Skip to main content
sharethis
 
ความขัดแย้งกรณีเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ก้าวสู่วิกฤติขั้นรุนแรง เมื่อปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเจ็บป่วยของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนามาสู่การเผชิญหน้าระหว่างผู้ได้รับผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการ ขณะที่ความศรัทธาต่อหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบซึ่งน่าจะเป็นคนกลางในการแก้ปัญหานับวันยิ่งเสื่อมถ่อยลง คำถามถึงแนวทางที่จะร่วมกันแก้ปัญหาก่อนพากันเดินหน้าสู่ทางตันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนี่เป็นเพียง 1 ในอีกหลายร้อยกรณีที่ความขัดแย้งถูกบ่มเพาะรอวันปะทุ
 
อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองแร่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทย หลายประเทศทั้งในทวีปเอเชีย และยุโรป รัฐบาลต่างยอมรับถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและพยายามจัดการกับปัญหา แนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการนำมาปรับใช้ในบ้านเรา
 
นิชา รักพานิชมณี มูลนิธิบูรณะนิเวศ นำเสนอข้อมูลประสบการณ์ต่างประเทศในการจัดการมลพิษเหมืองทองคำ ในเวทีเสวนา ‘ข้อเท็จและความจริง: เหมืองทองคำ จ.เลย’ จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2557 ว่า รัฐบาลทั่วโลกยอมรับว่าการสร้างเหมืองเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง
 
นิชา กล่าวว่า ข้อมูลของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (US EPA) ระบุว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่โลหะเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษอันดับ 1 ของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 40 ของมลพิษทั้งประเทศ ขณะที่หลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น แคนนาดา สหรัฐฯ สหภาพยุโรป 28 ประเทศ ฯลฯ กำหนดให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ต้องทำรายงานสารมลพิษที่ปล่อยสู่ระบบสิ่งแวดล้อมทุกปี
 
ในปัจจุบันบางประเทศได้ออกกฎหมายห้ามใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ก่อมลพิษสูงในการทำเหมืองและการแต่งแร่ เช่น การห้ามใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตแร่ทองคำ โดยสาธารณะรัฐเช็กออกกฎหมายนี้ในปี 2543 เยอรมันในปี 2545 ฮังการีในปี 2552 และคอสตาริกาในปี 2553
 
นอกจากนี้ ในหลายประเทศมีการควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากมลพิษจากเหมืองมีอายุยาวนานกว่าใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมหรือการประทานบัตรใดๆ
 
 
นิชา กล่าวถึงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อ 2544 ที่ว่า เหมืองแร่เป็นกระบวนการอุตสาหกรรมหลักในบรรดากิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในอากาศ น้ำ และดิน โดยสารหนูและสารประกอบของสารหนูจะพบได้ทั่วไปในปริมาณน้อยมากในหิน ดิน น้ำ อากาศ แต่ความเข้มข้นอาจสูง เนื่องจากกระบวนการผุกร่อนและกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมถึง การทำเหมืองแร่โลหะ
 
“กากแร่จากกิจการเหมืองแร่โลหะเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของการปนเปื้อนสารหนู และสามารถส่งผลให้หน้าดินปนเปื้อนได้ ในบางกรณีอาจทำให้แหล่งน้ำใต้ดินปนเปื้อนได้ด้วย... เนื่องจากซัลเฟอร์เป็นสารที่พบบ่อยในกากแร่ และการที่สารซัลเฟอร์ทำปฏิกิริยากับบรรยากาศและน้ำจะส่งผลให้เกิดการผลิตน้ำกรดที่สามารถชะละลายธาตุหลายชนิด รวมถึงสารหนู” ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก
 
 
ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงการแก้ปัญหาโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า ในต่างประเทศมีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สาธารณะร่วมตรวจสอบ อาทิ มีฐานข้อมูลอุบัติเหตุภายในเหมือง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรงกว่าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยสามารถสืบค้นได้ตามชื่อเหมือง ชื่อผู้รับเหมาหรือที่อยู่ ของสำนักงานสุขภาพและความปลอดภัยในเหมือง กระทรวงแรงงาน สหรัฐฯ ฐานข้อมูลรายงานผลการตรวจสิ่งแวดล้อมบริเวณเหมืองและโรงงาน และประวัติการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของเหมือง ซึ่งสามารถสืบค้นโดยใช้รหัสไปรษณีย์ โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ และใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก มีทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งบังคับใช้เป็นกฎหมาย
 
นอกจากนั้นยังมีรูปแบบของการให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นร่วมตรวจสอบและตัดสินใจ เช่น ในประเทศแคนนาดา มีสภาชุมชนท้องถิ่นด้านพลังงานและเหมืองแร่ จัดตั้งเมื่อปี 2549 มีสมาชิกเป็นผู้นำท้องถิ่นกว่า 200 คน เพื่อทำให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับข้อมูลเพียงพอเรื่องโครงการพัฒนาด้านพลังงานและเหมืองแร่ สร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐบาลและกลุ่มประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วนเปิดรับและเข้าใจความต้องการของคนในชุมชน และเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นไดมีช่องทางสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ เทียบเท่าเทียมกับภาครัฐและอุตสาหกรรม
 
ในประเทศสหรัฐฯ มีสมาคมผู้เสียภาษี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2515 ได้ต่อรองกับบริษัทเหมืองจนสำเร็จ บริษัทยอมยกเลิกผลิตแร่ทองคำด้วยไซยาไนด์และเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ก่อมลพิษน้อยกว่า
 
ประเทศปาปัวกินี บริษัทเหมือง BHP Blilliton ต้องปิดเหมืองหลังไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน รัฐบาลปาปัวกินีสั่งให้ตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาและให้ชุมชนท้องถิ่นถือหุ้นร้อยละ 25 เมื่อปี 2557 โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน
 
สำหรับหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” นิชากล่าวถึงตัวอย่างการนำมาใช้ในหลายประเทศ เช่น กรณีเหมืองทองคำที่ San Juan Ridge ประเทศสหรัฐฯ เมื่อปี 2537 บริษัทซานฮวานไมนิ่งต้องจ่ายค่าน้ำดื่มสะอาดให้โรงเรียนและชุมชน จ่ายค่าขุดเจาะบ่อบาดาลใหม่ และจ่ายค่าตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มทุกเดือน ตลอดเวลา 9 ปี หลังเกิดอุบัติเหตุขุดเหมืองเจอรอยต่อขั้นหิน ทำให้น้ำบาดาลหลายล้านแกนลอนไหลทะลักเข้าขุมเหมือง
 
เหมืองทองคำและทองแดง Ok Tedi ประเทศปาปัวกินี เมื่อปี 2556 ถูกรัฐบาลสั่งเพิกถอนสัญญายกเว้นความรับผิดชอบระหว่างบริษัท BHP Billiton และชุมชนท้องถิ่น มีการสั่งให้บริษัทเหมืองรับผิดชอบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันบริษัทได้ปิดกิจการและโอนทรัพย์สินที่เหลือทั้งหมดให้กับรัฐและชุมชนท้องถิ่น โดยรัฐและชุมชนร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน
 
ประเทศแคนนาดา เหมืองทองคำและทองแดง Mount polley เมื่อปี 2557 หลังเกิดอุบัติเหตุเขื่อนเก็บกากแร่พังทลาย ชะล้างกากแร่ปนสารพิษกว่า 14.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู่โครงข่ายแม่นำและทะเลสาบ กระทรวงสิ่งแวดล้อมสั่งให้บริษัทเหมืองส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นภายใน 2 วันหลังเกิดเหตุ เพื่อชี้แจงรายละเอียดเรื่องผลกระทบเบื้องต้นและสารเคมีต่างๆ ที่ถูกปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และภายใน 2 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุบริษัทฯ ต้องส่งรายงานประเมินผลกระทบระยะยาว ซึ่งต้องรวมถึงผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา คุณภาพน้ำ และตะกอนดิน ไม่เช่นนั้นจะสั่งปรับสูงสุด 8.85 ล้านบาท และจำคุก 6 เดือน
 
ประเทศคอสตาริกา เหมืองทองคำ Las Crucitas เมื่อปี 2553 รัฐบาลเพิกถอนประทานบัตรและสั่งห้ามกิจการเหมืองแร่ทองคำชนิดขุมเหมืองเปิด และกระบวนการแต่งแร่ทองคำด้วยสารไซยาไนด์ทุกแห่งทั่วประเทศ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันการปนเปื้อนแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์และผลประโยชน์ของชาติ
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net