Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อันที่จริงการประท้วงในท้องถนนเมืองมิลานนั้นเป็นเรื่องเล็ก ผู้นำของหลายประเทศรวมมหาอำนาจทั้งหลายด้วย เคยถูกประท้วงในท้องถนนมาแล้วทั้งนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้รองโฆษกรัฐบาลออกมาปฏิเสธ ครั้นจำนนต่อหลักฐานรูปถ่ายและแถลงการณ์ขององค์กรที่จัดการประท้วง รองโฆษกฯกลับออกมาแก้ตัวว่า ที่จริงฝรั่งประท้วงเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับการรัฐประหารในไทย มีคนไทยอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่แอบแทรกตัวเข้าไปประท้วงผู้นำรัฐประหารไทย

นี่ก็เป็นเท็จอีก แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่าการประท้วงของคนไทยไร้ความหมายแก่ คสช.ถึงเพียงนี้เชียวหรือ

ยิ่งกว่าการประท้วงคือ ท่าทีเฉยชาของเหล่าผู้นำโลกตะวันตกส่วนใหญ่ต่อผู้นำรัฐประหารไทย ไม่มีการพบปะหารือเป็นส่วนตัว ไม่มีการทักทายฉันมิตรสนิท (มากไปกว่าที่มารยาทบังคับ) เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับบุคลิกภาพ ส่วนตัวของผู้นำรัฐประหารไทยหรือความไม่คล่องภาษาอังกฤษ (คงอยากจะคุยเสียอย่างเดียว ภาษาไม่เป็นอุปสรรคแน่ พูดภาษาจีนไม่เป็น ยังคุยกับผู้นำจีนได้) แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นเจตนาของพวกเขาที่จะส่งสัญญาณให้ไทยรับรู้ สอดรับกับคำประกาศอย่างชัดเจน (โดยเฉพาะของอียู) ว่า ผู้นำรัฐประหารไทยพึงเร่งคืนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

แม้แต่ท่าทีนี้ที่จริงก็ไม่น่ากลัวเท่าไรนัก เพราะเป็นเพียงท่าทีทางการเมืองที่เหมาะสม ทั้งแก่ผู้เลือกตั้งในประเทศของเขาและแก่คนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งคงไม่น้อยทีเดียว ท่าทีทางการเมืองเช่นนี้ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่ไม่สู้จะมากนัก เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ประเทศเหล่านี้มีกับไทย แม้ไม่มากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย แต่ก็เป็นกอบเป็นกำพอที่ไม่ควรจะทิ้งไปเฉยๆ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองภายในของไทย ในระยะยาวท่าทีทางการเมืองเช่นนี้ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นปกติก็ได้

ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่ง คสช.กลับให้ความสำคัญน้อยมาก

นั่นคือคนไทยในประเทศไทยยอมรับอำนาจรัฐประหารของคณะรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ตราบเท่าที่คนไทยไม่ยอมรับ การรัฐประหารก็เป็นความไม่ชอบธรรมในทรรศนะของผู้เลือกตั้งในประเทศเขา ฉะนั้นจึงไม่คุ้มที่จะกระชับความสัมพันธ์กับคณะรัฐประหารให้มากไปกว่าที่มีอยู่แล้ว เช่น อียูปฏิเสธการเจรจาเขตการค้าเสรี จนกว่าไทยจะกลับเป็นประชาธิปไตยอีก เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากประชาชนคนไทยยอมรับคณะรัฐประหาร ก็ไม่มีเหตุอันใดที่ประชาชนผู้เลือกตั้งในประเทศของเขาจะรังเกียจคณะรัฐประหารไทย แม้ยังเห็นว่าการรัฐประหารในทุกประเทศไม่มีความชอบธรรมใดๆ เหมือนเดิม ผู้นำก็ปลอดโปร่งทางการเมืองที่จะฟื้นความสัมพันธ์กับไทยกลับสู่ภาวะปกติ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความชอบธรรมของการรัฐประหารในไทยจะเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่ในสายตาตะวันตก ขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชนไทยเอง

(เรื่องนี้สำคัญแก่ผู้ต่อต้านการรัฐประหารที่เป็นคนไทยทุกคน แรงกดดันจากต่างประเทศก็มีประโยชน์ แต่ผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือตัวท่านเอง)

การยอมรับหรือไม่ยอมรับความชอบธรรมทางการเมืองของ คสช.ในหมู่คนไทย เป็นปัญหาทางการเมืองและเป็นสิ่งที่ คสช.คิดว่าสำคัญน้อยที่สุด เพราะ คสช.เชื่อนักเศรษฐศาสตร์ชั้น 2 หรือ 3 ที่แวดล้อมตัวว่า หากทำให้เศรษฐกิจดี การยอมรับทางการเมืองในหมู่คนไทยก็จะเพิ่มขึ้นเอง นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นมองไม่ออกว่าเศรษฐกิจนั้นแยกจากการเมืองไม่ได้ โดยเฉพาะในเมืองไทยปัจจุบัน ผลของคำแนะนำที่ตื้นเขินประกอบกับความสามารถที่ด้อยของนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นก็คือ เศรษฐกิจชะงักงันและกระทบต่อคนเล็กๆ จำนวนมาก ขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ

ยิ่งความไม่ชอบธรรมทางการเมืองทำให้ถูก "เฉยชา" จากตลาด, แหล่งทุน และแหล่งเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในโลกตะวันตก นักเศรษฐศาสตร์ชั้น 2 หรือ 3 เหล่านั้นก็หมดคำแนะนำ นอกจากอัดฉีดเงินลงไปให้เกิดการสะพัดมากขึ้น โดยไม่ห่วงอีกแล้วว่าจะมีผลต่อระดับโครงสร้างหรือไม่ ในขณะที่สถานะความชอบธรรมของคณะรัฐประหารก็ยิ่งตกในวิกฤตมากขึ้น คนไทยที่เห็นว่าการรัฐประหารไม่ชอบธรรมไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้น

สภาวการณ์เช่นนี้เป็นที่รับรู้ของโลกตะวันตกหรือไม่? หากดูจากกรณีวิกีลีคส์ ก็ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าสถานทูตของโลกตะวันตกได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารรอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อส่งให้รัฐบาลของเขาพิจารณา โดยประสบการณ์ส่วนตัวในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผมเองถูกเจ้าหน้าที่สถานทูตหลายต่อหลายประเทศขอนัดพบเพื่อ "คุย" กัน เอกอัครราชทูตของประเทศหนึ่งต้องแอบพบกับผมในร้านกาแฟเล็กๆ โดยไม่ให้ผู้ร่วมเดินทางชาวไทยของเขารู้ก็ยังมี แสดงว่าทุกสถานทูตต่างเก็บข้อมูลกันจ้าละหวั่นมาหลายปีแล้ว จนทำให้รัฐบาลของเขาพอหยั่งได้ว่า คนไทย (จำนวนมากทีเดียว แต่จะเกินครึ่งหรือไม่ ไม่ทราบได้) ยังไม่ยอมรับ คสช. หรือไม่ยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหารอยู่นั่นเอง

ที่จริงนี่ก็เป็นหน้าที่ของสถานทูตทุกแห่งในโลกปัจจุบันอยู่แล้ว มีแต่สถานทูตไทยเท่านั้นที่คิดว่าหน้าที่ของตนคือไปงานค็อกเทล เหมือนทูตประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (จึงยังสามารถทำงานได้อย่างหน้าชื่นตาบานภายใต้คณะรัฐประหาร ถึงอย่างไรรสชาติของค็อกเทลก็ไม่เปลี่ยน)

กลับมาสู่ข้อสรุปที่สำคัญที่สุดก็คือ การยอมรับของประชาชนคนไทยต่างหากที่เป็นเงื่อนไขความอยู่รอดของคณะรัฐประหาร และการยอมรับหรือไม่นี้ ต่างประเทศพอมีสมรรถนะที่จะหยั่งได้เที่ยงตรงพอสมควร

และด้วยเหตุดังนั้น หัวหน้าคณะ คสช.จึงต้องเลิกเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเสียที

ผมไม่ได้หมายความว่าให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. แต่ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ คือ แสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองอย่างนายกฯ ซึ่งต้องแตกต่างจากการรักษาอำนาจของหัวหน้าคณะรัฐประหาร สร้างความยอมรับในหมู่ประชาชนให้กว้างขวางขึ้น โดยไม่ใช้การบีบบังคับด้วยอำนาจรัฐประหาร เวลาผ่านไป 5 เดือนแล้ว รัฐบาลของ คสช.ก็ยังต้องอิงกับกฎอัยการศึก

เที่ยวไล่จับผู้คนด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก เช่นเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งจับคนเสื้อแดงที่ไปงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ด้วยข้อหาว่าเขาเคยต่อต้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีรูปถ่ายปรากฏให้เห็นอยู่ ประโยชน์ที่จะได้มีอยู่อย่างเดียวคือ ทำให้ผู้คนไม่อยากเสี่ยงต่อต้านการรัฐประหารโดยสงบ เพราะอาจถูกจับขึ้นศาลทหาร แต่นี่คือการสร้างบรรยากาศของยุคทมิฬซึ่งทำให้ทุกคน ทั้งที่เคยต่อต้านและไม่เคยต่อต้านรัฐประหาร รู้สึกตัวว่าการปกครองของรัฐบาลคือการกดขี่บีบเค้น จนรู้สึกอึดอัดและคงทนไม่ไหวสักวันหนึ่ง

ส่วนประโยชน์ที่หวังจะปรามคนทั่วไปก็ไม่ได้ผลจริงจัง แม้แต่ในงานศพนั้นเอง ผู้คนเรือนหมื่นต่างพากันชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหาร จนเป็นภาพข่าวไปทั่วโลก จะจับทั้งหมดนั้นไหวหรือ

ในช่วงเดียวกันนั้นเองยังสั่งปิดเว็บไซต์ของ Human Right Watch องค์กรนี้จะสร้างความรำคาญให้รัฐบาลต่างๆ มากเพียงใดก็ตาม แต่ทุกประเทศก็ต้องทำท่าเคารพองค์กรนี้ เพราะองค์กรกลายเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งไปเสียแล้ว จะต้องตอบโต้ชี้แจงถ้อยแถลงขององค์กรอย่างไร ก็ทำไป แต่ไม่มีวันไปล่วงละเมิดปิดกั้นการทำงานขององค์กรอย่างเด็ดขาด ตราบเท่าที่องค์กรนี้สามารถทำกิจกรรมของตนในประเทศใดได้ ก็แสดงอยู่แล้วว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นถึงเลวร้ายอย่างไร ก็ยังไม่เลวร้ายถึงที่สุด เพราะยังปล่อยให้มีการโวยขององค์กรนี้ได้ สั่งปิดเว็บไซต์ของเขาก็ลงล็อกพอดีคือ ตรงกับข้อกล่าวหาของนานาประเทศว่าคณะรัฐประหารไทยไม่เคารพสิทธิมนุษยชนแม้ในขั้นพื้นฐาน

ถ้อยแถลงทั้งหมดของหัวหน้าคณะรัฐประหารในที่ประชุมอาเซมหมดความหมายไปทันที

หากยังคิดว่าตัวเป็นแค่หัวหน้าคณะรัฐประหารก็ทำได้ และอาจพึงทำด้วยก็ได้ แต่เป็นนายกฯแล้วไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เพราะการรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารกับของคณะรัฐบาลนั้นต่างกัน อย่างน้อยหัวหน้ารัฐบาลไม่ใช่หัวหน้าแก๊ง

การเลือกเอา เสธ.ไก่อู หรือ เสธ. "ผังล้มเจ้า" ไปเป็นรองโฆษกรัฐบาล ก็แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารยังไม่พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ในยุทธการทางทหาร การทำลายความชอบธรรมของศัตรูด้วยการปั้นเรื่องเท็จใส่ความ เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ แต่รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นกิจจะลักษณะทำอย่างนั้นไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ทำอย่างหยาบเช่นนั้นไม่ได้ เพราะคำแถลงของโฆษกย่อมถูกตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและในเชิงลึก สิ่งที่รัฐบาลใดๆ ก็ทำ (ให้จับได้) ไม่ได้เป็นอันขาดคือ "โกหก" เสธ.คนดังกล่าวนั้นจะมีความสามารถในด้านยุทธการสักเพียงไร ผมไม่ทราบ แต่กรณี "ผังล้มเจ้า" ซึ่งออกจากปากของเขา ทำให้ความน่าเชื่อถือ (credibility) ของเขาในสังคมหมดไปแล้ว ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็หมดคุณสมบัติพื้นฐานที่จะร่วมทีมโฆษกรัฐบาลไปเสียแล้ว เว้นไว้อย่างเดียวคือรัฐบาลไม่ได้คิดว่าตัวเป็นรัฐบาล ยังเป็นคณะรัฐประหารอยู่ (อันมีภารกิจหนึ่งหลักเดียวคือชัยชนะในเชิงยุทธและการยึดครอง)

การเปลี่ยนผ่านจากหัวหน้าคณะรัฐประหารไปสู่นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป มีหัวหน้าคณะรัฐประหารทำสำเร็จมาแล้วหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นทำสำเร็จก็มีแล้วเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นมีความเก่งเป็นการเฉพาะตน (มีหรือไม่ผมไม่ทราบ) หากทว่าคนเหล่านั้นล้วนมีผู้แวดล้อมที่ให้คำแนะนำเพื่อเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จทั้งสิ้น

หัวหน้าคณะรัฐประหารชุดนี้ก็มีผู้แวดล้อมเหมือนกัน บางคนรอบรู้และมีประสบการณ์ทางการเมืองมามากด้วยซ้ำ แต่ผู้แวดล้อมของคณะรัฐประหารชุดนี้แตกต่างจากผู้แวดล้อมของคณะรัฐประหารชุดก่อนอย่างสำคัญอย่างหนึ่ง คนฉลาดทั้งใน สนช., สปช., และคณะที่ปรึกษา ต่างรู้เต็มอกว่า ประเทศไทยหนีประชาธิปไตยมวลชนไปไม่พ้นแล้ว ยกเว้นแต่ใช้อำนาจกองทัพขัดขวางไว้อย่างเข้มงวด หลายคนในบรรดาคนเหล่านี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านประชาธิปไตยในการเมืองมวลชนมาหลายปีแล้ว หากประชาธิปไตยมวลชนตั้งมั่นขึ้นในประเทศนี้ได้ พวกเขาจะไม่มีที่ยืนอีกเลย

การรัฐประหารครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย แต่หากรัฐประหารครั้งนี้ "เสียของ" (คือไม่สามารถระงับการเติบโตของประชาธิปไตยมวลชนได้) ไม่มีวันที่กองทัพจะยึดอำนาจเพื่อสถาปนาระบอบปกครองอะไรที่ยั่งยืนได้อีกแล้ว พวกเขากระโดดขึ้นเกาะรถด่วนขบวนสุดท้าย และไม่อยากให้พนักงานขับรถเปลี่ยนเส้นทางไปสู่เส้นอื่นใด นอกจากพุ่งหัวรถจักรเข้าชนอย่างไม่เลือกหน้า เป็นไรเป็นกัน ด้วยเหตุดังนั้น หัวหน้าคณะรัฐประหารจึงไม่ได้เป็นนายกฯเสียที เพราะเหล่าคนที่ช่วยกันประคองเขาขึ้นนั่งในตำแหน่งนายกฯล้วนไม่ต้องการให้เขาเป็นนายกฯจริงๆ แต่ต้องการเห็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่นั่งบนเก้าอี้นายกฯต่างหาก

ในที่สุดรถด่วนรัฐประหารขบวนสุดท้ายนี้จะวิ่งไปชนระเบิดข้างหน้าหรือไม่?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net