Skip to main content
sharethis

งดเดินรณรงค์วันงานที่มีคุณค่า พบสภาพจ้างงานไม่ดีขึ้น นายจ้างใช้เทคนิคแพรวพราวเลิกจ้าง เสนอผ่อนผันคนงานเดินขบวนนำเสนอปัญหาใต้อัยการศึก แนะ รบ.เร่งรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98


7 ต.ค.2557 ในโอกาสวันงานที่มีคุณค่า หรือ World Day for Decent Work ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค.ของทุกปี โดยปกติ ผู้ใช้แรงงานจะจัดขบวนเดินรณรงค์เรื่องการจ้างงานที่มั่นคง รวมถึงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล มาปีนี้ รูปแบบของกิจกรรมได้เปลี่ยนไป


กิจกรรมวันงานที่มีคุณค่า ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า รูปแบบการจัดงานวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่เคยเดินขบวนรณรงค์ ก็มาจัดเสวนาในห้องประชุมแทน อย่างไรก็ตาม เนื้อหายังเข้มข้นไม่ต่างจากเวลาเดินขบวน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับ คสช. ที่ต้องการให้มีความปรองดองในการบริหารประเทศ

ชาลีระบุว่า วันนี้มีคนงานที่ถูกละเมิดสิทธิจากทั่วทุกภาคมาแลกเปลี่ยนสถานการณ์การจ้างงานที่แต่ละคนประสบอยู่ เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาก่อนเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เมื่อถามถึงสถานการณ์จ้างงานปัจจุบัน ชาลีมองว่า ไม่ได้ดีขึ้น เพราะนายจ้างใช้เทคนิคเอาเปรียบมากขึ้น เช่น ในธุรกิจยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ ที่ขณะนี้มีออเดอร์ต่ำลง มีการใช้เทคนิค "คืนลูกจ้าง" กลับไปที่บริษัทซับคอนแทรค ขณะที่บริษัทซับคอนแทรค เมื่อไม่รู้จะเอาพนักงานไปไว้ที่ไหนก็เลิกจ้าง ทำให้มีการฟ้องเรียกค่าชดเชยจากบริษัทผู้ว่าจ้าง หลายราย ซึ่งสืบเนื่องจากเมื่อไม่นานนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาเกี่ยวกับการจ้างเหมาค่าแรง ตามมาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551  ให้พนักงานเหมาช่วงต้องได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับพนักงานประจำของบริษัทผู้ว่าจ้าง

ชาลี เล่าต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคอื่นๆ เช่น บริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แล้วให้คนงานไปฟ้องร้องเอา ซึ่งคนงานมักจะสู้ไม่ไหว เนื่องจากการสู้คดีกินเวลา 2-3 ปี และมีกรณีที่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งในสระบุรีเลิกจ้างคนงาน 600 คน โดยจ่ายค่าชดเชยตามปกติ แล้วรับคนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานใหม่โดยคำนวณเงินเดือนและสวัสดิการใหม่ เช่นนี้เท่ากับเป็นการโละพนักงานที่เงินเดือนและสวัสดิการสูงออก

"แล้วงานที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร" ชาลีถาม

นอกจากนี้ ชาลีแสดงความเห็นต่อกฎอัยการศึกที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ถ้าในเรื่องของการเมือง คงไม่ว่า แต่กรณีที่ประชาชนประสบความเดือดร้อนน่าจะมีการอนุโลม เพราะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่เรื่องการเมือง และคนงานนั้นมีเพียงการเดินขบวนเป็นเครื่องมือเดียวในการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจแก้ปัญหา

ทั้งนี้ เขาฝากถึงรัฐบาลด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขปัญหาแรงงานให้เป็นรูปธรรม เช่น การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน เพื่อทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ ไม่ใช่แก้ไขเฉพาะจุดอย่างที่เป็นอยู่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net