Skip to main content
sharethis

เปิดตัวหนังสือ “คาราวานและพ่อค้าทางไกล: การก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทยและดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ของ "วราภรณ์ เรืองศรี" ที่ มช. และร่วมเสวนาโดย "สุชาติ เศรษฐมาลินี" และ "ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ"

10 ก.ย.57 ห้อง HB 7801 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางศูนย์อาเซียนศึกษา ร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนา Book Talk ในหัวข้อ “คาราวานและพ่อค้าทางไกล: การก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทยและดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งเป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ดร.วราภรณ์ เรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีวิทยากรร่วมเสวนาคือ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี อาจารย์ประจำสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

000

วราภรณ์ เรืองศรี กล่าวถึงพื้นเพของตัวเองว่าสนใจการค้าในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากสนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ แต่พออ่านงานเศรษฐศาสตร์การเมืองก็พบว่าเน้นศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับมหภาค และความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ แต่เรากลับสนใจเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับชีวิตของคน จึงสนใจประเด็นการค้าในชีวิตประจำวัน และพื้นที่ตลาด

การศึกษาการค้าในชีวิตประจำวันยังมีมิติที่สัมพันธ์กับชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เมื่อได้อ่านเรื่อง “สำนวนและสุภาษิตไทเขิน” ที่พูดถึงชีวิตของคนที่สัมพันธ์กับตลาด ทำให้คิดว่าตลาดไม่ใช่แค่พื้นที่การแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แล้วพื้นที่ทางเศรษฐกิจยังแยกไม่ออกจากพื้นที่ทางการเมือง พอย้อนกลับไปศึกษาการเมืองการปกครองในรัฐจารีต พบว่ารัฐใช้พื้นที่ตลาดในการสอดส่องว่าใครเป็นใคร มีคนกลุ่มไหนบ้าง มีสินค้าอะไร จะเก็บส่วยจากสินค้าประเภทใด หรือการไต่สวนหรือสอบสวนคดีความก็เริ่มขึ้นจากพื้นที่ตลาด เช่น คดีลักวัวลักควาย คดีหลักทรัพย์ หรือการทะเลาะวิวาท และพบว่าในรัฐจารีต เมื่อเริ่มมีการตั้งศูนย์กลางทางการเมืองขึ้น รัฐจะสร้างตลาดหรือพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของการค้าการแลกเปลี่ยนขึ้นในเวลาเดียวกัน

ในประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ พบว่าการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ โดยมองผ่านเรื่องการค้า จะให้ภาพที่ชัดเจนมาก การค้าเป็นตัวเชื่อมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีการติดต่อสื่อสารกันมานานแล้ว คนบนพื้นที่สูงลงมาค้าขายกับคนพื้นราบ และชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มมักมีความถนัดหรือความรู้ที่สัมพันธ์กับการผลิตที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน เช่น ชุมชนที่ผลิตเกลือ ก็จะนำเกลือไปแลกกับข้าว

ส่วนประเด็นเรื่องการเดินทาง เราจะพบว่ากลุ่มพ่อค้าเป็นกลุ่มคนที่เดินทางไปยังที่ต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ ในงานศึกษาจะเน้นที่บทบาทพ่อค้าจีนยูนนานกับพ่อค้าไทใหญ่ พ่อค้าเป็นเหมือนคนกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และพบว่ายังมีบทบาทในการเชื่อมมิติทางสังคมวัฒนธรรมไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าพิจารณาผ่านการบริโภค จะเห็นกลุ่มวัฒนธรรมร่วมที่บริโภคสินค้าอย่างเดียวกัน เช่น เกลือ ฝ้าย เครื่องทองเหลือง หรือถ้ามองผ่านภาษา จะพบการหยิบยืมภาษาระหว่างกัน พ่อค้าจึงมีบทบาทในการเชื่อมความหลากหลายทางชาติพันธุ์มายาวนาน

การเดินทางของพ่อค้ายังเผยให้เห็นเครือข่ายข้ามพรมแดน ที่มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐสมัยใหม่ และแม้เมื่อรัฐต่างๆ เปลี่ยนสู่รัฐสมัยใหม่ การค้าในลักษณะข้ามพรมแดนก็ยังดำเนินต่อมา แต่อาจมีกระบวนการปรับตัวต่างๆ ข้อสังเกตที่พบคือเมื่อรัฐสมัยใหม่สร้างกลไกต่างๆ เข้ามาควบคุมพื้นที่ชายแดน การค้าที่เรียกว่าการลักลอบ ผิดกฎหมาย หรือหนีภาษี ก็จะยิ่งเติบโต

ประเด็นถกเถียงในงานชิ้นนี้ ประเด็นแรกคือเรื่องของคน ในงานล้านนาศึกษาส่วนใหญ่พบว่าสถานภาพของคนในฐานะสามัญชนทั่วไปยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยมักกล่าวถึงคนในฐานะไพร่ที่ส่งส่วยให้กับรัฐ หรือการเป็น “ข้า” ของเมืองต่างๆ คนจึงมีสถานภาพที่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากถูกกวาดต้อน ถูกเกณฑ์ไปนู้นนี่ กระทั่งยุคที่ปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐสมัยใหม่ คนในล้านนาศึกษาก็ยังถูกให้ภาพที่สัมพันธ์กับรัฐในมุมที่จำกัดมาก เช่น เรื่องการเสียภาษี เกณฑ์แรงงาน

แต่งานนี้สนใจที่จะหามุมมองศึกษาคนธรรมดา โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าทางไกลที่ไม่ได้สังกัดอยู่ในฐานะไพร่ ไม่ได้เป็นข้าของเมืองใด คนกลุ่มนี้เผยให้เห็นศักยภาพในการต่อรองกับรัฐ การรู้กลวิธีหลบหลีกต่างๆ เมื่อต้องเผชิญกับการตรวจสอบควบคุมในรัฐสมัยใหม่ ส่วนกลุ่มพ่อค้าท้องถิ่น ซึ่งเคยสังกัดในระบบไพร่ คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มมีบทบาทเด่นชัดในการค้าระหว่างเมือง เมื่อรถไฟเริ่มขยายเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20

คนในล้านนาศึกษายังถูกเน้นบทบาทของชาวไทยวนหรือไทโยนก แล้วมักจะยึดโยงกับตำนานเรื่องการลำดับราชวงศ์ของกษัตริย์ ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงกับคนล้านนาในสมัยหลังได้ การศึกษาล้านนาจึงไม่เคยเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณแถบนี้มีความหลากหลายมากกว่าที่จะเน้นแค่กลุ่มไทบางกลุ่มเท่านั้น กลุ่มคนที่หลากหลายต่างหากที่มีส่วนในการสร้างบ้านแปงเมือง

ประเด็นที่สอง คือประเด็นที่ศึกษาในล้านนาศึกษายังมีข้อจำกัดมาก โดยมักจะเน้นบทบาทของกลุ่มชนชั้นนำ และเน้นบทบาทด้านการเมือง เช่น การสร้างเมืองของกษัตริย์ วีรกรรม หรือคุณงามความดีในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา และล้านนาศึกษายังมักจะใช้กรอบของรัฐชาติสมัยใหม่เข้ามาล้อมกรอบพื้นที่ศึกษา เวลาเราพูดถึงล้านนาศึกษาจะกลายเป็นจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ ล้านนาศึกษาควรจะกินอาณาบริเวณกว้างออกไปกว่านั้น การศึกษาการค้าของคนจะทำให้เห็นว่าไม่สามารถล้อมกรอบเช่นนั้นได้

เมื่อเริ่มศึกษาชายแดน ก็พบว่าชายแดนบางครั้งมันมีสถานภาพเป็นเหมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เป็นจุดเชื่อมต่อของเครือข่ายการค้า เมืองต่างๆ ที่เราเห็นว่าในปัจจุบันเป็นเมืองชายแดน เช่น เชียงตุง เชียงรุ่ง ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นยังเคยเป็นศูนย์กลางทางการเมืองมาก่อนด้วย

การกลายเป็นชายแดนจึงมีที่มาที่ไป ชายแดนจึงไม่ใช่พื้นที่ชายขอบของอำนาจรัฐ รัฐต่างหากพยายามเข้ามาสถาปนาอำนาจผ่านการควบคุมชายแดน แต่ก็มีการต่อรองปะทะกับอำนาจที่อยู่ในท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีบทบาทหลักด้วยซ้ำในการกำหนดควบคุมความเคลื่อนไหว จึงเกิดการต่อรองระหว่างคนหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ คนท้องถิ่น และคนที่เดินทาง การเดินทางในลักษณะข้ามพรมแดนของกลุ่มต่างๆ ยังเป็นประเด็นสำคัญในล้านนาศึกษาที่ยังมีการศึกษาอยู่ค่อนข้างน้อย

ข้อเสนอจากงานชิ้นนี้ คือเราไม่อาจอธิบายการเปลี่ยนสู่รัฐสมัยใหม่ ผ่านกลไกทางการเมืองจากส่วนกลาง เช่น เรื่องการปฏิรูปการปกครอง โดยไม่ไปสำรวจอำนาจที่ลงไปกระทำการในพื้นที่ พอได้เปลี่ยนมุมมาศึกษาที่ชายแดน ทำให้เห็นว่าอำนาจรัฐที่ลงไปมันมีลักษณะที่ชนกันหลายด้านมาก เห็นการปะทะกันของรัฐต่อรัฐ อำนาจของรัฐสยามปะทะกับรัฐอาณานิคมที่เข้ามา การปะทะกันระหว่างรัฐกับผู้คน ที่พยายามควบคุมคนบริเวณชายแดนให้อยู่กับที่ และการปะทะกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ

การศึกษาการค้าชายแดนยังเผยให้เห็นการแข่งขันทางอำนาจระหว่างรัฐ ในช่วงการปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐสมัยใหม่ เช่น เรื่องการขยายเส้นทางรถไฟสายเหนือ เผยให้เห็นความพยายามเข้ามาควบคุมการค้าชายแดนบริเวณภาคเหนือ เส้นทางรถไฟทำให้การค้าในพื้นที่ภาคเหนือมาเชื่อมกับสยาม จากเดิมที่รับสินค้ามาจากพม่าหรือที่ต่างๆ ต่อมาก็หันมารับสินค้าจากรถไฟ

ฉะนั้น อำนาจรัฐส่วนกลางไม่ได้อาศัยกฎหมายสมัยใหม่ ระบบราชการ กองทัพ ในการเข้ามาผนวกรวมพื้นที่ที่ห่างจากศูนย์กลางอำนาจ แต่คือการที่สามารถเชื่อมระบบเศรษฐกิจเข้ากับศูนย์กลาง เมื่อผู้คนในท้องถิ่นรู้สึกว่าต้องการสินค้าที่มากับรถไฟ การบริโภคได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ระบบเงินตราจากเดิมในพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นการค้าข้ามแดน จะใช้เงินรูปี เริ่มถูกแทนที่ด้วยเงินบาท รวมถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทของคนกลาง จากกลุ่มพ่อค้าคาราวาน เริ่มกลายเป็นผู้ประกอบการกลุ่มใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจ โดยรัฐสยามสนับสนุนบทบาทของกลุ่มนี้ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง บางส่วนก็ให้มีบทบาทเป็นเจ้าภาษี หรือเก็บสัมปทานต่างๆ การศึกษามิติทางเศรษฐกิจจึงไม่เคยจะแยกออกจากมิติการเมือง และรัฐยังใช้มิติทางสังคมวัฒนธรรมในการเป็นเครื่องมือในการผนวกกลืนด้วย

งานชิ้นนี้ยังพยายามที่จะก้าวข้ามหรือไปให้พ้นการเลือกศึกษาระหว่างส่วนกลางหรือชายแดนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างชายแดนกับส่วนกลาง โดยพิจารณาผ่านมิติการเกิดรัฐสมัยใหม่และการค้า การค้าชายแดนเป็นเรื่องของคนท้องถิ่น ของพ่อค้าที่เดินทาง ซึ่งเป็นตัวแสดงหลักที่ขับเคลื่อนกลุ่มคนและทำให้สินค้าถ่ายเท แม้จะเกิดพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่ ก็ยังไม่สามารถควบคุมปิดกั้นการถ่ายเทของผู้คนและสินค้าได้

000

สุชาติ เศรษฐมาลินี ได้เล่าถึงคุณพ่อของตนที่เดินเท้ามาจากยูนนาน เข้าเชียงตุง มาถึงเชียงใหม่ เป็นคาราวานม้าต่างมา โดยประเพณีของคนจีนที่ยูนนานจะออกมาบ้านละคนสองคน พ่อเป็นคนเดียวที่ออกจากบ้าน พอออกมาแล้วประธานเหมาปฏิวัติก็ปิดประเทศ พ่อก็กลับบ้านไม่ได้ แต่ได้แต่งงานกับแม่ที่เชียงใหม่ พอได้อ่านเรื่องนี้แล้ว ตัวละครต่างๆ มันล่องลอยเข้ามา หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการที่สำคัญซึ่งเล่าเรื่องของตัวเล็กตัวน้อย ที่แม้แต่ตัวเองยังไม่อยากจะจำ โดยสำหรับตน ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องความทรงจำอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการไม่อยากจะจำด้วย จากความเจ็บปวดที่เขาได้รับ คนรุ่นพ่อผมไม่อยากจะจำ ผมก็พยายามจะรื้อฟื้น และอยากจะรู้รากเหง้าของตัวเอง พ่อก็จะสะกิดว่ามึงอยากรู้ไปทำไม ตอนนี้เราก็สบายอยู่แล้ว เป็นไทยก็ดีอยู่แล้ว

สุชาติเล่าว่าพ่อของตนเคยอยู่สะเมิง พูดได้ไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 ภาษา ทั้งภาษาจีน ม้ง กะเหรี่ยง ลัวะ หรือคำเมือง พ่อต้องติดต่อกับทั้งคนงานและพ่อค้าหลายชาติพันธุ์ ที่บ้านพ่อยังมีเงินแถบที่เป็นรูปีซึ่งอาจารย์พูดถึง และเงินตอนนั้นไม่ใช่แค่สื่อกลางแลกเปลี่ยน แต่เป็นเงินแถบที่เอาไว้ชั่งฝิ่น เป็นมาตรวัดด้วย และเป็นสินค้าในตัวของมันเอง ชีวิตพ่อค้าทางไกลยังมีมิติเรื่องการแต่งงาน แต่งกับคนท้องถิ่น มีการผสมผสานชาติพันธุ์ต่างๆ เราจะเห็นเสน่ห์ มีชีวิตชีวา และความเคลื่อนไหวในชายแดนสูงมาก และเห็นความไม่มีน้ำยาของรัฐในการจะเข้าไปควบคุมพื้นที่

สุชาติกล่าวว่าตนรู้สึกตื่นเต้นกับงานชิ้นนี้ ทั้งหลักฐานหลายอันที่อ้างในงานก็ไม่เคยได้ยิน ตนชื่นชมงานนี้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อย และก็ควรมีตัวละครอื่นๆ อีกมากกว่านี้ที่สามารถมาบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านี้ด้วย

000

ศรยุทธ เอื้อมเอื้อยุทธ ให้ความเห็นว่างานศึกษาเกี่ยวกับการเกิดรัฐสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหลายสำนักและสกุล โดยส่วนมากมักเริ่มตั้งต้นจากรัฐก่อนสมัยใหม่ผ่านแนวคิดว่าด้วยวิถีการผลิตแบบเอเชีย, สังคมพลังน้ำ, แมนดาร่าหรือมณฑล หรือรัฐมหรสพ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นมาจากการให้ความสำคัญกับสามคำหลัก คือศาสนา, การควบคุมทรัพยากร (และพื้นที่) และชนชั้นปกครอง การศึกษาการก่อเกิดของรัฐสมัยใหม่จึงเริ่มต้นศึกษาผ่านการเปลี่ยนผ่านรูปแบบและความหมายของคำสำคัญทั้งสามนี้ไป ภายใต้บริบทสำคัญ เช่น การไล่ล่าอาณานิคม, การต่อต้านอาณานิคม และอาณานิคมภายใน

คำถามคือตกลงแล้ว ชาติก่อเกิดจากอะไร จากชนชั้นนำ ศาสนา และการควบคุมทรัพยากร/พื้นที่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประชาชนหรือสามัญชนเป็นเพียงผู้ถูกกระทำทางประวัติศาสตร์เท่านั้นหรือ หรือเป็นเพียงผลผลิตทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำ?  อดีตของผู้คนทั่วไปอาจมีอยู่ แต่อดีตไม่สามารถกลายเป็นประวัติศาสตร์ เพราะพื้นที่ในการบอกเล่าทางประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ของคำสำคัญทั้งสามที่กล่าวมาในข้างต้น

นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัยหลายท่าน ได้ทำการท้าทายความคิดเหล่านี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ เปลี่ยนแปลงผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์เสียใหม่ จากเรื่องเล่าที่กระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลางอำนาจของรัฐมาสู่ชายขอบและปริมณฑลที่มิเคยถูกกล่าวถึง จากผู้นำทางศาสนาและชนชั้นปกครองมาสู่คนธรรมดาสามัญ  และจากกระฎุมพีพ่อค้ามาสู่พ่อค้าทางไกล ดังนั้น คุณูปการสำคัญของงานศึกษาเรื่องคาราวานและพ่อค้าทางไกลฯ ก็คือ การมอบพื้นที่และเวลาให้กับผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ควบคู่ไปกับการบอกเล่าอดีตอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา

ศรยุทธกล่าวประเด็นต่อมาว่านักวิชาการท้องถิ่นหลายท่านได้เขียนงานออกมาตอบโต้ประวัติศาสตร์ชาตินิยมหรือประวัติศาสตร์ที่ถือเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ในท่วงทำนองแบบ “anti-internalcolonialism” โดยเฉพาะการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่หยิบยืมโครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติมาปรับประยุกต์ แต่งานเขียนเล่มนี้กลับสนใจแง่มุมที่ต่างออกไป เนื่องจากล้านนาในสายตาและประสบการณ์ของผู้เขียน คืออาณาบริเวณชายแดนที่ข้ามไปมาได้ทั้งสองฟากฝั่งและคร่าคร่ำไปด้วยการค้าขายระหว่างกลุ่มและระหว่างชาติพันธุ์ จินตนาการว่าด้วยล้านนาที่แตกต่างกันน่าจะมีผลโดยตรงกับการนิพนธ์ประวัติศาสตร์ งานชิ้นนี้จึงไม่ใช่การงานเขียนวิพากษ์อุดมการณ์ชาตินิยม หรือการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทว่าเป็นการนิพนธ์ขึ้นใหม่ด้วยพื้นที่และผู้คนกลุ่มใหม่ มองในอีกแง่หนึ่งมันก็คือการชวนทะเลาะทั้งประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างตรงไปตรงมา

ศรยุทธยังเห็นว่างานชิ้นนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบข้ามชาติ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางสังคมศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง “ชายแดนศึกษา” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันทั้งในเชิงพื้นที่และประเด็นถกเถียงกับงานมานุษยวิทยาชิ้นหนึ่งของแอนดรู วอร์กเกอร์ (Andrew Walker) ทว่าแอนดรูศึกษาน้ำโขง ส่วนงานคาราวานและพ่อค้าทางไกลฯ ศึกษาเครือข่ายการค้าทางบก งานชิ้นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของชายแดนและการพยายามเข้าควบคุมชายแดนของรัฐ ชายแดนมิใช่สถานที่อันห่างไกล หากอุดมด้วยอำนาจการต่อรองและการควบคุม โดยเรื่องพวกนี้มิใช่เพิ่งเกิดหากมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ในงานชิ้นนี้ กลุ่มผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือกลุ่มพ่อค้าและขบวนคาราวาน คนเหล่านี้คือนักเดินทางและเป็นผู้กระทำการทางการค้าและการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ พวกเขาเดินทางก่อนที่จะมีรัฐชาติ และกลายเป็นคนที่เดินทางข้ามชาติในช่วงของความพยายามสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่ในที่สุด  ในช่วงเวลานี้ พ่อค้าทางไกลจึงแลดูเป็นอันตราย ไว้ใจไม่ได้ ในทัศนะของรัฐ เพราะสิ่งที่รัฐสร้างขึ้นมิใช่แค่เส้นพรมแดนและการควบคุมการค้าและภาษี หากแต่เป็นการควบคุมการเดินทางหรือการตรึงคนให้ผูกติดกับพื้นที่ (territorialisation)

ดังนั้น มองในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งงานชิ้นนี้ขาดไปก็คือ การตรึงคนให้ติดที่และตั้งถิ่นฐานต่างหาก จึงเป็นขั้นสุดของความพยายามสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งในแง่นี้ อาจเป็นวิธีวิทยามาสู่การพิจารณาเรื่องการสร้าง govermentality ผ่านการทำสำมะโนครัวประชากร โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนในเวอร์ชันมาพึ่งใบบุญหรือพระบรมโพธิสมภาร และการสร้างความเป็นพลเมือง มากกว่าการดึงดูดทรัพยากรหรือการผูกขาดการค้า เป็นต้น

งานชิ้นนี้ยังมีกลิ่นอายของโครงเรื่องโศกนาฏกรรมอยู่ไม่น้อย เกิดขึ้นบนเค้าร่างของมองอดีตในสองระดับ คือ ดินแดนล้านนาที่เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งเชื่อมต่อทางการค้าจนเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม แม้พวกเขาจะมีพลังในการต่อรองระดับหนึ่งแต่ก็ไร้อำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง ท่ามกลางอาณาบริเวณชายแดน พวกเขายังต้องเป็นซับเจคของรัฐใดรัฐหนึ่งหรือหลายๆ รัฐพร้อมกัน  ทว่า เมื่อตัวแทนอำนาจรัฐถูกผนวกเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ พวกเขาก็ต้องกลายเป็นซับเจคของรัฐสมัยใหม่นั้นๆ ไปด้วย บางครั้งจนถึงขั้นต้องเลือกรัฐที่จะอยู่  ไม่อาจเป็นคนไร้รัฐหรือสองรัฐได้อีกต่อไป  ดังนั้น โครงเรื่องโศกนาฏกรรมนี้จึงไม่ใช่ของล้านนาหรือดินแดนที่ถูกอุปโลกขึ้น หากเป็นของผู้คนธรรมดาสามัญทั่วไป  ภายใต้การถือกำเนิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่

ศรยุทธเห็นว่าโศกนาฏกรรมไม่จำเป็นต้องหลั่งน้ำตาหรือตีหน้าเศร้าเสมอไป  หากสามารถเป็นประจักษ์พยานสำคัญในการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้กับกิจกรรมสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ ควบคู่ไปกับการนำทางเราไปสู่โลกของสามัญชนและบุกเบิกที่ทางในอดีตให้กับผู้คนที่ยังอยู่ในปัจจุบัน แม้มันอาจไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ทว่า ก็เป็นงานที่อยู่นานและสร้างแรงกระเพื่อมอย่างสม่ำเสมอ

(สามารถอ่านข้อเขียน “แง่คิดจากหนังสือคาราวานและพ่อค้าทางไกลฯ” ฉบับเต็มของศรยุทธ ได้ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net