Skip to main content
sharethis
“วิษณุ เครืองาม” คาดประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายน 58 ชี้อาจเลือกตั้งได้ ม.ค.59 เชื่อกระบวนการยกร่างไม่เกิน 1 ปี
 
17 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการปฎิรูปประเทศไทย” ในหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่5 (พตส.5) ณ สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) ว่า คำว่าปฎิรูปที่พูดกันอยู่ในปัจจุบันนี้ว่าเป็นคำเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงกล่าวไว้ว่าต้องปฎิรูประบบราชการให้เป็นธรรม ทันสมัย และมีมาตรฐานก่อนดำเนินการปฎิรูปเรื่องอื่น ๆ เพราะถือว่าระบบราชการเป็นรากฐานของทุกเรื่อง
 
“ในสมัยนี้ก็เช่นเดียวกันที่ต้องให้ความสำคัญกับการปฎิรูประบบราชการเป็นเรื่องแรก อย่างไรก็ตาม การปฎิรูปนั้น ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในระยะเวลา 1 ปี เพราะในอดีตก็ใช้เวลานาน ถึง 3 รัชกาล แต่ก็ต้องพยายามทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจมีบางเรื่องที่สามารถผลักดันให้เสร็จได้” นายวิษณุ กล่าว
 
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การปฎิรูปวันนี้ต้องพึ่งพา 2 เวที คือ เวทีทางการ และเวทีอื่น ๆ ซึ่งเวทีสำคัญ คือ เวทีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน เพื่อให้สมาชิก สปช.ทั้ง 250 คนร่วมโหวตว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากมีปัญหารัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป จะต้องยุบกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน เพื่อทำการสรรหาและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
 
นายวิษณ กล่าวอีกว่า หากสมาชิก สปช.โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนต่อไปต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และคาดการณ์ระยะเวลาการประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่าน่าจะแล้วเสร็จประกาศใช้ได้ภายในปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคมปีหน้า และคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเดือนมกราคม 2559 แต่ไม่อยากให้ล็อคกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะสามารถเลือกตั้งได้ทันทีในเดือนพฤศจิกายนหรือไม่ เพราะยังมีอีกหลายกระบวนการที่ต้องดำเนินการ ทั้งร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมืองที่ยังไม่มีการระบุว่า ส.ส.จะมีกี่คน และการได้มาของ ส.ว.ก็ต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งเมื่อกฎหมายลูกเหล่านี้เสร็จสิ้น คาดว่า 3 เดือนจึงจะมีการเลือกตั้งได้ โดยมีประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติที่จะคัดเลือกในวันที่ 21 ตุลาคมนี้เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และขอยืนยันว่าตนจะไม่เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะมีการปรับเปลี่ยนแผนในอนาคต
 
“สปช.ต้องให้กรอบรัฐธรรมนูญว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของไทยควรจะเป็นอย่างไรภายใน 2 เดือน และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน4 เดือน รวมเป็น 6 เดือน แต่เมื่อร่างเสร็จต้องไปให้ สปช.ดู ปรับปรุงตกแต่งใหม่ให้เรียบร้อย อีก 6 เดือน และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว สปช.จะปรับแก้ไม่ได้แล้ว มีเพียงหน้าที่ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากมีมติรับ ก็นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม แต่ถ้ามีมติไม่รับ ก็ต้องมีการยุบกรรมาธิการร่างทั้ง 36 คนและดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป โดยอาจจะกระชับให้รวดเร็วมากขึ้น” นายวิษณุ กล่าว
 
รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่จะให้ประชาชนลงประชามติ ว่า อาจจะต้องใช้เวลา 3-6 เดือน เพราะไม่ต้องการให้มีบทเรียนอย่างครั้งที่ผ่านมาที่ประชาชนลงประชามติ 19 ล้านเสียงโดยไม่มีความเข้าใจ ครั้งนี้จึงต้องใช้เวลาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งนี้หากใกล้ถึงเวลา ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการลงประชามติ ก็สามารถทำได้ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญไม่เขียนไว้ไม่ใช่ว่าจะทำประชามติไม่ได้
 
“วันนี้เร็วไปที่จะพูดถึงว่าจะทำประชามติหรือไม่  ไว้ร่างรัฐธรรมนูญออกมามีหน้าตาชัดเจนสัก 50 เปอร์เซ็นต์ ค่อยมาถามประชาชนว่าต้องการให้ทำประชามติหรือไม่ หากรับได้ที่กระบวนการจะล่าช้าไปอีกก็ทำประชามติได้แล้วมาวางหลักเกณฑ์กันใหม่” นายวิษณุ กล่าว
 
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า วันนี้เราไม่มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ แต่สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ ยังมีอัตราอยู่ 200 คน ซึ่งจะนำคน 7 พันคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. คัดเอาส่วนหนึ่งมานั่งแทนสภาที่ปรึกษาแห่งชาติแต่ไม่ได้เรียกชื่อนี้ และให้สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรองที่ให้การช่วยเหลือ โดยจะประชุมในสถานที่นี้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรี และกรรมการสรรหา 77 คน ใครที่เป็นรัฐมนตรีและ สนช.ก็ตัดออกไปไม่สามารถเป็นได้ ก็จะเหลือ ประมาณ 50 คน และหลังการสรรหา ก็จะนำมารวมกับ 7 พันคน เพื่อหาเวทีในการปฎิรูปแต่ละด้านร่วมกัน
 
นายวิษณุ กล่าวว่า สปช.250 คนจะประชุมในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เพื่อเลือกประธานและรองประธาน และตั้งคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ จากนั้นจะเสนอแนวทางปฎิรูปด้านใดก็เสนอมาไม่จำกัดแค่ 11 ด้านจะมากกว่านั้นก็ได้ ทั้งนี้เชื่อว่าชุดกรรมาธิการที่มีความสำคัญนั้นประกอบด้วย 4 คณะ ดังนี้ คือคณะกรรมาธิการการเมือง คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมาธิการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะต้องตอบคำถามที่เป็นเรื่องเร่งด่วนในการปฎิรูปของสังคม เพื่อเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญ จึงถือว่า 4 คณะนี้เป็นพระเอก
 
“แต่ไม่ใช่ว่าคณะอื่นไม่มีความสำคัญเท่ากับ 4 คณะนี้ แต่ 4 คณะนี้ต้องมีคำตอบให้สังคมเขียนในรัฐธรรมนูญ แต่หากคิดช้าหลังจากที่มีการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถมาใส่ตรงไหนได้แล้ว ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี2557 ในมาตรา 35 ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมี 10 เรื่องบวก 1 เรื่อง คือ 10 เรื่องเป็นการบังคับแต่อีกเรื่องเปิดช่องให้ช่วยคิดโดยคำนึงถึงทบทวนเรื่ององค์กรอิสระ ที่บางองค์กรอาจจะไม่ต้องมีก็ได้ โดยดูจากการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งบางองค์กรอาจไม่ต้องยุบ แต่จะต้องทบทวนการทำหน้าที่เสียใหม่ โดยจะต้องยึดหลักของความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย และมีการปกครองประชาธิปไตยที่เหมาะสมและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งต้องวางมาตรการป้องกันการทุจริต ไม่ให้เข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งได้อีกอย่างถาวร แต่ไม่ใช่ห้ามบ้าน 111 หรือพวกที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างถาวรคือพวกที่ทุจริตการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เพราะถูกถอนสิทธิ์ทางการเมืองในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต” นายวิษณุ กล่าว
 
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่อยากเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การหาข้อยุติของปัญหาความขัดแย้งที่ว่าหากรัฐบาลชุดนั้นยุบสภา จะสามารถลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีนักกฎหมายคนใดสามารถหาข้อสรุปชัดเจน จนนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม พร้อมกันนี้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรกำหนดขอบเขตดังกล่าวให้ชัดเจน แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จะเขียนในมาตรา 5 และ 6 ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา แต่หากเป็นเรื่องนอกองค์กรให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนการพิจารณา เพื่อเป็นการสกัดกั้นความไม่ปรองดองในสังคมไทยต่อไป
 
ด้านการ ยกร่าง รธน.ใหม่ กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง โดยคำนึงหลักความพร้อม ความเป็นธรรม และความเหมาะสม เชื่อกระบวนการยกร่างไม่เกิน 1 ปี โควต้า กมธ.ยกร่างของ คสช.และ ครม.จะหาบุคคลที่มีความสามารถแตกต่างจาก สปช.-สนช.เพื่อความสมบูรณ์
 
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงโรดแมปที่ระบุว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2558 ว่า เป็นการระบุก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ส่วนจะเลือกตั้งได้ทันในปี 58 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้ง 36 คน ว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายในกี่วันหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่อย่างใด ทั้งนี้ขั้นตอนการเขียนรัฐธรรมนูญจะช้าหรือเร็ว กระบวนการจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เมื่อมีการคัดเลือกประธานและกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว นับไปอีก 11 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่ภายในกรอบ 1 ปี
 
“อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าว ไม่สามารถทำได้ลอย ๆ แต่จะต้องคำนึงถึงหลัก 3 ประการ คือ 1.หลักความพร้อมของผู้ที่จัดการเลือกตั้ง 2.หลักความเป็นธรรมของผู้ที่สมัคร ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และ 3.หลักความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดการเลือกตั้ง โดยจะใช้เวลานานไม่ได้ เพราะจะไม่สามารถอธิบายเหตุผลให้สังคมได้” นายวิษณุ กล่าว
 
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นโฉมหน้าของกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้ง 36 คน แต่เชื่อว่าในแต่ละส่วนจะสรรหาคนที่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี จะหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างออกไปจาก สนช.และ สปช. โดยจะส่งรายชื่อหลังสุด ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการคัดสรรบุคคลที่เป็นทั้งนักการเมือง นักการทูต หรืออดีตผู้พิพากษาที่จะเป็นการอุดช่องว่าง หลังจากที่ สนช.และ สปช.คัดสรรบุคคลเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้กรรมาธิการยกร่างฯ มีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกด้าน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net