Special Report 10 ปี ประชาไท: สถานการณ์แรงงาน

บทวิเคราะห์ขนาดสั้นต่อประเด็นการเมืองในขบวนการแรงงาน, รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง,  การรณรงค์ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 - 98 และสถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

หลายปีมานี้ ขบวนการแรงงานที่ผูกติดกับอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะแนวคิดสังคมนิยมตามสูตรสำเร็จ “นักศึกษา-ชาวนา-กรรมกร” เริ่มเลือนหายลงไป สืบเนื่องมาจากแรงงานในภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มจำนวนขึ้น มีรายได้และสวัสดิการที่ดีขึ้น (ในระดับหนึ่ง) และระบบการจ้างงานที่ไม่เอื้อให้คนงานทำกิจกรรมภายนอกโรงงานได้มากนัก บวกกับเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2535 – 2540 การฟื้นตัวและขยายตัวหลังปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งแม้จะมีการสะดุดบ้างในช่วงปี 2551-2552 แต่ประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ ไม่เคยเกิดวิกฤตการจ้างงานครั้งใหญ่ จนทำให้คนงานต้องตกอยู่ในสภาพ “หลังพิงฝา” เพราะประเทศไทยยังมีภาคการเกษตรและการประกอบธุรกิจขนาดเล็กคอยดูดซับอยู่เสมอ ประเทศไทยจึงไม่ค่อยมีภาพคนงานออกมาประท้วงบนท้องถนนเป็นแสนเป็นล้านคนเหมือนกับหลายประเทศ

นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ทำให้แนวคิดด้านขบวนการแรงงานที่ยึดโยงกับอุดมการณ์สังคมนิยมค่อยๆ เลือนหายไป ก็เนื่องมาจากจำนวนของปัญญาชนนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่ลดหายไปสวนกระแสกับอุดมการณ์ทุนนิยมที่เฟื่องฟูขึ้นตามลำดับ ทำให้นักกิจกรรมและเอ็นจีโออาชีพที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้การกำหนดประเด็นด้านสุขภาพที่มี สสส. เป็นทุนหลักกลับมีบทบาทในด้านการจัดตั้งคนงานแทน

แต่กระนั้นความเคลื่อนไหวทางด้านแรงงานก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา ดูได้จากสถิติจำนวนสหภาพแรงงาน ข้อพิพาทแรงงาน และจำนวนคดีในศาลแรงงาน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆ ปี แต่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินกับความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เนื่องจากข่าวแรงงานก็เป็นข่าวอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมไทยมากนัก

ในรายงานชิ้นนี้เป็นบทวิเคราะห์ขนาดสั้นต่อประเด็นการเมืองในขบวนการแรงงาน, รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง,  การรณรงค์ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 และสถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

การเมืองในขบวนการแรงงาน
หลายยุคหลายสมัยมาแล้วที่แวดวงแรงงานต้องการองค์กรขับเคลื่อนขบวนแรงงานในระดับชาติที่เป็นเอกภาพ ปกป้องผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับคนงาน และสามารถสร้างแนวร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวในประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งองค์กรที่ใกล้เคียงความฝันนี้มากที่สุดก็น่าจะเป็น “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย”

ผลกระทบจากการตรา พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ในยุครัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นการแบ่งแยกขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากเอกชน องค์กรแรงงานภาคเอกชนของฝั่งสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ถูกมองในภาพลบว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของผู้นำแรงงานไม่กี่คน เล่นการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถูกรัฐและนายจ้างเข้าแทรกแซงและครอบงำอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนในแวดวงแรงงานมองหาองค์กรทางเลือกใหม่ๆ ของขบวนการแรงงาน

ในปี 2544 องค์กรแรงงาน แนวร่วมนักกิจกรรมปัญญาชนและเอ็นจีโอได้จึงได้ก่อตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย" (คสรท.) ขึ้นมาคู่ขนานกับกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการรวมตัวและแก้ไขปัญหาคนงานในระดับชาติ

ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่าการรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องและติดตามประเด็นปัญหาแรงงานร่วมกันในขณะนั้นไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาความอ่อนแอ ความแตกแยก ความไม่มีเอกภาพของขบวนการแรงงานทำให้การรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไทยเป็นไปอย่างไม่มีพลังไม่ได้รับพิจารณาจากรัฐหลายครั้งมีแผนงานและข้อเรียกร้องดีๆ ที่ถูกเสนอโดยองค์กรแรงงาน แต่ขาดความเป็นเอกภาพในการทำงาน ขาดการทำงานและติดตามประเด็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการแบ่งงานกันทำที่ชัดเจนทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้กลายเป็นองค์กรแรงงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงหลังปี 2544 เป็นต้นมา ในการรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งเป็นคลังสมองให้กับขบวนการแรงงานไทยโดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เร่งดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งถูกแปรรูปนำไปขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการแปรรูปที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ผู้นำบางส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในปีกของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทวงคืนรัฐวิสาหกิจจนและต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในท้ายที่สุด โดยประเด็นหลักที่เข้าร่วม คือ ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและเปิดโปงกระบวนการโกงในรัฐวิสาหกิจ

บาดแผลของการเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การแตกหน่อออกไปเป็นกลุ่มพรรคการเมืองใหม่  จนมาถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ของแกนนำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยบางคน ยังคงส่งผลกระทบต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการ “ถอยห่างออกเพื่อรักษาท่าที” ของกลุ่มองค์กรแรงงาน นักสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมและปัญญาชนหลายคนที่เคยสนับสนุนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มการเมืองที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเหล่านั้น

ความล้มเหลวจากการสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ลงเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่พรรคการเมืองใหม่ได้คะแนนเสียงเพียง 34,883 เสียง ซึ่งในขณะนั้นปีกแรงงานในพรรคการเมืองใหม่ยังไม่แตกหักกับปีกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว คำถามจากสามหมื่นกว่าคะแนนที่พรรคการเมืองใหม่ได้นั้นก็คือเสียงของแรงงานมีเพียงแค่นี้? หรือถามในอีกคำถามที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงว่าทั้งสามหมื่นกว่าคะแนนนั้นเป็นเสียงของแรงงานจำนวนเท่าใดกันแน่?

ภายหลังความขัดแย้งภายในของพรรคการเมืองใหม่ทำให้ปีกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถอนตัวออกไป และปีกแรงงานนำโดยสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ช่วงชิงการนำมาได้และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย” ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านแรงงานที่หวังฐานเสียงจากกลุ่มคนงาน

นอกจากนี้ประเด็นการยอมรับจากฝ่ายที่มีความตื่นตัวในด้านประชาธิปไตยโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการจัดตั้งจากทั้งเอ็นจีโอและนักสหภาพแรงงาน ที่พวกเขาเหล่านั้นล้วนได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มากกว่าการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงาน และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากพรรคการเมืองดังที่ได้กล่าวไปนั้น มักจะมองว่ากลุ่มขบวนการแรงงานของไทยมีจุดยืนสนับสนุนกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง

ในขณะเดียวกันองค์กรแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากแกนนำที่มีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มคนเสื้อแดงและได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ก็ดูเหมือนแทบจะไม่มีพลังและเป็นปากเสียงของคนงานในระดับชาติได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีโครงสร้างการทำงานและการรวมตัวกันที่เป็นระบบเหมือนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

แต่ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ไม่ผูกติดกับเรื่องแนวคิดทางการเมืองมากนัก เช่น ปัญหาการเลิกจ้าง การจัดตั้งสหภาพแรงงาน การต่อรองเรียกร้องกับนายจ้าง ฯลฯ องค์กรแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะมีจุดยืนด้านการเมืองในฝั่งไหน ก็ยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันตามศักยภาพที่มีอยู่ แม้จะไม่เป็นข่าวตามหน้าสื่อก็ตาม

อนึ่งนี้ในบทวิเคราะห์ในรายงานชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งคำถามกับการช่วยเหลือและผลักดันการแก้ไขปัญหาของคนงาน ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ได้ทำมาอย่างดีตลอดอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เป็นการตั้งคำถามถึงจุดยืนในทางการเมืองที่ดูมีแนวทางโน้มเอียงไปทางกลุ่มอนุรักษ์นิยมเท่านั้น

รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงได้เริ่มคืบคลานและรุกไล่คนงานมาโดยตลอด ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาในระดับโลก

เหตุผลหลักของการบั่นทอนความมั่นคงของคนงานนั้น เนื่องมาจากความพยายามลดค่าใช้จ่ายขององค์กรต่างๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายผูกพันกับลูกจ้างประจำ เช่น ค่าจ้าง สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างความยืดหยุ่นในการ “เพิ่ม-ลด” จำนวนพนักงานตามความผันผวนทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยการจ้างงานแบบ “เหมาช่วง/เหมาค่าแรง” หรือ CAL (ย่อมาจาก Contract and Agency Labour) ซึ่งมีลักษณะเช่น สัญญาจ้างชั่วคราว การจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานแบบเหมาที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายประกันสังคมให้กับคนงานและเป็นการจ้างงานที่โอนความเสี่ยงทางธุรกิจให้กับซับคอนแทรค (bogus self-employment) สัญญาจ้างรายบุคคล การจ้างงานตามฤดูกาล การจ้างงานที่ไม่รับประกันว่าจะได้รับมอบหมายงานเมื่อใด และมีการจ่ายค่าจ้างเฉพาะเมื่อได้รับจ่ายงานเท่านั้น งานรับจ้างทั่วไป และการจ้างงานรายวัน และยังครอบคลุมถึงการจ่ายงานออกไปข้างนอก (outsourcing) และการจ้างเหมาช่วง (sub-contracting) ในบางครั้ง อาจจ้างคนงานเป็นรายบุคคลมาทำงานเหมาช่วงจากบริษัทหลัก หรือจ้างคนงานทั้งกลุ่มโดยอีกบริษัทแยกออกไปแต่คนงานก็ทำงานประเภทเดียวกันกับที่คนงานประจำทำอยู่แต่อยู่ในสภาพการจ้างและสภาพการทำงานที่แย่กว่า

ธุรกิจจำนวนมากถูกตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะการจัดหาคนงานส่งไปให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในหลายกรณี บริษัทจัดหาคนงานดำเนินการอยู่ภายในรั้วเดียวกับบริษัทหลักเดียวกัน และในบางครั้งก็อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำไป

มีตัวอย่างจำนวนมากที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ ที่พยายามใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย และพบความพยายามอย่างมากของบริษัทที่จะลดข้อผูกมัดด้านการจ้างงานลง วิธีการต่างๆ เช่น

- การจ้างงานผ่านสัญญาระยะสั้นที่ต่ออายุใหม่ไปเรื่อยๆ อาจมีการหยุดพักเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มสัญญาใหม่ ทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงกฎระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวได้เพียงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ ในทวีปอเมริกาเหนือ คนงานในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “คนงานชั่วคราวแบบประจำ”
- ให้ทดลองงานยาวนานอย่างโหดร้าย
- ไม่มีการฝึกอบรมทักษะการทำงานในการฝึกงานและการทดลองงาน
- จ้างงาน “ตามฤดูกาล” ตลอดทั้งปี
- การสร้างตัวแทนจัดหาคนงานหรือนายหน้าจ้างเหมาช่วงแบบปลอมๆ หรือบริษัทกำมะลอขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงภาระผูกพันต่อคนงาน

หลังการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา พบว่าการจ้างงานเหมาช่วง/เหมาค่าแรง ในประเทศไทยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นการรวมตัวเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วหากคนงานเหล่านนี้ออกมาเรียกร้องสิทธิหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนายจ้างก็มักจะไม่ต่อสัญญาจ้างให้

มหากาพย์ไอแอลโอ 87 และ 98
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาการเรียกร้องให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 มีมาเกือบทุกรัฐบาล โดยเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการแรงงานไทยในวันแรงงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมนั้นเป็นอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ถือกันว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศจะต้องเคารพและดูแลให้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้คนงานจะต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวก่อนที่จะสามารถเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ได้จริง

อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ 1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ 2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และ 3. องค์กร (สหภาพแรงงาน) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี

ส่วนอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง มีเนื้อหาหลักคือ 1. คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 2. องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง และ 3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กรนายจ้าง กับองค์กรคนงาน

ซึ่งพันธะของประเทศไทยภายหลังการให้สัตยาบันคือ 1. ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในทุกมาตรา และในทุกถ้อยคำที่เป็นเงื่อนไข 2. แก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับอนุสัญญา รวมถึงแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นๆที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว 3. เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายตามข้อ 2 แล้ว จะต้องสามารถปฏิบัติได้จริงภายหลังการให้สัตยาบัน เพราะหากปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน ประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานชี้แจงทุกๆ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ให้สัตยาบัน หรือถูกประณามจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และประเทศอื่นๆ และ 4. หากมีการให้สัตยาบันไปแล้วจะยังไม่สามารถยกเลิกการให้สัตยาบันได้จนกว่าจะครบ 10 ปี นับแต่วันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ฝ่ายรัฐมักจะอ้างผลกระทบจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นความมั่นคง และสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยสรุปคือ 1. การเปิดเสรีให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งองค์กรแรงงานของตนได้ เป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ จำเป็นต้องมีการศึกษา และพิจารณาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเชิงนโยบายแห่งรัฐ และการเตรียมมาตรการรองรับปัญหาในสังคมที่อาจตามมา 2. อาจเกิดความขัดแย้งในวงการแรงงานมากขึ้น จากเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ดังจะเห็นได้ว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และมีการควบคุมการจัดตั้งองค์กรด้านแรงงาน โดยการจดทะเบียนองค์การแรงงาน ยังมีการจัดตั้งสภาองค์การแรงงานของทั้งฝ่ายนายจ้างหลายสภาอยู่แล้ว และ 3. การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มีผลกระทบ และมีผลผูกพันกับนายจ้าง ลูกจ้าง หน่วยงานภายนอก รวมทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นมากกว่า อนุสัญญาฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกเพียงบางส่วน ดังนั้น การพิจารณาให้สัตยาบัน โดยปราศจากการยอมรับจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกระทรวงแรงงาน อาจถูกโต้แย้งคัดค้านได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคมไทย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และความรอบคอบ มิฉะนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่สังคม และวงการแรงงานของประเทศ

สำหรับการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับนี้ กระทรวงแรงงานได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยข้อเท็จจริงและความพร้อมของประเทศไทยด้านกฎหมาย การบริหารจัดการ แนวทางในการปรับปรุงกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องรวมทั้งศึกษาทัศนคติ ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ปี 2546 แต่ผลการวิจัยสรุปว่า ควรชะลอการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับออกไปก่อนเพื่อให้มีการศึกษาผลดี ผลเสีย และผลกระทบในทุกด้านให้ครอบคลุมอีก รวมถึงมีดำริที่จะเปิดการประชาพิจารณ์ก่อนรับสัตยาบันนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการเสียที

และสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยนั้น หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะทหารได้บังคับใช้กฎอัยการศึก มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างถ้วนหน้า การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งหากมีความพยายามผลักดันโดยคณะรัฐบาลทหารให้รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าขบขันและย้อนแย้งในระดับโลกเลยก็ว่าได้

สถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในช่วงปี 2547-2557

2547
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เคลื่อนไหวเรียกร้องและทวงสัญญากับรัฐบาลในการยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ
30 มกราคม 2547 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สสร.) ประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องและทวงสัญญากับรัฐบาลในการยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับ ที่กลุ่มผู้คัดค้านมองว่าเป็นกฎหมายขายชาติ ซึ่งรัฐบาลเคยประกาศจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 ทั้งนี้ ได้จัดไฮด์ปาร์กบนรถบรรทุก 6 ล้อถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนที่สัญจรไปมาในบริเวณสวนอัมพรพอสมควร จากนั้นกลุ่มตัวแทนดังกล่าวได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรณรงค์เรื่องการยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับ โดยเฉพาะให้ยุติแผนการแปรรูปกิจการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทเอกชน ด้วยการแจกเอกสารเชิญชวนให้ประชาชนให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปรณรงค์ต่อที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดสุดท้ายก่อนที่จะสลายตัว

อนึ่งการชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มของการขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยโดยขบวนการแรงงาน ซึ่งมีธงสำคัญก็คือการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก่อนที่จะขยับไปยังประเด็นอื่นๆ

เสนอแนวคิดจัดระเบียบแก้สหภาพแรงงานผี
ปลายเดือนมีนาคม 2547 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปลัดกระทรวงแรงงานมอบให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)ไปหาทางปรับบัญชีรายชื่อสภาแรงงานให้มีเลข 13 หลัก แล้วนำเข้าระบบเพื่อตรวจสอบกับระบบประกันสังคมว่าตัวเลขซ้ำกันหรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ตรงกันจะไม่รับจดทะเบียน ทั้งนี้หากใช้ระบบนี้จะทำให้รู้ว่าสหภาพแรงงานนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่และจำนวนเท่าไหร่ โดยนายจารุพงศ์ระบุว่าที่ผ่านมามีการนำตัวเลขคนงานมาต่อรอง ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้นำแรงงานต้องเป็นที่พึ่งของคนงาน มีหน้าที่เจรจากับนายจ้าง

2548
พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 แต่มีนโยบายด้านแรงงานน้อยที่สุด
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ที่ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคมหาชนถือว่าเป็นพรรคที่จัดทำนโยบายแรงงานสอดคล้องกับองค์กรแรงงานมากที่สุด เช่น จะให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ออกกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างแบบรับเหมาค่าแรงและรับเหมาช่วงให้มีความมั่นคงในอาชีพ ค่าจ้าง สวัสดิการและสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานเทียบเท่าพนักงานประจำ ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในเขตย่านอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการให้บริการ โดยขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปยังผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีภารกิจในการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานแบบครบวงจรบริหารงานแบบมีส่วนร่วม 5 ฝ่าย คือ ผู้แทนรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ป่วยจากการทำงานและผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และจะโอนงานสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน และกองทุนเงินทดแทนมาอยู่ในองค์กรใหม่นี้ เป็นต้น น่าเสียดายที่พรรคมหาชนไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากได้คะแนนเพียง 1,346,631 เสียง (คิดเป็นร้อยละ 4.33%) และได้ ส.ส.เขตจำนวน 2 คนเท่านั้น

ส่วนพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านแรงงานสอดคล้องกับองค์กรแรงงานน้อยที่สุดกลับได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้คะแนนถึง 18,993,073 เสียง (คิดเป็นร้อยละ 61.17) และได้ ส.ส.เขตจำนวน 310 คน

นายกทักษิณ เมินข้อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 233 บาททั่วประเทศ เข้มงวดการจ้างงาน “เอาท์ซอร์ส”
ต้นเดือนพฤษภาคม 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 233 บาทของกลุ่มแรงงานว่าหากขึ้นค่าแรงมากโรงงานก็เจ๊งหมด และคงมีการเลิกจ้างดังนั้นถ้าต้องการได้มากแล้วไม่ได้ กับต้องการได้พอดีๆ แล้วได้ อันไหนจะดีกว่ากัน ต้องคิดคำนึงและคำนวณในจุดนี้ด้วย

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวด้วยว่าในอนาคตข้างหน้าคนงานไทยจะหากินจากค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างน้อยให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ สำหรับเรื่องแรงงานต่างด้าวจะจัดระเบียบให้มีใบอนุญาตทำงานและเสียภาษี แต่ต้องเป็นงานที่คนไทยไม่ทำแล้ว ส่วนกรณีข้อเรียกร้องการจ้างงานแบบเหมาช่วง ซึ่งในโลกยุคใหม่ใช้คำว่า “เอาท์ซอร์ส” วิธีการรับงาน คือ การเหมาช่วงจากนายจ้างอื่น แต่ไม่ใช่ในโรงงานเดียวกัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นพวกซิกแซ็ก ต่อไปต้องต้องจับพวกซิกแซ็กยืดเส้นให้ตรง แต่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพียงแต่ให้มีการตกลงกัน แต่ถ้าพูดไม่รู้เรื่องก็ต้องจัดการ

2549
รวมพลังสหภาพแรงงานต้านระบอบทักษิณ
24 มีนาคม 2549 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยออกแถลงการณ์ “สมานฉันท์แรงงานไทย ไล่ทักษิณ” ขอให้ผู้ใช้แรงงานรวมแสดงพลังเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยขบวนการแรงงานไทยจึงขอแสดงจุดยืนให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งทันทีและให้ยุติบทบาททางการเมือง จากนั้นให้มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ โดยใหมีตัวแทนประชาชนจากทุกสาขาอาชีพอย่างแท้จริง

รัฐประหาร 19 กันยายน และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยต่อ คมช.
19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ในภายหลัง) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 และยื่นข้อเสนอตอ คมช. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ข้อเสนอ ทั้งหมดสรุปคือ ให้คณะทหารยุติการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน เร่งดำเนินการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลเก่า

เสนอผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้มีความชำนาญในปัญหาแรงงานเป็นอย่างดีโดย ครสท. เสนอ 4 รายชื่อประกอบไปด้วย 1) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 2) รองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ 3) รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ 4) นายฐาปบุตร ชมเสวี ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ให้รัฐบาลนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณา เพื่อออกเป็นกฎหมายให้รัฐบาล และสำนักงานประกันสังคมเร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับและให้รัฐบาลสนับสนุนประมาณ ในการจดตั้งศูนย์ เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม และชุมชน

2550
แรงงานรัฐวิสาหกิจยังคงคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
แม้จะเป็นส่วนหนึ่งในการโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทย แต่สมาพันธ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ก็ยังคงจุดยืนในการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้เรียกร้องกับประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2550) ให้ผลักดันการแก้ไขกฎหมายแรงงานและยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ

ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่าแสนคน
เดือนพฤษภาคม 2550 สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยระบุว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานประเภททักษะฝีมือและแรงงานทั่วไป โดยเฉพาะภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม 34 แห่งที่กระจายอยู่ 14จังหวัด ทั่วประเทศ รวมถึงภาคการผลิตนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีความต้องการแรงงานเพิ่มเติมกว่า 100,000 คน

กระนั้นในปีต่อมา (2551) ประเทศไทยกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการเลิกจ้างคนงานมากที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา

2551
รัฐบาลไม่ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงาน
รัฐบาลพรรคพลังประชาชนนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปมาเมื่อปลายปี 2550 ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามข้อเรียกร้องที่ยื่นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และจัดประชุมชี้แจงตอบข้อเรียกร้องกับผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมกรรมการและตอบข้อเรียกร้องวันแรงงานเป็นหนังสือมาโดยตลอด

คนงานเริ่มได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างเนื่องวิกฤตซับไพรม์
วิกฤตซับไพรม์ในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 จุดเด่นของวิกฤตินี้คือการที่ความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกและระบบธนาคารลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป วิกฤติครั้งนี้มีผลหลายขั้นและค่อย ๆ เผยให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินและระบบการควบคุมทั่วโลก

วิกฤตนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อคนงานไทยในปี 2551 ต่อไปจนถึงปี 2552 มีการเลิกจ้างคนงานในภาคสิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์ และภาคผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนงานเหมาช่วง/เหมาค่าแรงที่ถูกเลิกจ้างเป็นพวกแรกๆ รวมถึงคนงานที่มีอายุงานมาก นอกจากการเลิกจ้างแล้วนายจ้างยังทำการลดโอที ลดเวลาการทำงานโดยการใช้มาตรการ 75 ทำให้คนงานได้รับรายได้น้อยลง ลดสวัสดิการต่างๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นมีหลายโรงงานปิดกิจการและไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยให้คนงานอีกด้วย

2552
สถานการณ์การเลิกจ้างงานในปี 2552 ปลดคนงานต่อเนื่อง “ลูกจ้างชั่วคราว” เหยื่อกลุ่มแรก
มกราคม 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์จ้างงานในปี 2552 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดจะปรับลดพนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวจะเป็นเป้าหมายแรกในการถูกเลิกจ้างก่อน ระบุปัญหาเศรษฐกิจจะทำให้ยอดขายและคำสั่งซื้อลดลง กำไรลดลง แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังตั้งใจทำธุรกิจตัวเองต่อไป แต่มีบางส่วนเตรียมผันตัวเองไปทำธุรกิจอื่น และบางส่วนจะหยุดกิจการชั่วคราว
นโยบายแจกเงิน 2,000 บาท ช่วยผู้ประกันตนของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 รัฐบาลได้แจกเงิน 2,000 บาทให้กับกลุ่มประชาชนในระบบประกันสังคม (กลุ่มที่อยู่ในประกันสังคมปกติ ตามมาตรา 33 ออกจากงานแต่จ่ายสมทบต่อเนื่องด้วยตัวเอง ตามมาตรา 39 และสุดท้าย คือกลุ่มว่างงาน และยังอยู่ระหว่างรับเงินชดเชยประกันว่างงาน) ที่มีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทต่อเดือน

ตามแนวทางจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพนี้ รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์คาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้องขึ้นได้

2553
เสนอประชาพิจารณ์ก่อนลงสัตยาบันไอแอลโอ 87-98 แต่ท้ายสุดก็ไม่เกิดขึ้น
มกราคม 2553 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าคณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ยังไม่สรุปเพราะมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความมั่นคง และประเด็นอื่นที่ยังมีข้อสงสัยจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ทั้งนี้การทำประชาพิจารณ์ก็เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าการลงนามในสัตยาบันดังกล่าวมีผลดีผลเสียอย่างไร

แต่กระนั้นในตลอดทั้งปี 2553 ประชาพิจารณ์ที่ว่านั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ข้อเสนอหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง
บทเรียนจากการเลิกจ้างครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2551-2552 ทำให้ขบวนการแรงงานมีข้อเสนอสำคัญต่อรัฐบาลในวันแรงงานแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการปิดกิจการแล้วละทิ้งคนงานของภาคเอกชนอีกครั้ง ตัวอย่างข้อเรียกร้องก็มีเช่น รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน เป็นต้น

2554
คนงานเริ่มกลับเข้าโรงงาน พร้อมกับการจ้างงานชั่วคราวที่เพิ่มขึ้น
มกราคม 2554 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าในปี 2554 กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแผนจะรับแรงงานเพิ่มอีก 5 หมื่นคน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ที่ผู้ผลิตตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นการฟื้นตัวแทบที่จะเรียกได้ว่าเต็มรูปแบบหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแค่ปี 2551 เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงอุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้นที่ยังซบเซาต่อเนื่อง นอกจากนี้รูปแบบการจ้างงานแบบประจำก็ลดลงไป ผู้ประกอบการหันมาใช้การจ้างงานชั่วคราวแบบเหมาช่วง/เหมาค่าแรงเพิ่มขึ้น

พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง นโยบายสำคัญคือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และเงินเดือนขั้นต่ำวุฒิ ป.ตรี 15,000 บาท
พรรคเพื่อไทย นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนโยบายด้านแรงงานที่สำคัญคือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท และผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้เงินเดือนแรกเข้า 15,000 บาทต่อเดือนทุกสาขาอาชีพ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 โดยได้คะแนนเสียงแบบปาร์ตี้ลิสต์ถึง 15,744,190 (ร้อยละ 48.41) และ ส.ส.แบบเขต 204 คน

มติ ครม. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัดนำร่อง 1 เม.ย. 55 ทั่วประเทศ 1 ม.ค. 56
พฤศจิกายน 2554 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง มีผล 1 เม.ย.2555 โดยรายละเอียดดังนี้

1. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต เพิ่มขึ้น 79บาท จากอัตราวันละ 221 บาท เป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้น 35.7% 2. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เพิ่มขึ้น 85 บาท จากอัตราวันละ 215 บาทเป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้น 39.5% 3. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัด ปรับเพิ่มขึ้น 39.5% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 4. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด ตามข้อ 3 อีกครั้ง เป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 สำหรับจังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท 5. ในปี 2557 และปี 2558 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม

น้ำท่วมใหญ่กระทบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
ในช่วงฤดูฝนปี 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง การผลิตบางส่วนต้องหยุดชะงักชั่วคราว

โดยอุทกภัยในครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ในพื้นที่ภาคเหนือ และแผ่ขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด โดยสถานการณ์ได้รุนแรงขึ้นตามลำ ดับจนเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนตุลาคม จากเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมครั้งแรกในประวัติศาสตร์จำนวน 7 แห่งในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ในเบื้องต้นประเมินว่าความเสียหายของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท

2555
เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง เพิ่ม 39.5% อีก 70 จังหวัด

1 เมษายน 2555 ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง และการเพิ่มค่าแรงอีก 39.5% ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือมีผลบังคับใช้

โรงงานฟื้นตัวหลังเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
พฤษภาคม 2555 โรงงานในจังหวัดจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมากว่าร้อยละ 60 กลับมาดำเนินกิจการแล้ว ทำให้ผู้ใช้แรงงานกว่า 40,000 คนได้กลับเข้ามาทำงานตามปรกติและเริ่มมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2556
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ
1 มกราคม 2556 อัตราค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด วันละ 300 บาท มีผลบังคับใช้
ปัญหานายจ้างตุกติกเลี่ยงปรับค่าแรง 300 บาท

ผลจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทเมื่อปี 2555 และ 2556 ที่ผ่านมา ก็พบว่านายจ้างหลายสถานประกอบการใช้เทคนิควิธีการเลี่ยงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดจริง แต่หันไปปรับลดสวัสดิการอื่นๆ ลงเพื่อทำให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างได้เท่าเดิม เช่น เอาค่าเช่าบ้าน เบี้ยขยัน เบี้ยเลี้่ยง นำมาคิดรวมกับค่าจ้าง นอกจากนี้ ยังพบวิธีที่นายจ้างบางโรงงานเลี่ยงการปรับค่าจ้างในอัตราที่ประกาศใหม่ โดยใช้วิธีเปลี่ยนการคำนวณค่าจ้างจากรายเดือนที่เอาเงินเดือนหารด้วย 30 วัน ก็เปลี่ยนเป็นรายวันเอา 26 วัน หาร หรือการนำเอาสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ไปให้ลูกจ้างเซ็นยินยอม เป็นต้น

2557
รัฐประหารพฤษภาคม 2557
22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

คงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ถึงปี 2558
กันยายน 2557 นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่าจากข้อมูลของอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เห็นว่าควรคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท ไปจนถึงปี 2558 ตามมติของบอร์ดค่าจ้าง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างแยกเป็นรายอาชีพ

ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้รายงานผลการตรวจแรงงานช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่ามีสถานประกอบการผ่านการตรวจ 33,014 แห่ง ลูกจ้าง 1,117,909 คน และสถานประกอบการจ่ายค่าจ้างไม่ถึงวันละ 300 บาท 991 แห่ง ลูกจ้าง 23,414 คน ทั้งนี้ กสร.ได้ออกหนังสือเตือนสถานประกอบการดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วาทะเด็ดในรอบ 10 ปี (2547-2557)

"ขอให้เชื่อว่าโรงงานยุคใหม่จะเปลี่ยนไป รัฐบาลจะดูแลเต็มที่ เราเป็นรัฐบาลที่มีเมตตาสูง ประธานสหภาพแรงงานไม่ต้องมีหนวดเคราเพื่อเท่ ก็พูดรู้เรื่อง เพราะนี่ไม่ใช่ยุค เชกูวาร่า"

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
กล่าวในวันแรงงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท