Skip to main content
sharethis

ผลเจรจาปรับสภาพการจ้างงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯยังไม่ได้ข้อยุติ ทหารอ้างกฏอัยการศึกเบรกตัวแทนชี้แจงผลเจรจา ก่อนทำความเข้าใจกันได้ ‘จิตรา’ วอน รมว.แรงงานรีบเคลียร์ คสช.เข้าใจวัฒนธรรมสหภาพแรงงาน พิจารณาเลิกกฏอัยการศึก 

หลังจากที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับรุงสภาพการจ้างงานกับบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อ Triumph และยี่ห้อชั้นนำระดับโลกหลายยี่ห้อ ไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา และได้มีการเจรจา 2 ฝ่าย ระหว่างตัวแทนนายจ้างกับสหภาพฯ มาหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ จนเกิดการเจรจา 3 ฝ่าย โดยมี เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทจังหวัดสมุทรปราการและเจ้าหน้าที่จากกองแรงงานสัมพันธ์ ส่วนกลาง กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย   

ล่าสุด 28 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการนัดเจรจา 3 ฝ่าย ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมุทรปราการ ถนนเทพารักษ์  และเวลา 17.00 น. สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ประมาณ 60 คน เดินทางจากบริษัท บอดดี้ฯ เพื่อรอฟังคำชี้แจงความคืบหน้าและผลการเจรจา จากตัวแทนสหภาพฯ ที่บริเวณลานจอดรถ สนง.สวัสดิการฯ

หลังจากนั้นทหารในเครื่องแบบประมาณ 10 นาย ที่ประจำอยู่ สำนักงาน อบต.บางเมือง ได้เข้าชี้แจงต่อสมาชิกสหภาพฯ ที่รอฟังคำชี้แจงว่าเป็นการกระทำผิดกฏอัยการศึก เนื่องจากเป็นการชุมนุมเกิน 5 คน โดยมีตัวแทนสหภาพฯ เข้าทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทหาร ก่อนทหารจะอนุญาตให้ตัวแทนสหภาพฯ ชี้แจงความคืบหน้า ผลการเจรจา ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ

ภาพทหารเข้ารับฟังและเตือนกลุ่มคนงานไทรอัมพ์ฯ บริเวณลานจอดรถ สนง.สวัสดิการฯ จ.สมุทรปราการ

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ  กล่าวว่า ทหารชุดดังกล่าวได้สอบถามถึงเหตุผลที่คนงานมากันที่นี่ ตนจึงขออนุญาตทหารชี้แจงกับคนงานที่รอฟังคำชี้แจงจากตัวแทนเจรจา ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยจะมีการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ย.นี้ หลังจากได้ฟังคำชี้แจงแล้วก็แยกย้ายกันเดินทางกลับที่พัก เวลาประมาณ 18.00 น.

นอกจากนี้ จิตรา กล่าวด้วยว่า ได้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ทหารไปว่าไม่ได้ชุมนุมทางการเมือง แต่คนงานที่มาเพียงเพื่อรับฟังคำชี้แจงข้อเรียกร้องเรื่องปากท้องเท่านั้น และเมื่อชี้แจงเสร็จแล้วทุกคนก็ต่างคนต่างกลับ โดยไม่มีการยุยงให้คนงานฝ่าฝืนกฏหมาย ซึ่งการการเจรจาในครั้งหน้าคาดว่าคนงานจะมารอฟังคำชี้แจงอีก จึงอยากฝากไปถึงส่วนกลาง ว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำความเข้าใจ ชี้แจงให้สมาชิกสหภาพทราบ ซึ่งเป็นกระบวนการป้องกันความรุนแรงหรือสิ่งที่เกินคาดและไม่สามารถควบคุมไม่ได้ โดยที่หากทางทหารหรือ คสช. ไม่สบายใจ ก็สามารถส่งคนมาคอยสังเกตการณ์แบบวันนี้ก็ได้

นอกจากนี้ทหารได้ตำหนิที่ทางสหภาพแรงงานไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีการรวมตัวกันของคนงาน โดยตนได้ชี้แจงกับทหารไปว่า ไม่คิดว่าเป็นการชุมนุม เพียงแค่คนงานอยากมาฟังคำชี้แจงความคืบหน้าของการเจรจาเท่านั้น

“ใกล้สิ้นปีมันอาจจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในอีกหลายที่เพราะว่าอาจมีปัญหาการไม่การจ่ายโบนัส หรือการเจรจาที่ยังไม่บรรลุข้อตกลง ดังนั้นจึงคิดว่าเป็นทางหนึ่งที่จะลดแรงกดดัน คือ ผู้มีอำนาจควรเปิดพื้นที่ให้คนงานได้ชี้แจง เปิดให้คนได้มารับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน” จิตรา กล่าว

จิตรา ยังกล่าถึงความยากลำบากของการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนงานในการปรับปรุงสภาพการจ้างงานช่วงนี้ด้วยว่า การที่อยู่ในภาวะประกาศใช้กฏอัยการศึก ทำให้คนงานไม่สามารถใช้สิทธิการนัดหยุดงานได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือของลูกจ้างตามกฏหมายที่จะกดดันให้นายจ้างยอมรับตามข้อเรียกร้องของคนงาน ดังนั้น คสช. หรือรัฐบาลควรพิจารณายกเลิกประกาศใช้กฏอัยการศึกหรือไม่ก็ควรให้สิทธิที่คนงานจะสร้างอำนาจการต่อรองได้ด้วย

“อยากฝากถึงคสช. รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจให้เข้าใจวัฒนธรรมของคนงาน และยินดีที่จะให้เจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์ แต่ทางทีดีหากเป็นไปได้ อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้ามาดูปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะได้แก้ปัญหาได้ดีและเร็ว ลดแรงกดดัน เพื่อไม่นำไปสู่การประท้วง” จิตรา กล่าว

 

คลิปเหตุการณ์

 

 

 

อัพเดทความคืบหน้าการยื่นข้อเรียกร้อง สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ปี 57

โดย จิตรา คชเดช

 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องกับบริษัทบอดี้แฟชั่นประเทศไทยจำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อ Triumph และยี่ห้อชั้นนำระดับโลกหลายยี่ห้อ


มีการเจรจาสองฝ่ายระหว่างนายจ้างและลูกจ้างหลายครั้งไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะบริษัทฯอ้างว่า บริษัทแม่ที่ต่างประเทศไม่ให้เงินสนับสนุนอีกแล้ว ต้องใช้เงินที่หาได้บริหารเอง จึงไม่สามารถปรับค่าจ้างหรือให้สวัสดิการอื่นๆตามที่สหภาพแรงงานฯขอได้  และบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ เพื่อขอคืนห้องสหภาพแรงงานรวมทั้งการปรับลดค่าจ้างสวัสดิการอีกหลายข้อ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้จึงเป็นข้อพิพาทแรงงาน

เมื่อเป็นข้อพิพาทแรงงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทก็เข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทำให้บริษัทเริ่มเสนอค่าจ้างสวัสดิการให้กับสหภาพแรงงานตามนี้

-       ให้เพิ่มโบนัสอีก 1200 บาท

-       ให้ค่ากะเพิ่ม

-       ให้กรณีพนักงานเสียชีวิต 50000 บาท

-       ให้ค่ารักษาพยาบาลคนงานโดยโอนเข้าบัญชีปีละ 20 ครั้งโดยไม่ต้องเขียนใบส่งตัว 3000 บาท กรณีหญิงมีครรภ์ 5000 บาท
 

แต่ปัญหาที่ไม่สามารถตกลงกันได้ก็คือเรื่องการปรับค่าจ้าง บริษัทเสนอปรับ 1.8 % แต่สหภาพแรงงานขอให้บริษัทปรับค่าจ้างเท่าเดิมเหมือนปีที่ผ่านมาคือ 6%

หากเป็นสภาวะปกติการที่บริษัทกับสหภาพแรงงานไม่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถใช้สิทธิปิดงานหรือนัดหยุดงานได้ แต่ถ้าอยู่ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ทางออกอีกอย่างคือการตั้งผู้ชีขาดข้อเรียกร้อง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องเห็นร่วมกัน การเจรจาทางบริษัทเสนอมาตลอดว่าอยากให้มีการชี้ขาดในเรื่องการปรับค่าจ้าง ซึ่งทางสหภาพแรงงานปฎิเสธมาตลอด จนสหภาพแรงงานได้ปรึกษาหารือกับสมาชิกในเรื่องการหาทางออก

ในโรงงานมีข่าวลือมาตลอดว่าถ้าสหภาพแรงงานไม่ทำข้อตกลงก่อนที่โบนัสจะออกในเดือนธันวาคมนี้ คนงานอาจจะไม่ได้โบนัส ทำให้สหภาพแรงงานและสมาชิกจึงเห็นว่าให้เอาเรื่องข้อสู่กระบวนการชี้ขาดตามที่บริษัทเสนอ ซึ่งเป็นการเสี่ยงที่อาจจะได้ 1.8% หรือมากกว่าก็ได้

วันนี้ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีนนัดเจรจา เวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสมุทรปราการ เมื่อเข้าโต๊ะเจรจา บริษัท สหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทจังหวัดสมุทรปราการและเจ้าหน้าที่จากกองแรงงานสัมพันธ์ ส่วนกลาง กระทรวงแรงงาน

สภาพแรงงานจึงเสนอให้ทำข้อตกลงตามที่บริษัทเสนอ ส่วนการปรับค่าจ้างให้เข้าสู่การชี้ขาดตามกฎหมาย ตัวแทนบริษัทแจ้งว่าขอเวลาพิจารณาและแยกห้องไกล่เกลี่ย พนักงานประนอมมาแจ้งว่าบริษัทฯเสนอว่า ถ้าชี้ขาดมาที่ 1.8 % บริษัทก็จะยอมรับ ถ้าชี้ขาดมามากกว่า 1.8 % บริษัทฯมีเงื่อนไขตามนี้

1.     บริษัทขอยกเลิกนาทีสูญเสีย

2.     บริษัทขอให้พนักงานทำงานรวมกันทั้งเดือนมีผลการทำงานได้ 65% จึงจะได้นาทีคูณที่สูงขึ้น

สหภาพแรงงานเห็นว่าการเจรจาแบบนี้ของบริษัทฯ จะเอาแต่ประโยชน์ฝ่ายตนอย่างเดียว จึงได้ปรึกษาตัวแทนคนงานที่บริษัท โดยเสนอกับบริษัทดังนี้ 4 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 สหภาพแรงงานข้อให้ชี้ขาดเรื่องการปรับค่าจ้างโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนข้ออื่นตกลงกันได้ทำข้อตกลง 1 ปี
แบบที่ 2 สหภาพแรงงานเสนอให้ต่างคนต่างถอนข้อเรียกร้อง แล้วกลับมาใช้ข้อตกลงเก่าที่ปรับค่า 6 % ต่ออีก 1 ปี
แบบที่ 3 สหภาพแรงงานยินดีทำข้อตกลงที่ปรับค่าจ้าง 1.8%และ ปรับค่าครองชีพเพิ่มเดือนละ 100 บาทต่อเดือน
แบบที่ 4 สหภาพแรงงานยินดีทำข้อตกลงที่ปรับค่าจ้าง 1.8% และให้โบนัสเพิ่มกับคนงานตามนี้ คนงานที่ทำงานได้ 80%บวกเพิ่ม 3000 บาท,  คนงานที่ทำงานได้ 65-80 %บวกเพิ่ม 2000 บาท และคนงานที่ทำงานได้ต่ำกว่า 65% บวกเพิ่ม 1000 บาท

ซึ่งบริษัทรับไปพิจารณา และมีการนัดเจรจาครั้งหน้า วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557

ในวันนี้มีสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 60 คน หลังเลิกงานได้ เดินทางมาจากบริษัทฯ มาฟังคำชี้แจงของตัวแทนเจรจาที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสมุทรปราการ มีทหารเข้ามาดูแลความสงบประมาณ 10 กว่านาย
 

หมายเหตุ

บริษัทบอดีแฟชั่น ประเทศไทยจำกัด มีสภาพแรงงาน 3 แห่ง ประกอบด้วย

1.     สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชา ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทไปแล้ว ยอมรับการปรับค่าจ้าง 1.8% ทำสัญญา 3 ปี

2.     สหภาพแรงงานผู้ผลิตชุดชั้นแห่งประเทศไทยได้ทำข้อตกลงกับบริษัทไปแล้ว ยอมรับการปรับค่าจ้าง 1.8% ทำสัญญา 3 ปี
และ กลุ่มคนงานประมาณ 100 กว่าคน ที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทไปแล้ว ยอมรับการปรับค่าจ้าง 1.8% ทำสัญญา 3 ปี

จึงเหลือสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ยังไม่ได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้าง มีสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นคนส่วนใหญ่ของบริษัทมีประมาณกว่า 90 % 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net