ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในค่ายทหาร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ประวัติศาสตร์การเมืองโลกได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ไม่มีทางที่ประชาธิปไตยจะงอกเงยมาจากการปกครองในระบอบทหารอย่างแน่นอน ความเสมอภาคทางเพศก็เช่นกัน มันจะงอกออกมาจากการปกครองในสังคมที่ไร้ซึ่งเสรีภาพของปัจเจกชนและความเสมอภาคของสังคมได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองในระบอบทหารที่อุดมไปด้วยวิธีคิดแบบสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ยังมีภาพของการมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศอยู่เรื่อยมา จะช่วยให้สังคมเรามีความเสมอภาคทางเพศได้ก็คงจะเป็นเรื่องแปลก

อันจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเกี่ยวกับความคิดของทหารไทยเลยก็คือ ในเหตุการณ์ล่าสุดกรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวสาวจากสหราชอาณาจักร ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาให้ความเห็นในทำนองที่ว่า การแต่งชุดบิกินีนั้นคือ การทำตัวเองให้เป็นเหยื่อ[1] นี่คือวิธีคิดที่ชัดเจนอย่างยิ่งในการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงในชุดบิกินีให้เหลือเพียงแค่การตกไปเป็นวัตถุทางเพศเพียงเท่านั้น โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่า คนที่ใส่ชุดบิกินีไม่ได้ต้องการจะมีเซ็กซ์ทุกคน หรือต้องการล่อจะเข้เสมอไป หลายต่อหลายคนต้องการอาบแดด ต้องการว่ายน้ำ ซึ่งสถานที่เกิดเหตุนั้นก็คือ ชายหาด แล้วคุณจะให้ผู้หญิงทุกคนนุ่งขาวเยี่ยงแม่ชีไปทะเลหรือ?

มันมาถึงคำถามที่ว่า เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ในค่ายทหารไทยหรือเปล่า จึงทำให้เคยชินกับการมองผู้หญิงให้เท่ากับวัตถุทางเพศ อะไรคือภาพของผู้หญิงในมุมมองของทหาร? ท่ามกลางการหล่อหลอมทางสังคมในค่ายทหาร “ความเป็นชาย” ล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะกำกับความคิดและทัศนคติของทหารที่มีต่อ “ความเป็นหญิง” เช่น บุคคลที่มีเพศสภาพหญิงควรมีบทบาทและหน้าที่ในฐานะนางบำเรอ ผู้สร้างและให้เสพความสุข แม้แต่การให้เกียรติเพศหญิงของผู้ชายเหล่านี้ ก็คือการปฏิบัติต่อพวกเธอในฐานะที่ด้อยกว่า ต้องการความดูแล เป็นเพศที่อ่อนแอ ต้องการความช่วยเหลือ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเห็นได้ชัดจากสิ่งที่บรรดานายทหารในสังคมไทยได้ปฏิบัติมาอย่างชัดเจน เช่น ในภาพของการร่วมเพศหมู่หรือลงแขกผู้หญิง หรือการจัดงานบำเรอตัณหาของทหารที่ให้นักร้องหญิงมาแก้ผ้ายั่วยวน แม้กระทั่งข่าวการข่มขืนหญิงสาวในจังหวัดปาตานี[2]ก็เช่นกัน ที่ทำให้เห็นว่า การปฏิบัติต่อผู้หญิงในฐานะที่ระบายความใคร่ของทหารไทยถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ การตีกะหรี่แข่งกันแล้วนำมาอวดอ้างโชว์สถานะทางสังคมว่า กูเคยลอง กูเคยทำ คือสิ่งปกติของสังคมผู้ชายเหล่านี้ ในขณะที่คุณค่าของผู้หญิงที่ควรจะเฉิดฉายในด้านอื่นๆ กลับถูกกดทับให้อยู่ในสถานะของการเป็น sex slave หรือ ทาสทางเพศ ด้วยข้ออ้างที่ว่ามันคือความปกติของสังคมผู้ชาย และแรงกำหนัดที่อัดอั้นมานาน จึงไม่แปลกหากเขาอยากจะระบายความใคร่สู่ร่างกายของผู้หญิง

นอกจากนั้นแล้ว บทบาททางเพศที่ผู้หญิงตกไปอยู่ในสถานะเช่นนี้ ยังถูกนำมาฉายซ้ำผ่านการจัดงานคืนความสุขให้คนไทยที่อนุสาวรีย์ชัยฯ[3] ที่ได้นำผู้หญิงมาแต่งชุดทหารแนวเซ็กซี่ยั่วยวน ด้วยฐานคิดที่ว่าผู้หญิงมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือ “การเป็นนางบำเรอ” การคืนความสุขจึงเป็นการมอบความสุขทางเพศให้แก่ประชาชน ด้วยสายตาของทหารที่มีต่อเพศหญิง และที่สำคัญคือ ด้วยเงินภาษีของประชาชน

มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เมื่อระบบทหารซึ่งเติบโตมาควบคู่กับระบบคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ และได้เข้ามาทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง จะมีทัศนคติต่อการมอง “ผู้หญิง” ในฐานะของ “วัตถุทางเพศ” ทัศนคติที่ว่า ทำให้มองความผิดที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายผู้หญิง เช่น การข่มขืน เกิดมาจากความแรดร่าน ความคัน ของเธอ มากกว่าสิ่งที่ผู้ชายคิดว่ามันคือความเป็นธรรมดาสามัญของตัวเอง เช่น ความเงี่ยน ความลุ่มหลง การตกเป็นเหยื่อจากความงาม ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่การข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ชายมาโดยตลอด

ทั้งๆ ที่การที่ผู้หญิงจะแต่งกายเช่นใด หรือจะแก้ผ้าออกมาเดินมันก็ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เกิดการข่มขืนขึ้นได้ ในขณะที่ผู้ชายจะมาติติงผู้หญิงให้แต่งตัวมิดชิด แต่ทำไมผู้ชายถึงไม่รู้จักที่จะควบคุมพฤติกรรมตนเองไม่ให้กระทำผิดต่อผู้อื่น และที่สำคัญ การที่ผู้หญิงแต่งตัวโป๊หวือหวาก็ไม่ได้แปลว่า เธอต้องการมีเพศสัมพันธ์ตลอดเวลา หลายคนโป๊เพราะต้องการแสดงออกซึ่งความเป็นตนเอง หรือบางคนที่โป๊แต่งสวยเพราะต้องการเอาอกเอาใจคนอื่น หรือแต่งเพราะต้องการการยอมรับจากค่านิยมสังคมก็ไม่ได้แปลว่า เธอต้องการจะถูกข่มขืนเช่นกัน

หากอ้างว่า การแต่งตัวโป๊ของผู้หญิงจะเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้น ถามว่าคนทุกคนมีอารมณ์ทางเพศเฉพาะกับการแต่งตัวโป๊ตลอดจริงหรือ? ดังนั้น หากจะโทษว่าความสวยก่อให้เกิดโทษนั้น เราคงต้องจับผู้หญิงโกนหัว คลุมผ้าให้เหลือแค่ลูกตาที่ใส่แว่นดำคลุมไว้อีกทีทุกคนเลยดีไหม? และที่สำคัญความโป๊ของผู้หญิงกลับไม่เสมอภาคเท่ากับความโป๊ของผู้ชาย ผู้ชายใส่กางเกงขาสั้นเป้าตุงก็อาจตกเป็นเหยื่อการข่มขืนได้เช่นกัน แต่เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ที่มองว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศได้เสมอนั้นคือ เพศหญิงเท่านั้น จึงกลบทับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับคนเพศอื่นๆ ไปเสียหมด แถมที่สำคัญ สังคมยังให้ใบอนุญาตให้ผู้ชายโป๊ได้อย่างปลอดภัยมากกว่าการที่ผู้หญิงโป๊ เพราะหากผู้หญิงทำมันจะขัดต่อศีลธรรมจรรยาตอแหลของสังคม

ดังนั้น เราจึงต้องพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมชายเป็นใหญ่เช่นนี้ให้หันกลับมามองผู้หญิงใหม่ และทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วผู้หญิงนั้นมีบทบาทในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน การเป็นผู้นำ เป็นกรรมกร เป็นโสเภณี เป็นนักวิจัย ฯลฯ ไม่ใช่การยึดบทบาททางเพศว่า เพศหญิงนั้นมีไว้เพื่อรองรับอารมณ์ทางเพศเพียงเท่านั้น และใช้บทบาทนี้มากดทับอัตลักษณ์ของผู้หญิงไว้ให้อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า เป็นเพียงแค่นางบำเรอรับใช้นายทหาร หรือเป็นเพียงวัตถุอ่อนแอที่มีไว้ให้ระบายกำหนัดของชายชาตรีทั้งหลาย

ที่สำคัญ เราต้องร่วมกันสร้างระบอบประชาธิปไตย ที่จะทำให้ทุกเพศ ทุกคน ได้มีสิทธิและสถานะในการออกมาปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเสมอภาคกัน ไม่ใช่ระบบเผด็จการที่ควบคุมทุกอณูของการใช้ชีวิตในสังคม ที่ไม่ปล่อยให้ใครก็ตามได้ออกมามีสิทธิมีเสียง

กระนั้นก็ตาม เราก็ยังไม่เคยได้ยินเสียงนักต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศที่ออกไปเป่านกหวีด รักทหาร สนับสนุนการรัฐประหาร จะออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นจากค่ายทหารแห่งนี้เลยสักคน

 

อ้างอิง

[1] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวผ่านการถ่ายทอดโทรทัศน์ถึงกรณีนี้ว่า "ปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมีอยู่เสมอ พวกเขาคิดว่าประเทศของเราสวยงามและปลอดภัย ก็เลยทำอะไรที่อยากทำ พวกเขาใส่บิกินี่และเดินไปไหนก็ได้...พวกเขาคิดว่าใส่บิกินี่แล้วปลอดภัยเหรอ...เว้นแต่ว่าไม่สวย?" ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  

[2] อ่านข่าวที่ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท