วันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ (Homeless Day) : ข้อเสนอต่อมาตรฐานการคุ้มครองนอกสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจาก พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 จะประกาศใช้ในเวลาอันใกล้นี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมการ เพื่อรองรับการใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เกิดผลบวกในการทำงานประสานงานกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ใน พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้มีการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่เป็นรูปธรรม และเน้นการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิในฐานะพลเมือง มูลนิธิอิสรชนในฐานะที่ทำงานกับกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง และเคยเสนอรูปแบบการทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมาแล้วครั้งหนึ่ง ได้แก่

- การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล
- การสร้างความคุ้นเคยเบื้องต้น
- การคุยกลุ่มย่อยในพื้นที่
- การคุยกลุ่มย่อยนอกพื้นที่
- การทำประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็นในพื้นที่
- การให้บริการพื้นฐานเฉพาะหน้า
- การออกหน่วยให้คำปรึกษาแบบเคลื่อนที่เร็ว
- การตั้งหน่วยบริการให้คำปรึกษาแบบประจำจุด
 

ซึ่งมาตรการการทำงานดังกล่าว มุ่งเน้นการทำงานภาคสนามที่นำสวัสดิการของรัฐที่มีอยู่ให้เข้าไปถึงผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งหากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 แล้ว ต้องปรับเข้าสู่การคุ้มครองนอกสถานคุ้มครอง ในกรณีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไม่พร้อมที่จะเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครอง หรือศูนย์คุ้มครองคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติฯ

โดยหน่วยงานเอกชนที่มีความประสงค์จะตั้งศูนย์คุ้มครองหรือสถานคุ้มครอง หรือหน่วยคุ้มครองในพื้นที่สาธารณะ อาจจะเสนอรูปแบบการทำงานด้านการคุ้มครองต่อคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อให้ความเห็นชอบในการตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หรือรูปแบบการให้การคุ้มครองในที่สาธารณะภายใต้มาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด

รูปแบบการคุ้มครองในพื้นที่สาธารณะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก่อนที่จะเข้ารับบริการในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั้งของภาครัฐและเอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพราะโดยปกติคนไร้ที่พึ่งที่เป็นคนปกติไม่ใช่กลุ่มผู้ป่วย ต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยก่อนที่จะเข้ารับบริการในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน และเป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่ให้บริการ ทั้งของรัฐและเอกชน

รูปแบบที่หลากหลาย ควรจะเน้นการจัดสวัสดิการที่มีความจำเป็นเฉพาะหน้า ปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่คนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมีความต้องการ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือจุดอาบน้ำแบบเครื่องที่ ที่สามารถเคลื่อนที่ไปในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเข้าไปถึงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิด

การเสนอรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อเป็นเมนูทางเลือกในการให้บริการด้านสวัสดิการในกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือกลุ่มคนไร้ที่พึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี โดยที่รัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดบริการนั้นกระจายออกไปให้หลากหลายและเข้าไปสู่ชุมชน ท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด นวัตกรรมนี้อาจจะใช้เวลาปรับตัวระยะหนึ่ง แต่ถ้ามีการปรับตัวเข้าที่เข้าทางแล้ว เราจะมีหน่วยบริการด้านสวัสดิการที่หลากหลาย และกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท