Skip to main content
sharethis
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ พัฒนาแอพพลิเคชัน “EMS Certified” หวังสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้บริการผ่านรถพยาบาลฉุกเฉิน และรถกู้ชีพฉุกเฉินว่าเป็นรถที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย
 
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่สำคัญคือมีที่ว่างสำหรับจัดวางเตียงพร้อมผู้ป่วยฉุกเฉินลักษณะนอนราบ และมีระบบระบายอากาศ และกระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ด้านข้างช่วงหลังทั้งสองข้างต้องแสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว
 
ส่วนอุปกรณ์ภายในรถปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นนั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก โดยอุปกรณ์จะต้องจัดอยู่ในสภาพเรียบร้อย สะอาด กรณีที่เป็นสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งที่อาจทำให้ติดเชื้อ จะต้องมีการจัดแยกให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงจัดให้เป็นระเบียบ เพียงพอ พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้ในการติดต่อ มีระบบการรับสัญญาณเตือนภัย และระบบข่าวสารการแพทย์ฉุกเฉิน
 
ที่สำคัญอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในรถจะต้องมีการจัดแบ่งไว้เป็นชุด โดยอาจจะบรรจุภาชนะหีบห่อเพื่อการใช้งานตามความจำเป็นกับเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นด้วย โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง (Hard collar) ไม่น้อยกว่า 3 ขนาดและสามารถปรับขนาดได้ มีเฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน ถุงมือปราศจากเชื้อ สำลี ผ้าพันแผล น้ำเกลือ อุปการณ์ล้างตา เครื่องดูดเสมหะชนิดบีบมือ ที่หนีบสายสะดือ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิง
 
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า เพื่อความมั่นใจของประชาชนและผู้ป่วยฉุกเฉินว่าจะได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินจากรถพยาบาลฉุกเฉินและรถกู้ชีพที่ได้มาตรฐาน ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองผ่าน แอพพลิเคชัน “EMS Certified” ดาวน์โหลดได้ที่นี่ สำหรับขั้นตอนการใช้ มีดังนี้ 1.สามารถตรวจสอบได้ด้วยการถ่ายรูป QR-code ของรถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพลิเคชันว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแล้วหรือไม่ 2.สามารถตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็สามารถตรวจสอบได้ว่ารถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่
 
ขณะนี้แอพพลิเคชันนี้สามารถใช้ได้ในระบบปฏิบัติการ IOS และอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการพัฒนาในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อให้ไปประชาชนได้ตรวจสอบและมีความมั่นใจในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net