Skip to main content
sharethis

8 ต.ค. 2557  สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาชวนอ่าน Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of The October 6 Coup หรือบ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม เขียนโดยเบเนดิก แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ และเอเชียศึกษา ณ ห้อง 608 อาคารเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยบรรยากาศในงานเสวนาเป็นไปด้วยความปกติไม่มีการห้ามจัดแต่อย่างใด มีนิสิตนักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมงานราว 60 คน 

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้อ่าน "บ้านเมืองของเราลงแดงฯ" อีกครั้ง หลังเกิดการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่า งานชิ้นนี้ยังคงความร่วมสมัย เพราะเนื้อหาในงานชิ้นนี้พูดถึงเหตุการณ์การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มา แล้วส่งผลให้ทหารออกมาคืนความสงบสุขให้กับประเทศด้วยการทำรัฐประหาร ทว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการประสานปูทางของกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยม เพื่อทำให้เกิดการรัฐประหารในที่สุด ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นหลายเดือนก่อนการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีลักษณะของการปูทางแบบเดียวกัน

'ประชาไท' ถอดความมานำเสนอ

เวียงรัฐ เนติโพธิ์

เบน แอนเดอร์สันพูดว่า การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นจุดตัดทางประวัติศาสตร์ คือไม่เหมือนกับการรัฐประหารครั้งไหนๆ เพราะหลังจากการรัฐประหารฝ่ายนิสิตนักศึกษาที่ถูกปราบปราม เข้าไปจับอาวุธสู้เพื่อหวังที่จะโค่นล้มระบอบที่เป็นอยู่ โดยไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในขณะที่อดีตเป็นเพียงการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มกลุ่มทหารเก่า เพื่อให้กลุ่มของตนเองขึ้นมามีอำนาจ และอีกประการหนึ่งที่มีความแตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆ คือไม่ได้มีการวางแผนลับ เพื่อที่จะยึดอำนาจ โค่นล้มอำนาจเดิมแล้วก็ตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ แต่การยึดอำนาจครั้งนี้มีลักษณะของการกระทำร่วมกันเป็นองคาพยพใหญ่ แล้วรัฐประหารเป็นจุดรวบยอดของการรณรงค์ที่ต่อเนื่องของฝ่ายขวา หรืออนุรักษนิยม

จากจุดตัดของเหตุการณ์ครั้งนี้ เบน แอนเดอร์สัน จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาโดยต้องการสำรวจเป้าหมายของเหตุการณ์นี้ สำรวจเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งแบบเดิมคือการฆาตกรรม หรือความรุนแรงจะอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ โดยเป็นการแย่งชิงอำนาจกันเองของกลุ่มชนชั้นนำ ผู้ปกครอง หรือผู้ถือครองอำนาจ และมีลักษณะของการกำกับอยู่ในมือของผู้มีอำนาจรัฐ มีการใช้เครื่องมือของรัฐ อ้างกฎหมาย และอ้างความชอบธรรม แล้วฆ่ากันเองในหมู่ชนชั้นนำ แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการฆ่ากันในทางการเมืองในที่สาธารณะ การเกิดขึ้นของความรุนแรงแบบใหม่นี้ เบน แอนเดอร์สัน คิดว่าเป็นวิกฤติทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเบนอธิบายวิกฤติครั้งนี้ว่ามีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้น และการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์

ในการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นที่มาจากการเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากพัฒนาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยคนเหล่าได้รับการสนับสนุน และมีอาชีพใหม่ที่เป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเบนมองว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงและต่อเนื่องมาก เพราะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา แล้วส่งผลให้เกิดชนชั้นใหม่ ซึ่งชนชั้นใหม่เหล่านี้มีบทบาทในทางสังคม ทางวัฒนธรรมและความคิด แต่ว่าไม่ได้เป็นกลุ่มชนชั้นปกครองเก่า คือจากเดิมมีพระมหากษัตริย์ ขุนนาง ชนชั้นสูง และหลังจากปฏิวัติ 2475 ก็มีกลุ่มทหาร และกลุ่มข้าราชการพลเรือนชั้นสูง กล่าวคือไม่มีชนชั้นภายนอกระบบราชการมีอำนาจทางการเมืองเลย ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นจึงกลายมาเป็นที่มาของวิกฤติ

และอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นความปั่นป่วนผันผวนทางอุดมการณ์ คือความขัดแย้งของอุดมการณ์ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย โดยเบนมองว่านี่เป็นอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายซ้ายเองได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์เสรีนิยม การเข้าถึงเอกสารต่างๆ รวมทั้งเอกสารของฝ่ายซ้ายด้วย ขณะเดียวกันก็มีการโต้กลับของกลุ่มอนุรักษนิยมฝ่ายขวา โดยกลุ่มผู้ปกครองใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ โดยผ่านอุดมการณ์หลักที่คนยึดถือคือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 

กลับมาที่เรื่องของชนชั้น ในเรื่องของเบนได้มีการพูดถึงทั้งอำนาจเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เบนใช้ปัจจัยสองอย่าง โดยปัจจัยอันแรกเบนเน้นว่า สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทยคือพลังจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกา ปัจจัยที่สองคือการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีเทคโนโลยีการท่องเที่ยวของคนตะวันตก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าตึกที่สูงที่สุดในเมืองไทย (ในสมัยนั้น) คือโรงแรมดุสิตธานี อาคารที่ทันสมัยที่สุดคือสนามบินดอนเมือง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เป็นภาพสะท้อนของการเข้ามาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และมันส่งผลให้เกิดเม็ดงานจากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทย และส่งผลให้เกิดโครงสร้างพื้นทางที่ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เกิดชนชั้นใหม่ๆ และมีความต่อเนื่อง

ในความต่อเนื่องด้านเศรษฐกิจนี้ เบนบอกว่ามันทำให้เกิดพลวัตของกลุ่มคน คือเจ้าที่ดิน นายทุนต่างจังหวัด โดยเจ้าที่ดิน นายทุนต่างจังหวัดไม่ได้มีมาแต่ดั้งเดิม แต่มีที่มาจากการขยายถนน การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เมืองใหญ่ๆ เริ่มมีเจ้าพ่อ มีนายทุน เจ้าของโรงสี เจ้าของโรงน้ำแข็ง ผู้จัดการธนาคาร เจ้าของไร่ขนาดใหญ่ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจทางการเกษตรที่เกิดขึ้น คนเหล่านี้เริ่มครอบครองที่ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมือง ในชุมชนเมือง ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ที่ดิน หรือขายที่ดิน หรือเริ่มที่พอมีหนทางที่จะไปทำงานที่อื่น เริ่มที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมือง คือมีการเคลื่อนตัวจากชนบทเข้าสู่เมือง ฉะนั้นในสมัย พ.ศ.2500 คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็คือคนที่เริ่มเข้ามาในกรุงเทพฯ สมัยสฤษดิ์ อีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนที่ตกงานไม่สามารถหางานทำได้ มีจำนวนเยอะประมาณ 1 ใน 4 และมีกลุ่มที่อาชีพใหม่ๆ คือเป็นนายทุนน้อย โดยกลุ่มคนเหล่านี้ได้แก่ คนขับรถ คนทำผม แม่ค้าขายขนม แม่ค้าขายของชำ อาชีพเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่ในภาคบริการเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาชีพเหล่านี้เป็นอีก 1 ใน 4 อาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่จากแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ

และอีกประเด็นหนึ่งที่เบนให้ความสำคัญคือ การที่รัฐทำให้เกิดการศึกษาโดยจัดให้มีโรงเรียนทุกจังหวัดทุกอำเภอ เพื่อทำให้มีลักษณะของการเป็นประเทศสมัยใหม่ เพื่อทำให้ทัดเทียมกับประเทศตะวันตกได้ แต่การศึกษาที่ทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลคือการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่มีการขยายในช่วงต้น พ.ศ.2500 โดยการขยายการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นได้ส่งผลทางการเมืองด้วย ก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สร้างวัฒนธรรม และในช่วงที่ใครก็ตามสามารถเข้าไปอยู่ในระบบอุดมศึกษาได้ มันเลยทำให้เกิดชนชั้นอีกชนชั้นขึ้นมาคือ “กลุ่มนิสิตนักศึกษา” คือภายในกลุ่มนี้มีค่านิยม มีทัศนคติ มีอุดมคติ มีบางอย่างแทรกเข้ามาในคำว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษาด้วย ที่ไม่แสดงเพียงแค่ว่าเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาเรียนแล้วก็ออกไปทำงาน แต่มีลักษณะของกลุ่มคนที่มีอำนาจในการต่อรองพอสมควร เป็นสถานะที่เป็นช่องทางในการไต่เต้าทางสังคม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเกิดขึ้นของชนชั้นใหม่ และมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ แต่ในสมัยของถนอม กิตติขจร ก็เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจชะลอตัว มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางสังคม เหตุการณ์ที่อินโดจีน ระบอบเผด็จการเริ่มไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนได้ เช่นกรณีชนชั้นใหม่ที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแต่ออกมากลับไม่มีงานทำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอันนี้เป็นดังการสลายสวรรค์ของชนชั้นใหม่ ส่งผลให้คนบางส่วนกลับไปสู่การเป็นศัตรูของรัฐ หรือเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐ และก็เริ่มไม่พอใจที่จะเกิดความวุ่นวายของฝ่ายซ้าย และการที่มีการประท้วงของคนจำนวนมาก เพราะมันเริ่มทำให้ระบบการเมืองระบบเศรษฐกิจไม่มีความมั่นคง

ต่อมาในประเด็นที่สำคัญคือประเด็นเรื่องอุดมการณ์ เบนมองว่าอุดมการณ์ที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคืออุดมการณ์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะต่างจากมุมมองของนักวิชาการหลายๆ คนที่มองว่าสฤษดิ์ เป็นคนดึงอุดมการณ์นี้กลับคือมา แต่เบนย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 คือ ประเทศไทยไม่เคยมีฮีโร่ที่เป็นคนอื่นเลยนอกจากพระมหากษัตริย์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงแม้ว่า จอมพล ป พิบูลสงคราม จะพยายามสร้างวาทกรรมใหม่ๆ แต่ทุกอย่างก็ยังวนอยู่ที่เดิม ในขณะที่เริ่มมีฝ่ายซ้ายเข้ามาในหมู่นิสิตนักศึกษาชนชั้นกลาง ก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่าฝ่ายขวาจะต้องตีกลับ หรือตอบโต้กลับ คือฝ่ายขวาก็พยายามทำให้อุดมการณ์ใหม่อันนี้มันหมุนไป ซึ่งเหมือนกับอาการลงแดง ไม่สามารถที่จะทนต่อไปได้แล้วที่จะปล่อยให้มีเสรีภาพทางความคิด  โดยวิธีการที่ชนชั้นนำมองนักศึกษา ซึ่งสิ่งที่อันตรายที่สุดคือนักศึกษาเริ่มมีวิธีคิดเป็นฝ่ายซ้าย และนักศึกษาเริ่มจับมือกับกรรมกรและชาวนา ซึ่งนี่เป็นเรื่องชนชั้นนำยอมรับไม่ได้

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า กลุ่มผู้ปกครองเก่าถูกทำให้อ่อนแอจากการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกประเทศ จะเห็นว่ามีความพยายามในการหาพันธมิตรภายในใหม่ โดยการเข้าไปหากลุ่มกระฎุมพีน้อยและกระฎุมพีกลางที่เกิดขึ้นภายใต้เผด็จการเก่า  กระฎุมพีเหล่านี้กำลังเคียดแค้น ตื่นตระหนก และงงงวย โดยได้ใช้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้าไปสร้างพันธมิตรใหม่ และถึงที่สุดก็ได้รับการยอมรับ ซึ่งชนชั้นนำก็ได้ใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านั้น

ขณะเดียวกันหลายคนมองว่าอุดมการณ์ฝ่ายขวาที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะ แต่เบนกลับมองว่าแท้ที่จริงแล้วคนเหล่านี้เป็นเพียงแค่แนวหน้าเท่านั้น ทว่ากลุ่มคนที่จัดตั้งอุดมการณ์ซึ่งส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา จริงๆ แล้วคือกลุ่มทหารพรานเก่า ซึ่งมีการวางแผนมาอย่างดี อีกกลุ่มหนึ่งที่เบนมองก็คือ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในชนบทแต่อย่างใด แต่เป็นที่รวมของชนชั้นนำเช่นภรรยาข้าราชการ พลเรือนในกรุงเทพฯ  คือกลายเป็นว่าลูกเสือชาวบ้านเป็นกลุ่มคนที่มีเงินมีฐานะ มีความต้องการสายสัมพันธ์ทางสังคม และ ต้องการภาพลักษณ์ของผู้เสียสละซึ่งทำหน้าที่เพื่อสังคม  ทั้งหมดนี้เบนต้องการชี้ให้เห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นตัวการในการทำให้เกิดการออกมาใช้ความรุนแรง โดยชี้ให้เห็นองค์ประกอบของฝ่ายขวาที่เป็นมวลชน

ที่เรามาชวนอ่านกันในวันนี้เพราะประโยคที่บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ (6 ตุลาคม 2519) ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันแต่เป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า และเป็นการร่วมมือกันของพลังฝ่ายขวา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดหักเหทางการเมืองที่สำคัญ พอเรามองปัจจุบันในการรัฐประหารปี 2557 ทำให้คิดว่าเรากลับมาที่จุดหักเหอีกรอบหรือไม่  และจุดหักเหนี้ถ้าเราใช้กรอบของเบน คืออธิบายเป็นชนชั้นกับอุดมการณ์  จะเห็นว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การรัฐประหารในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐประหารที่มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก พูดให้ง่ายคือทำให้มีความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร

ถ้าเราลองใช้แง่มุมของเบนดูปัจจัยทางชนชั้นและอุดมการณ์จะทำให้เห็นอะไรบ้าง ชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ ชนชั้นกระฎุมพี ลูกจีน คนต่างจังหวัดที่อพยพ แต่ประเด็นที่ชนชั้นนำเป็นห่วงมากที่สุดคือการจับมือกับประชาชน ประชาชนในที่นี้หมายถึง คนส่วนใหญ่จริงๆ ที่เป็นชนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งการร่วมมือกันของกระฎุมพี หรือการเกิดขึ้นของกระฎุมพี ยังไม่ใช่สิ่งที่คุกคามชนชั้นนำ เท่ากับการจับมือกันของนักศึกษากับชนชั้นล่าง แสดงให้เห็นถึงจุดหักเหสำคัญที่จำเป็นต้องตัดไฟ เพราะว่ากระฎุมพีที่เกิดขึ้นมาใหม่แต่เพียงอย่างเดียวโดยทั่วไปยังพอสามารถต่อรองได้ แต่สิ่งที่ชนชั้นปกครองไม่สามารถทนได้คือ การที่ชนชั้นกระฎุมพีอย่างนิสิตนักศึกษาหันไปจับมือกับกรรมกรแรงงาน

ในขณะที่ปัจจุบัน มีสิ่งที่ชนชั้นนำในเมืองไทยรับไม่ได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีจุดหักเหในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือมีการเข้าร่วมทางการเมืองของชนชั้นล่างที่มีจำนวนมาก เป็นการรวมของประชาชนที่ถูกทำให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองแต่กลับถูกทำให้รู้สึกว่าถูกผลักออกจากการมีส่วนร่วม

การเมืองหลัง 6 ตุลา ซึ่งมีชนชั้นใหม่เกิดขึ้น จะเห็นว่ามีการนิรโทษกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ กลับคืนสู่สังคมไทย แล้วมีการเมืองในรัฐสภาแม้จะมีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ระบอบรัฐสภาให้อำนาจทางการเมืองกับชนชั้นนายทุนต่างจังหวัดในการเข้ามาเล่นการเมืองระดับชาติ ทำให้ประชาชนที่อยู่ตามชนบทก็ต้องอยู่ภายใต้กลุ่มคนเหล่านี้

ดังนั้นระบอบนี้จึงไม่ได้มีการคุกคามชนชั้นนำเลย เพราะรัฐสภาถูกควบคุมโดยชนชั้นนำในต่างจังหวัด คล้ายเป็นเจ้าพ่อ ประชาชนก็อยู่ภายใต้เครือข่ายการปกครองของเจ้าพ่อ หรืออยู่ภายใต้เครือข่ายของนักการเมือง ดังนั้นการเมืองไทยยุคนั้น เป็นการเมืองที่รัฐสภายอมให้กระฎุมพีที่เกิดใหม่ในช่วงก่อน 6 ตุลา ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น พวกที่เป็นฝ่ายซ้ายจัดเองก็ได้เข้ามาอยู่ในองค์กรธุรกิจที่สำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามอำนาจทางการเมืองเปิดโอกาสให้คนทุกคนได้มีส่วนร่วมจริงๆ หลังพฤษภาทมิฬ จะเห็นว่าชนชั้นกลางที่ประสบความสำเร็จ เช่น นักธุรกิจ นักกิจกรรม สื่อมวลชน เอ็นจีโอ เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองในช่วงพฤษภาทมิฬ

ฉะนั้นการเมืองภาคประชาชนในช่วงท้ายของทศวรรษ 1990 (2533-2542) ถ้าใช้กรอบการมองของเบนคือ การเมืองที่ภาคประชาชนไม่ได้คุกคามชนชั้นนำเลย เพราะเป็นการเมืองภาคประชาชนที่อยู่ภายใต้ร่มของเอ็นจีโอ ที่อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือไม่ได้ดึงประชาชนจำนวนมากหรือ “คนรากหญ้า” เข้ามาร่วม แต่จุดเปลี่ยนที่คิดว่าเป็นการคุกคามชนชั้นนำเช่นเดียวกับ 6 ตุลา คือหลังรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มีการกระจายอำนาจและทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามา

ทักษิณไปสลายระบอบของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล จะเห็นว่าระบอบทักษิณและรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเอื้อต่อการกระจายอำนาจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ไปสลายกลุ่มชนชั้นนำในชนบท และทำให้ประชาชนกับรัฐมาสื่อสารกันโดยตรง หรือเลือกผู้นำที่ตอบสนองผลประโยชน์ต่อเขา รัฐก็ต้องสื่อสาร หรือแสดงวิสัยทัศน์นโยบาย อาทิ นโยบาย 30 บาท การศึกษาฟรี มันเป็นการควบคุมตัวกลางที่กุมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและอำนาจรัฐไว้ และนี่คือการคุกคามเหล่าชนชั้นนำครั้งใหม่ โดยสรุป การคุกคามครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเกิดชนชั้นใหม่อีก แต่เป็นการนำชนชั้นรากหญ้าขึ้นมาให้มีพื้นที่ต่อรองหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง

ส่วนในด้านอุดมการณ์ แม้รัฐไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้น ลักษณะของรัฐ หรือโครงสร้างรัฐ แต่อุดมการณ์ของรัฐที่ปลูกฝังมาโดยตลอดกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลง และครอบงำได้อย่างประสบความสำเร็จ ดังนั้นเหตุการณ์ในวันนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่กลับสู่ไปจุดหักเหเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net