ดังกล่าวผ่านไปเพียง 3 วัน ก็พบว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้อัยการจังหวัดเลยเตรียมจัดให้มีการลงนามในสัญญาฯ โดยจะให้ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้านเป็นผู้ไปลงนามในสัญญา ในช่วงบ่ายวันที่ 20 สิงหาคม แต่ก็ต้องยกเลิกไปอย่างกะทันหัน เนื่องจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ออกแถลงการณ์ในช่วงเช้าของวันดังกล่าว เนื้อหาโดยสรุป คือ ข้อตกลงหรือสัญญาฯ ที่รัฐได้จัดทำขึ้น จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 3 ข้อ ตามมติประชาคม แต่ละข้อ เป็นขั้นเป็นตอน จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ข้ามไปก่อนข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ได้ ฉะนั้น ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นโดยกระบวนการที่ให้ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน สมาชิก อบต. 6 หมู่บ้าน ไปลงนามในข้อตกลงหรือสัญญา ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น

ต่อมา มีข่าวอีกว่า จะมีการนัดผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน ให้ไปลงนามในสัญญาดังกล่าวอีกครั้ง ในวันที่ 25 สิงหาคม หรือวันพรุ่งนี้ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งมาถึงผู้ใหญ่บ้าน ที่สำคัญคือ ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านยังไม่ได้เห็นรายละเอียดในสัญญาฯ ที่ผู้ใหญ่บ้านจะไปเซ็นแม้แต่น้อย ดังนั้นข้อผูกพันสำคัญที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านยังไม่ได้รับรู้ และยังไม่ได้พิจารณา สำหรับความรู้สึกของชาวบ้านในเวลานี้ ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการมัดมือชกชาวบ้าน

และ ในวันนี้ (24 ส.ค.2557) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้ประชุม และตัดสินใจร่วมกันว่า หากผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้านไปลงนามในสัญญาฯ โดยที่ทหาร หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องลัดขั้นตอน ไม่นำสัญญาฯ มาให้ชาวบ้านได้พิจารณาและทำประชาคม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะฟ้องร้องการกระทำดังกล่าวของผู้ใหญ่บ้านทุกรายต่อศาลปกครอง และจะใช้มาตรการทางสังคมในการกดดัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ เป็นการดำเนินงานภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผ่านระบบตัวแทนรัฐ หรืออำนาจพิเศษใดๆ ก็ตาม

นายสมัย ภักดิ์มี แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า “ผลของการสอบถามความต้องการของชาวบ้านและเหมืองทอง เมื่อวันที่17 สิงหา ที่หน่วยงานรัฐจะนำไปทำขึ้นเป็นร่างข้อตกลงหรือสัญญา ถือเป็นข้อสรุปใหม่ ควรต้องมีการนำกลับมาให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านประชาคมเพื่อลงมติ ก่อนมีการตกลงใดๆ ก่อนที่ผู้ใหญ่บ้านจะไปลงนาม และการประชาคมจะต้องยึดตามหลักการ คือให้ชาวบ้านได้เลือกลงมติต่อร่างสัญญาว่า จะเห็นชอบทั้งหมด  เห็นชอบบางส่วน ไม่เห็นชอบทั้งหมด หรือให้นำกลับไปแก้ไข ซึ่งการจัดประชาคมเป็นหน้าที่ของตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกจากชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน และหากจะต้องมีการแก้ไขสัญญาฯ ตามมติประชาคม เมื่อมีการแก้ไขแล้วหลังจากนั้นก็จะต้องนำกลับมาประชาคมเพื่อให้ชาวบ้านได้พิจารณาและลงมติใหม่อีกครั้ง

“การที่ผู้ใหญ่บ้านทำตัวเป็นกลไกของรัฐ ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวบ้าน แต่จะไปลงนามในสัญญา จึงเป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่ มัดมือชกชาวบ้าน ถ้าหากเนื้อหาในสัญญานั้นสร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านไปยาวนาน ใครจะรับผิดชอบ”

นางพรทิพย์ หงชัย กล่าวว่า สัญญาฉบับนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการทำแร่มานานนับสิบปี โดยที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านได้ต่อสู้มาตลอดเพื่อให้มีการถอนประทานบัตร และปิดเหมืองถาวร ดังนั้นรายละเอียดในสัญญาที่หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นคู่กรณีของชาวบ้านมาตลอดเป็นคนร่างขึ้น ชาวบ้านทุกคนจำเป็นจะต้องได้รับรู้ในรายละเอียด
“การจะจับมือผู้ใหญ่บ้านให้ไปเซ็นสัญญา เป็นการบังคับเพราะอยากจบปัญหาให้ได้เร็วๆ เพื่อเหมืองทองจะได้ขนแร่ออกไปได้เร็วๆ ใช่หรือไม่ ถ้าผู้ใหญ่บ้านไปเซ็นสัญญา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะฟ้องผู้ใหญ่บ้านทุกคนแน่นอน เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นผู้ใหญ่บ้านไม่สามารถรับผิดชอบได้” นางพรทิพย์ กล่าว

ทางด้าน นายกองลัย ภักมี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 ได้กล่าวกับชาวบ้านในที่ประชุมว่า หากหน่วยงานรัฐหรือทหารเรียกตนให้ไปเซ็นสัญญา ตนในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้านจะไม่ไปเซ็นสัญญาฯ โดยยืนยันเช่นกันว่า ข้อตกลงหรือสัญญาฯ ที่รัฐกำลังร่างขึ้นนี้ จะต้องนำมาทำประชาคมเพื่อถามความเห็นของชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านไปตามขั้นตอน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net