Skip to main content
sharethis

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ชี้รัฐบาลควรหยุดให้สัมปทานปิโตรเลียม แนะสปช.แก้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมก่อน ห่วงรัฐบาลขึ้นราคาLPG อาจเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย

23 ต.ค. 57 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ได้จัดแถลงข่าว เนื่องจากกรณีในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวาน(22 ต.ค.) ได้มีมติเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม 29 แปลง โดยจะมีการเปิดให้เอกชนยื่นเรื่องภายใน 18 ก.พ. 58  และมีนโยบายที่จะทยอยปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ตามขั้นบันได ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

“ดิฉันคิดว่า การให้พื้นที่สัมปทานรอบที่ 21 นี้ คือการเปิดช่องให้กลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาผูกขาดพื้นที่ในประเทศไทย” รสนา โตสิตระกูล

รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นว่าหลังจากที่รัฐบาลที่มติเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเมื่อวาน อาจจะเป็นการนำพาประเทศไทยกลับไปเป็นทาสของทุนต่างชาติอีกครั้ง เพราะการให้สัมปทานปิโตรเลียมกับเอกชนไปนั้น รัฐไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมดูแลทรัพยากรพลังงานได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจเพราะทรัพยากรพลังงานนั้นเป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่ของกระทรวงพลังงานหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเท่านั้น พร้อมเสนอว่ารัฐบาลควรจะชะลอการเปิดสัมปทานครั้งนี้ไปก่อน ทั้งยังแนะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติให้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ด้วย ซึ่งรสนาย้ำว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระเร่งด่วน

ในส่วนของการที่กระทรวงพลังงานออกมาให้ข้อมูลว่า จำเป็นต้องรีบให้สัมปทานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เพราะเกรงว่าพลังงานปิโตรเลียมจะหมดภายใน 8 ปี รสนามองว่าเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และจงใจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะแท้จริงแล้วการอ้างว่าปิโตรเลียมของไทยจะหมดนั้น เป็นเพียงการวางหมากเพื่อที่แก้กฎหมายเพื่อที่จะต่อสัญญาให้กับบริษัทที่เคยได้รับสัมปทาน

ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลเปิดสัมปทาน โดยมีการให้แหล่งปิโตรเลียมใหม่คือแปลงที่ G 1/57 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่พิพาทด้านพลังงานระหว่างไทยกับกัมพูชา รสนาตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจจะเป็นการวางแผน เพื่อจะเป็นการยอมรับในพื้นที่พิพาท โดยจะเป็นการเปิดช่องให้มีการเจรจากับประเทศกัมพูชาต่อไปหรือไม่

“ต้องบอกว่ารับประหารครั้งนี้มาเพื่อจะแก้ปัญหาการฆ่ากัน ความไม่สงบ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมาตัดสินเกี่ยวกับเรื่องของการให้สัมปทานเลย…”รสนากล่าวทิ้งทาย

“ดิฉันคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องการปฏิรูป การปิดปากประชาชน การใช้กฎอัยการศึกมาปิดปากประชาชน หัวใจสำคัญสัญญากันไว้อย่างไร เข้ามาเพื่อปฏิรูป แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรเลยก็มีการตกลงกันเสร็จหมดแล้ว”บุญยืน ศิริธรรมกล่าวถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปหาที่บ้านพัก เมื่อวานนี้ก่อนที่จะมาแถลงข่าว

บุญยืน  ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม เห็นว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปคือการปฏิรูปด้านพลัง โดยตอนที่ทหารเข้ามาควบคุมอำนาจก็ได้เห็นความหวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่ได้พบคือ เมื่อออกมาเคลื่อนไหวส่งเสียงไปยังรัฐบาล เพื่อที่จะให้มีการปฏิรูปพลังงานที่เป็นธรรม กลับถูกควบคุมตัวไป และถึงที่สุดก็ได้มีการลงมติเปิดให้สัมปทานครั้งที่ 21 บุญยื่นตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า การที่ทหารเข้ามาเพื่อที่จะคืนความสุขให้ประชาชน แต่แท้จริงแล้วเป็นการคืนความสุขให้ใครกันแน่ การที่พลเอกประยุทธ์ บอกว่าจะจัดการกับการคอรัปชัน แต่กับเรื่องปิโตรเลียมทั้งที่เห็นอยู่ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการคอร์รัปชันในกระบวนการมากมาย ทำไมทหารยังไม่จัดการ   

“เราไม่ได้มาร่วมตัวเพื่อที่เรียกร้องของราคาถูก เรารวมตัวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ถ้าทุกคนต้องจ่ายLPG ราคาเดียว ขอถามกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีว่ากล้าจ่ายหรือไม่ ก่อนที่ปิโตรเคมีจะบอกว่ากล้าจ่ายหรือไม่ รัฐบาลกล้าบอกหรือไม่ว่าปิโตรเคมีใช้LPG ที่ราคาเท่าไหร่” เดชรัตน์ สุขกำเนิด

เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า การใช้LPG ในประเทศไทยสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้หลักได้ 4 กลุ่มคือ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ปริมาณร้อยละ 35 รองมาคือ กลุ่มครัวเรือนใช้ปริมาณร้อยละ 29 รองสุดท้ายคือ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ใช้ปริมาณร้อยละ 28  และสุดท้ายคือ กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆอีกร้อยละ 8 ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นมีการใช้LPG ในราคาที่ต่างกันคือ รถยนต์ใช้ที่ราคาประมาณ 21 บาท ครัวเรือนใช้ที่ราคา 22.60 ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้ที่ราคา 29 บาท โดยที่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้มีการเปิดเผยว่าใช้ที่ราคาเท่าไหร่ หลังจากเมื่อวานนี้รัฐบาลประกาศว่าจะให้มีการใช้ในราคาเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะมีการขึ้นราคาก๊าชLPG อาจจะไปอยู่ที่ราคา 27 – 28 บาทต่อกิโลกรัม โดยเดชรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเป็นไปตามนี้ เท่ากับว่าเป็นการผลักให้กลุ่มครัวเรือน และรถยนต์ต้องใช้ก๊าชLPG ที่ราคาสูงขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับได้ใช้ในราคาที่ถูกลง และในขณะเดียวกันกลับไม่ได้มีการพูดถึงผู้ใช้LPG ในปริมาณมากที่สุดอย่างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเลย

เดชรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การได้มาซึ่งก๊าซหุงต้มนั้น มีที่มาจาก 3 แหล่ง คือร้อยละ 50 ของก๊าซLPG ที่ใช้ในประเทศไทยได้มาจากโรงแยกก๊าช ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม แหล่งที่สองร้อยละ 25 ได้มาจากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งต้นทุนการผลิตที่  27 บาทต่อกิโลกรัม และแหล่งสุดท้ายคือการนำเข้าอีกร้อย 25 มีต้นทุนการผลิตที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ตอนนี้กำลังจะมีการขึ้นราคา ซึ่งประชาชนจะต้องจ่ายในราคา 27 – 28 บาท คำถามที่รัฐบาลต้องให้ความชัดเจนคือ กำไรจากส่วนต่างที่จะเกิดขึ้นนี้จะตกเป็นของใคร เพราะทรัพยากรที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซเป็นก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถ้าจะต้องใช้ราคาเดียวกันจริงๆ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกำไรจากต้นทุน 18 บาท และจะมีการขายในราคา 27 – 28 บาท กำไรส่วนนี้ต้องเป็นของรัฐ ไม่ใช่ตกเป็นของบริษัทผู้ผลิต ไม่เช่นนั้นการกระทำนี้จะเข้าข่ายการทุจริตในเชิงนโยบาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net