มุมมอง 5 สปช. ‘จาก14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ในประเทศไทย'

14 ต.ค. 2557 ในงานรำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2557 มีการจัดงานอภิปรายที่ห้องLT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ จาก “14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ในประเทศไทย” โดยมีวิทยากรทั้งหมดเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คือ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มานิจ สุขสมจิต สื่อมวลชนอาวุโส คำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง  ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคาร และวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการอภิปรายราวสองร้อยคน

ประชาไทถอดความมานำเสนอ

“เราไม่เอาเผด็จการทหาร แต่เราก็ไม่เอาระบอบประชาธิปไตยแต่เพียงในนาม ที่แท้จริงแล้วเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาที่มีนายทุนพรรคการเมืองเป็นคนผูกขาด” คำนูณ สิทธิสมาน

คำนูณ เสนอว่าสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการเมืองไทย คือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอิสระในการตัดสินใจตามความเห็นของตนเองด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง จึงเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดการครอบงำความคิดเห็นโดยนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ส.ส. ไม่ได้ทำตามความต้องการของประชาชน แต่ต้องโอนอ่อนไปตามมติของพรรคการเมือง

เขาชี้ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในฮ่องกงตอนนี้อาจจะไม่แตกต่างจากประเทศไทย เพราะการเมืองในฮ่องกงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ในกระบวนการรัฐบาลจีนเป็นคนเลือกผู้แทนของพรรคมาให้คนฮ่องกงเลือก ซึ่งไม่ต่างจากประเทศไทยที่มีพรรคการเมืองคัดผู้แทนมาให้ประชาชนเลือก ต่างกันก็เพียงประเทศจีนเป็นพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว แต่ประเทศไทยมีหลายพรรคการเมือง

คำนูณกล่าวว่า การปฏิรูปที่แท้จริง จึงมีความจำเป็นต้องจำกัดอำนาจของกลุ่มทุนพรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจของประเทศ และสิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่งคือการกระจายอำนาจไม่ให้รวมอยู่ที่ศูนย์กลาง เนื่องจากการกระจุกตัวของอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จูงใจให้กลุ่มทุนพรรคการเมืองเข้ามาลงทุนในสนามการเมือง เพราะจะสามารถผูกขาดอำนาจได้ทั้งประเทศ

“ผมคิดว่าต้องเอาจิตใจต้องเอาวิญญาณแบบ 14 ตุลา มาใช้ ไม่ใช่ทำให้ สปช. เป็นอาชีพ หรือช่องทางทางการเมือง คือเราต้องคิดว่าเป็นการกระทำโดยบริสุทธิ์ใจ” อเนก เหล่าธรรมทัศน์

เอนก เห็นว่าการจะปฏิรูปประเทศครั้งนี้ จำเป็นต้องใช้ความทรงจำและจิตวิญญาณในช่วง 14 ตุลา 2516 ซึ่งในช่วงนั้นสิ่งที่นักศึกษาต้องการมากที่สุดคือ การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่เอาระบอบเผด็จการทหาร และไม่เอาระบอบอำมาตยาธิปไตย(bureaucratic polity) ไม่ต้องการระบบสืบทอดอำนาจ และที่สำคัญที่สุดคือ ในช่วงนั้นเรารักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาก

เอนกย้อนกลับไปมองถึงบรรยากาศที่มองเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516 โดยชี้ให้เห็นว่า ในช่วงนั้นนักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วงท้วงรัฐบาล เพราะเชื่อในความดีงามของสิ่งที่ตนกระทำ เชื่อว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อประชาชน เพื่อประเทศ ไม่ได้มีเป้าหมายนัยยะทางการเมืองแอบแฝง แต่เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้พบว่า “คนเดือนตุลา” ต่างก็แตกกันไปอยู่ในแต่ละฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้กลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีก แต่อยากให้จดจำบรรยากาศของการต่อสู้ในวันนั้น พร้อมชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของประชาธิปไตยในอดีตกับปัจจุบันว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแค่เพียงการออกมาหย่อนบัตรแล้วก็จบไป แต่ประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองโดยประชาชน

เอนกย้ำว่า อยากให้ทุกคนเอาความทรงจำ 14 ตุลา มาใส่ตัวให้มากขึ้น อยากให้ลดความขมขื่น ความกลัวว่าจะล้มเหลว อยากให้มีวิธีคิดแบบ 14 ตุลา คือไม่คิดว่าจะล้มเหลว แล้วทำอย่างเต็มที่ เพราะได้ทำในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง

ขณะเดียวกันในด้านหน้าที่ของการเป็นสมาชิก สปช. เอนกกล่าวว่าต้องพยายามให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกด้าน โดยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย และจะต้องทำให้รวดเร็ว เพื่อที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเพื่อประเทศไทย   

“ประเทศเรามีเผด็จการเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้จะเป็นพลเรือนเข้ามา ก็เป็นเผด็จการอย่างที่หลายท่านได้พูดไปแล้ว” มานิจ สุขสมจิตร

มานิจเสนอว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ถ้าการแก้ปัญหาครั้งนี้ไม่แก้ที่รากฐานคงต้องลำบากกันไปอีกนาน โดยมานิจมองว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือ ความไม่รู้ หรือ อวิชชา  อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกันก็คือเรามีคนที่รู้มาก แต่รู้แบบศรีธนญชัย คือรู้แบบเอาเปรียบคนอื่น โดยพยายามหาช่องทางที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่นรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีการเขียนไว้อย่างดี แต่ก็มีคนพยายามจะหาช่องโหว่ ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมทางดิ่ง (Hierarchy) เลยทำให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจมากว่าใช้ความรู้ เป็นเหตุทำให้เกิดสังคมที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ผู้คนจำต้องวิ่งเข้าหาอำนาจ เพราะหวังผลตอบแทน

“แทบจะไม่น่าเชื่อ รัฐมนตรีเพียงคนเดียวสามารถที่จะโยกย้ายปลัดกระทรวงได้ ย้ายอธิบดีได้ หรือแม้แต่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็สามารถโยกย้ายคนได้ เช่นคนที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่เป็นเจ้าของพรรคที่มาร่วมรัฐบาลก็สามารถใช้อำนาจอย่างนี้ได้”มานิจกล่าว

ขณะเดียวกันก็ชี้ให้ต้นตอของปัญหาว่า ผู้คนถูกยัดเยียดให้เข้าใจว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ครบ 4 ปีก็มาเลือกตั้งครั้งหนึ่ง เลือกตั้งแล้วมอบอำนาจให้เขาแล้วก็ปล่อยทิ้งไปซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะความจริงประชาธิปไตย จะต้องพูดถึงเรื่องอำนาจการปกครองที่เป็นของประชาชน ประชาชนต้องมีความเสมอภาคกัน การใช้สิทธิเสรีภาพต้องมีการใช้อย่างเหมาะสม ประเทศเป็นนิติรัฐซึ่งใช้กฎหมายในการปกครองประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีความโปร่งใส

มานิจเผยให้เห็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและมองว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในฐานะที่ตัวเองเป็นสื่อมวลชนได้พบเห็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลหลายๆ รัฐบาล คือการใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อซื้อสื่อมวลชน เช่นซื้อเนื้อที่โฆษณา ซื้อเวลาออกอากาศเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลเอง อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีมากมาย ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้มีการชำระสะสางปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องของความเป็นอิสระของสื่อมวลชน และการบริหารราชแผ่นดินในด้านต่างๆ

“การปฏิรูปที่ต้องกำจัดปัญหาคอร์รัปชันให้ได้ นี่คือความสำคัญอันดับแรกของภาคเอกชน เรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องรอง ผมพูดตรงๆ ดูอย่างสิงค์โปรไม่เห็นคนเขาโวยวาย เขาไม่เห็นต้องการเสรีภาพ เขาต้องการรัฐบาลที่ทำให้เขาทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาได้ เราก็เห็นแก่ตัวครับไม่ปฏิเสธ ถ้าทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ เสรีภาพก็ไม่มีความหมาย”ธวัชชัย ยงกิตติกุล

ธวัชชัย เปิดประเด็นด้วยการชี้ให้เห็นมุมมองในด้านของนักธุรกิจว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือปัญหาคอร์รัปชัน พร้อมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่า การที่ทหารเข้ามาทำรัฐประหารเป็นเรื่องปลายเหตุ แท้จริงแล้วต้นเหตุอยู่ที่รัฐบาลซึ่งมีการทุจริตคอร์รัปชันมาก นักธุรกิจประสบปัญหาเรื่องนี้มากกว่าคนอื่นๆ แม้นักธุรกิจเองจะไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่ไม่เห็นวิธีอื่นที่จะล้มการคอร์รัปชันนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร หรือเผด็จการรัฐสภาก็โกงเหมือนกันหมด

ธวัชชัยเสนอทางออกจากปัญหาคอร์รัปชันโดยเห็นว่าการกำจัดปัญหาคอร์รัปชันต้องดำเนินไปพร้อมกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันในกลุ่ม สปช. ทุกด้าน และความร่วมมือจากประชาชนทุกคน เพราะปัญหาคอร์รัปชันไม่สามารถแก้ไขได้หากขาดการประสานงานและร่วมมือกัน อย่างไรก็ตามการมีเพียงแค่กฎหมายอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องเริ่มต้นกันที่วิธีคิดของคนในสังคม เช่นทำโครงการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนวิธีคิด โดยเน้นให้ความสำคัญกับเยาวชนเป็นด้านหลักเพื่อสร้างสังคมที่จะเติบโตต่อไป เพราะแท้จริงแล้วเบื้องหลังของประชาธิปไตยเกิดจากการที่ประชาชนมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท