Skip to main content
sharethis
 
24 ต.ค. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ "การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ" ระบุการใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ
 
จากกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมตัวประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับจากช่วง 10 วันที่ผ่านมา (15 ตุลาคม – 24 ตุลาคม 2557) ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่ 1. การจับกุมนาย อ. ในวันที่ 15 ตุลาคม ด้วยความผิดตามมาตรา 112 โดยไม่ผ่านการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2. การจับกุมนาย น. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยไม่มีหมายจับ[1] 3. การควบคุมตัว เจ้าหนี้นอกระบบที่จังหวัดมหาสารคาม ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด[2] 4. การควบคุมนาง พ. เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีอาชญากรรม การหายตัวไปของครูญี่ปุ่น[3] และ 5. การบุกค้นบ้านของนาย บ. เพราะเกรงว่าจะปลุกระดมผู้คน โดยไม่มีหมายค้น[4]
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย ในกรณีดังต่อไปนี้
 
1. การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิ
 
ในคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นประธานแห่งคดี ย่อมมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการมีทนายความช่วยเหลือคดี สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมและสิทธิในการแก้ข้อกล่าวหา
 
แต่การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ฝ่ายทหารปฏิเสธสิทธิการมีทนายความเข้าช่วยเหลือคดี ปฏิเสธที่จะแจ้งว่าได้ควบคุมตัวบุคคล ณ ที่ใด ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือการติดต่อกับโลกภายนอก ขาดโอกาสในการเตรียมคดี ส่งผลให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดเจตจำนงอิสระในการให้การ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมลดลง
 
2. การควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ขาดกลไกการตรวจสอบ
 
ภายใต้กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจกักตัวบุคคลเพื่อสอบสวนไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน กรณีที่ผู้นั้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
 
กรณีการควบคุมตัวเพียงอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในรัฐที่เป็นนิติรัฐ การควบคุมตัวต้องผ่านการออกหมายโดยใช้อำนาจของศาลเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลสามารถตรวจสอบได้ และไม่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานฝ่ายใดมากเกินไป
 
3. การใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ
 
อำนาจตามกฎอัยการศึก ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้น กักตัวบุคคล สอบสวน ออกคำสั่งห้ามกระทำการต่างๆ และประกาศอำนาจศาลทหาร
 
กรณีดังกล่าว ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 ที่เป็นหลักประกันความยุติธรรมว่า ประชาชนทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา มีสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เปิดเผย มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง มีความสะดวกในการเตรียมการต่อสู้คดี มีทนายความ และมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษา
 
4. การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ตรงกับเจตนารมณ์
 
เจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ จากภัยสงครามหรือการจลาจล  โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็ม เหนือฝ่ายพลเรือน สามารถใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อรักษาอธิปไตยของรัฐ ปราศจากราชศัตรู โดยเร็วที่สุด
 
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หาใช่เรื่องภัยสงครามหรือการจลาจลไม่ แต่เป็นเพียงการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความแตกต่างทางความคิด หรือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายปกติจัดการได้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกจึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ยกเลิกการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และออกประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้กลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย และประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นผลดีต่อประเทศตามวิถีทางอันดีของระบอบประชาธิปไตย
 
ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
 
 
 
[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1413778981
 
[2] http://news.springnewstv.tv/56873/ทหารบุกรวบแก๊งเงินกู้มหาสารคาม-คิดดอกเบี้ยสุดโหด
 
[3] http://thairath.co.th/content/458129
 
[4] http://www.prachatai.com/journal/2014/10/56169

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net