Skip to main content
sharethis
สนช.ถก กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ หลังอภิปรายเกือบ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 169 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ผ่านร่างกฎหมาย ด้านตุลาการ 101 คนเฮ! ก.ศป.อยู่ยันครบวาระ
 
22 ต.ค. 2557 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม  ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ซึ่งที่ผ่านมาได้บัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยไม่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
 
ดังนั้นควรจะกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง  ไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ และแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติ คุณลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือก และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับบทบัญญัติดังกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่สภาจะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีตุลาการศาลปกครอง 101 คน เข้าชื่อเพื่อทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เพื่อให้ระงับหรือชะลอการพิจารณา เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่ผ่านรับความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง กระทั่งนายพรเพชร เปิดให้ตุลาการฝ่ายที่เห็นต่างและสนับสนุนร่างดังกล่าวเข้าเป็น กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณากฎหมาย
 
หลังอภิปรายเกือบ 2 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมก็ได้มีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 169 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียงให้บังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
ทั้งนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า ประชุมได้พิจารณาเป็นรายมาตรา โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบตาม กมธ.เสียงข้างมาก ให้มีการแก้ไข เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 12 กำหนดให้ดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้
 
โดยคณะ กมธ.เสียงข้างมากมีมติให้ตัดออกทั้งมาตรา ขณะที่ นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสุงสุด ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็นเพื่อขออภิปรายต่อที่ประชุม เพราะต้องการให้คงไว้ซึ่งมาตรา 12  เนื่องจากองค์ประกอบ ก.ศป.เป็นการบัญญัติใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยมีการระบุไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาก่อน ดังนั้น องค์ประกอบของ ก.ศป.ที่จะกำหนดขึ้นมาใหม่ ตามร่างฯ ที่สภาฯ รับหลักการ และกำลังพิจารณากันอยู่นี้ ก็ควรมีกำหนดให้เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดด้วย
 
นายวิชัย ระบุว่า การตัดมาตรา 12 ออกทั้งมาตรา น่าจะไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน องค์ประกอบของ ก.ศป.มีอยู่ไม่ครบตามจำนวน เพราะสัดส่วนจากวุฒิสภาและครม.หมดวาระลงไปแล้ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2550 จะสิ้นสุดลง และจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ กศป.ทำหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน จึงน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดภายหลังจากที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้ไปแล้ว
 
ขณะที่ นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวกล่าวว่า ร่างเดิมที่สภามีมติรับหลักการนั้น มีการยกเลิก ก.ศป.ทั้งหมด และจะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ในระหว่างตั้งขึ้นใหม่นั้น ได้ให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองเข้าไปทำหน้าที่แทน ซึ่งคณะ กมธ.เห็นว่า ก.ศป.ชุดนี้ที่เหลือวาระอยู่ถึงวันที่ 19 เม.ย. 2558 หรืออีกราว 6 เดือน จะต้องหมดวาระไปด้วย เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นการลิดรอน สิทธิ ก.ศป.ที่ยังอยู่ในวาระ
 
การที่ คณะกมธ.ตัดมาตรา 12 เพราะต้องการให้กศป.อยู่ต่อไป จนกว่าจะครบวาระ และเมื่ออยู่ครบวาระแล้ว ทางกมธ.ก็เขียนวิธีการคัดเลือก กศป.ที่ว่างลงได้ โดย คณะกมธ.ได้เขียนรองรับไว้ในมาตรา 13 แล้ว คือ ให้ ก.ศป.ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดลง ยังคงมีตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระ 19 เม.ย.58 และให้ประธานกรรมการ และกรรมการ ใน ก.ศป.เป็นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ  ซึ่งที่ประชุมอภิปรายราว 2 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 169 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง ให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้ 1  ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ  2 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคนซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง 3 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน รวมแล้ว 13 คน  แต่ขณะนี้ไม่มี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา และจากคณะรัฐมนตรี ทำให้เหลือ 10 คน ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 6 คน ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น 3 คน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net