Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



อนุสนธิการเสนอถอดถอนอดีตนักการเมืองต่อ สนช.ของ ปปช.โดยอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งว่าก็ในเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว ความผิดตามรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้วก็ต้องหมดไปด้วยสิและบางท่านให้ความเห็นเลยไปอีกว่า พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วยเช่นกัน

จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย คือ

1) พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกยังมีสถานะเป็นกฎหมายอยู่หรือไม่

2) ความผิดตามรัฐธรรมนูญเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้วจะสามารถนำมาถอดถอนตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่

พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกยังมีสถานะเป็นกฎหมายอยู่หรือไม่

ในประเด็นนี้มีความเห็นแบ่งได้เป็นสามฝ่าย ฝ่ายแรกยึดถือตามทฤษฎีของ Hans Kelsen นักกฎหมายชาวออสเตรียที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลกเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สถาปนากฎหมายขึ้นทั้งระบบ เพราะรัฐธรรมนูญก่อตั้งองค์กรที่ให้อำนาจในการออกกฎเกณฑ์ระดับต่างๆทุกประเภทที่มีผลผูกพันให้บุคคลในสังคมนั้นต้องปฏิบัติตาม ฉะนั้น หากมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญเมื่อใด นั่นคือระบบกฎหมายทั้งหมดถูกยกเลิกไปด้วย

แต่ฝ่ายที่สองเห็นว่าในประเด็นของกฎหมายทั่วๆไปที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับตัวรัฐธรรมนูญโดยตรง เช่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายที่ดิน ฯลฯ รวมถึงกฎหมายอื่นๆที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญก็เป็นที่ชัดเจนในทางปฏิบัติมาโดยตลอดว่า กฎหมายเหล่านั้นไม่ได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะหากให้กฎหมายเหล่านี้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญด้วยก็เท่ากับปล่อยให้รัฐไม่มีกฎหมายใดๆใช้บังคับเลย บ้านเมืองก็จะเกิดความวุ่นวายถึงขั้นเป็นอนาธิปไตยได้ ฉะนั้น จึงมีเฉพาะกฎหมายที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญโดยตรงที่จะต้องสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกยกเลิกไปนั้น

ส่วนฝ่ายที่สามตามความเห็นของ Joseph Raz เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดเงื่อนไขความสมบูรณ์ของกฎหมายที่จะตราขึ้นใช้บังคับ ฉะนั้น เมื่อกฎหมายใดๆที่ถูกตราขึ้นแล้วตรงตามที่เงื่อนในรัฐธรรมนูญในขณะนั้นบัญญัติไว้ กฎหมายนั้นย่อมเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ในตัวของมันเองโดยไม่ต้องผูกพันความสมบูรณ์ของมันกับรัฐธรรมนูญอีกต่อไป แนวคิดนี้สามารถอธิบายให้เข้าใจโดยการเปรียบเทียบเหมือนกับความสัมพันธ์ของสายรกที่เชื่อมระหว่างผู้เป็นมารดากับทารกระหว่างที่อยู่ในครรภ์ เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ความมีชีวิตหรือลมหายใจของทารกนั้นย่อมเป็นอิสระจากมารดา แม้ผู้เป็นมารดาจะเสียชีวิตไปแล้วทารกก็ยังคงมีชีวิตอยู่ได้

ไทยเราเท่าที่ปฏิบัติมาภายหลังการรัฐประหารนั้นเป็นไปในแนวทางที่สามแต่ค่อนข้างพิเศษไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องอื่นเขา คือมีทั้งประกาศยกเลิก เช่น  ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดการปฎิบัติหน้าที่ ฯลฯ และหากต้องการเน้นว่ากฎหมายใดยังคงอยู่ก็จะประกาศเป็นกรณีๆไป เช่น ให้ศาลทั้งหลายยังคงอยู่ ให้ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยนั่นนี่ยังคงอยู่หรือให้วุฒิสภาคงอยู่แต่อีกไม่กี่วันถัดมาเกิดเปลี่ยนใจยกเลิกเสียดื้อๆงั้นแหล่ะ ฯลฯ ส่วนที่ไม่ได้ประกาศก็ให้ไปตีความเอาเองตามใจชอบ เช่น พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯที่ปัจจุบันทะเลาะกันจนศาลแทบแตก สำหรับกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้นก็ชัดเจนว่ามีประกาศ คสช.ฉบับที่ 5/2557 ว่าองค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงไม่จำต้องตีความอีก

ความผิดตามรัฐธรรมนูญเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้วจะสามารถนำมาถอดถอนตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นนี้สามารถนำแนวความ Joseph Raz ที่ได้อธิบายถึงหลักนิติธรรมไว้ข้อหนึ่งว่ากฎหมายต้องมีผลไปข้างหน้ามากกว่ามีผลย้อนหลัง จริงอยู่ในขณะที่อดีตนักการเมืองกระทำความผิดรัฐธรรมนูญปี 50 ยังมีการบัญญัติว่าเป็นความผิด(ตามความวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ) แต่เมื่อขณะที่จะลงโทษซึ่งก็คือถอดถอนนั้นรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้วและรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)ปี 57 ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด จึงเป็นการลงโทษโดยในขณะที่ลงโทษไม่มีกฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)รองรับว่าเป็นความผิด ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ(nullum crimen sine lege, nulla poena sine lege  หรือ no crime or punishment without law)”นั่นเอง

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหลายยังคงอยู่ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ที่ออกตามรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วย ซึ่งจะเขียนถึงเป็นการเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง และต่อคำถามที่ว่าแล้ว สนช.มีอำนาจถอดถอนหรือไม่ก็ต้องตอบว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนได้แน่นอน แต่ต้องไม่ใช่ความผิดตามรัฐธรรมนูญฯปี 50 คงถอดถอนได้เพียงนักการเมืองซึงในที่นี้หมายถึง สนช. ครม.และข้าราชการระดับสูงตาม พรบ.ปปช.ประกอบมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฯ(ชั่วคราว) ปี57 เท่านั้น

จากการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมุมมองทางนิติศาสตร์ล้วนๆ ยังไม่รวมถึงมุมมองทางรัฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความชอบธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่งของ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่จะไปใช้อำนาจถอดถอนผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยข้อหาที่นักวิชาการทั่วโลกพากันส่ายหน้า เช่น การแก้รัฐธรรมนูญให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นความผิดข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ผู้ปกครองมาแล้วก็ไป ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แต่คดีตามประมวลอาญามาตรา 157 นั้น มีอายุความยาวถึง 15 ปี  น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา ถึงตอนนั้นก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกันนะครับ

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net