นิธิ เอียวศรีวงศ์: ผักตบในหมู่บ้าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่ชอบผักตบชวาเอาเสียจริง ผิดจาก ร.5 ซึ่งโปรดผักตบชวาเป็นอย่างมาก ถึงกับนำเอาพันธุ์จากชวามาปลูกในประเทศไทย จนกลายเป็นปัญหาหนึ่งที่จะขจัดได้ก็ต้องใช้อำนาจรัฐประหาร

ทำไมผักตบชวาจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ คสช. ต้องแก้ไข ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะผักตบชวาไม่เป็นปัญหาแก่ประเทศไทยนะครับ เป็นแน่และเป็นมากเสียด้วย แต่ยุงก็ร้ายกว่าเสือไม่ใช่หรือครับ ไม่เฉพาะแต่ยุงก้นปล่องและยุงลายเท่านั้น ยุงรำคาญก็รำคาญชิบเป๋งจริงๆ ครับ ไหนจะแอร์ซึ่งใช้กันมากขึ้น ทำให้เมืองไทยร้อนสุดทน โอ๊ย คิดไปก็ยังมีปัญหาอีกหลายสิบอย่างที่อยากให้มีใครมาแก้ให้ทั้งนั้น

ในครั้งแรกที่ท่านหัวหน้า คสช. เสนอหนทางขจัดผักตบชวาก็คือ คนไทยทุกคนช่วยกันดึงผักตบชวาขึ้นจากน้ำคนละยี่สิบต้น ก็หมดไปเอง (ง่ายจะตายไป 60 ล้าน คูณ 20 ได้ 1,200 ล้านต้น ก็ไม่น่าจะเหลือผักตบชวาที่ไหนในประเทศไทยอีกเลย)

ผมจึงเตรียมตัวทะมัดทะแมงเพื่อไปดึงผักตบชวาให้ได้20 ต้น เมื่อไรก็ขอให้นัดมาเลย แต่หากตรงกับวันที่ผมมีนัด, ผมต้องไปทำงาน, ผมป่วย, ญาติป่วย, มีธุระจำเป็น ฯลฯ ผมก็จะขอไปดึงผักตบให้ได้ 20 ต้นในวันอื่นนะครับ

คนที่ไม่สามารถไปได้อย่างพร้อมเพรียงคงมีอีกแยะ รวมทั้งคนซึ่งต้องเดินทางไกลเพื่อหาแหล่งน้ำที่มีผักตบชวาอีกด้วย ดังนั้น วันประกาศสงครามกับผักตบชวา คงทำในวันเดียวไม่ได้ แต่จะยืดเป็นกี่วันดีละครับ

ปัญหาสำคัญกว่าวันเวลา ซึ่งอาจยืดออกไปจากวันเดียวพอได้บ้างก็คือ ทำอย่างไร ลูกบ้านทั้ง 60 ล้านจึงจะพร้อมใจกันไปดึงผักตบชวาขึ้นจากน้ำล่ะครับ ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ กฎหมายใช้บังคับได้จำกัดในเมืองไทย และการบังคับใช้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็อาจมีต้นทุนสูงจนไม่คุ้ม จะให้ "นาย" คือข้าราชการทั้งประเทศลงไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านไปเคี่ยวเข็ญให้ทุกคนลงเก็บผักตบชวา ก็รู้ๆ กันอีกไม่ใช่หรือครับว่า ระบบราชการไทยไม่เคยมีความสามารถพอจะทำให้นโยบายได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่เหมือนกัน ร้ายไปกว่านั้นอาจใช้อำนาจจากผักตบชวาให้กลายเป็นสินบนได้อีก ใช้สิ่งล่อใจทางเศรษฐกิจก็ต้องมีการตรวจตรา ซึ่งข้าราชการไทยทำไม่ไหวอีกนั่นแหละ

ให้ทุกกองร้อยทหารลงไปใช้ปืนบังคับให้ทุกคนลงเก็บผักตบชวา จะไหวหรือครับ สามแสนคนต่อหกสิบล้าน

เมื่อผักตบถูกดึงขึ้นเพียงส่วนเดียว ซ้ำน่าจะเป็นส่วนน้อยด้วย ก็เท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะผักตบส่วนที่ยังไม่ถูกดึงขึ้นย่อมแพร่พันธุ์ต่อไป ข้อมูลทางวิชาการบอกว่าในหนึ่งเดือน ผักตบชวาสามารถแพร่พันธุ์ได้ 1,000 หน่วย

การใช้กำลังคนหรือเครื่องจักรไปดึงผักตบขึ้นจากน้ำ ไม่ใช่วิธีโบราณที่ไม่มีประสิทธิภาพนะครับ ยังใช้กันอยู่ในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐด้วย แต่เขาใช้กับพื้นที่เล็กๆ เช่น หนองน้ำในไร่นาของเขา หากเป็นพื้นที่ใหญ่หน่อย เช่น หนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เขาก็มุ่งหวังเพียงทำให้การเติบโตของกอผักตบช้าลงบ้าง แต่ไม่หวังว่าจะขจัดไปให้สิ้นซากได้

เพราะนอกจากผักตบสามารถแตกหน่ออ่อนได้แล้ว ดอกของมันซึ่งบานอยู่สองสามวัน ก้านก็จะพับลงน้ำ ดอกปล่อยเมล็ดจำนวนมากให้จมลงสู่ก้นแหล่งน้ำ กลับงอกขึ้นมาใหม่และขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ

เชื้อของผักตบ-ไม่ว่าจากหน่อหรือจากเมล็ด-หากยังจมฝังเลนอยู่ แม้น้ำแห้งไปแล้ว ก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 15-20 ปี หากมีสภาวะเหมาะสมเมื่อไร (เช่น น้ำท่วม) ก็งอกคืนมาใหม่ได้อีก

การขจัดผักตบชวาทั้งประเทศด้วยการดึงขึ้นจากน้ำ จึงต้องทำอย่างพร้อมเพียงกัน ในช่วงเวลาก่อนที่ผักตบจะออกดอก และจากนั้นก็ต้องคอยเฝ้าระวังตลอดไป (ไม่รู้จะอีกกี่ปี) หน่ออ่อนที่เกิดจากเมล็ด งอกขึ้นมาเมื่อไร ก็ต้องรีบเอาขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้เป็นอันขาด เมื่อไรที่น้ำโขงมีผักตบด้วยเหตุใดก็ตาม (โดยธรรมชาติ ผักตบไม่ค่อยชอบน้ำโขงตอนกลางมากนัก เพราะน้ำไหลเร็วเกินไป) ก็ระวังลำน้ำในประเทศที่เชื่อมต่อกับน้ำโขงให้ดี นับตั้งแต่น้ำกกลงมาถึงน้ำมูล

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการแพร่กระจายเพราะคน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น เรือและการเลี้ยงเล่นๆ ก็อาจมีผลให้ผักตบชวาแพร่กระจายทั่วไทยอีกในเวลาไม่ถึง 10 ปี (พ.ร.บ.ขจัดผักตบชวาฉบับแรกออกใน ร.6 พ.ศ.2456 หลังจากที่มีการนำผักตบชวาเข้าไทยเพียง 12 ปี)

ทั้งหมดนี้คือการบริหารคนมากกว่าเก็บผักตบชวาขึ้นจากน้ำ นับตั้งแต่เอาคนมาให้พร้อมเพรียง ไปจนถึงการเฝ้าระวังเป็นปีๆ และสำนึกรับผิดชอบที่จะระวังไม่แพร่เชื้อผักตบชวาอย่างสุดความสามารถ

ผักตบชวานั้น เรื่องเล็กครับ แต่การบริหารคนต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่

และอย่างที่ผมได้กล่าวแล้ว อำนาจดิบหรือทหารถือปืนยิงเร็วกระจายไปทั่วประเทศเพื่อขจัดผักตบชวาไม่มีทางจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนไม่อย่างนั้นกัมพูชาหลังเขมรแดงย่อมกลายเป็นประเทศที่มีพลังทางเกษตรกรรมสูงสุดในโลก (อย่างน้อยก็ด้านการปลูกข้าว)

ครั้งสุดท้ายที่ท่านหัวหน้า คสช. ประกาศสงครามกับผักตบชวาคือในการแถลงนโยบายต่อ สนช. (ก็บอกแล้วว่าท่านจงเกลียดจงชังผักตบชวาเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบ) คราวนี้ท่านฝากภาระไว้กับระบบราชการ ถึงกับขู่ว่า หากยังมีผักตบชวาเหลืออยู่ในท้องที่ใด ข้าราชการฝ่ายต่างๆ ของท้องที่นั้นเร่งระวังตัวให้ดีเถิด

ผมก็ไม่รู้ว่าข้าราชการในท้องที่จะทำอย่างไรต่อไป แต่รู้แน่ว่าไม่ได้ผลหรอกครับ ในโลกนี้ยังไม่มีรัฐใดสามารถเอาชนะผักตบชวาได้สักแห่งเดียว ไม่ว่าสหรัฐ, ออสเตรเลีย และทุกประเทศในแถบร้อนขึ้นไปถึงอบอุ่นกึ่งร้อน (เช่น ทางใต้ของสหรัฐ หรือทางเหนือของออสเตรเลีย) และต่างใช้เทคโนโลยีหลากหลายชนิดมาแล้วทั้งนั้น

ซ้ำร้ายหลายประเทศที่แพ้สงครามกับผักตบชวา ล้วนมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพกว่าไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ด้วย อีกทั้งยังเริ่มสงครามด้วยการแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากผักตบชวาเหมือนกัน เพราะเขาเป็นประชาธิปไตยนี่ครับ

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.กำจัดผักตบชวาฉบับแรกจนถึงดำริของหัวหน้า คสช. ในครั้งนี้ ล้วนเป็นคำสั่งที่ใช้ได้เลย ถ้าประเทศไทยยังเป็นหมู่บ้าน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ผมเชื่อแน่ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

จะนัดกันลงไปดึงผักตบชวาเมื่อไร ผู้ใหญ่บ้านคงปรึกษาหารือกับลูกบ้านขาใหญ่ทั้งหลาย อาจรวมสมภารวัดด้วย แล้วก็กำหนดวัน ประกาศให้รู้ทั่วกันซึ่งทำได้เร็วและรู้ทั่วกันจริงๆ โดยไม่ต้องมีเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ถึงเวลาคนในหมู่บ้านที่พอมีกำลังดึงผักตบชวาจากน้ำ เด็ก หญิง ชาย ต่างมาชุมนุมกันที่ข้างหนองน้ำ แล้วก็เฮโลช่วยกัน

หากผู้ใหญ่บ้านมีความรู้ทันสมัยสักหน่อย ก็จะเลือกเวลาที่ผักตบกำลังจะแพร่พันธุ์ผ่านดอก เสร็จแล้วก็จะกำชับลูกบ้านว่า คอยดูให้ดี หากเห็นผักตบชวาโผล่ขึ้นที่ไหน ก็ให้รีบกำจัดเสีย ในเวลาไม่กี่ปี หมู่บ้านนั้นก็จะปราศจากผักตบชวา 100%

แต่เมืองไทยไม่ได้เป็นหมู่บ้านมานานแล้ว อาจจะตั้งแต่สมัยอยุธยากระมัง ยิ่งมาถึง ร.5 นอกจากไม่ได้เป็นรัฐราชาธิราชแล้ว ยังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนทางความสัมพันธ์ทางสังคมทุกด้าน และส่วนใหญ่ของคนไทยเวลานี้ (อาจถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์) ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะกลับไปมีความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหมู่บ้านอีกได้อย่างไร

แต่น่าเสียดายที่ แม้คนไทยส่วนใหญ่หลุดออกมาจากหมู่บ้านทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้ปกครองไทยมักไม่สามารถหลุดออกมาทางจิตใจได้ จึงมักออกกฎหมาย, คำสั่ง, หรือคำสอนที่ทำไม่ได้ (ง่ายๆ อย่างที่ว่า) ในรัฐสมัยใหม่

อันที่จริง แม้แต่การนำผักตบชวามาปลูกในเมืองไทย ตามที่เล่ากันมาว่านำเข้ามาใน พ.ศ.2444 ตอนนั้นประเทศไทยได้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองให้รวมศูนย์ไปเรียบร้อยแล้ว ประมวลกฎหมายอาญาก็ร่างเสร็จแล้ว เหลือแต่รอให้มหาอำนาจรับรองเพื่อจะเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาลเท่านั้น นั่นก็คือสยามในเวลานั้นได้ย่างเข้าไปสู่ความเป็นรัฐทันสมัยพอสมควร อย่างน้อยก็ในส่วนกลางที่คุมการบริหารทั่วประเทศ

แต่ผู้ปกครองที่นำความทันสมัยแก่ประเทศ (จะเป็น ร.5 เอง หรือเจ้านายที่ตามเสด็จ ตามที่หลักฐานบางแห่งอ้างถึงก็ตาม) ก็ไม่ได้คิดถึงภยันตรายของพันธุ์พืชแปลกปลอมเลย คิดเท่ากับผู้ใหญ่บ้าน ที่นำเอากระถินณรงค์เข้ามาเพราะต้นมันโตดี เผื่อตัดทำฟืนได้สะดวก หากพบว่าไม่ได้เรื่องก็ช่วยกันตัดฟันกำจัดเสียไม่ยาก ถึงอย่างไร หมู่บ้านก็เล็กนิดเดียว

การเข้ามาของผักตบชวาในประเทศไทยนั่นแหละครับ ที่สะท้อนระบบคิด (mentality) แบบหมู่บ้านของผู้ปกครองรัฐทันสมัยสยาม

ปัญหาอีกมากที่เกิดขึ้นในรัฐทันสมัยสยาม-ไทยจะถูกแก้ปัญหาด้วยระบบคิดแบบหมู่บ้านเสมอมา เอาตัวอย่างจากผู้ปกครองปัจจุบันก็ได้นะครับ ลดปริมาณผลผลิตยางลงด้วยการหันไปปลูกอย่างอื่น ในระบบคิดแบบหมู่บ้าน เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลผลิตยางโดยรวมของโลก และไม่ต้องคิดถึงหมู่บ้าน...อึ๊บส์...ขอโทษ ประเทศอื่น ผลผลิตยางไทยที่ลดลงจะมากพอที่จะทำให้ราคาสูงขึ้นหรือไม่ และใช้เวลานานเท่าไร ในขณะที่อินโดนีเซียขยายพื้นที่ปลูกยางไปเร็วกว่าไทยเสียอีก

ระหว่างที่รอผลผลิตของพืชอื่น ซึ่งพืชอีกหลายชนิดจำเป็นต้องโค่นต้นยางลง ชาวสวนยางจะเอาอะไรกิน ในรัฐและสังคมสมัยใหม่ซึ่งความมั่นคงของชีวิตเหลืออยู่อย่างเดียวคือเงินออม ในรูปบัญชีเงินฝากหรือเบี้ยประกัน ซึ่งชาวสวนยางส่วนใหญ่ไม่มีทั้งสองอย่าง หากเป็นในหมู่บ้าน ชาวสวนยางยังพอจะพึ่งพิงเครือข่ายของตนเองไปช่วงหนึ่งได้

วิธีแก้ปัญหาที่น่าจะได้ผลดี หากเรายังเป็นหมู่บ้านอยู่ จึงกลายเป็นเรื่องตลก (ร้าย)

ผมคงยกตัวอย่างได้อีกหลายหน้ากระดาษ หากนำมาตรการของรัฐบาลไทยตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงปัจจุบัน มาชี้ระบบคิดแบบหมู่บ้าน จึงขอไม่ยกตัวอย่างอีกแล้วล่ะครับ

หากไม่แก้ปัญหาตามระบบคิดแบบหมู่บ้าน รัฐบาลไทยก็นิยมจะใช้ระบบราชการเป็นตัวแก้ปัญหา ซึ่งใหญ่เสียจนราชการไม่อาจแก้ได้ตามลำพัง (เพราะระบบราชการสมัยใหม่ที่ไหนๆ ก็ถูกแยกส่วน และประสานงานกันยากมาก จนกว่าจะมีการนำที่เก่งและฉลาด ซึ่งเราแทบไม่เคยมี)

ไม่ใช่เพราะราชการเป็นเพียงเครื่องมืออย่างเดียวของรัฐหรอกครับ รัฐทันสมัยมีเครื่องมืออีกมากเช่นการคลัง, ระบบภาษี, นโยบาย ฯลฯ เพียงแต่รัฐทันสมัยไทยไม่เคยพยายามใช้เครื่องมืออื่นๆ เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ในขณะที่ราชการมีความสำคัญแก่รัฐทันสมัยไทย เพราะราชการ (รวมกองทัพด้วย) เป็นตัวแทนเดียวของความทันสมัยของรัฐ ดังนั้น เมื่อรัฐพบว่าปัญหานี้ไม่อาจแก้ได้ด้วยระบบคิดแบบหมู่บ้าน รัฐก็จะหันมาใช้เครื่องมือทันสมัยอันเดียวที่มีอยู่ คือระบบราชการ (ซึ่งที่จริงก็งุ่มง่ามล้าสมัยมากเหมือนกัน)

ในจินตนาการของผู้ปกครองไทย จึงมีแต่หมู่บ้านกับระบบราชการเท่านั้น

ปัญญาชนคนหนึ่งเคยพูดกับผมหลายสิบปีมาแล้วว่าคนไทยเพิ่งออกจากหมู่บ้าน เราจึงคิดอะไรแบบหมู่บ้านเสมอ ผมก็เห็นด้วยกับท่านมานาน แต่ชนชั้นปกครองไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่ครับ ส่วนหนึ่งไม่เคยอยู่ในหมู่บ้านเลย อีกส่วนหนึ่งก็ออกจากหมู่บ้านมาสองหรือสามชั่วอายุคนแล้ว แต่คนที่ติดระบบคิดแบบหมู่บ้านที่สุดคือชนชั้นปกครองนี่แหละ

เหตุผลที่ทำให้ชนชั้นปกครองยังติดอยู่กับระบบคิดแบบหมู่บ้านจึงไม่ใช่เพราะเพิ่งหลุดออกมาจากชีวิตหมู่บ้าน แต่ผมคิดว่ามีเหตุผลในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองมากกว่า

นักวิชาการฝรั่งกลุ่มหนึ่งคิดว่า "หมู่บ้าน" (dorpen ในภาษาดัตช์) อย่างที่ระบอบอาณานิคมหรือรัฐบาลที่กำลังนำรัฐสู่ความทันสมัยของอุษาคเนย์จินตนาการถึง เพื่อจัดระเบียบสังคมและการปกครองเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการรวมศูนย์อำนาจเท่านั้น ข้อนี้ผมยังศึกษาไม่พอที่จะยืนยันหรือปฏิเสธ โดยเฉพาะเมื่อนำมาอธิบายสังคมไทยก่อนและระหว่าง ร.5

แต่ผมเห็นด้วยว่า หมู่บ้าน (ไม่ว่าจะมีมาก่อนหรือไม่) ถูกชนชั้นปกครองไทยจินตนาการให้เป็นชุมชนที่สามารถดูแลตัวเองได้ในทุกเรื่อง นอกจากโจรภัยและราชภัยร้ายแรงเท่านั้น ไม่ต้องพึ่งตลาด ผลิตและบริโภคอย่างพอเพียง ซ้ำยังมีเหลือพอจุนเจือรัฐได้อย่างไม่เดือดร้อน

หมู่บ้านอย่างนี้แหละครับที่ไม่มีจริง แต่เป็นจินตนาการที่พอเหมาะกับกำลังของรัฐรวมศูนย์ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนั้น คือไม่ต้องรับภาระในการให้บริการแก่หมู่บ้าน มากไปกว่าคอยดูแลอย่าให้โจรผู้ร้ายรังควานชาวบ้านมากจนเกินไป ฝ่ายทุนก็รับผลผลิตจากชาวบ้านไปขายในท้องตลาด ฝ่ายรัฐก็เรียกเก็บภาษีไป ทุกคนแฮปปี้หมด

หมู่บ้านที่สงบราบคาบ, มีความสุข, เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน, มีจิตสาธารณะ, สยบยอมต่อรัฐ ฯลฯ เป็นจินตนาการที่ทำให้หมู่บ้านไม่เป็นภาระแก่รัฐ ทั้งในเชิงให้บริการหรือเชิงบังคับให้อยู่ในอำนาจ และจินตนาการหมู่บ้านเช่นนี้แหละครับ ที่ถูกปลูกฝังลงไปในแบบเรียนและการศึกษามวลชนที่รัฐจัดและควบคุมอยู่

ใครยิ่งเรียนหนังสือมาก ก็ยิ่งยึดมั่นกับหมู่บ้านในจินตนาการมาก ในขณะที่ชาวบ้านจริงๆ อาจไม่รู้จักหมู่บ้านแบบนี้เลย ชนชั้นปกครองเรียนหนังสือมาก จึงติดกับระบบคิดแบบหมู่บ้านในอุดมคติเช่นนี้มากกว่าคนทั่วไป ซ้ำยังเป็นจินตนาการที่ทำความสบายใจให้ด้วย เพราะหมู่บ้านในจินตนาการเช่นนี้แหละที่แสดงถึงความมั่นคงของระเบียบสังคม และปกครองได้ง่าย

เราจึงต้องเผชิญกับผักตบชวาแทบทุกแหล่งน้ำทั่วรัฐทันสมัยของเรา แต่การแก้ปัญหาของรัฐก็ยังเป็นมุมมองของหนองน้ำในหมู่บ้านอยู่นั่นเอง

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2557

ที่มา มติชนออนไลน์ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท