Skip to main content
sharethis
หวังผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้งสร้างค่านิยมในการผลิตบุคลากรแทนส่งคนไปเรียนนอก “ดร.สมเกียรติ” ทีดีอาร์ไอจี้ถึงเวลาปรับระบบวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและพร้อมต่อเงินลงทุนใหม่
 
 
 
12 กันยายน 2557  ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการนโยบายโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ คปก. ครั้งที่ 100 “จากดุษฎีบัณฑิต คปก. สู่อาจารย์ที่ปรึกษา คปก.” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ซึ่งจัดโดย คปก. สกว. และคณะผู้ประสานงานโครงการการประสานและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อกลุ่มภารกิจวิจัยพื้นฐานและผลิตนักวิจัย เพื่อให้ผู้บริหารของ สกว. สถาบันอุดมศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการดำเนินงานของ คปก. อีกทั้งเป็นเวทีในการแสดงผลงานด้านการวิจัยของดุษฎีบัณฑิตที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และนักศึกษาที่เป็นศิษย์ของอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย ตลอดจนใช้ประโยชน์จากความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานของ คปก. ให้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต อีกทั้งช่วยสร้างบรรยากาศอันจะเป็นแรงกระตุ้นสำหรับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจากความสำเร็จอันเป็นรูปธรรม
 
ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า คปก.เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการวิจัยและพัฒนาในหลายด้าน ปัจจุบันมีดุษฎีบัณฑิต เกิน 2,000 คน ผลงานตีพิมพ์มากกว่า 5,000 เรื่อง เป็นเครื่องชี้บ่งความสำเร็จและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของ คปก. ผลงานในครั้งนี้เป็นความสำเร็จของบุคลากรในฝ่าย คปก. 3 รุ่น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญคือ การสนับสนุนจากผู้บริหารสูงสุด ผู้บริหารระดับสูงของ คปก. ความร่วมมือและทำงานอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ คปก. ที่ทุ่มเทให้กับองค์กรอันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การออกแบบวิธีการทำงานของ คปก. และอยากย้ำว่าเรื่องการออกแบบให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเสริมเงื่อนไขเพื่อปลุกวิญญาณความพร้อมของคนขึ้นมา ซึ่งผลงานที่ผ่านมานับเป็นคุณงามความดีของทั้ง คปก. และ สกว. ที่เปิดช่องให้มีความยืดหยุ่น ริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานโดยไม่ยึดติดรูปแบบเดิม ๆ ที่ตายตัว นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยต้องการวางรากฐานความเจริญให้กับประเทศและปฏิรูปในหลายด้าน มีเรื่องราวของความสำเร็จของประเทศที่ควรนำไปสร้างต่อไป หลายคนเชื่อว่าไทยยังไม่พร้อมที่จะผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างชาติ แต่บัดนี้เรายืนยันได้ว่าเราสามารถทำได้ “คุณภาพการศึกษาไทยมีความเข้มแข็งที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ บัดนี้เรามีความพร้อมสูงมากแต่กลับไม่ใช่ประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญเพราะยังขาดงบประมาณ และยึดถือแนวทางเดิมที่ส่งคนไปเรียนต่างประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องร่วมกันสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นด้วยตัวเองให้มากที่สุด และทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป”
 
ขณะที่ ศ. ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ คปก. กล่าวว่าอยากให้โครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ตั้งเป้าจัดสรรทุนเพื่อผลิตอาจารย์ระดับปริญญาเอกจำนวน 16,000 คนในระยะเวลา 10 ปี ผ่านมติ ครม.ให้ได้ เพื่อ คปก. จะได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ร่วมกัน โดย คปก.ตั้งเป้าว่าจะต้องมีความสามารถในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกให้ได้ปีละ 4,000 คน และผลิตผลงานตีพิมพ์ให้ได้ 500 เรื่องต่อปีเป็นอย่างน้อย 
 
ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญของงานวิจัยและทรัพยากรกำลังคนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย” ว่าการวิจัยเป็นการลงทุนไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่าย การวิจัยในประเทศที่วัดการลงทุนในสัดส่วนของ GDP ไม่ว่าวัดด้วยเกณฑ์ใดก็เป็นการลงทุนในอัตราที่ต่ำทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยให้สูงขึ้น และเป็นการวิจัยประยุกต์เพื่อพัฒนาไม่ใช่เพื่อสร้างองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องออกแบบงานวิจัยตั้งแต่แรก เพราะการวิจัยมีความเสี่ยงตั้งแต่ต้น ความจริงเรามีผลงานตีพิมพ์ไม่น้อยแต่ที่น้อยมากคือผลผลิตที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา จึงต้องหันกลับมาคิดว่าเรามุ่งเน้นไปที่ผลงานตีพิมพ์มากเกินไปหรือไม่ รวมถึงจำเป็นต้องบูรณาการงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นและนำไปใช้ได้จริงในวงกว้าง เช่น การวิจัยในสาขายางพารา หรือปุ๋ยสั่งตัดซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตแต่มีการขยายผลในวงจำกัด ควรใช้ความพยายามในการขยายผลให้มีการใช้ประโยชน์มากขึ้น
 
สิ่งที่จะทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเรื่องของเงินคือ “คน” ซึ่งหมายถึงบุคลากรวิจัยที่ต้องมีมากเพียงพอ เพราะขณะนี้ยังกระจุกตัวอยู่ที่ภาครัฐและมหาวิทยาลัย จึงยากที่จะทำให้เกิดการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยได้แพร่หลาย ไม่มีกลไกในการหมุนเวียนถ่ายไปยังภาคเอกชนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง จึงต้องเริ่มหมุนเวียนกำลังคนจากต้นน้ำ และเห็นบริบทของการใช้ประโยชน์จริงเพื่อสนองตอบความต้องการของประเทศ นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้
 
“ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการวิจัยเป็นอีกประเด็นสำคัญ เมื่อเทียบกับชาติอื่นยังห่างชั้นทำได้เพียง 60-70% ของประเทศที่ทำได้ดีที่สุด เพราะระบบวิจัยของไทยมีปัญหาคล้ายกับระบบการศึกษาที่เติมเงินเข้าไปมากเท่าไรก็ยังไม่ทำให้คุณภาพดีขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีกลไกเชื่อมโยงให้เกิดผลและมีความรับผิดชอบให้คนที่รับเงินมีจิตสำนึกในการสร้างผลงานที่เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ โครงการของ 6 ส 1 ว ยังห่างไกลจากคำว่าบูรณาการอย่างแท้จริง การจะทำให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางต้องมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาแต่ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารวิจัย จึงอยากจุดประเด็นให้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำระบบวิจัยและพัฒนาให้มีความรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ และพร้อมต่อเงินลงทุนใหม่”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net