ร่าง พ.ร.บ.คนไร้ที่พึ่ง: คุ้มครองหรือซ้ำเติม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.... ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาเพียง 30 วัน  ถือเป็นกรอบเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็วมาก

เมื่อได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้  ผู้เขียน มีความห่วงใยว่า การออกพระราชบัญญัติที่แม้จะด้วยเจตนาที่ดีที่ประสงค์จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส แต่หากดำเนินไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจเพียงพอ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนไร้บ้านหรือผู้ไร้ที่อยู่อาศัยซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมาก เจตนาที่ดีอาจจะส่งผลร้ายก็เป็นได้

โครงสร้างของ พ.ร.บ. คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประกอบ ประกอบด้วย 3 หมวดหลัก บวกกับส่วนที่ว่าด้วยนิยามต่างๆ  หมวด 1 ว่าด้วยคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ด้วยข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงต่างๆ โดยมี รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็น ประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คน  หมวด 2 ว่าด้วยสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และหมวด 3 ว่าด้วยการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นการกล่าวถึงแนวทางกว้างๆ

กล่าวโดยภาพรวม พ.ร.บ. ฉบับนี้ แทบไม่มีประเด็นที่เป็นความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเสมือนการยกระดับสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งที่มีอยู่เดิม เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และเพิ่มคณะกรรมการเข้าไป โดยมีตัวแทนจากส่วนราชการถึง 12 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 7 ท่าน ก็อาจจะพอเรียกได้ว่า เป็นการเปิดให้องค์กรนอกภาคราชการเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ทว่าไม่ได้ระบุชัดเจนว่าผู้แทนขององค์กรสาธารณประโยชน์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านนี้ จะมีตัวแทนเป็นคณะกรรมการหรือไม่ อย่างไร

ขณะที่ผมด้านบวกยังเห็นไม่ชัดเจน ผู้เขียนเห็นกระทบด้านลบจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในมาตรา 22 วรรคสอง ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะกำหนดเงื่อนไขเชิงบังคับ กล่าวคือ ในกรณีที่คนไร้ที่พึ่งกระทำผิดเกี่ยวกับการอาศัยในที่สาธารณะจะถูกส่งตัวไปยังสถานคุ้มครองโดยความยินยอมของผู้นั้น แต่ในวรรคสองมีเงื่อนไขว่า หากคนไร้ที่พึ่งไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสถานคุ้มครอง ให้ส่งกลับมาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับความผิดการอยู่อาศัยในที่สาธารณะ

มาตรานี้จะส่งผลเชิงบังคับคนไร้บ้านในที่สาธารณะในอนาคต กล่าวให้เห็นภาพรูปธรรม ปัจจุบันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีคนไร้บ้าน (ซึ่ง พ.ร.บ.นี้เรียกว่า คนไร้ที่พึ่ง) จำนวนมากที่ยังชีพด้วยการเก็บของเก่า เร่ขายของ คนเหล่านี้ไม่ประสงค์จะเข้าสถานสงเคราะห์ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ที่ตั้งของสถานสงเคราะห์อยู่ไกล มีสภาพคล้ายสถานกักกัน การฝึกอาชีพก็นำไปสู่การปฏิบัติได้น้อย และยังต้องอยู่ปะปนกับผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต

ครั้นเมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้คนไร้บ้าน สามารถถูกส่งตัวเข้าสถานคุ้มครอง และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข พวกเขาก็จะถูกดำเนินคดี จึงเป็นการบังคับโดยมิได้พิจารณาว่า การคุ้มครองที่รัฐเสนอมานั้นสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของคนไร้บ้านหรือไม่

กล่าวอีกทางหนึ่ง มาตรา 22 วรรคสอง อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับ ฝ่ายรัฐที่จะควบคุม ดำเนินคดี โดยอ้างว่า มีการช่วยเหลือแล้ว แต่คนไร้บ้านหรือคนไร้ที่พึ่งไม่ยอมรับ 

เหตุการณ์ทำนองนี้มีบทเรียนมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ในประเทศญี่ปุ่น  มาตรา 11 ของ กฎหมายส่งเสริมการพึ่งตนเองของคนไร้บ้าน ระบุในลักษณะที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถดำเนินการให้ผู้อยู่อาศัยออกจากที่สาธารณะได้ เมื่อมีการจัดเตรียมที่พักอาศัยชั่วคราวไว้แล้ว ทั้งๆ ที่ ที่พักที่จัดให้นั้นไม่มีความเหมาะสม เช่นอยู่ห่างไกล และผู้พักอาศัยไม่มีความเป็นอิสระ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็มีการดำเนินการจริงๆ โดยอ้างความชอบธรรมจากกฎหมายเพื่อขับไล่คนไร้บ้าน (The Japan Times: Jan. 25, 2005)

ดังนั้น มาตรานี้ 22 จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่าเป็นการคุ้มครองที่สมควรจะถูกตัดออกไปจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

ผู้เขียนขอมองลึกไปที่ความเร่งรีบของการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ว่า เพราะมาจากฐานคิดว่า การผ่านกฎหมายจำนวนมาก แสดงถึงความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลพิเศษจากการรัฐประหาร และสภานิติบัญญัติ ที่มาจากแต่งตั้ง แท้ที่จริงๆ แล้ว เนื้อหาของกฎหมายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ประการสำคัญรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรถอยไปตั้งหลักพิจารณา อะไรคือสาเหตุที่ทำให้การสนับสนุนและจัดสวัสดิการสำหรับคนไร้ที่อยู่อาศัยยังไม่มีประสิทธิภาพนักในปัจจุบัน และจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงการบริหาร ที่ไม่มีนโยบายที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย การไม่รับฟังปัญหาจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง หาใช่ปัญหาการขาดแคลนกฎหมายไม่ เช่น การจัดให้มีศูนย์ที่คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตั้งอยู่ในละแวกที่ใกล้เคียงสามารถเดินถึงได้ ไม่ใช่อยู่ถึงอ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี แต่คนไร้บ้านอยู่ที่สนามหลวง การให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนามมากขึ้น การส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน เป็นต้น

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเป็นห่วงว่า มาตรการทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้น หากเป็นไปอย่างไม่เป็นมิตรกับคนไร้บ้าน จะยิ่งสร้างอคติของคนไร้บ้านที่มีต่อหน่วยงานรัฐ และจะยิ่งทำให้พวกเขาไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับภาครัฐ และการจัดการก็จะยากขึ้นไปอีก ซึ่งทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และ กรุงเทพมหานคร ต่างพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้าถึงคนไร้บ้านได้ ดังนั้น จึงไม่สมควรให้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทำให้บรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรระหว่างคนไร้บ้านกับหน่วยงานรัฐกลับมาอีก

ผู้เขียนหวังว่า ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ซึ่งสร้างนวตกรรมที่สำคัญมากสำหรับการดูแลเด็กเร่ร่อน คือใช้วิธีการสร้างบ้านเปิด ให้เด็กมีอิสระที่จะตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเข้าหรือออกจากบ้านพักได้ตลอด 24 ชั่วโมง แทนวิธีการ “จับ” เด็กเข้าบ้านพัก จะเข้าใจว่า คนไร้บ้าน ก็มีศักดิ์ศรี มีวิธีคิดของตนเอง และต้องการอิสระ ไม่ต่างจากเด็กเร่ร่อน 

การสร้างเครื่องมือเพื่อจะกลับไปใช้วิธีการนำตัว เข้าสถานสงเคราะห์นั้นผิดตั้งแต่เริ่มต้นคิดแล้ว  ไม่ควรให้ถูกนำไปปฏิบัติ

โปรดตระหนักว่าท่านกำลังจัดการกับมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่สิ่งของ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท