Skip to main content
sharethis

1 ต.ค.2557 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดระยองหลายร้อยคนเดินทางไปที่ศาลปกครองระยอง เพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งแวดล้อม 2535 ประกอบ มาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542

ทั้งนี้สืบเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อนุมัติหรืออนุญาตให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม/ชุมชนอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม เกิดขึ้นจำนวนมากในจังหวัดระยองซึ่งมีมากกว่า 28 แห่งและกำลังขออนุญาตเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันภายนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมก็มีการปล่อยให้มีการสร้างโรงงานอย่างสะเปะสะปะเต็มพื้นที่จังหวัดมากกว่า 2,700 โรงในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีเพียง 1,810 โรงเท่านั้น

การมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้ขาดการติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด ปล่อยให้ผู้ประกอบการดำเนินงานกันอย่างอิสระจนสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อชาวบ้านเป็นจำนวนมากทั้งการแอบปล่อยน้ำเสีย สารโลหะหนักลงในแหล่งน้ำประปาของชาวบ้าน การรั่วไหลของสารเคมีอันตราย แต่ไม่สามารถจับมือใครดมได้ การแอบให้มีการลักลอบเอากากอุตสาหกรรมไปทิ้งในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แหล่งต้นน้ำ การเกิดการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล และการเกิดคราบน้ำมันบ่อยครั้งในบริเวณชายหาดท่องเที่ยวต่าง ๆ ฯลฯ เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่จะต้องใช้อำนาจตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประกาศให้พื้นที่ทั้งจังหวัดระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59 และประกาศให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำทับไปอีกด้วยตามมาตรา 43 แต่เมื่อ กก.วล.ไม่ยอมดำเนินการใด สมาคมฯและชาวระยองจึงจำต้องขอใช้อำนาจศาลปกครองเพื่อมีคำพิพากษาเข้มงวดต่อการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดทันที นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 

=============

คำขอท้ายคำฟ้อง

1)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่จังหวัดระยองทั้งหมดทั้งบนบกและในทะเลอาณาเขต (ยกเว้นพื้นที่ที่ได้ประกาศไปแล้วตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552)) เป็น “เขตควบคุมมลพิษ” เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษตามกฎหมายข้างต้นทั้งหมดโดยเร็ว ตามที่ศาลกำหนดต่อไป

2)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ออกกฎกระทรวงให้พื้นที่ในท้องที่จังหวัดระยองทั้งจังหวัดทั้งบนบกและในทะเลอาณาเขตเป็น “เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม” และดำเนินการตามมาตรา 44 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

3)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 แนะนำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552) เป็น“เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม” และดำเนินการตามมาตรา 44 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net