Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ร่าง
บันทึกข้อตกลงเพื่อการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
(ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2557)
 
เนื่องจากมีกรณีสงสัยว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ว่าอาจจะเป็นอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินในพื้นที่ของหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประกอบกับได้มีการยื่นฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อศาลปกครองกลาง ตามคดีดำหมายเลขดำที่ ส. 1544/2556 จึงได้มีข้อยุติร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้หยุด การประกอบการทำเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นการชั่วคราว และในระหว่างที่หยุดการประกอบการชั่วคราวนี้ ควรจะได้มีการกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามมาตราที่เป็นรูปธรรม ในลักษณะบันทึกข้อตกลงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นสัญญาประชาคมร่วมกัน ที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ
 
บันทึกนี้จัดทำขึ้นระหว่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยตัวแทนจากราษฎรหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับผู้แทนจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้แทนจากส่วนราชการของจังหวัดเลย ตามรายชื่อที่ลงนามในท้ายสัญญานี้ ทั้งนี้เพื่อให้มีข้อตกลงร่วมกัน ในการกำหนดมาตรการและการดำเนินการ ตามมาตรการที่กำหนด สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำในพื้นที่ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว โดยข้อตกลงนี้ประกอบด้วย
 
1. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการ เพื่อมิให้มีการประกอบการทำเหมือง ดังนี้
 
1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ต่อเครื่องจักรที่ใช้ในการทำเหมืองในทุกๆ กระบวนการของการผลิต ยกเว้นการดำเนินนั้นเป็นไปเพื่อการเข้าไปบำรุงรักษาเพื่อมิให้เครื่องจักเกิดความชำรุดเสียหาย โดยในกรณีบริษัทฯ จะต้องทำการขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลยก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลโดยผู้แทนของส่วนราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง และกำนันตำบลเขาหลวง รวมทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลเขาหลวงทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนวันที่จะเข้าดำเนินการ
 
1.2 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะต้องเข้าไปดำเนินการเพื่อควบคุมบ่อกักเก็บกากแร่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำหนด โดยการดำเนินการให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ ๑.๑
 
1.3 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่จะเป็นการขออนุมัติ หรือ ขออนุญาต เพื่อประกอบการทำเหมือง ต่อส่วนราชการและองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ยกเว้นเฉพาะกรณีการขออนุมัติ อนุญาตในส่วนที่มีการระบุให้ดำเนินการได้ในสัญญานี้เท่านั้น
 
2. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราวจะมีมาตรการและการดำเนินการเพื่อการป้องกันปัญหาและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองทองคำดังนี้
 
2.1 ให้ (ระบุหน่วยงาน) ส่งแพทย์ผู้เชียวชาญ เข้าทำการคัดกรองผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่คาดว่าอาจเป็นผลจากการทำเหมืองแร่ทองคำ เพื่อนำมาตรวจร่างกายและดำเนินการรักษา หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงดังกล่าว
 
2.2 ให้ (ระบุหน่วยงาน) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เข้าสำรวจและจัดทำรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และความเสียหายอื่นๆ บริเวณเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ที่ครอบคลุมและเป็นไปตามมาตรฐานหลักวิชาการ บนพื้นฐานการให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะมีคุณภาพชีวิตและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และจะต้องมีข้อเสนอแนะในเชิงมาตรการและวิธีการดำเนินการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จะต้องดำเนินการดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน........วัน นับแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้
 
2.3 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริการส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของตำบลเขาหลวง และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันนำรายงานและข้อเสนอแนะตามข้อ 2.2 มาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำภายใน.............วัน หลังจากได้รับรายงานผลตามข้อ 2.2 และแผนปฏิบัติการนี้จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น และได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ก่อน จึงจะนำมาใช้ได้
 
2.4 ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการตามข้อ 2.1 และ 2.3 นอกเหนือจากการดำเนินการ โดยระบบงบประมาณปกติของส่วนราชการ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงแล้ว จะต้องมีการจัดตั้ง “กองทุนเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ โดยแหล่งที่มาของเงินที่จะจัดตั้งกองทุนฯ นี้ ให้มาจากเงินที่เกิดจากการอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ที่มีอยู่เดิมก่อนปิดการทำเหมืองชั่วคราวออกจากพื้นที่ ดังนี้
 
(1) เงินค่าภาคหลวงที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลจากสินแร่ดังกล่าว
(2) เงินสมทบเพิ่มเติมจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ได้จากสินแร่ดังกล่าว จำนวน..................................บาท
(3) เงินจากแหลงอื่นที่สามารนำมาใช้เป็นกองทุนได้ (ถ้ามี)
 
ทั้งนี้ การจัดตั้งและการบริหารจัดการเงินกองทุนนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของระเบียบ กฎหมาย ที่มีอยู่ และการปรึกษาหารือร่วมกั้นระหว่างส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง ตัวแทนประชาชนจากทุกหมู่บ้านของตำบลเขาหลวง อีกครั้งหนึ่งภายใน.............วัน หลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้
 
2.5 ให้ (ระบุหน่วยงาน) นำข้อมูลจากรายงานตามข้อ 2.2 มาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อติดตามตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการทุกระยะ ๓ เดือน พร้อมทั้งให้ประชาชนทราบด้วย
 
3. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการเพื่อประกอบการอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ที่มีอยู่เดิมก่อนหยุดการทำเหมืองชั่วคราวออกจากพื้นที่ ดังนี้
 
3.1 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง ตัวแทนประชาชนจากทุกหมู่บ้านของตำบลเขาหลวงและ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนออกนอกพื้นที่
 
3.2 การขนแร่ออกจากพื้นที่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะต้องดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดในทุกเรื่องอย่างเคร่งครัด และทำการขนย้ายเฉพาะภายในเวลากลางวันเท่านั้น รวมทั้ง ก่อนทำการขนย้ายจะต้องแจ้งให้คณะกรรมการตามข้อ 3.1 ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า............วัน เพื่อร่วมกันตรวจสอบ
 
3.3 การขนแร่ออกจากพื้นที่ จะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้ข้อยุติเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุ่นเฉพาะกิจฯ ตามข้อ ๒.๔ เรียบร้อยแล้ว
 
4. กรณีราษฎรที่ถูกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลจังหวัดเลย ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาทุกคดี จะต้องจัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างราษฎรที่ถูกฟ้องคดีกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
5. การดำเนินการอื่นใดที่อาจจะมีผลเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายต่อการประกอบกิจการเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ รวมทั้ง ข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่ยังเป็นเพียงการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว ให้รอผลคำพิพากษาศาลปกครอง ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ส. ๑๕๔๔/๒๕๕๖
 
___________________
วิเคราะห์เนื้อหาร่าง MOU
 
ร่างบันทึกสองย่อหน้าแรก
 
ประเด็นแรก รับ MOU หมายความว่า ยอมรับว่า เหมืองไม่ได้สร้างผลกระทบ การก่อมลพิษกลายเป็นภาระของผู้ได้รับผลกระทบที่จะต้องพิสูจน์เอง
 
ประเด็นที่สอง ตัวแทนจากราษฎร 6 หมู่บ้าน คือใคร?
 
ประเด็นที่สาม ข้อตกลงในบันทึกนี้ หมายถึง มาตรการ การดำเนินการ แผนปฏิบัติการ จะมีผลผูกพันเฉพาะในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราวตามช่วงเวลาของสัญญานี้ และ มีผลไปจนถึงคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น หรือ ประมาณ 1 ปี เท่านั้น 
 
ดังนั้น ถ้าศาลปกครองกลางพิพากษาไม่ถอนประทานบัตร ก็หมายความว่า บริษัททุ่งคำสามารถเปิดเหมืองได้
 
ร่างบันทึกข้อ 1
 
ประเด็นแรก ร่างบันทึกข้อตกลงนี้ ไม่มีการบรรจุความต้องการเดิมตามมติประชาคม 6 หมู่บ้าน และไม่มีการบรรจุเนื้อหาเดิมจากหนังสือของทหารและหน่วยงานราชการ ทำให้บริษัททุ่งคำไม่ต้องดำเนินการตามมติประชาคมทั้งหมด (ทหารและหน่วยงานราชการ เขียนขึ้นเพื่อหลอกลวงให้ชาวบ้านยอมเข้าร่วมประชุม ยอดทำประชาคม และยอมเข้าเวทีเจรจาเพื่อสร้างความชอบธรรม)
 
- มติประชาคม ๖ หมู่บ้าน วันที่ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๗ 
 
1) เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน 2) เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย
 
- มติประชาคม 6 หมู่บ้าน วันที่ 16 ส.ค. 2557
 
(1.1) บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (บรรลุนิติภาวะ) (1.2) ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกันพื้นที่ที่เป็น “แหล่งน้ำซับซึม” อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในด้านการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน และในจังหวัดเลย เพื่อเป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม โดยมิให้ใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินดังกล่าว (1.3) ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการศึกษาสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ 6 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้ข้อสรุปการปนเปื้อน ผลประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ค่าภาคหลวงแร่ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชน และผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA โดยให้นักวิชาการที่ชาวบ้านมีส่วนในการคัดเลือกเป็นผู้ทำการศึกษาตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วม (1.4) ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หรือ ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
 
- หนังสือจากนายอำเภอวังสะพุง “ตัวอย่างรูปแบบการประชุมประชาคม” แจ้งผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน วันที่ 14 ส.ค. 2557 ให้จัดประชาคมหมู่บ้านในวันที่ 16 ส.ค. 2557 
 
ข้อตกลง ต่อไปในการประกอบกิจการใดๆ ของเหมืองทองคำจะต้องได้รับความยินยอมจากชาวบ้านก่อน โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างราษฎรกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ว่า บริษัทฯ จะไม่ดำเนินการใดๆ หากไม่ได้รับการยินยอมจากราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นพยาน
 
- หนังสือจากการประชุม เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2557 ทหารและอำเภอวังสะพุงจัดประชุมผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน เพื่อวางกรอบแนวทางให้ผู้ใหญ่บ้านทำประชาคม 
 
1. ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการปิดเหมืองชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันปิดโดยพฤตินัย โดยกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กับชาวบ้าน โดยมีส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเลย ร่วมลงนามเป็นพยาน เพื่อกำหนดเป็นหลักฐานว่าบริษัทจะไม่ดำเนินการใดๆ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านในพื้นที่
 
- หนังสือสรุปการเจรจาวันที่ 8 ส.ค. 2557 โดยทหาร
 
2.3.1 พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ให้ชาวบ้านไปพิจารณาข้อเสนอในการดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้พิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการปิดเหมืองชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันปิดโดยพฤตินัย โดยกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางราชการ มี หน.ส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชน ร่วมลงนาม เพื่อกำหนดเป็นหลักฐานว่าทางบริษัทจะไม่ดำเนินการใดๆ หากไม่ได้รับความยินยอมจากชาวบ้านในพื้นที่
 
ประเด็นที่สอง ข้อ 1.1 ไม่มีการถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ไม่มีการขนย้ายเครื่องจักรออกจากพื้นที่ บริษัททุ่งคำจะดูแลเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ โดยการขออนุญาตเข้าไปดูแลเครื่องจักรขอกับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน และบริษัททุ่งคำสามารถเปิดดำเนินการโลหกรรมได้ทันที หลังคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น หรือ ประมาณ 1 ปี
 
ประเด็นที่สาม ข้อ 1.2 การควบคุมบ่อกักเก็บกากแร่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน กพร. ต้องทำตามกฎหมายแร่และอีไอเออยู่แล้ว แต่ผลกระทบจากบ่อเก็บกากแร่คือ สร้างอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำของชาวบ้าน และไม่ได้ก่อสร้างตามมาตรฐานมาตั้งแต่ต้น แต่บันทึกใช้คำว่า ควบคุม ไม่ใช่ แก้ไข หมายความว่าถ้ายอมรับ MOU ก็อาจจะเป็นการยอมรับว่าบ่อกักเก็บกากแร่ไม่ได้สร้างผลกระทบไปด้วย
 
ประเด็นที่สี่ ข้อ 1.3 บริษัททุ่งคำจะไม่ขออนุมัติ หรือ ขออนุญาต เพื่อประกอบการทำเหมือง การทำเหมืองคลอบคลุมถึงการดำเนินงานประกอบโลหะกรรมหรือไม่ มีผลไปจนถึงคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ส่วนที่ระบุว่า ยกเว้นเฉพาะกรณีการขออนุมัติ อนุญาตในส่วนที่มีการระบุให้ดำเนินการได้ในสัญญา แต่สัญญานี้จะมีผลผูกพันเฉพาะ “ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว” และ มีผลไปจนถึงคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น หรือ ประมาณ ๑ ปี เท่านั้น
 
ร่างบันทึกข้อ 2
 
ประเด็นแรก ไม่มีการบรรจุความต้องการเดิมตามมติประชาคม 6 หมู่บ้านวันที่ 16 ส.ค. 2557 ในข้อ 3. เงื่อนไขในการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดตั้งคณะกรรมการในการศึกษา จัดทำแผน และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ตัวแทนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน นักวิชาการจากสาขาที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ คัดเลือก แต่งตั้ง โดยนำงบประมาณในการดำเนินการมาจาก กองทุนประกันความเสี่ยง และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ โดยต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
 
ประเด็นที่สอง ข้อ 2.1 ข้อความว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เข้าทำการคัดกรองผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่คาดว่าอาจเป็นผลจากการทำเหมืองแร่ทองคำ หมายถึง ถ้ารับ MOU ก็เป็นการยอมรับว่าอาการป่วยไม่ได้เกิดจากการทำเหมือง การพิสูจน์เป็นภาระของผู้ป่วยเอง
 
ประเด็นที่สาม ข้อ 2.2 เป็นการสำรวจและจัดทำรายงาน ไม่มีการหาสาเหตุของผลกระทบและความเสียหาย
 
ไม่มีการตั้งคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ตามมติประชาคม ๖ หมู่บ้านวันที่ ๑๖ ส.ค. ๒๕๕๗ ในข้อ ๓. ซึ่งไม่มีบุคลหรือองค์กรภายนอก
 
ความเสียหายอื่นๆ คืออะไรบ้าง? รวมทั้งความเสียหายของกฎหมายหรือระเบียบที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบด้วยหรือไม่? ตามมติ ครม. วันที่ 8 ก.พ. 2554
 
ประเด็นที่สี่ ข้อ 2.3 ผู้ใหญ่บ้านของตำบลเขาหลวง หมายถึง 13 หมู่บ้าน ถูกนำเข้ามาในขั้นตอนการนำรายงานและข้อเสนอแนะมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อจะได้รับส่วนแบ่งจากงบประมาณที่ได้จากการขนแร่ และคำว่า ประชาชนในพื้นที่ คือการนำชาวบ้านจากอีก 7 หมู่บ้านมากดดันชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 6 หมู่บ้าน ให้ยอมรับการดำเนินการตาม MOU นี้ แต่กระบวนการทุกขั้นตอนในการแก้ปัญหาผลกระทบฯ ที่มีการดำเนินการมาเริ่มมาจาก 6 หมู่บ้านเท่านั้น และการเลือกทำประชาคมในประเด็นเรื่องการฟื้นฟู และเยียวยา ในขั้นตอนนี้ จะทำให้ชาวบ้านยอมรับ เป็นการสร้างความชอบธรรมในเรื่องการมีส่วนร่วม
 
ประเด็นที่ห้า ข้อ 2.4 กองทุนเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คือ 13 หมู่บ้าน หรือ 6 หมู่บ้าน?
 
แผนปฏิบัติการจะดำเนินการไม่ได้ถ้าไม่ได้เงินจากการขนแร่
 
แร่ที่มีอยู่เดิมก่อนปิดการทำเหมืองชั่วคราว หมายถึงอะไร เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการปิดเหมืองชั่วคราวตามสัญญานี้ และมีแร่จำนวน 176 ตัน ที่เป็นหลักฐานทางคดี ในการขนแร่เมื่อคืนวันที่ 15- เช้าวันที่ 16 พ.ค. 2557 ด้วยหรือไม่
 
เงินที่นำมาแก้ปัญหา ทำไมต้องเป็นเงินจากค่าภาคหลวงแร่ที่ควรจะนำมาใช้ในการพัฒนาจังหวัดและตำบล แต่เงินที่เป็นการนำมาแก้ปัญหาผลกระทบ ฟื้นฟู เยียวยา ควรจะมาจาก กองทุนประกันความเสี่ยง และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ ที่ดูแลโดย กพร.
 
เงินสมทบจากบริษัททุ่งคำ เป็นเงินบริจาค หรือเป็นเงินแก้ปัญหาที่เกิดจากการประกอบเหมืองแร่ของตนเอง
 
การจัดตั้งและการบริหารจัดการเงินกองทุน มี ผู้ใหญ่บ้าน 13 หมู่ และตัวแทนชาวบ้าน 13 หมู่ร่วมด้วย หมายถึง การแบ่งเงินขนแร่ให้ทั้ง 13 หมู่บ้าน โดยไม่ใช่รูปแบบการตั้งคณะกรรมการ แต่เป็นการปรึกษาหารือร่วมกัน (ใช้อำนาจของตำแหน่ง) เพื่อสร้างความแตกแยก และทำให้การคัดค้านอ่อนแอลง
 
ประเด็นที่หก การตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติตามแผนทุก 3 เดือน จะมีผลในช่วงปิดเหมืองชั่วคราว ไปจนถึงคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น หรือ ประมาณ 1 ปี
 
และ ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว หมายถึง มาตรการ การดำเนินการ แผนปฏิบัติการ จะมีผลผูกพันเฉพาะในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว ซึ่งจะมีผลไปจนถึงคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น หรือ ประมาณ 1 ปี และจะมีงบประมาณการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการได้ จากการขนแร่ซึ่ง อบจ. อบต. จะได้เงินค่าภาคหลวงจากสินแร่ดังกล่าว
 
ร่างบันทึก ข้อ 3
 
ประเด็นแรก ร่างบันทึกข้อตกลงนี้ เป็น “ธง” ของทหารและหน่วยงานราชการมาตั้งแต่ต้น ไม่มีการบรรจุความต้องการเดิมตามมติประชาคม 6 หมู่บ้านวันที่ 16 ส.ค. 2557 ข้อ 2. เงื่อนไขในการขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ (2. 1) ให้ถอนฟ้องคดีความ 7 คดี ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้อง-กล่าวโทษเอาผิดกับชาวบ้าน 33 ราย (2.2) ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรออกนอกพื้นที่แปลงประทานบัตร (2.3) ส.ป.ก.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดินดังกล่าวมอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ (2.4) ทสจ.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก จำนวน 608 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดิน ในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา มอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ (2.5) อบต.เขาหลวง ต้องไม่อนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก (2.6) ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ออกนอกพื้นที่ เฉพาะแร่แต่งแล้ว จำนวน 1,942.54 ตัน (2.7) บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ ต้องขนแร่โดยปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.25 10 ระเบียบที่ประกาศโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ทางหลวง และระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก (2.8) การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ภายใน 15 วัน หลังจากมีการลงนามในสัญญาฯ นี้ คณะกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณในการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว (2.9) การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งวันและเวลาในการขนแร่ แก่คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ก่อนการขนแร่ 15 วัน และให้ทำการขนแร่ได้ในเวลากลางวันเท่านั้น (2.10) หากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีการทำผิดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถึงที่สุด (2.11) ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้ประกอบการอื่นๆ ประกอบโลหกรรม โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
 
ประเด็นที่สอง ทหารและหน่วยงานราชการที่จัดทำร่างบันทึกนี้ กำหนดวิธีการเพื่อจะขนแร่มาตั้งแต่เริ่มแรก ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นและไม่เคยยอมรับมติประชาคมของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ดังข้อความจาก หนังสือจากนายอำเภอวังสะพุง “ตัวอย่างรูปแบบการประชุมประชาคม” แจ้งผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน วันที่ 14 ส.ค. 2557 ให้จัดประชาคมหมู่บ้านในวันที่ 16 ส.ค. 2557, หนังสือจากการประชุม เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2557 ทหารและอำเภอวังสะพุงจัดประชุมผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน เพื่อวางกรอบแนวทางให้ผู้ใหญ่บ้านทำประชาคม, หนังสือสรุปการเจรจาวันที่ 8 ส.ค. 2557 โดยทหาร เหมือนกันทั้งหมดว่า “การจะขนแร่ออก ให้บริษัทฯ เสนอส่วนแบ่งจากการขายแร่ที่จะนำมาฟื้นฟูเยียวยาหรือทำประโยชน์ให้ชาวบ้านชุมชน โดยให้จัดทำเป็นหนังสือมาเสนอต่อชาวบ้านในการฟื้นฟูเยียวยาก่อน หากชาวบ้านยินยอม จึงสามารถขนออกได้”
 
ประเด็นที่สาม ข้อ 3.1 การตั้งคณะกรรมการไม่มีบุคคลหรือองค์ภายนอก จากภาคส่วนต่างๆ ตามมติประชาคม 6 หมู่บ้านวันที่ 16 ส.ค. 2557
 
ตั้งคณะกรรมการโดยมี ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง และตัวแทนประชาชนจากทุกหมู่บ้านของตำบลเขาหลวง คือ การแจกเงินให้ผู้ใหญ่ทั้ง 13 หมู่บ้าน เพื่อจะได้รับส่วนแบ่งจากงบประมาณที่ได้จากการขนแร่ และเพิ่มชาวบ้านจากอีก 7 หมู่บ้าน มากดดันชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 6 หมู่บ้าน ให้ยอมรับการขนแร่ตาม MOU นี้ และเมื่อได้เงินจากค่าขนแร่ ก็จะอยากให้มีการขนแร่ให้มากที่สุด
 
ประเด็นที่สี่ ข้อ 3.2 การขนแร่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดทุกเรื่องอย่างเคร่งครัด รวมระเบียบชุมชนด้วยหรือไม่?
 
ประเด็นที่ห้า ข้อ 3.3 ตั้งคณะกรรมการฯ ตั้งกองทุนแล้ว ขนแร่ได้เลย ยังไม่ได้เงิน หลักประกันว่าบริษัททุ่งคำจะจ่ายเงิน คืออะไร (บริษัททุ่งคำจะให้เงินเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ควรคิดเป็น% จากสินแร่ที่ขนออกไป)
 
ร่างบันทึก ข้อ 4
 
คดีความที่ทุ่งคำฟ้องจัดให้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยกันเอง เป็นการผลักภาระให้ชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้งหมด (ถ้าไม่ถอนก็ไม่ควรยอมให้ขน ต้องเอาเรื่องการเจรจาไกล่เกลี่ยมาผูกกับการขนแร่ หมายความว่าต้องไปแก้บันทึกที่ข้อ 3.1 และ 3.2 ด้วย)
 
ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาทุกคดี เมื่อไหร่?
 
ร่างบันทึก ข้อ 5
 
ชาวบ้านไม่สามารถเรียกร้องอย่างอื่นได้อีกนอกจากสัญญานี้ หรือถ้ามีข้อใดก็ตามในสัญญานี้ที่ไม่สามารถทำได้ (สร้างความเสียหายให้กับบริษัททุ่งคำ) ไม่ถือเป็นข้อผูกพันตามกฎหมาย โดยให้รอผลคำพิพากษาศาลปกครองตัดสิน ซึ่งการฟ้อง คือ การถอนประทานบัตร และถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม/ ถ้าบริษัททุ่งคำชนะก็สามารถเปิดเหมืองได้ การดำเนินงานภายใต้สัญญานี้ยุติ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net