แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ย้ำเรียกร้องสอบกรณี ‘บิลลี่’ หายตัว

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ครบ 6 เดือน ‘บิลลี่’แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานหายตัวลึกลับ เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนโดยใช้ทุกมาตรการเพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษ

21 ต.ค.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ย้ำเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปอย่างลึกลับนานกว่า 6 เดือน โดยเรียกร้องให้ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยมาลงโทษ

นายพอละจี หรือบิลลี่ หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ขณะอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ทำการการอพยพ ผลักดัน และจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยทำการไล่รื้อ จับกุม และเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้และฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยบิลลี่เป็นหนึ่งในแกนนำชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่ต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวก่อนที่จะหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ โดยที่ก่อนหน้านั้นในเดือนกันยายน 2554 นายทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำปกป้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานอีกคนหนึ่ง ถูกมือปืนประกบยิงเสียชีวิตขณะขับรถกลับที่พัก ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยทั้งนี้กรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายองค์กร

แถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

 

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ครบรอบ 6 เดือนการหายตัวของบิลลี่
หกเดือนผ่านไป ยังไม่ทราบชะตากรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

หกเดือนหลังจากคาดว่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทางภาคตะวันตกของไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขาโดยเร่งด่วน ทางหน่วยงานยังกระตุ้นให้ทางการประกันที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกประการ เพื่อให้นำตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ทำการบังคับบุคคลให้สูญหายมาลงโทษ

คาดการณ์ว่าบิลลี่ อายุ 30 ปี นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีลูกเล็กห้าคน อาจถูกทำให้สูญหาย เนื่องจากพยายามใช้ขั้นตอนเพื่อให้หน่วยงานราชการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติใหญ่สุดของประเทศไทย

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน และเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ผู้สูญหายและครอบครัวต้องตกเป็นเหยื่อ ครอบครัวต้องทนทุกข์ทรมานเฝ้ารอคนที่รักให้กลับคืนมา การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมไม่ว่าในพฤติการณ์ใดๆ

มีผู้พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ขณะที่เขาถูกควบคุมตัวโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อุทยานอีกสามคน ในช่วงที่คาดว่าจะเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหาย บิลลี่อยู่ระหว่างเดินทางจากหมู่บ้านไปพบกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยง เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการบังคับไล่รื้อและการเผาบ้านเรือนทรัพย์สิน โดยชุมชนชาวกะเหรี่ยงเตรียมฟ้องคดีต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีติดตัวไปด้วย รวมทั้งฎีการ้องทุกข์ที่เขาเตรียมยื่นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในเดือนตุลาคม พนักงานสอบสวนประกาศว่าค้นพบรอยเลือดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ซึ่งจากการทดสอบในเบื้องต้นคาดว่าเป็นของผู้ชาย และเป็นรอยเลือดที่พบอยู่ในรถของเจ้าหน้าที่อุทยาน

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ้างว่า บิลลี่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน หลังจากถูกสอบสวนกรณีครอบครองน้ำผึ้งป่า แต่ไม่มีบันทึกการจับกุมหรือควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ กรณีของบิลลี่ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนที่จะตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการขัดขวางการดำเนินงานด้วยสันติวิธีเพื่อคุ้มครองชุมชนของตนเอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นอีกครั้งให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดในประเทศ กรณีที่มีผู้ทำร้ายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและให้คุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และบุคคลที่ปกป้องสิทธิเหล่านี้

ข้อมูลพื้นฐาน
ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือนมกราคม 2555 และแสดงท่าทีว่าจะมีการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว นับแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เชื่อว่ามีบุคคลจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ชาวกะเหรี่ยงซึ่งอยู่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขาในจังหวัดเพชรบุรี พรมแดนติดกับพม่า ได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับไล่รื้อและการทำลายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบยังรวมถึงคุณปู่อายุ 100 ปีของบิลลี่

นายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร สส. และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องสิทธิของชุมชน ได้ถูกสังหารระหว่างขับรถตอนกลางคืนในเดือนกันยายน 2554 โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติได้ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่า และเขาเป็นบุคคลสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่ นายทัศน์กมลซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายของบิลลี่ ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยงในการแจ้งความว่าโดนทำร้าย และเจ้าหน้าที่ตัดไม้เถื่อนและล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ศาลจังหวัดเพชรบุรีจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ในช่วงปลายเดือน

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักสิ่งแวดล้อมในชุมชนของไทย มักต้องทำงานในสภาพที่เสี่ยงภัยและยุ่งยากเป็นอย่างมาก หลายคนเป็นชาวบ้านอยู่ในชุมชนชนบทหรือกึ่งชนบท ซึ่งต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการทำให้เกิดกากมลพิษ สมาชิกในชุมชนรวมทั้งผู้นำมักตกเป็นเหยื่อการคุกคามและการทำร้าย ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหลายคน ได้ถูกสังหารจนเสียชีวิต และผู้จ้างวานฆ่ามักจะไม่ได้ถูกนำตัวมาลงโทษ ส่วนคนอื่นๆ ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายและการข่มขู่ในรูปแบบอื่น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท