สั่งปิดบางสาขาวิชา ‘อุเทน-ปทุมวัน’ ชั่วคราว ปมวิวาทข้ามสถาบัน

สกอ. เรียกผู้บริหารอุเทน-ปทุมวัน หารือ แจงนโยบายให้ปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่นักศึกษาก่อเหตุ ถ้าไม่รู้ว่าอยู่สาขาใด ก็ต้องสั่งปิดทั้งสถาบัน ส่วนจำนวนวันขึ้นอยู่กับจำนวนคนก่อเหตุ ถึงขั้นเสียชีวิตก็ต้องปิดอย่างน้อย 1 ภาคเรียน
 
16 ต.ค.57 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้เรียก ผศ.สืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และดร.ปัญญา มินยง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พร้อมด้วยผู้บริหารจากทั้ง 2 สถาบันเข้ามาหารือ ว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานมายังสกอ. ถึงการทะเลาะวิวาทของทั้งสองสถาบัน ซึ่งตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ รับทราบ และรมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ดำเนินการตามนโยบายที่ได้ตกลงไว้ ดังนั้น จึงได้เชิญผู้บริหารทั้งสองสถาบันมารับทราบข้อมูล
 
จากกรณีที่มีเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษา 2 สถาบัน เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนักศึกษาจากสถาบันฯ ปทุมวัน คณะวิศวกรรมไฟฟ้า จำนวน 1 คน ได้ขึ้นรถประจำทางสาย 29 จากหมอชิต เมื่อมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีนักศึกษาจากอุเทนถวาย ขึ้นมาบนรถจำนวน 3 คน เป็นนักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา 1 คน และสาขาโลจิสติกส์ 2 คน จากนั้นก็มีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกันขึ้น แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เนื่องจากนักศึกษาทั้ง 2 ฝ่ายยังให้การไม่ตรงกัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย
 
“ดังนั้นผมจึงได้เชิญผู้บริหารทั้งสองสถาบันมารับทราบข้อมูล โดยขอให้มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง ปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งสำหรับสถาบันฯ ปทุมวัน ให้ปิดสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 - 4 เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งมีนักศึกษาได้รับผลกระทบ จำนวน  70 คน ส่วนอุเทนถวาย ให้ปิดสาขาวิศวกรรมโยธา และ สาขาการจัดการโลจิสติค ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 - 4 เป็นเวลา 9 วัน มีนักศึกษาได้รับผลกระทบจำนวน 300  เพื่อให้เด็กหลาบจำและไม่ให้มาซ่องสุมรวมตัวกันพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การแก้แค้น ส่วนจะเริ่มปิดตั้งแต่วันใดนั้นเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปดูแล อย่างไรก็ตามจำนวนวันที่สั่งปิดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท” รศ.นพ.กำจร กล่าว
 
รศ.นพ.กำจร กล่าวด้วยว่า ต่อไปถ้าสถาบันใดรวมตัวกันก่อเหตุมากเท่าไหร่ ก็จะถูกปิดนานขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าไม่รู้ว่าเด็กที่ก่อเหตุเรียนอยู่สาขาใด ก็ต้องสั่งปิดทั้งสถาบัน แต่ถ้าถึงขั้นเสียชีวิตก็ต้องปิดอย่างน้อย 1 ภาคเรียนถึง 1 ปีการศึกษา  หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้นักศึกษาเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก โดยสาเหตุที่เลือกใช้มาตรการปิดเฉพาะสาขาที่ก่อเหตุแทนการสั่งปิดทั้งสถาบัน เพราะต้องเห็นใจนักศึกษาที่ตั้งใจเรียน และนี่เป็นมาตรการที่เบาที่สุดแล้ว ดังนั้นถ้านักศึกษาไม่ต้องการให้มีการปิดการเรียนการสอน แต่ละสาขาก็ต้องช่วยดูแลกันเอง ไม่ให้เกิดการยกพวกตีกันอีก
 
เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า มาตรการสั่งปิดตามจำนวนเด็กที่ก่อเหตุเป็นมาตรการขั้นต้น ส่วนมาตรการระยะยาวนั้นได้มีการหารือไประดับหนึ่งแล้ว โดยขอดูรูปแบบการแก้ปัญหาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งจะให้เด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน ในปีการศึกษาหน้า แต่ระดับอุศึกษาที่มีปัญหา มีแค่อุเทนถวาย กับสถาบันฯปทุมวัน ดังนั้น ในปีการศึกษาหน้าจะให้มีการปฐมนิเทศร่วมกัน และมีแนวคิดที่จะให้ทั้งสองสถาบันแต่งเครื่องแบบนักศึกษาเหมือนกัน ทั้งเข็มสัญลักษณ์ และเข็มขัด แต่ก็ต้องไปพิจารณาข้อดีข้อเสีย เพราะอาจจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท