Skip to main content
sharethis
เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติค้านนโยบายลดการช่วยเหลือการเรียนฟรีกับเด็กต่างด้าว ระบุเป็นการผลักภาระให้โรงเรียนและผู้ปกครอง และสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 
 
5 ก.ย. 2557 สืบเนื่องจากกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 ที่ผ่านมาว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำข้อมูลเพื่อเตรียมนำเสนอแก่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นสำคัญ อาทิ นโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยในคำแถลงระบุว่า ปัจจุบัน สพฐ. สามารถบริหารจัดการให้เรียนฟรีได้โดยไม่มีปัญหาในภาพรวม  แต่สิ่งที่ สพฐ.เป็นกังวล คือปัญหานักเรียนต่างด้าวที่เข้ามาเรียนในสถานศึกษาไทยทุกระดับมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 2.5 แสนคน ภายใน 3 ปี   ทั้งนี้ สพฐ. ได้ระบุว่าตามหลักเกณฑ์แล้ว เด็กทุกคนในประเทศไทยจะได้สิทธิเรียนฟรี 15 ปี โดยมีการจัดสรรงบประมาณเป็นรายหัวให้แก่นักเรียนรวมทั้งนักเรียนต่างด้าวด้วย  แต่สำหรับเด็กต่างด้าวนั้นมีการย้ายเข้าย้ายออกบ่อย บางคนไม่ได้ลงทะเบียน ทางโรงเรียนจึงไว้วิธีเกลี่ยเงินรายหัวให้เด็กได้เรียนฟรีครบทั้ง 5 รายการ คือ  ค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ชุดนักเรียน และหนังสือเรียน แต่หากจำนวนของเด็กนักเรียนต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น โรงเรียนก็จะใช้วิธีเกลี่ยเงินรายหัวไม่ไหว  ดังนั้น  สพฐ. อาจให้สิทธิเรียนฟรีกับเด็กนักเรียนต่างด้าวแค่ 2 รายการ เช่น ค่าเล่าเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียน  เป็นต้น
 
เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ได้เห็นคำแถลงดังกล่าวของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จึงมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง และได้ตั้งข้อสังเกตต่อแนวทางการนำเสนอแนวนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการศึกษาของเด็กข้ามชาติ โดยนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ  กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องจำนวนตัวเลขของเด็กนักเรียนต่างด้าวของสถานศึกษาไทย หากพิจารณาจากข้อมูลของนักเรียนตามสัญชาติในปี 2556 แล้วจะพบว่า มีนักเรียนในสถานศึกษาทั้งหมด 7,243,713 คน เป็นเด็กสัญชาติไทย 7,130,646 คน และเด็กสัญชาติอื่น ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา พม่า ลาว และอื่น ๆ รวมทั้งไม่ปรากฏสัญชาติ เป็นจำนวน 113,067 คน  ซึ่งในที่นี้อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าเด็กต่างด้าวในที่นี้ตามนิยามของกฎหมาย คือไม่มีสัญชาติไทย น่าจะรวมถึง นักเรียนที่ไม่มีเอกสารแสดงตน หรือที่เรียกกันว่านักเรียนติด G  อีก 65,739 คน และหากนับรวมนักเรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อย (ชาวเขาและอื่น ๆ ) แต่ยังไม่มีสัญชาติไทยอีก 29,252 คน   ดังนั้นจะเห็นว่าโอกาสที่เด็กต่างด้าวในโรงเรียนตามข้อมูลของ สพฐ. จำนวนมากจะเป็นกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาส  คือไม่มีเอกสารแสดงตน ไม่มีสัญชาติ หรือเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย หรืออยู่ในกลุ่มที่ผู้ปกครองมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีและเข้าไม่ถึงการมีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน  ซึ่งสัดส่วนของเด็กเหล่านี้จะมีเพียงร้อยละ 2-3 ของนักเรียนทั้งหมด
 
ทั้งนี้ประเทศไทยเคยตั้งเป้าหมายและมีความมุ่งมั่นที่จะให้โอกาสเด็กทุกคนเข้าถึงการได้รับการศึกษา ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีของสังคมไทยและภูมิภาคนี้  ดังนั้นนโยบายเรียนฟรี 15 ปี จึงไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวที่จะได้รับประโยชน์ แต่จะหมายรวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างการพัฒนาให้กับประชาคมอาเซียนที่มีประชากรที่มีคุณภาพต่อไป นอกจากนี้เครือข่ายที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ยังกังวลถึงข้อแถลงที่ระบุว่า “หากจำนวนนักเรียนต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น โรงเรียนคงใช้วิธีเกลี่ยเงินไม่ไหว”  ซึ่งในความเป็นจริงนโยบายการจัดสรรงบสนับสนุนโครงการเรียนฟรี 15 ปี ได้อิงกับจำนวนเด็กที่มีอยู่ในโรงเรียนตามรายหัวของนักเรียน ดังนั้นการที่ สพฐ. ระบุว่าจะใช้วิธีเกลี่ยเงินให้กับเด็กนักเรียนต่างด้าวไม่ไหวมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากจะมีเพียงกรณีนักเรียนที่ยังไม่มีชื่อในฐานข้อมูลของสถานศึกษาและ สพฐ.เท่านั้น ที่จะต้องใช้ระบบเกลี่ยงบไปก่อน และเมื่อเพิ่มชื่อเข้าไปก็สามารถของบประมาณเพิ่มได้  ซึ่งการระบุว่ามีการเกลี่ยงบจนดูเป็นภาระให้แก่โรงเรียน จะทำให้เกิดภาพการทำงานที่ไม่ชัดเจนและเป็นการสะท้อนถึงระบบการรับเด็กและฐานข้อมูลเด็กในระบบข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
 
ทั้งนี้ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการตามข้อเสนอของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะลดการสนับสนุนฟรีการเรียนฟรี 5 รายการ เหลือ 2 รายการ จะส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกินตกไปอยู่กับโรงเรียนและผู้ปกครองของเด็กที่มีฐานะยากจน และท้ายที่สุดเมื่อโรงเรียนไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนเกินเหล่านี้ก็จะตัดสินใจไม่รับเด็กต่างด้าวเข้าเรียน  นอกจากนี้แล้วการลดการสนับสนุนงบประมาณในส่วนดังกล่าวยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเหลี่อมล้ำระหว่างเด็กไทยกับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งในเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนและคุณภาพของการเรียนการสอนอันเกิดจากการขาดแคลนที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างเด็ก 2 กลุ่มได้ ดังนั้นการหยิบยกประเด็นการสนับสนุนการศึกษาในกลุ่มเด็กต่างด้าว โดยอ้างอิงถึงจำนวนเด็กแต่ไม่ได้อธิบายบริบทการเข้าถึงการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ และเป้าหมายที่แท้จริงของนโยบายการศึกษาถ้วนหน้า จะส่งผลให้เกิดการโหมกระแสเพื่อตอบรับต่อแนวทางการจัดการศึกษาภายใต้รัฐมนตรีคนใหม่ จนทำให้เกิดการหลงลืมผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก และการพัฒนาอนาคตของสังคมไทยโดยภาพรวมหรือไม่อย่างไร
 
ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาของเด็กนักเรียนต่างด้าว ดังนี้  
 
1.การลดการช่วยเหลือการเรียนฟรีกับเด็กต่างด้าวไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่จะยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นทั้งต่อตัวเด็กนักเรียน โรงเรียน และสังคมโดยรวม  ทั้งนี้ สิ่งที่ สพฐ. และกระทรวงศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังคือสนับสนุนแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับเด็กข้ามชาติ เช่น ศูนย์การเรียนชุมชน ซึ่งมีกฎกระทรวงรองรับไว้แล้ว จะเป็นการช่วยลดภาระในการจัดการของโรงเรียนและจัดการศึกษาสอดคล้องกับเด็กข้ามชาติให้มากขึ้น ขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของผู้ปกครองและชุมชน ในรูปแบบกองทุนพัฒนาการศึกษา ที่ผู้ปกครองสามารถร่วมจ่ายได้ตามศักยภาพของตนเอง อันจะเป็นการลดภาระของโรงเรียนในอีกทางหนึ่ง  
 
2.รัฐบาลไทยควรหารือกับประเทศต้นทางในการพัฒนาสถานะของเด็กข้ามชาติในกลุ่มผู้ติดตามพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้มีการขึ้นทะเบียนและดำเนินการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง เพื่อให้เด็กได้มีสถานะที่ถูกกฎหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาที่เชื่อมโยงกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศต้นทาง ในการที่จะรองรับเด็กข้ามชาติที่จะต้องกลับประเทศต้นทางในอนาคต รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมอาเซียนในการสร้างให้เกิดนโยบายศูนย์กลางทางศึกษา (Education Hub) เพื่อรองรับการพัฒนาทางการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ในประชาคมอาเซียนต่อไป
 
3. กระทรวงศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรจะผลักดันให้เกิดนโยบายการแก้ไขปัญหาเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติและเด็กข้ามชาติ ให้เป็นนโยบายระดับชาติอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาการเด็กไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งรากฐานของปัญหาและส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาของเด็กทั้งระบบ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net