ภาพวาดของ 'แบงค์ซี' โดนสั่งลบ หลังถูกกล่าวหา 'เหยียดเชื้อชาติ'

ผลงานล่าสุดของศิลปินกราฟฟิตี้ผู้ลึกลับ 'แบงค์ซี' ในเมืองแห่งหนึ่งของอังกฤษถูกสั่งลบหลังมีผู้ร้องเรียนว่ามีเนื้อหา 'เหยียดเชื้อชาติ' แต่ก็มีคนพยายามชี้ว่าผลงานชุดนี้เป็นเพียงการเสียดสีและสะท้อนสังคมท้องถิ่นแห่งหนึ่งในอังกฤษซึ่งมีบรรยากาศของการเหยียดเชื้อชาติอยู่แล้ว

3 ต.ค. 2557 ผลงานภาพวาดบนฝาผนังฝีมือของจิตรกรลึกลับ 'แบงค์ซี' ในเมืองแคล็กตันออนซี แคว้นเอสเซ็ก ถูกลบออกโดยคำสั่งของสภาท้องถิ่น หลังจากที่มีการร้องเรียนว่า "เป็นภาพเชิงเหยียดเชื้อชาติ"

ภาพวาดกราฟฟิตี้บนฝาผนังในเมืองแคล็กตันออนซีเป็นภาพนกพิราบสีเทา 5 ตัวถือป้ายที่มีข้อความเชิงขับไล่นกนางแอ่นจากต่างถิ่นที่ดูมีสีสันมากกว่า ซึ่งป้ายของนกเขียนว่า "กลับไปแอฟริกาซะ" "ไม่ต้องรับผู้อพยพ" "อย่ามาแย่งหนอนของเรา"

ไนเจิล บราวน์ ผู้จัดการด้านการสื่อสารของสภาเขตเทนดริงกล่าวว่าเขาได้รับคำร้องเรียนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 ก.ย.) โดยอ้างว่า "เป็นภาพเชิงเหยียดเชื้อชาติ" ทำให้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและลงความเห็นตรงกันว่ามีลักษณะเชิงเหยียดเชื้อชาติจริง จึงสั่งให้ลบออกตามนโยบายที่ต้องกำจัดสื่อแนวนี้ภายใน 48 ชั่วโมง

โฆษกของศิลปินแบงค์ซีกล่าวว่า เขาไม่มีความคิดเห็นใดๆ ต่อการกระทำของสภา แต่ก็มีความคิดเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์กและในบทความของเดอะการ์เดียนมองเรื่องนี้ต่างออกไป โดยโจนาธาน โจนส์ ผู้เขียนบทความลงในเดอะการ์เดียนระบุว่า ผลงานของแบงค์ซีมักจะมีลักษณะเสียดสีสังคม เช่น การเสียดสีบรรษัทฟาสต์ฟู้ด หรือภาพล้อเลียนการสอดแนมประชาชนของหน่วยงานสืบราชการลับของอังกฤษ

โจนส์มองว่า ผลงานรูปนกล่าสุดนี้ก็มีลักษณะในเชิงเสียดสีและสะท้อนสังคมเช่นเดียวกัน โดยตั้งเป้าสะท้อนสังคมอังกฤษยุคปัจจุบันที่หวาดกลัวผู้อพยพ รู้สึกไม่ปลอดภัยต่อความเป็นอื่น รวมถึงมีคนที่ "เหยียดเชื้อชาติ"

"สมาชิกสภาท้องถิ่นเห็นป้ายเหล่านี้ (ป้ายคำพูดที่นกในภาพถือ) แล้วรู้สึกเป็นการเหยียดหยามใช่หรือไม่ ถ้าใช่ พวกเขาก็เข้าใจผิด งานชิ้นนี้กำลังโจมตีการเหยียดเชื้อชาติด้วยความคมคายและตรงไปตรงมา" โจนส์ระบุในบทความ

โจนส์ตีความภาพวาดของแบงค์ซีอีกว่า นกนางแอ่นแอฟริกันในภาพไม่ใช่สิ่งที่เป็นภัย แต่เป็นสิ่งที่ดูงดงาม ส่วนนกพิราบสีเทาที่เป็นคนท้องถิ่นกลับดูหมองหม่น อีกทั้งการใช้นกเป็นตัวแทนเหมือนกำลังจะสื่อว่าการอพยพเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะประชากรนกมีการอพยพย้ายถิ่นฐานโดยธรรมชาติของมันมานานแล้ว

โจนส์กล่าวอีกว่าความรู้สึกโต้ตอบต่อภาพเขียนนี้ก็สามารถสะท้อนบรรยากาศทางวัฒนธรรมในสังคมของแคล็กตันออนซีได้ในแง่หนึ่งว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างพรรคอิสระหรือยูคิป (UKIP) และพรรคอนุรักษนิยม จะมีเรื่องผู้อพยพเป็นวาระสำคัญ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่ร้องเรียนให้ลบภาพออกโดยอ้างเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) เพื่อเซ็นเซอร์ผลงานต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติชิ้นนี้ อาจจะมีแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับการใช้ข้ออ้างของตน

มีการตั้งข้อสังเกตว่าผลงานชิ้นนี้ซึ่งสร้างขึ้นชั่วข้ามคืนเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ ส.ส.ท้องถิ่นพรรคอนุรักษนิยม ดักลัส คาร์เวลล์ แปรพักตร์ไปอยู่พรรคยูคิปซึ่งก่อนหน้านี้ทางพรรคยูคิปได้วิจารณ์นโยบายคนเข้าเมืองของอังกฤษว่ามีความหย่อนยานเกินไป

"ถ้าหากภาพนี้ทำให้ใครกลัวนั่นจะต้องหมายความว่ามุมมองของนกพิราบนั้นใกล้เคียงกับความคิดเห็นของผู้คนทั่วไป งานเสียดสีชิ้นนี้มีความแม่นยำมากถึงขั้นทำให้คนเข้าใจผิดว่ามันคือเรื่องจริง" โจนส์กล่าว

"แบงค์ซีไม่ได้ถูกแบนจากแคล็กตันออนซีเพราะเขาเป็นคนเหยียดเชื้อชาติ แต่เขาถูกห้ามเอาไว้เพราะเขาเปิดโปงความจริง" โจนส์กล่าว

เรียบเรียงจาก

Council removes Banksy artwork after complaints of racism, The Guardian, 01-10-2014
http://www.theguardian.com/artanddesign/2014/oct/01/banksy-mural-clacton-racist

Banksy wanted Clacton-on-Sea to confront racism – instead it confronted him, The Guardian, 02-10-2014
http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/oct/02/bansky-clacton-on-sea-racism-tendring-district-council-destroyed-immigration

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท