Skip to main content
sharethis

ในช่วงก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงและยังไม่ได้ข้อยุติจนถึงขณะนี้ ก็คือ เรื่องของจำนวนเงินที่จะจ่ายเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพในปีงบประมาณ 2558

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า สำนักงบประมาณเสนอต่อ คสช.ให้คงค่าเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2558 ไว้เท่าเดิมคือ 2,895 บาทต่อหัว ในขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขอเพิ่มเป็น 3,060 บาทต่อหัว ตามภาวะเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงของผู้ให้บริการ โดยระบุว่าการคงค่าเหมาจ่ายต่อหัวจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพขาดงบประมาณ รวมแล้วกว่า 23,184 ล้านบาท

เสียงคัดค้านการคงค่าเหมาจ่ายต่อหัว หรือการ ‘แช่แข็ง’ งบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพมีมาจากหลายฝ่าย และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ส่งเสียงคัดค้านการแช่แข็งดังกล่าว ประชาไท สัมภาษณ์ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา จากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย รวมไปถึงประเด็นร้อนเรื่องการแช่แข็งงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพที่กำลังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นี้ และโอกาสที่ระบบหลักประสุขภาพของไทยจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาและผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินประจำปี 2558


ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขของไทยมีปัญหาอะไรบ้าง

ปัญหาหลักตอนนี้เป็นการขาดแคลนหมอ พยาบาล และบุคลากร ที่ขาดแคลนเพราะการบริหารจัดการ บุคลากรไปกระจุกตัวที่โรงพยาบาลในตัวเมืองในจังหวัด และไปอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน การกระจายหมอและบุคลากรอื่นๆ ไปในโรงพยาบาลในอำเภอมีน้อยมาก แต่ระบบโครงสร้าง อาคาร โรงพยาบาล หน่วยบริการปฐมภูมิของเรา มีไปถึงระดับตำบล แต่ไม่ค่อยมีคนให้บริการ

สาเหตุที่บุคลากรไปกระจุกตัวในเมือง เป็นเพราะเรื่องเงินหรือเปล่า

ก็เป็นไปได้ เพราะเงินเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ หมอไปอยู่เขตเมืองก็มีโอกาสได้ทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้เจอผู้ป่วยทุกประเภท แล้วยังสามารถแบ่งเวลาไปเรียนก็ได้ แบ่งเวลาไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ ครอบครัวก็ได้ ลูกก็ได้ มันเลยไม่มีแรงจูงใจมากพอ

แต่ตอนที่เราทำหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วิธีคิดของเราก็คือ จะต้องใช้วิธีการบริหารงบประมาณที่จะไปทำให้เกิดการขยายตัวหรือการกระจายตัวของบุคลากร เราใช้งบประมาณตามจำนวนประชากรไหลไปตามอำเภอต่างๆ อำเภอที่มีประชากรมากจะได้งบประมาณมากในการดูแล ซึ่งตรงนั้นจะสามารถใช้เงินในการจ้าง เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษ ค่าล่วงเวลาให้กับหมอหรือบุคลากรได้ และหวังว่าจะดึงหมอบางส่วนไว้ได้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังมีพอมีหมอ มีบุคลากรที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน แต่ก็มีปัญหาแทรกขึ้นมาตอนนี้ว่า โรงพยาบาลชุมชนมีหมออยู่ส่วนหนึ่ง แต่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ยอมรักษาอะไรที่เป็นการผ่าตัดเบื้องต้น เช่น ผ่าท้อง ทำคลอด ผ่าตัดไส้ติ่ง ส่งต่ออย่างเดียว ก็เลยไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองอีก ก็นั่งรอผ่าตัดตามคิวตามเวลาราชการ นี่ยังเป็นปัญหาที่มีอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ

ที่ผ่านมามีปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ไหม

เรื่องการขาดแคลนมองได้ 2 มุม มุมหนึ่งมีบุคลากรที่จะใช้ห้องผ่าตัด เครื่องไม้เครื่องมือก็มีการจัดหาได้ เพราะการตั้งงบประมาณคิดเรื่องการเติมอุปกรณ์ เติมวัสดุลงไปอยู่แล้ว แต่เรื่องการสร้างตึกใหม่โรงพยาบาลใหม่ ไม่ได้อยู่ในการตั้งงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพ จะเป็นการตั้งงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข

ตอนนี้โรงพยาบาลชุมชนใหม่หลายแห่ง ห้องผ่าตัดไม่ได้ใช้งาน บางที่เอาไปทำห้องประชุม เรื่องวัสดุอุปกรณ์ส่วนหนึ่งอาจจะไม่เพียงพอ แต่ตอนนี้ไม่ได้ถูกใช้ เพราะไม่มีบุคลากรที่จะใช้ ไม่มีหมอดมยา ไม่มีหมอช่วยเรื่องการผ่าตัด ก็เลยไม่ผ่าตัดอะไรเลยสักอย่าง ก็ส่งต่ออย่างเดียว อีกแบบหนึ่งคือไม่มีหมอเลยที่จะมาใช้อุปกรณ์

ปัญหาของระบบประกันสุขภาพเป็นอย่างไร มีปัญหาที่ตรงไหนบ้าง

ตอนนี้ในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่รัฐเป็นเจ้าภาพใหญ่อยู่ 3 ระบบ คือ รัฐจ่ายจากภาษี จากงบประมาณให้ประชาชนเข้าไปในประกันสังคม จ่ายให้ข้าราชการ และคนที่อยู่ในระบบบัตรทองทั้งหมด

อีกส่วนหนึ่งก็คือ ระบบประกันสุขภาพที่ขายโดยภาคเอกชน บริษัทประกันภัยภาคเอกชน ซึ่งมีอัตราส่วนเติบโตขึ้น เพราะความเชื่อในสังคมไทยว่า ถ้าอยากได้บริการที่ดี รวดเร็ว เราต้องซื้อประกันเอกชน ซึ่งมีราคาแพงและอาจจะเริ่มมีปัญหาเหมือนในอเมริกาว่า บริษัทประกันคิดกำไรสูงสุด ไม่ค่อยให้เคลมอะไรได้ง่ายๆ แต่ตอนอธิบาย โฆษณาดูดี

ประเทศไทยใช้เงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพโดยรัฐ โดยเอกชนซื้อประกันสุขภาพเอง อยู่ที่ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของบ้านเราตอนนี้ ซึ่งไม่ถือว่าสูงมาก

หากตัดส่วนของภาคเอกชนออกไป มาดูส่วนระบบประกันสุขภาพโดยรัฐ ตอนนี้มีปัญหาใหญ่ๆ อะไรบ้าง

ปัญหาตอนนี้คือเรื่องของมาตรฐานกับคุณภาพ คือมันไม่เป็นเป็นมาตรฐานเดียวกัน พอมีระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ 3 ระบบใหญ่ๆ ต่างคนก็ต่างบริหาร ถึงแม้จะเป็นเงินภาษีของเรา แต่ระบบราชการก็ให้กรมบัญชีกลางบริหาร ประกันสังคมก็ให้สำนักงานประกันสังคมบริหาร บัตรทองก็ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ ต่างก็มีกรรมการของตัวเองและมีการออกมติหรือแนวนโยบายที่ต่างกัน

สิ่งที่ต่างกันและส่งผลให้มีการเหลื่อมล้ำกันของระบบก็คือ วิธีการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการ ถ้าเป็นข้าราชการจ่ายแบบไม่จำกัด ไม่มีอะไรกำกับ ข้าราชการไปที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลเรียกเก็บมาที่กรมบัญชีกลางเท่าไหร่ กรมบัญชีกลางก็จ่ายไปเท่านั้น โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเกินจริงหรือไม่ เราไม่รู้ และไม่สามารถควบคุมได้ เลยทำให้ข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน ใช้เงินปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่ประกันสังคมมี 10 ล้านคน ใช้วิธีเหมาจ่ายรายหัวเหมือนบัตรทอง ประกันสังคมใช้เงินปีละประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ขณะที่บัตรทอง 48 ล้านคน ใช้อยู่ 1 แสน 2 หมื่นล้าน บวกเงินเดือนข้าราชการอยู่ใน 1 แสน 4 หมื่นล้าน

ดังนั้น ความต่างตรงนี้ทำให้การบริการของโรงพยาบาลมีการเลือก มีการจัดว่านี่ห้องประกันสังคม นี่ห้องบัตรทอง โรงพยาบาลเรียกเก็บเต็มที่ของข้าราชการ ก็อาจมีการบิดเบือนระบบ ก็จะมีการเชิญชวนกลุ่มข้าราชการให้ใช้ยานอกบัญชียาหลักบ้าง เป็นยาบริษัทต่างชาติบ้าง ยาของบริษัทภายในประเทศไม่ค่อยอยากใช้กัน ซึ่งอันนี้จะบวกกำไรค่ายาได้เยอะมาก และเรียกเก็บในราคาที่สูงมาก

เพราะฉะนั้น จะเป็นการใช้จ่ายยาที่ฟุ่มเฟือย และสร้างวิธีคิดที่ผิดๆ ในขณะที่ถูกเปรียบเทียบระหว่างคนที่ใช้บัตรทองกับประกันสังคม ไม่ได้ยาเหมือนกับที่ได้ในระบบราชการ วิธีจ่ายยาแบบนี้คือความไม่มีมาตรฐาน ซึ่งหมอจะอ้างว่าเพราะคุณจ่ายเงินในราคาที่ต่างกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในการให้บริการสุขภาพ คนเป็นโรคเดียวกัน ต้องรักษาด้วยวิธีเดียวกัน ด้วยยาแบบเดียวกัน เพื่อจะได้เป็นมาตรฐาน

มีความเป็นได้หรือไม่ที่ระบบประกันสุขภาพของไทยจะก้าวหน้าเหมือนประเทศในอียู อย่างเยอรมัน หรือฝรั่งเศส ที่รัฐและเอกชนร่วมมือกันทำให้ระบบประกันสุขภาพมีคุณภาพสูงและเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

เวลาเราเทียบกับกลุ่มประเทศในอียู ความแตกต่างของประเทศไทยกับอังกฤษ กับกลุ่มแสกนดิเนเวีย ที่อังกฤษไม่มีโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลเอกชนเป็นของศาสนาและมูลนิธิ ซึ่งไม่ได้ค้ากำไรเกินควรและไม่ได้เข้าตลาดหุ้น ขณะที่ประเทศไทยปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจและเข้าตลาดหุ้นได้

พอโครงสร้างพื้นฐานต่างกัน จะมาพูดว่าประเทศไทยเหมือนอียูได้ไหม ก็เพราะประเทศไทยมีลักษณะแบบนี้ คือปล่อยให้ทรัพยากรไหลไปอยู่ที่ภาคเอกชนโดยไม่มีมาตรการควบคุม แถมยังมีนโยบายคู่ขนานว่าด้วยเรื่องทำประเทศไทยให้เป็น ‘เมดิคัล ฮับ’ เป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกันเองในเวลาเดียวกัน

การทำเมดิคัล ฮับ ก็คือการสนับสนุนธุรกิจเอกชน ในขณะที่ก็ดึงดูดบุคลากรทางแพทย์จากรัฐไป แต่ก็ทำระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่เราจะไปเหมือนประเทศในกลุ่มอียูได้ ตราบใดที่รัฐไทยยังไม่สามารถจัดการกับธุรกิจเอกชนที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนได้

สิ่งที่เราต้องทำในตอนนี้ คือ ต้องควบคุมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เพราะพอหมอไปอยู่ที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เขาก็อาจจะไม่อยากมาบริการคนในระบบบัตรทอง หรือประกันสังคมสักเท่าไหร่ แต่เราคงไม่ไปล้มระบบโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้เขาทำ แต่เราต้องดึง ต้องคุมกำเนิดไม่ให้เกิดมากไปกว่านี้ ส่วนที่มีอยู่แล้ว ต้องมีนโยบายหรือทิศทางในการทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแบ่งเตียงมารองรับผู้ป่วยในประเทศไทยทั้งหมด ก็คือรับสำรองเตียง รับการส่งต่อผู้ป่วยด้วยราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

คือตอนนี้ไม่มีใครมีอำนาจที่จะไปจัดการราคาต้นทุนของการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องมีราคาต้นทุนที่ชัดเจน มีราคากลาง และการเรียกเก็บระหว่างกันไม่ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะถูกส่งต่อจากระบบไหน ต้องเป็นราคาที่ได้มาตรฐาน ไม่อย่างนั้นเขาจะเรียกเท่ากับราคาของข้าราชการ ข้าราชการ 5 ล้านคนใช้ 6 หมื่นล้านบาท ถ้า 48 ล้านคนก็ต้องใช้มากกว่าแสนล้านบาท ไปเป็นสองแสนล้านบาทซึ่งมันเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องจัดการ ทำยังไงให้โครงสร้างพื้นฐานกับทรัพยากรที่มีอยู่ตอบสนองต่อระบบหลักประกันสุขภาพได้ ต้องมีคณะกรรมการหรือมีรัฐบาลที่เข้มข้นเข้มแข็งที่จะจัดการกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ให้เรียกเก็บเงินเกินจริง แล้วก็หาค่ากลางให้ได้ ว่าจริงๆ แล้วค่ากลางของการรักษาพยาบาลคืออะไร

บัตรทองคือระบบที่รองรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ได้ ?

ตอนนี้คนที่ไม่มีบัตรทองมีอยู่กลุ่มเดียว คือคนที่ไม่มีสถานะบุคคล ยังไม่ได้การรับรองสถานะบุคคลว่าเป็นคนสัญชาติไทย นอกนั้นไม่ว่าคนจนคนรวย บัตรทองเป็นตาข่ายรองรับทุกคน ถ้าหลุดออกจากประกันสังคมเมื่อไหร่ก็ตกลงไปในตาข่ายของบัตรทอง ถ้าถูกไล่ออกจากระบบราชการ ก็ตกลงไปอยู่ในบัตรทอง มีกลุ่มเดียวที่รัฐ กระทรวงมหาดไทยยังไม่รับรองว่าเป็นคนไทย ทำเรื่องกันมานานแล้ว คนที่รัฐตกสำรวจก็ยังไม่ทำให้เขามีสัญชาติไทย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย อยู่ในระบบบัตรทองเท่าเทียมและเสมอภาคกัน และนี่เป็นหลักการสำคัญของการทำรัฐสวัสดิการ คือไม่ได้ทำแบบมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะสำหรับคนจน แต่ทำสำหรับทุกคนด้วยมาตรฐานเบื้องต้น แต่ถ้าอยากจะนอนห้องพิเศษ อยากจะได้หมอพิเศษ ก็ไปซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม แต่บัตรทองคือมาตรฐานเดียวกัน และต้องใช้มาตรฐานการรักษาเดียวกัน

แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไทยมานานและจ่ายภาษีให้กับรัฐ จะมีโอกาสได้รับบริการสุขภาพแบบเดียวกันนี้หรือไม่

ตอนนี้ถ้าจะได้รับผลประโยชน์จะต้องซื้อประกันสุขภาพ ในฐานะที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะซื้อบริการสุขภาพของรัฐหรือเอกชนก็ได้

ตอนนี้รัฐขายประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้าเมืองโดยถูกหรือไม่ถูกกฎหมายก็ตาม แต่คนที่เข้าเมืองถูกกฎหมายส่วนใหญ่จะไปทำงานในที่ที่มีนายจ้าง และจะเข้าไปอยู่ในกฎหมายประกันสังคมโดยอัตโนมัติ เขาได้รับเงินเดือนก็ต้องจ่ายเข้าประกันสังคม เขาจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม

แต่แรงงานข้ามชาติที่อาจจะเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย หรือมาทำงานรับจ้างทั่วไป ทำงานอิสระ ถ้าอยากเข้าสู่การรักษาพยาบาลต้องซื้อประกันสุขภาพ ตอนนี้ราคาอยู่ 1,800-2,200 บาทต่อปี ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับการรักษาพยาบาลโดยทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพ

หลังจาก คสช.เข้ามามีอำนาจ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางของระบบสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

เวลาเราพูดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ วิธีคิดที่สำคัญที่สุดคือ เป็นระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ทุกคนโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน แต่พอ คสช.เข้ามา วิธีคิดยังเป็นแบบเดิม แบบอนุรักษ์นิยมที่คิดว่า เราควรจัดสวัสดิการให้คนที่จนและยากลำบากก็พอ ถ้าจะจัดแบบเสมอภาคก็จะใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น มารักษาพยาบาลให้คนจนก็พอ คนที่ไม่จนก็ให้จ่ายเงินรักษาเองเหมือนเดิม ซึ่งอันนี้คือการย้อนกลับไปหลัง 10 ปีที่ผ่านมา คือถอยหลัง

เพราะจริงๆ การจัดสวัสดิการหรือรัฐสวัสดิการ คือการลดความเหลื่อมล้ำทันที คนจนก็ได้รับการรักษาโดยการจ่ายภาษีเท่าที่จ่ายได้ คนรวยก็ได้รับการรักษา ระบบนี้ควรจะยังอยู่ แต่ คสช.คิดกลับด้าน

พอคิดกลับด้าน ก็เริ่มสั่งแช่แข็งงบประมาณสายสวัสดิการสังคมไว้เลย แต่ที่ไม่แช่แข็งและเพิ่มคือเงินเดือนข้าราชการ อ้างว่าเพิ่มให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่มีใครออกมาโวยวายเลย ไม่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจพังไปแค่ไหน การจะแช่แข็งงบประมาณการรักษาพยาบาลเป็นวิธีคิดที่ผิด

พอคิดผิดมันอธิบายยาก บอกเขาว่าเพิ่มเงิน เขาอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ เหมือนสมัยที่เราต่อสู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จะมีนักวิชาการออกมาตอบโต้ตลอดเวลาว่า ประเทศไทยจัดสวัสดิการไม่ได้ เราไม่มีเงินมากพอ แต่ไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในอียู ในยุโรป ก็จัดสวัสดิการในสมัยที่มีปัญหาทางด้านการเงิน เพราะต้องการลดช่องว่าง และรัฐจะต้องใช้จ่าย

ที่บอกว่าเงินในระบบไม่เพียงพอ เป็นวาทกรรมทีสังคมไทยได้ยินมาโดยตลอด และคนที่ชี้นำเรื่องนี้ก็คือสำนักงบประมาณ ประเด็นก็คือว่า เอาเข้าจริง เงิน 2-3 ล้านล้านบาทที่จัดงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี เราใช้รักษาพยาบาลอยู่ 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท มันไม่ได้เยอะเลยนะ

ถ้าเราจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร บริหารอย่างดี เงินก็น่าจะเพียงพอ ถ้าเราให้ความสำคัญในเรื่องการจัดสวัสดิการ ถ้าต้องเพิ่มก็ต้องเพิ่ม ต้องไม่มีวิธีคิดว่าต้องให้ประชาชนไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล แต่จะต้องคิดว่าจะมีภาษีสุขภาพไหม แล้วจ่ายตามความสามารถของคนที่จ่ายภาษี ใครจ่ายภาษีได้เยอะก็มีโอกาสจะร่วมภาษีสุขภาพมากขึ้น คนจ่ายภาษีน้อยก็จ่ายภาษีสุขภาพน้อย แต่ทุกคนได้รับบริการที่เหมือนกัน

หรือจะพิจารณาจะภาษี VAT หรือภาษีบริโภคซึ่งประเทศไทยมีเยอะมาก ภาษีแอลกอฮอล์ ภาษียาสูบ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ภาษีน้ำมัน ภาษีเหล่านี้ถ้าระบุให้ชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นเพื่อลดการบริโภคลง ขณะเดียวกันก็กันส่วนหนึ่งที่นำภาษีเหล่านี้มาพัฒนาระบบสุขภาพ

การคิดเรื่องระบบภาษีใหม่ทั้งหมดของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกัน อย่าเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเป็นตัวประกัน ไม่ใช่เอาเรื่องสุขภาพมาเป็นตัวประกัน ไม่จ่ายเพิ่มเรื่องสุขภาพเพราะว่าเงินไม่พอ แต่ควรจะคุยเรื่องระบบภาษีทั้งหมด ดูทุกกระทรวงว่าจำเป็นขนาดไหน

ตอนนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้น มีระบบอะไรรองรับบ้าง

เรื่องจำนวนผู้สูงอายุเป็นสถานการณ์เดียวกันทั่วโลก คือโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย เพราะฉะนั้นก็จะมีผู้สูงอายุเยอะ

ในประเทศไทย ระบบสุขภาพโครงสร้างพื้นฐานดีอยู่แล้ว พอที่จะช่วยเหลือกันได้ แต่ถ้าจะดูแลผู้สูงอายุ ต้องจัดระบบให้ผู้สูงอายุสามารถมีหลักประกันว่าเมื่อสูงอายุแล้วจะมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพ

ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยมีคนกับคนรวย และมีช่องว่างระหว่างรายได้ไม่เคยต่ำกว่า 15 เท่า พอเป็นแบบนี้และเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ ก็จะมีผู้สูงอายุที่จนทันที ปัจจุบันนี้เรามีผู้สูงอายุอยู่ 12 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่จนอยู่ 5 ล้านคน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐต้องดู ไม่ใช่เรื่องการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว สิ่งที่รัฐต้องรับประกันคือผู้สูงอายุทุกคนจะต้องมีรายได้ประจำเดือน คนรวยไม่ว่ากัน แต่ว่าคนจนควรจะมี ตอนนี้วิธีคิดของรัฐคือให้เป็นเบี้ยยังชีพ มันก็ยังเป็นแค่นโยบายของแต่ละรัฐบาล ต้องคิดใหม่ว่าเราจะดูแลผู้สูงอายุด้วยระบบหลักประกันทางรายได้ ต้องสร้างระบบบำนาญขึ้นมาเป็นระบบบำนาญพื้นฐานให้ผู้สูงอายุ และควรจะคำนวณตัวเงินโดยทั่วไปทั่วโลกใช้เส้นความยากจน ณ เวลานั้นเส้นความยากจนอยู่ที่เท่าไหร่ รัฐต้องจ่ายเท่ากับเส้นความยากจนให้ผู้สูงอายุทุกคนได้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นข้าราชการ แต่คนที่เป็นข้าราชการอาจจะได้เงินเพิ่มเติมจากการที่เป็นข้าราชการ และที่เข้ากองทุน กบข.ก็อาจจะมีรายได้ส่วนนั้น

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีผลต่อระบบสาธารณสุขไทยหรือไม่อย่างไร

มีผลกระทบแน่นอนใน 2 ด้าน คือ เมดิคัล ฮับในประเทศไทยจะเติบโต และคนรวยในเออีซีทั้งหมดก็อาจจะบินมารักษาในเมืองไทย ซึ่งอาจจะถูกกว่าไปรักษาที่สิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบกับคนที่ยากจนทั้งหมดในเออีซี คนที่ลำบากที่สุดก็จะยังขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเช่นเดิม รวมทั้งคนไทยด้วย

ที่ผ่านมา คนรวยใช้หมอจำนวนมากของเราในประเทศไทย แต่ตอนนี้มีคนรวยจากเออีซีมาร่วมใช้ด้วย และคนที่อยู่ตามแนวชายแดน ถ้าไม่ช่วยกัน โรงพยาบาลตามแนวชายแดนที่ต้องดูแลคนจนของทั้งสองฟากอยู่แล้ว อันนี้อาจจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

รัฐทั้งหมดของเออีซีต้องมาคุยกันในเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพในเออีซี ถ้าทุกประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพที่เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน คนข้ามแดนไปมา ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยก็ไปดูแลคนไทยในลาวได้ หรือคนลาวมาในประเทศไทย ก็จะต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพของลาวที่ตามมาจ่ายเงิน เหมือนหลักประกันสุขภาพของอียูเขาตามมาจ่ายเงินให้คนของเขาในประเทศไทย

ในระยะเวลาอันสั้นนี้ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะมีการเพิ่มงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขให้ระบบหลักประกันสุขภาพ

ก็ฝากความหวังไว้กับรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ว่าจะเข้าใจเรื่องนี้หรือเปล่า แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ เพราะท่านเติบโตมาในสายวิชาการ ล่าสุดท่านเป็นประธานการประชุมในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยก่อนที่ คสช.จะเข้ามา ท่านจะเข้าใจไหมว่าระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว ท่านต้องเข้ามาช่วยทำให้ดีขึ้น อย่าไปแช่แข็งมัน และอย่าลืมว่ามีโรงพยาบาลในชนบทอีกมากที่ต้องการบุคลากร ต้องการเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net