แถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่-สื่อเคารพสิทธิผู้ต้องหา ครอบครัวเหยื่อ คดีเกาะเต่า

<--break- />

15 ต.ค. 2557สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติการละเมิดสิทธิของครอบครัวผู้เสียหายและผู้ต้องหา กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในคดีเกาะเต่า โดยระบุว่า ในชั้นสอบสวนต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ มิใช่นำไปแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพออกสื่อ นอกจากนี้การสอบสวนโดยไม่ให้ผู้ต้องหามีทนายและการทำร้ายระหว่างสอบสวนทำให้คำให้การไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้ พร้อมวอนสื่อทำหน้าที่โดยเคารพสิทธิผู้ต้องหาและครอบครัว

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์

ขอให้ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิของครอบครัวผู้เสียหายและผู้ต้องหา

กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในคดีเกาะเต่า

จากกรณีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 เกิดเหตุสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกทำร้ายและเสียชีวิตอยู่ริมชายหาดเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นแรงงานชาวพม่าจำนวน 3 ราย โดยจากการสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนทำผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และในวันที่ 3 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหา 2 รายไปแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ ปรากฏตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนไปแล้วนั้น

เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาจะกระทำเหมือนผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรข้างท้ายมีความห่วงใยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนอาจเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของครอบครัวผู้เสียหายและละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาตามหลักการดังต่อไปนี้

1. การให้การในคดีที่มีโทษประหารชีวิต หากผู้ต้องหาไม่มีทนายความ พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาตามมาตรา 134/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ข้อ 14 หากพนักงานสอบสวนไม่จัดหาทนายความ คำให้การดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

2. ในการให้การต่อเจ้าพนักงาน หากมีการข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ คำให้การที่ได้มานั้นไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมาย และเจ้าพนักงานผู้กระทำการดังกล่าวย่อมมีความความผิดตามกฎหมาย และถือเป็นการละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

3. การนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ แม้พนักงานสอบสวนจะกระทำเพื่อการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ควรมีเป้าหมายว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานอย่างไร มิใช่การนำผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพเพื่อการแถลงข่าว เพราะถึงคดีดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของสาธารณชนแต่เจ้าหน้าที่ยังคงต้องเคารพความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในชื่อเสียงของผู้ต้องหา อีกทั้งตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 855/2548 ยังระบุว่าห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหา หรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหายอีกด้วย

4. การนำเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์รวมถึงบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในคดี ออกสู่สาธารณะเป็นจำนวนมากโดยในการนำเสนอข่าว ในบางสำนักข่าวมีการนำเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งการนำข้อมูลของผู้ตายและภาพข่าวมาเผยแพร่ซ้ำย่อมเป็นการตอกย้ำถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบกระเทือนต่อครอบครัวของผู้เสียหายอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา รวมถึงอาจส่งผลต่อรูปคดี อาทิเช่น การสัมภาษณ์ล่ามถึงรายละเอียดคำให้การซึ่งต้องมีจรรยาบรรณในการรักษาความลับ การให้สัมภาษณ์กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ไม่ใช่การให้สัมภาษณ์เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในคดี

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรดังมีรายนามข้างท้ายจึงขอเรียกร้องให้

1. การให้สัมภาษณ์ของบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในคดี ต้องตระหนักถึงบทบาทของตนในคดี จรรยาบรรณในการรักษาความลับของคดีในชั้นสอบสวน และเกียรติยศชื่อเสียงของผู้เสียหาย

2. การนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนควรให้ความระมัดระวังในการนำเสนอ อีกทั้งพึงเคารพสิทธิส่วนบุคคลและไม่ละเมิดสร้างความเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียหายและผู้ต้องหา โดยคำนึงเสมอว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำเสนอข่าวอาจส่งผลให้ผู้ที่รับรู้ข่าวตัดสินว่าผู้นั้นคือผู้ที่กระทำความผิด หากภายหลังผลปรากฏว่าผู้นั้นไม่ได้ความผิดตามข้อกล่าวหา การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ต้องสงสัยจะเป็นไปได้ยาก รวมทั้งขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานซึ่งกันและกันอย่างเคร่งครัด

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท