เอ็นจีโอร่วมถอดบทเรียน 10 ปี ตากใบ: ทุกฝ่ายเรียนรู้อะไรบ้าง

เวที 10 ปีตากใบโดนทหารขอเลิกจัดงาน แต่ต่อรองให้เสร็จภายในเวลาบ่ายสอง คนทำสื่อชายแดนใต้ตั้งคำถามกองทัพไทยเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ตากใบ?
 
 
 
เมื่อวันเสาร์ ที่ 25 ตุลาคม 2557 ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เนื่องในโอกาส ครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมของรัฐ ที่ สภ.อ.ตากใบ อันมีผลทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต รวมจำนวนเกือบร้อยคน และมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง
 
อิสมาแอ เตะ ประธานโครงการรำลึก 10 ปี ตากใบ และเป็นประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีกล่าวว่า “การจัดงานรำลึกครบรอบ 10 ปี ตากใบ เพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุย และเป็นบทเรียนในอนาคตว่า การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนนั้นไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีกวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตื่นตัวในประเด็นเนื้อหาทางการเมือง สร้างจิตสำนึกกับเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นที่ตากใบและเพื่อแสดงท่าทีการปฏิเสธการใช้ความรุนแรง” นายอิสมาแอกล่าว
 
อัสมามี บือเฮง เลขานุการ โครงการรำลึก 10 ปี ตากใบ และเป็นรองประธาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “เพื่อรำลึกเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกสำนึกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ”
 
ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนถึงความคิดเห็นต่อบทเรียนสิบปีตากใบ ดังนี้
 
นายอัซฮัร ลูเละ เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า "เราไม่อยากเห็นการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เหมือนในอดีต เพราะบทเรียนครั้งนั้นเป็นบทเรียนราคาแพง" นายอัซฮัร กล่าว
 
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนากล่าวว่า “การใช้สิทธิทางการเมืองแบบสันติวิธีของผู้ร่วมชุมนุมที่ตากใบ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับให้ข้อมูลไปอีกแบบหนึ่ง โดยฝ่ายความมั่นคงมองว่า ผู้ร่วมชุมนุมมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อเปิดทางให้ตนเองชอบธรรมในการสลายการชุมนุม” นายตูแวดานียา กล่าว
 
นางสาวรุซดา สะเด็ง อุปนายก สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพกล่าวว่า “ความหมายของการเยียวยา คืออะไร คือ การชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปจากที่มีอยู่เดิมอย่างนั้นหรือ แต่ ณ ตากใบสิ่งที่ขาดหายไปมันคือ สิทธิความเป็นเป็นมนุษย์ ชีวิตของความครัว พ่อ สามี ผู้นำ หรือผู้ที่เป็นเสาหลักของบ้านหายไปทั้งคน” นางสาวรุซดา กล่าว
 
นางสาวรุซดา สะเด็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากเหตุการณในวันนั้นเรายังไม่เคยลืม ผู้ชุมนุมถูกกระทำ ถูกจับมือไขว้หลัง แล้วถูกโยนทับซ้อนกันหลายๆ ชั้น ในที่สุดพวกเขาก็ทนความเจ็บปวดและความหิวโหยไม่ไหวจนต้องขาดลมหายใจ
 
หากเรามาร่วมตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องมาร่วมลำลึกตากใบอยู่ทุกๆ ปี รำลึกแล้ว รำลึกอีก คนในพื้นที่ก็ตื่นตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีคำตอบจากรัฐอย่างชัดเจน คำตอบที่ได้ทุกครั้ง คือ พวกเขาตายเพราะขาดอากาศหายใจเช่นเดิม” นางสาวรุซดา กล่าว
 
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า “25 ตุลา ที่ตากใบยังไม่มีนโยบาย แต่ 6 ตุลา ที่กรุงเทพ มีนโยบายขึ้นมาแล้ว กรณีตากใบเราน่าจะมีข้อเสนออะไรที่เราต้องการ และเหตุการณ์อื่นๆที่เราจะนำเสนอขึ้นมาคืออะไร
 
รัฐไทยบอกว่ารัฐเสียงบประมาณมากในช่วง 25 ตุลา กรณีเหตุการณ์ตากใบ จะคล้ายกันกับกรณี 6 ตุลา ว่า “อากาศเป็นคนฆ่าให้ตาย” ถามต่อว่าแล้วใครล่ะเป็นคนทำ” นางชลิดา กล่าว
 
นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)  มองว่า ถ้าตีความแบบง่ายๆ ตากใบมีจุดเน้นอยู่ 2 ชุดหลักๆ ชุดแรกคือการแทรกแซงของมือที่สามมายุย่งปลูกปั่นและก่อให้เกิดความรุนแรง วันดีคืนดีไม่มีใครเคยคิดว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมที่ตากใบเป็นพันๆ คน และไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ความทรงจำในลักษณะนี้ยังมีอยู่เพราะเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นมันมีอะไรมากมาย
 
อีกด้านหนึ่งมีความทรงจำในเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลในระยะใกล้ด้วย ก็คือก่อนหน้านี้ประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของการต่อสู้ ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างปาตานีกับสยาม และมีเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ทารุณกรรมเยอะแยะมากมาย เหตุการณ์ตากใบมันทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านี้ใกล้ชิดตัวโดยที่ไม่ต้องย้อนไปร้อยๆ ปี และเป็นการยืนยันชุดความคิดอีกชุดหนึ่งว่า รัฐไทยไม่สามารถปกครองพื้นที่แห่งนี้ด้วยความยุติธรรมได้
 
นายรอมฎอน กล่าวเพิ่มเติมว่า “คำถามสำหรับกองทัพไทย คือ กองทัพเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ตากใบ”
 
กิจกรรมในวันนี้ นอกจากจะมีการเสนาในช่วงเช้าแล้ว ยังมีกิจกรรม อื่นๆ อีกมาก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงบ่าย แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มาขอสั่งให้ยกเลิกการจัดงานในวันนี้ ทางผู้จัดงานจึงได้ต่อรองกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อจะจัดงานตามกำหนดการเดิม สุดท้ายได้ข้อตกลงว่า ต้องจัดงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลาบ่ายสอง
 
 
 
หมายเหตุ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา 15.00 น.(26 ต.ค.57)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท