ออป. กับบริบทสังคมไทยปัจจุบัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นับเป็นเวลากว่า  67 ปี (พ.ศ. 2490 – 2557) ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้กำเนิดขึ้นในสังคมไทย ภายหลังจากที่บริษัททำไม้จากอังกฤษและบริษัทต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งทำไม้สักในประเทศไทยมานานเกือบ 100 ปี  (ประมาณปี 2399-2497)  สิ้นอายุการสัมปทานในปี 2497  ทั้งนี้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2499 ด้วยทุนแรกเริ่มที่รัฐจัดสรรให้จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่หลักคือ การทำไม้ในเขตสัมปทาน การทำไม้นอกเขตสัมปทานในพื้นที่โครงการต่างๆของรัฐ เช่น พื้นที่สร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ และการใช้หรือขายไม้ที่อายัดจากการลักลอบตัดไม้หรือการทำไม้เถื่อน เป็นต้น

หากพิจารณาวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง ออป.  นอกไปจากการทำไม้แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก เช่น ปลูกสร้างสวนป่า การค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ความรู้ แต่ที่ผ่านมาบทบาทหลักของ ออป.จะเน้นหนักอยู่ที่การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้และการปลูกสร้างสวนป่า เป็นด้านหลัก

ในบทความนี้ เครือข่ายฯ ขออนุญาตนำเสนอมุมมองต่อสถานภาพขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ภายใต้บริบทสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาแนวทาง มาตรการแก้ไขปัญหาขององค์กรดังกล่าว ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อไป

1. ด้านเศรษฐกิจ  นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 – 2531   ออป. ถือเป็นผู้สัมปทานไม้รายใหญ่ของประเทศ และมีช่วงระยะเวลาการสัมปทานที่ยาวนาน ทำให้รายได้ของ ออป.ในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล  กล่าวคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490-2515  ออป. มีกำไรสุทธิรวม 1,739.91 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 66.9 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ ปี พ.ศ. 2516-2533 ออป. มีกำไรสุทธิรวม 5,276.41 ล้านบาท  เฉลี่ยปีละ  293 ล้านบาท ก่อนรายได้จะลดลงในปี 2534 และประสบภาวะขาดทุนในปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา กระทั่งประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก จนต้องหาทางออกด้วยการเข้าไปทำไม้ในประเทศพม่า แต่ทว่าทำได้เพียง 3 ปีรัฐบาลพม่าก็ยกเลิกการอนุญาต ทำให้รัฐบาลต้องอุดหนุนองค์กรแห่งนี้ปีละไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ออป. ประสบกับภาวะขาดทุนคือ การประกาศยกเลิกการสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศ (ยกเว้นป่าชายเลน) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2532 ภายหลังเกิดพายุเกย์ถล่มภาคใต้ในปลายปี พ.ศ. 2531   ทำให้ออป. ไม่มีแหล่งรายได้หลักจากการสัมปทานตัดไม้นั่นเอง

หากพิจารณาสถิติรายได้ของ ออป. จะพบว่าลดลงเป็นลำดับ จาก 303.87 ล้านบาทในปี 2533 เหลือเพียง 35.86 ล้านบาทในปี 2534 และ 24.76 ล้านบาทในปี 2535 หลังจากนั้น ออป.ก็หนีไม่พ้นภาวะขาดทุนซึ่งมากถึง 71.40 ล้านบาทในปี 2536 และขาดทุนสะสมเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2541 ออป.ขาดทุนสูงถึง 225.88 ล้านบาท 

กล่าวโดยสรุป สถานภาพของ ออป.ในทางเศรษฐกิจถือว่าประสบความล้มเหลวในการประกอบการอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นภาระของสังคมที่ต้องจัดหางบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีประชาชนมาใช้จ่ายในองค์กรแห่งนี้

2. ด้านนิเวศวิทยา ออป. ผู้รักษาหรือทำลาย เป็นที่แน่ชัดว่าวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ คือ การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้ และการปลูกสร้างสวนป่า ซึ่งพื้นที่ดำเนินการจำแนกเป็น 5 ประเภท (โครงการ 1 – 5) จำนวน 124  แห่ง เนื้อที่ทั้งสิ้น  1,118,374.935 ไร่ โดยชนิดพันธุ์ไม้ที่ออป.ปลูกสร้างส่วนใหญ่คือ ยูคาลิปตัส และปัจจุบันกำลังดำเนินการปลูกยางพาราในพื้นที่สวนป่าเดิม

กระบวนการปลูกสร้างสวนป่าของออป. จะมีลักษณะเป็นสวนป่าขนาดใหญ่ ( Plantation ) โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจเชิงเดี่ยว  ซึ่งต้องเตรียมแปลงโดยการไถปรับพื้นที่ ทำให้เกิดการทำลายไม้ธรรมชาติเดิมหมดไป  ในหลายพื้นที่ เช่น สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จะพบว่าเจ้าหน้าที่สวนป่าได้ทำลายไม้ธรรมชาติบางแห่ง เช่น ประดู่ แดง ไผ่ ฯลฯ เพื่อปลูกยางพารา เนื้อที่ประมาณ  200 ไร่ ทำให้พื้นที่เสื่อมสภาพ อีกทั้งในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมในการลักลอบนำไม้ธรรมชาติในเขตสวนป่าออกไปจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

จากสถิติพื้นที่ป่าไม้ที่จัดทำโดยกรมป่าไม้  ระบุว่าในปี พ.ศ. 2504  ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ 171.02 ล้านไร่ หรือร้อยละ  53.33  ของพื้นที่ประเทศ และในปี พ.ศ. 2547  พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือ 104.74  ล้านไร่ หรือร้อยละ 32.66 ของพื้นที่ประเทศ จำนวนพื้นที่ป่าที่เหลือ ได้ผนวกรวมเอาพื้นที่สวนป่าในการดูแลของ อ.อ.ป. จำนวน  1,118,374.935 ไร่ ด้วย ( ในจำนวนเนื้อที่สวนป่าทั้งหมด เป็นสวนป่าประเภทที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ ในโครงการ 2 , 3 , และ 4  ทั้งสิ้น 597,646.75 ไร่ ) ดังนั้น การทำไม้จากสวนป่าที่กำลังดำเนินการอยู่  จะทำให้พื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงจากเดิม  และ ในสายตาของประชาชนในท้องถิ่นมองว่า อ.อ.ป. คือผู้ทำลายป่าไม้ ไม่มีภาพลักษณ์ของผู้ทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากปลูกแล้วตัด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โครงการปลูกไม้ ทำลายป่า”

นอกจากนี้ จากรายงานของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าสวนป่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากมีจำนวน  46 สวนป่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง  บริเวณดังกล่าวได้มีการตัดไม้สักออกจากสวนป่าเพื่อจำหน่าย และจะทำให้เกิดความรุนแรงของดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากเพิ่มมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น อ.อ.ป. ได้ดำเนินการนำสวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ ไปขึ้นทะเบียนสวนป่าโดยเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ทีดินตามกฎหมาย กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติสวนป่า  พ.ศ. 2535 มาตรา  5  ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้มีกรรมสิทธิ สิทธิครอบครองหรือผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ทีดินตามมาตรา 4 ประสงค์จะใช้ที่ดินนั้นทำสวนป่าเพื่อการค้า  ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด......”

ดังนั้น การที่จะกล่าวว่า การดำเนินงานของออป. เป็นไปเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศชาติไว้  จึงเป็นคำกล่าวที่หาข้อเท็จจริงไม่ได้

3. ด้านสังคม การเมือง จากที่กล่าวแล้วว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ออป. ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าเป็นการปลูกสร้างตามเงื่อนไขสัมปทานตัดไม้ แต่ในทางข้อเท็จจริง กลับพบว่า ในหลายพื้นที่เป็นที่ดินที่ชาวบ้านถือครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ จากนั้นกรมป่าไม้ได้ให้อนุญาตออป.เข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสภาพเช่นนี้เป็นมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบัน

การปลูกสร้างสวนป่าของ ออป. โดยส่วนใหญ่จะใช้ระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ โดยชักชวนให้ชาวบ้านที่ถือครองทำประโยชน์ในพื้นที่ดินเดิมสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งจะได้รับสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รายละ 1 ไร่ และ 5 – 15 ไร่ ตามลำดับ รวมทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐานจำพวกวัด โรงเรียน ไฟฟ้า น้ำประปา และการเป็นลูกจ้างปลูกป่า เป็นต้น

แต่ในทางเป็นจริง การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ออป. ไม่ประสบความตามแผนงานข้างต้น ทั้งการจัดสรรที่ดินทำกิน ที่ไม่สามารถจัดหาให้กับเกษตรกรได้ แต่นำไปปลูกสร้างสวนป่า ส่วนการจ้างงาน จะพบว่า ในระยะ 1 – 3 ปีแรก จะใช้แรงงานตามแผนการปลูกป่า แต่เมื่อไม้เจริญเติบโตจึงไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากในการบำรุงดูแล ทำให้เกษตรกรสมาชิกโครงการประสบปัญหาว่างงานและไร้ที่ดินทำกิน ต้องอพยพแรงงานไปรับจ้างต่างจังหวัด ดังจะเห็นได้จากหมู่บ้านสวนป่าในหลายพื้นที่ของ ออป.

ทั้งนี้  ไม่ต้องกล่าวถึงเกษตรกรผู้ไม่ประสงค์สมัครเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่มาขับไล่ออกจากที่ดินเดิม ต้องออกจากพื้นที่ด้วยสภาพที่อึดอัด คับข้องใจ  เนื่องจากการข่มขู่ คุกคามของเจ้าหน้าที่และนักเลงอันธพาลในท้องถิ่นที่ออป. จ้างวานมา รวมทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมายบีบบังคับ และอิทธิพลเถื่อนอื่นๆในบางพื้นที่ เช่น การนำอาวุธสงครามไปฝังไว้ใต้กระท่อมชาวบ้าน แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นและจับกุมในข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง เช่น กรณีชาวบ้านอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นบาดแผลเรื้อรังของประชาชนที่เคยถือครองทำกินมาก่อนการปลูกไม้เศรษฐกิจของออป.  ในปัจจุบันมีชาวบ้านในหลายพื้นที่ได้ลุกขึ้นทวงสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของตนเองคืน แต่ ออป. กลับเพิกเฉย และกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ความจริงที่ปรากฏต่อสายตาชาวบ้านคือ การปลูกไม้โตเร็ว แล้วตัดขาย บนที่ดินที่พวกเขาถือครองมาก่อน

นอกจากนี้ เมื่อ ออป.ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ องค์กรแห่งนี้ได้พยายามดิ้นรนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนป่าในรูปแบบต่างๆ เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การปลูกยางพาราในพื้นที่สวนป่า การดำเนินโครงการ 1 สวนป่า 1 โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยจะเริ่มต้นที่สวนป่าศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นแห่งแรก และการขยายผลจากการปลูกป่าเพื่อเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต โดยขอสนับสนุนเงินแหล่งทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นญี่ปุ่น มาดำเนินการปลูกป่า แล้วเครดิตจากภาวะการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ที่ปลูก จะเป็นของประเทศผู้ให้ทุน ทั้งนี้ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ว่าด้วยกลไกการพัฒนาแบบสะอาด ( CDM )  แต่อย่างไรก็ตาม การดิ้นรนเหล่านี้ ยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมจากสังคมได้ รวมถึงเรื่องเดิมที่ ออป.ได้สร้างปัญหามาแล้วยังไม่ได้แก้ไข อีกมากมาย

ในสภาพการณ์เช่นปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ออป.ได้หมดยุคสมัย และหมดความจำเป็นต่อสังคมไทยไปแล้ว นับตั้งแต่การสิ้นสุดการสัมปทานตัดไม้ในปี พ.ศ. 2532 การพยายามดิ้นรนหาทางออกเช่นมาตรการข้างต้น นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ทับซ้อนเรื่องเดิมเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น มาตรการที่น่าจะเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในมิติต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วคือ การยุบองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ แล้วนำพื้นที่มาจำแนกจัดสรรใหม่ทั้งหมด เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมในการสงวนไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม ให้สิทธิชุมชน ท้องถิ่น และภาครัฐจัดการฟื้นฟูให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ พื้นที่ที่ประชาชนเคยถือครองทำกินมาก่อน ให้นำมาจัดสรรแก่ชาวบ้านผู้เดือดร้อน โดยอาจจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชนหรือรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่วนทรัพย์สินและบุคลากรของออป. รัฐบาลควรมีมาตรการดูแลพนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขต่อไป ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ รัฐก็จะได้ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปปีละ 1,000 กว่าล้านบาท ที่ดินสวนป่าเดิมกว่า 1,000,000 ไร่ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมมากขึ้น 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท