Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


“กือโป๊ะ” เป็นอาหารพื้นเมืองในสามจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานี ที่รับประทานกันทุกเพศทุกวัย วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต คือ เนื้อปลา แป้งสาลี และไข่ไก่ กือโป๊ะเป็นอาหารพื้นเมืองของปักษ์ใต้ที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ “หัวข้าวเกรียบ” นิยมรับประทานกับน้ำจิ้ม

อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ประชาชนนิยมทานกือโป๊ะ และมีผู้ผลิตกือโป๊ะส่งออกเป็นอุตสาหกรรมในชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน

นางอามีเนาะ  มามะ  ผู้รับผิดชอบและดูแลโรงงานผลิตข้าวเกรียบปาตาบาระ ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กล่าวว่า “โรงงานแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยความคิดของ ดร.สุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองเห็นว่ารายได้และเศรษฐกิจของคนในชุมชนได้มาจากการประมง หาปลา รายจ่ายไม่พอกับรายรับภายในครอบครัว จึงคิดจัดตั้งโรงงานแห่งนี้ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนมีรายได้ และมีงานทำมากขึ้น สามารถที่จะเพิ่มรายรับให้แก่ครอบครัว”

นางอามีเนาะ กล่าวอีกว่า “รายได้จากโรงงานแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือคนในชุมชนที่ทำงานโรงงานแห่งนี้เท่านั้น แต่ยังสามารถนำรายได้ไปช่วยเหลือและบริจาคให้สังคมอีกมากมาย เช่น บริจาคเงินแก่เด็กกำพร้า คนยากจน โรงเรียนตาดีกา มัสยิดประจำหมู่บ้าน  เป็นการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น”

ในแต่ละปีจะคัดเลือกคนที่ทำงานในโรงงานแห่งนี้ไปประกอบพิธีอุมเราะห์ ณ ประเทศ ซาอุดีอารเบีย ประมาณ 4-5 คน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานและเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจอีกด้วย” นางอามีเนาะ กล่าว

นางแมะงอ เปาะดิ กล่าวว่า “ทำงานที่นี้มาตั้งแต่เปิดโรงงานใหม่ๆ มีความสุข เพราะสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว สิ่งที่ภูมิใจมากคือ รายได้ส่วนหนึ่งได้บริจาคเพื่อสังคมและส่วนรวม”

คอเต็บมัสยิดดารุลอามาน บ้านปาตาบาระ  กล่าวว่า “โรงงานแห่งนี้ช่วยเหลือสังคมมากมาย เช่น บริจาคเงินมัสยิด ตาดีกา  เด็กกำพร้า เป็นต้น จึงอยากจะให้โรงงานแห่งนี้ทำงานช่วยเหลือสังคม และช่วยเหลือคนในชุมชนที่ยากลำบากต่อไป”

 

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในวารสาร "สื่อสารเมืองสาย" เล่มที่ 1 ปีที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2557

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net