เมื่อผู้ประท้วงฮ่องกงท้าทายการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตจากจีน

มีอยู่แง่มุมหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าการประท้วงในฮ่องกงประสบความสำเร็จคือการสามารถนำเสนอภาพให้กับชาวโลกได้รับรู้ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตหลายอย่าง รวมถึงการพยายามหลีกเลี่ยงการสอดแนม การควบคุม หรือการปิดกั้น จากทางการจีนด้วยวิธีการต่างๆ

30 ก.ย. 2557 เว็บไซต์เดอะเวิร์จ วิเคราะห์เรื่องการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยสื่อสารของกลุ่มผู้ประท้วงทางการจีนในฮ่องกง โดยตั้งคำถามว่าการใช้เทคโนโลยีเช่นสมาร์ทโฟนในกลุ่มผู้ประท้วงจะทำให้ขบวนการเข้มแข็งขึ้นหรือถูกควบคุมได้ง่ายขึ้นหรือไม่ และเป็นสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงฝูงชนหรือทำเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจฝูงชนกันแน่

เดอะ เวิร์จระบุว่า การเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงในฮ่องกงมัลักษณะเดียวกับการเคลื่อนไหวในยุคสมัยใหม่ส่วนใหญ่คือมีการนำเสนอให้เห็นผ่านสื่อออนไลน์จำนวนมาก มีการเผยแพร่แถลงการณ์และหลักการพื้นฐาน รวมถึงคู่มือการอารยะขัดขืนผ่านเว็บล็อกของกลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก ถ้าลองค้นหาด้วย #occupycentral หรือ "umbrella revolution" (การปฏิวัติด้วยร่ม) จะพบภาพการประท้วงจำนวนมาก ทำให้พวกเขาสามารถดึงความสนใจจากชาวโลกได้โดยไม่ต้องง้อสื่อในประเทศ

ขณะเดียวกันฝ่ายทางการจีนซึ่งมีการควบคุมคัดกรองข่าวสารที่จะอนุญาตให้เผยแพร่ในเขตจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเข้มงวดก็ไม่ยอมให้ภาพการประท้วงที่มีคนเนืองแน่น รวมถึงมีรูปคนถือร่มยืนอยู่หน้ารถถังที่สื่อถึงเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 แต่การปิดกั้นสื่อที่ถูกเรียกว่า "เดอะเกรทไฟร์วอลล์" (The Great Fire Wall) ก็ไม่สามารถปิดกั้นครอบคลุมไปถึงฮ่องกงและเว็บไซต์ทวิตเตอร์ได้

ทำให้ทางการจีนต้องหันไปจำกัดเว็บไซต์ที่เผยแพร่ในจีนแทน เช่นการบล็อกอินสตาแกรมภายในประเทศจีนเพื่อลดการแพร่กระจายรูปภาพการประท้วง ในจีนมีเว็บไมโครบล็อกที่คล้ายทวิตเตอร์ชื่อ "ซีนา เว่ยป๋อ" (Sina Weibo) ซึ่งดำเนินการโดยรัฐ แต่ก็มีการลบโพสต์ไปจำนวนหนึ่งนับตั้งแต่มีการประท้วงโดยเฉพาะที่มีคำว่า "การปฏิวัติด้วยร่ม"

อย่างไรก็ตามเดอะเวิร์จระบุว่าผู้ประท้วงยังได้เตรียมรับมือกับการถูกจำกัดหรือคัดกรองการใช้อินเทอร์เน็ตภายในพื้นที่ชุมนุม ด้วยการแห่กันสมัครใช้โปรแกรมส่งข้อความไฟรแชต (Firechat) ซึ่งเป็นการส่งข้อความจากโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งแทนการส่งเข้าศูนย์ข้อมูลกลาง อีกทั้งยังสามารถใช้ได้แม้จะมีการปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์ ซึ่งเคนเกิดขึ้นมาก่อนในการประท้วงที่อียิปต์ ตุรกี และยูเครน

ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าโปรแกรมหลบเลี่ยงการปิดกั้นอย่างทอร์ (Tor) มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นราว 500 คนในช่วงที่มีการประท้วงในวันเสาร์ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมมีความพยายามหลบเลี่ยงการสอดส่องทางอินเทอร์เน็ต

แต่ก็มีอันตรายในอีกรูปแบบหนึ่งเมื่อกลุ่มโค้ดฟอร์ฮ่องกง (Code for Hong Kong) ได้ค้นพบว่ามีโปรแกรมแชตปลอมที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งมัลแวร์ (โปรแกรมอันตราย) ไปยังเครื่องของผู้ประท้วงโดยอาศัยระบบเครือข่ายเปิดสำหรับผู้ใช้ร่วมกันเป็นแหล่งโจมตี

เดอะเวิร์จ ระบุอีกว่าภายในการประท้วงเพียง 3 วัน ผู้ประท้วงในฮ่องกงก็ประสบความสำเร็จในการทำให้เรื่องราวเผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลกแม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านไม่แพ้กันจากสื่อภายในประเทศ กลุ่มผู้ประท้วงยังสามารถสร้างสัญลักษณ์เป็นร่มเปิดซึ่งสามารถรับรู้ได้ในทางสากลและจะเป็นที่รู้จักไปอีกหลายปี

แต่แม้ว่าพวกเขาจะใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดียจนทำให้สามารถแพร่กระจายข่าวได้รวดเร็ว แต่ก็ยังไม่อาจคาดเดาผลของการประท้วงได้ อย่างไรก็ตามมันก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติการที่ดูเป็นรูปธรรมมากที่สุดในรอบหลายสิบปีสำหรับภูมิภาคนี้ ในฐานะเมืองสุดท้ายของจีนที่อยู่ภายนอกการปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ต

เรียบเรียงจาก

Hong Kong's protests are putting Chinese web censorship to the test, The Verge, 29-09-2014
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท