เล็กๆ น้อยๆ ว่าด้วย 'คำ' กับเรื่อง 'แรงงาน'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“กรรมกร” รากเหง้าแห่งการต่อสู้?

การถกเถียงเรื่องการใช้คำเรียก “คนทำงาน” ว่าแบบไหน อย่างไร จึงจะสร้างจิตสำนึกและต่อยอดไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการแรงงานนั้นมีมาอยู่ทุกยุคทุกสมัย

นักวิชาการนักกิจกรรมฝ่ายสังคมนิยม ที่มีความต้องการให้คนทำงานมีจิตสำนึกทางชนชั้น และไม่ลืมรากเหง้าของกรรมกรแนวๆ ที่ต่อสู้มาด้วยเลือดและหยาดเหงื่ออะไรประมาณนั้น พยายามปกป้องคำว่า “กรรมกร” ไม่ให้สูญหายไป ประมาณว่าอย่าอายเมื่อถูกเรียกด้วยคำนี้ เพราะเป็นคำที่ทำให้ไฟแห่งการต่อสู้ยังลุกโชนได้เสมอ

ส่วนนักวิชาการที่หลุดจากการเป็นนักสังคมนิยมไปแล้วบางส่วนก็เสนอไปในทิศทางเดียวกันในข้างต้น ว่าการลืมรากเหง้าของคำว่า "กรรมกร" นั้นก็น่าจะเป็นปัจจัยให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงไป แต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปเฉยๆ ว่าบริบทสังคมปัจจุบันคำไหนจะ "ไหลลื่น" และได้รับการ "ยอมรับ" จากคนทำงาน และก็ชวนตั้งคำถามไปเรื่อยๆ (อีกเช่นเคย)

ทั้งนี้เมื่อมีเวลาผู้เขียนเองก็มีแบบสอบถามเล็กๆ ประจำตัว ไว้ลองสอบถามคนทำงานอาชีพต่างๆ ว่าคิดกับคำไหนยังไง ซึ่งก็แบ่งคนทำงานได้ออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรก ที่อินกับการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักสหภาพแรงงานที่ได้รับการจัดตั้งและได้รับการศึกษามาจากฝ่ายมาร์กซิสต์ ฝ่ายซ้าย ฝ่ายสังคมนิยมมาเป็นอย่างดี ก็จะอินกับคำว่ากรรมกรพอสมควร แต่ที่ว่าอินนี่ก็ไม่ถึงกับไปประกาศตนว่าเป็นกรรมกรตามสถานที่ต่างๆ อะไรอยู่ตลอดเวลานะครับ อินให้พอเอาไปไว้ใช้ปลุกใจคนทำงานตอนที่ต้องรวมกลุ่มให้การศึกษา หรือเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ต้องเจรจาเรียกร้องกับนายจ้างในสถานการณ์ “สู้รบ” อะไรทำนองนั้นมากกว่า

ส่วนคนทำงานอีกกลุ่มที่พึ่งได้รับการจัดตั้งใหม่ๆ หรือไม่รู้การมีอยู่ของฝ่ายซ้าย และไม่รู้ถึงการมีอยู่สหภาพแรงงาน ไม่รู้ถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ต่างๆ จะพอใจกับการถูกเรียกว่า “พนักงาน” มากกว่า (อันนี้ลองถามคนทำงานในโรงงานฝ่ายผลิต และมิตรสหายภาคบริการทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานนั่งโต๊ะ)

รวมทั้งความไม่พอใจต่อคำเรียกประเภทที่อาจจะดูแคลนไปบ้าง เช่น หนุ่มสาวโรงงาน สาวฉันทนา และคำตามแบบฉบับข่าวหัวสีต่างๆ ที่มักพ่วงมากับข่าวอาชญากรรม (เป็นหลัก) เมื่อมีเหตการอะไรก็ตามที่เหล่าคนทำงานได้เป็นข่าวในหน้าสื่อนั้น พวกเขาเองก็ไม่ค่อยชอบมากนัก แต่ก็ต้องจำยอมเพราะคำต่างๆ มากมายในสังคม “สื่อ” มักจะเป็นผู้กำหนดเสมอ

เรียกว่ายอมๆ แบบไม่พอใจ แต่ทำอะไรไม่ได้มากนัก น่าจะเป็นอารมณ์ทำนองนี้มากกว่า

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเห็นควรว่าการใช้คำต่างๆ นั้น ก็แล้วแต่จังหวะจะโคนและกาลเทศะ ที่จะหยิบใช้คำไหนขึ้นมาใช้ ไม่ได้ซีเรียสอะไรมากนัก

และจากบทสรุปที่สรุปเอาเองจากการสังเกตการณ์ปัญหาคนงานบางส่วนก็พบว่าจิตสำนึกทางชนชั้นแรงงานนั้นมักจะมาตอนนายจ้างเบี้ยว นายจ้างกลั่นแกล้งก่อน เสียมากกว่า ส่วนคำว่า “กรรมกร” “สหภาพแรงงาน” และประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้นนั้น มักจะมาศึกษากันทีหลังเสียเป็นส่วนใหญ่

“จับกัง” “แรงงานเพื่อนบ้าน” และ “กรมคุ้มครองแรงงาน”

ความเคลื่อนไหวแวดวงแรงงานไทยหลังคณะทหารเข้ามาบริหารประเทศนอกจากเรื่องความพยายามจัดระบบแรงงานต่างด้าว พยายามล้างภาพลักษณ์เรื่องการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กแล้ว เรื่อง “คำ” ต่างๆ นานาในแวดวงแรงงานก็ถูกหยิบยกมาอภิปรายกันพอสมควร

กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาในการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ (ควบปลัดกระทรวงกลาโหมไปด้วยอีกตำแหน่ง) ประเด็นที่สื่อได้จับมาขยายต่อที่เรียกเสียงฮือฮาได้บ้างก็คือการที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวถึงฉายาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่เรียกว่า “จับกัง 1” นั้นว่าส่วนตัวไม่มีปัญหาแต่อยากให้เปลี่ยนคำเรียกเพื่อให้เกียรติผู้ใช้แรงงานที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (ดู: รมว.แรงงาน วอนเปลี่ยนคำเรียก "จับกัง" เพื่อให้เกียรติผู้ใช้แรงงาน, สำนักข่าวไทย, 15 กันยายน 2557)

อืม... ดูท่านหัวก้าวหน้าพอสมควรนะครับ ที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ น่าจะเป็นรัฐมนตรีแรงงานท่านแรกๆ เลย

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมานายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้เปิดเผยว่ากรมการจัดหางานอยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเปลี่ยนคำเรียกแรงงาน 3 สัญชาติ จากแรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อความเหมาะสมและเป็นการให้เกียรติแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอีกช่องทางหนึ่งให้กับประเทศไทยว่าไม่มีการค้ามนุษย์หรือการกดขี่แรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรอิสระได้เรียกร้องในเรื่องคำนิยามดังกล่าว เพราะมองว่าการเรียกแรงงานเพื่อนบ้านว่าแรงงานต่างด้าว เป็นการไม่ให้เกียรติผู้ที่มาร่วมสร้างระบบเศรษฐกิจไทย โดยจะนำร่องจากสื่อมวลชนในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ก่อน เนื่องจากได้มีการหารือและขอความร่วมมือกับผู้บริหารของกรมประชาสัมพันธ์แล้ว (ดู: กกจ.ขอเรียกแรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานเพื่อนบ้าน, สำนักข่าวไทย, 5 กันยายน 2557)

กระแสเรื่องการพยายามใช้คำให้เกียรติเพื่อนมนุษย์นั้นในไทยเองก็มีมาอย่างยาวนานในวงแคบๆ อย่างเช่นองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ก็มักจะใช้คำว่า “แรงงานข้ามชาติ” หรือ “แรงงานต่างชาติ” มากกว่าอยู่แล้ว และอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปขั้นต้นแล้วว่าเรื่องนี้ “สื่อ” น่าจะมีความสำคัญมากที่สุดหากจะรณรงค์กันจริงจังส่วนจะรณรงค์กันยังไงก็คงต้องปรึกษาหารือตั้งกฎระเบียบกันต่อไป

ไม่แน่นะครับ ในยุคทหารครองเมืองนี้เราอาจจะเปลี่ยนคำที่ดูไม่ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ได้บ้างก็ได้ ใครจะรู้ (แต่ท้ายสุดก็อย่าลืมว่ามันก็เป็นแค่ “คำเรียก” นะครับ)

ส่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ออกมาเล่นเรื่องคำกับเขาบ้าง โดยมีดำริว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเปลี่ยนชื่อ “กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” เป็น “กรมคุ้มครองแรงงาน” เฉยๆ เนื่องจากชื่อเดิม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนั้นยาวเกินไป (ไม่รู้ได้รับอิทธิพลมาจากกเล่นทวิตเตอร์รึเปล่าในการลดทอนชื่อให้สั้นลง)

ซึ่งความเห็นจากผู้นำขบวนการแรงงานไทยท่านหนึ่งอย่าง วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ก็ได้ออกมาระบุอย่างเข้าใจเรื่องนี้ชัดแจ้งว่า “ไม่อยากให้มองเรื่องชื่อ แม้จะสร้างความสับสน แต่อยากให้เน้นเรื่องบทบาทของ กสร.ที่ต้องมีการปฏิรูปการทำงานทั้งด้านการบริหารและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันยังมีบางปัญหาที่ติดขัดเรื่องกฎหมาย เช่น การเลิกจ้าง การละเมิดสิทธิ การปิดงาน และข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งอำนาจในการเรียกนายจ้างมาเจรจายังเป็นเพียงการขอความร่วมมือทำให้บางครั้งนายจ้างไม่มาเจรจา รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องต่างๆ ยังมีระยะเวลานานเกินไป” (ดู: ผู้นำแรงงานไม่เห็นด้วย เปลี่ยนชื่อกรมสวัสดิฯ, สำนักข่าวไทย, 15 กันยายน 2557)

.. คือทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันยังมีเรื่องอะไรให้ทำมากกว่าเรื่อง “คำ” สำหรับการแก้ไขปัญหาคนงานครับ.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท