Skip to main content
sharethis

ลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและบริษัทที่ได้รับสัมปทานแร่ใน จ.เลย ซึ่งเริ่มจากการพยายามขนแร่ออกจากพื้นที่ จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน ใน อ.ทุ่งคำ รวบรวมโดยนักข่าวพลเมือง





28 มิ.ย. 2550 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีหนังสือแจ้งให้ บริษัททุ่งคำ จำกัด เข้าพบอธิบดี กพร. เพื่อบันทึกปากคำรับทราบข้อกล่าวหาและเปรียบเทียบคดีว่า บริษัทฯ มีเจตนาขนแร่โลหะทองคำมีเงินเจือปน จำนวน 105.5153 กิโลกรัม ออกจากเขตเหมืองแร่และหรือเขตโลหกรรม โดยมิได้ยื่นคำขอใบอนุญาตขนแร่ อันเป็นการกระทำผิดตามนัยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มีบทลงโทษปรับ 1-5 เท่าของมูลค่าแร่ (มูลค่าแร่ ณ วันขนแร่ออกจากเหมือง มีจำนวนเงิน 52.83 153 ล้าบาท) และรัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนประทานบัตรได้ตามนัยมาตรา 148 และ อธิบดี กพร. มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ตามนัยมาตรา 153

26 ก.ค. 2550 บ.ทุ่งคำเข้ารายงานตัวและปฏิเสธข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจวังสะพุง

มิ.ย. 2551 อัยการจังหวัดเลย มีคำสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีกับ บ.ทุ่งคำ เนื่องจาก คดีขาดอายุความ

19 ธ.ค. 2550 ส.ป.ก.จังหวัดเลย มีหนังสือแจ้งให้ บ.ทุ่งคำ ชำระค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างเดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน 2550 เป็นจำนวนเงินเท่ากับการเก็บค่าภาคหลวง จำนวน 14,563,336 บาท

12 ก.ย. 2551 บ.ทุ่งคา- บ.ทุ่งคำ ฟ้อง คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย (ส.ป.ก.จังหวัดเลย) ต่อศาลปกครองขอนแก่น ให้มีคำสั่งยกเลิกค่าตอบแทนในส่วนที่ 2 (คดีหมายเลขดำที่ 371/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 127/2554) และได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยให้ศาลระงับคำสั่งการชำระค่าตอบแทนเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาล

4 พ.ค. 2554 ศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลปกครองอุดรธานี และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองอุดรธานีได้รับโอนคดีดังกล่าวไว้ในสารบบความเป็นคดีหมายเลขดำที่ 251/2554 ต่อมาศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ 63/2554 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

30 มิ.ย. 2554 บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้อง ต่อมาศาลปกครองอุดรธานีได้รับอุทธรณ์ และส่งต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554
*คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

30 ธ.ค. 2553 ใบอนุญาตให้เหมืองทองใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก แปลงประทานบัตรที่ 26973/15560 (10 ปี) ของ บ.ทุ่งคำ หมดอายุ

15 มี.ค. 2554 ส.ป.ก.จังหวัดเลย มีหนังสือที่ ลย 0011/274 แจ้งเตือนให้ บ.ทุ่งคำ ชำระเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินในส่วนที่ 2 รวมเป็นเงิน 90,460,884.02 บาท

29 เม.ย. 2554 ส.ป.ก.จังหวัดเลย มีหนังสือ ที่ ลย 0011/452 แจ้งให้ บ.ทุ่งคำ ชำระเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 8,525,538.90 บาท รวมเป็นเงินที่ บ.ทุ่งคำ ต้องชำระทั้งสิ้น 98,986,422.92 บาท

4 พ.ค. 2554 ส.ป.ก.จังหวัดเลย มีหนังสือ ที่ ลย 0011/474 แจ้ง บ.ทุ่งคำ ว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย ในการประชุมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 มีมติให้หนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของ บ.ทุ่งคำ ทั้ง 4 ฉบับสิ้นสุดลง โดยให้ บ.ทุ่งคำ และบริวารออกจากที่ดินพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

5 ก.ค. 2554 บ.ทุ่งคำ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลยและปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย (ส.ป.ก. จังหวัดเลย) ต่อศาลปกครองอุดรธานี โดย บ.ทุ่งคำ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง (1) เพิกถอนมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลยในการประชุมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ที่ให้หนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เลขที่ 1/2546, 2/2546, 3/2546, 4/2546 (รวม 4 ฉบับ) ออกให้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 สิ้นสุดลง (2) เพิกถอนคำสั่งของ ส.ป.ก. จังหวัดเลย ตามหนังสือ ที่ ลย 0011/474 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีและบริวารออกจากที่ดิน พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ (คดีนี้เดิมทาง บ.ทุ่งคำ ได้ยื่นคำฟ้องพร้อมคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งเจ้าหน้าที่และขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 เป็นคดีหมายเลขดำที่1448/2554 ต่อมาศาลปกครองกลางแจ้งโอนคดีไปยังศาลปกครองอุดรธานีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 413/2554)

14 ต.ค. 2554 ศาลปกครองชั้นต้นอุดรธานีมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย ในการประชุมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ที่ให้หนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์รวม 4 ฉบับ สิ้นสุดลงไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

16 พ.ย. 2554 ส.ป.ก. จังหวัดเลยได้ยื่นอุทธรณ์การทุเลาบังคับต่อศาลปกครองอุดรธานี และศาลได้ส่งอุทธรณ์ไปศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณา

10 มี.ค. 2557 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

26 ธ.ค. 2555 ใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก แปลงประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558 (10 ปี) ของ บ.ทุ่งคำ หมดอายุ บริษัทอ้างว่าได้หยุดกระบวนการหน้าเหมือง เนื่องจากยังไม่ได้รับหนังสืออนุญาตการต่ออายุใช้พื้นที่

2556 ใบอนุญาตใช้ที่ดินในเขตป่า มาตรา (4) ของ บ.ทุ่งคำ หมดอายุ

3 ส.ค. 2556 ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ประกาศใช้ระเบียบชุมชนฯ ห้ามรถบรรทุกหนักเกิน ๑๕ ตัน ห้ามขนสารเคมีอันตรายวิ่งผ่านถนนชุมชน

7 ก.ย. 2556 ชาวบ้านร่วมกันก่อสร้างกำแพงใจ ครั้งที่ 1 ถูกทำลายด้วยชายชุดดำในยามวิกาลในวันที่ ๑๙ ก.ย. ๒๕๕๖

22 ก.ย. 2556 ชาวบ้านร่วมกันก่อสร้างกำแพงใจ ครั้งที่ ๒ ถูกทำลายโดย นายกฯ อบต.เขาหลวง ยกกำลังมาทำลาย ด้วยรถไถ พร้อมกองกำลังตำรวจ 100 นาย มาคุ้มกัน เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2556

10 ก.ย. 2556 เป็นต้นมา บ.ทุ่งคำ เริ่มทยอยฟ้องคดีแพ่ง-อาญา ต่อชาวบ้าน รวม 33 คน เรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 270 ล้านบาท รวมคดีความทั้งสิ้น 9 คดี

25 พ.ย.2556 ชาวบ้าน 322 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนใบประทานบัตรเลขที่ 26971/15558, 26972/15559, 26968/15574, 26969/15575 และ 26970/15576 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 และคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม คำขอที่ 1/2555 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

15 พ.ค. 2557 บ.ทุ่งคำได้รับใบอนุญาตขนแร่จาก อุตสาหกรรมจังหวัดเลย เป็นแร่ทองแดง มีทองคำและเงินเจือปน จำวน 476 เมตริกตัน โดยใช้รถบรรทุก 15 คัน ไปยังสถานที่เก็บแร่ของ บ.ทุ่งคำที่ จังหวัดชลบุรี และในคืนวันที่ 15 พ.ค. ถึง เช้าวันที่ 16 พ.ค. 2557 บ.ทุ่งคำได้ทำการขนแร่ออกไปได้ 300 เมตริกตัน โดยใช้กองกำลังติดอาวุธปิดล้อมหมู่บ้าน ทำลายกำแพงชุมชน คุ้มกันขบวนรถขนแร่ มีการซ้อม ทรมาน ทำร้ายชาวบ้านบาดเจ็บหลายสิบราย เมื่อชาวบ้านโทรขอความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในจังหวัด แต่กลับไม่มีหน่วยงานราชการใดในพื้นที่แม้แต่หน่วยงานเดียวเข้ามาช่วยเหลือ หลังเหตุการณ์ ผู้ว่าฯ กพร. อุตสาหกรรมจังหวัดเลย อ้างว่า เป็นความขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันเอง บ.ทุ่งคำได้ขออนุญาตขนแร่อย่างถูกต้อง ส่วน บ.ทุ่งคำอ้างว่า "ผู้ซื้อ" เป็นผู้ดำเนินการขนแร่ ปัจจุบันมีผู้ต้องหาที่กำลังถูกดำเนินคดี 2 ราย
3 มิ.ย. 2557 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมไต่สวน กรณีการขนแร่ในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ศาลากลางจังหวัดเลย คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ คือ สินแร่ดังกล่าวได้มาจากการทำเหมืองแร่ที่ถูกต้องหรือไม่ มีการตรวจสอบกองสินแร่ที่ บ.ทุ่งคำขออนุญาตขนออกจากพื้นที่แปลงประทานบัตรเพื่อใช้ในการคำนวณค่าภาคหลวงแร่ถูกต้องหรือไม่ ใบอนุญาตขนสินแร่ทองแดงที่อนุญาตโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การขนแร่ไม่มีการตรวจสอบทะเบียนรถบรรทุก และผู้ขับขี่ถูกต้องหรือไม่ และประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็น คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ระงับการขนส่งแร่ทองแดงเอาไว้ก่อน จนกว่าการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการฯ จะเสร็จสิ้น

18 มิ.ย. 2557 พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย/จังหวัดทหารบกเลย แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ และคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ของ บ.ทุ่งคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ขึ้น 4 ชุด โดยกระบวนการในการแก้ไขปัญหามุ่งเป้าหมายไว้ที่การ “ขนแร่” โดยจัดให้มีการทำประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อทำ MOU ร่วมกันหลายครั้ง แต่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านคัดค้านไม่ยอมรับการทำ MOU จึงให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยสรุป คือ 1) การปิดเหมืองถาวรหรือการดำเนินการทำเหมืองแร่ต่อให้ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ตามหมายเลขคดีดำที่ ส.1544/2556 ที่ชาวบ้าน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้ยื่นฟ้องให้ถอนประทานบัตรและถอนใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรม ของ บ.ทุ่งคำ ไว้แล้ว 2) ให้ บ.ทุ่งคำขนแร่ เพื่อนำค่าหลวงแร่ที่จะได้จากการขนแร่มาฟื้นฟูเยียวยาผู้ป่วย และผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ โดย บ.ทุ่งคำจะสมทบเงินอีก 2 ล้านบาท โดยจะดำเนินการในช่วงที่ บ.ทุ่งคำได้ยินยอมโดยสมัครใจที่จะปิดเหมืองชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558

16 ก.ย. 2557 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นัดประชุม กรณี ร่าง MOU แก้ปัญหาเหมืองทอง และการปฏิบัติงานของทหาร (คสช.) ในพื้นที่เหมืองทอง ความเห็นของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ 1) คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ตั้งขึ้น ควรจะหมายถึง หน่วยงานรัฐ ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ และทหารผู้รักษาความสงบ แต่คณะกรรม 4 ฝ่ายกลับมีแต่หน่วยงานราชการเป็นคณะกรรมการ 2) การรับฟังความเห็น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้รับจดหมายจากทหารเรียกให้ไปรายงานตัว 3) การแก้ปัญหาผลกระทบฯ จะต้องเริ่มจากการค้นหาและทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อหาคำตอบให้ชาวบ้านว่าอาการป่วยเกิดจากอะไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม แม่น้ำ ภูเขา เกิดขึ้นจากอะไร เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่จะต้องมีคำตอบให้ชาวบ้าน เมื่อปรากฏความจริงแล้วต้องลงโทษผู้กระทำผิด แล้วชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการชดเชย เยียวยาอย่างไร 4) ร่าง MOU นี้ เป็นการจำกัดวงเงินฟื้นฟู-ผลกระทบของผู้ก่อมลพิษไว้แค่วงเงินที่ได้จากค่า ภาคหลวงจากการขนแร่ ผิดหลักการผู้ก่อมลพิษเท่าไหร่ต้องชดใช้เท่านั้น และการทำประชาคมเป็นการผูกมัดล่วงหน้า ให้ยอมรับค่าเสียหายในวงเงินจำกัดจากค่าภาคหลวงแร่ที่ได้จากค่าขนแร่ 5) ร่าง MOU เป็นแค่การนำเสนอแนวทางเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ และยังไม่เป็นผลผูกพัน

27 ต.ค. 2557 จังหวัดเลย เรียกให้ คณะกรรมการเพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้ บ.ทุ่งคำขน สำรวจและกำหนดสินแร่ฯ ให้เสร็จภายในวันที่ 31 ต.ค. 2557 จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีแร่ทองแดงบรรจุกระสอบ 1,190 ถุง น้ำหนักประมาณ 1,600 ตัน (ข่าว Thai PBS) จากการที่ บ.ทุ่งคำได้ขอกับผู้ว่าฯ เพื่อขออนุญาตขนแร่ โดยอ้างว่าต้องการขนย้ายแร่ทองแดงที่เหลือไปจำหน่าย เพื่อนำเงินมาเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หลังจากที่ไม่สามารถขนย้ายแร่ทองแดงออกนอกพื้นที่มานานเกือบ 2 ปี เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างบริษัทและกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านจนเกิดการฟ้องร้องและต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว

29 ต.ค. 2557 จังหวัดเลย เชิญ บ.ทุ่งคำ – ชาวบ้านที่ถูกบริษัทฟ้องคดีมาเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลกลางจังหวัดเลย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net