มายาคติ ‘พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง’ ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เราควรตั้งคำถามอย่างจริงจังเสียทีว่า วาทกรรม “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” นั้น เป็นความจริงหรือเป็นเพียง “มายาคติ” หรือ “สภาวะหลอกตัวเอง” (เช่นเดียวกันกับการหลอกตัวเองในกรณีสำคัญมากอื่นๆ) ทั้งๆ ที่ชาวพุทธไทยมักยืนยันเสมอว่าพุทธศาสนาสอน “ความจริงอันประเสริฐ” หรือ “อริยสัจ” ที่ถือหลักการสำคัญว่า “ต้องรู้ความจริงของปัญหาและสาเหตุก่อน จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง”

ตัวอย่างทัศนะที่ว่า “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” ที่อ้างอิงความรู้ ข้อเท็จจริง หลักการมาสนับสนุนมากที่สุด น่าจะเป็นทัศนะของปราชญ์ทางพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน คือท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ซึ่งท่านยืนยันว่า “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” ทั้งในทางหลักการและข้อเท็จจริง ดังที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี”[1] ว่า

นักบวชพระภิกษุในประเทศไทย ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถเป็นขุนนางแท้จริง ไม่อาจเข้าไปอยู่ในการเมืองได้จริง ไม่มีอำนาจบริหารการเมืองได้จริง ไม่เหมือนนักบวชของฝรั่ง ต่างกันไกลมาก เมื่อจัดประเภท ก็พูดได้ทำนองนี้ว่า โดยเทียบกับระบบนักบวชบาทหลวงฝรั่งเศสยุคศักดินานั้น นักบวชภิกษุในประเทศไทยอยู่ใน ระดับที่เหนือการเมืองชัดๆ (ถึงไม่เทียบ หลักก็บอกอยู่แล้ว) (น.16)

จากข้อความนี้ แสดงว่าท่านเจ้าคุณกำหนดขอบเขตของ “การเมือง” แค่ว่า “ต้องมีตำแหน่งเป็นขุนนางจริง มีอำนาจบริหารการเมืองจริง เหมือนนักบวชฝรั่ง”  โดยท่านยกตัวอย่างการ “อยู่ในการเมือง” ของนักบวชฝรั่งเปรียบเทียบกับนักบวชไทยไว้อย่างละเอียด ผู้เขียนขอคัดมาให้อ่านดังนี้

พูดถึงตะวันตก ดูตัวอย่างในฝรั่งเศส บาทหลวงยิ่งใหญ่เด่นในประวัติศาสตร์ คงไม่มีท่านใดเหนือคาร์ดินัลริเชลลู (Cardinal Richelieu) ซึ่งได้รับราชการเป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และเป็นผู้สร้างฝรั่งเศสให้เป็นประเทศยิ่งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เป็นเป็นผู้บัญชาการรบ ปราบชาวโปรเตสแตนต์ฮูเกนอตส์ลงได้และเป็นผู้ชี้นำในการทำสงคราม 30 ปีแห่งยุโรป (1618-1648)

ส่วนในเมืองไทย ที่ว่าวินัยของพุทธศาสนาเถรวาทช่วยรักษาไว้ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 กองทัพพม่ายกเข้ามา ได้เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว จะไปตีเมืองพัทลุงและเมืองสงขลา คราวนั้นที่เมืองพัทลุง พระมหาช่วย ชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้ต่อสู้ข้าศึกรักษาเมือง ยกเป็นกระบวนทัพจากเมืองพัทลุง มาตั้งค่ายสกัดอยู่ในทางที่พม่าจะยกลงไปนครศรีธรรมราช เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว พระมหาช่วย แม้ว่าจะได้ช่วยประเทศชาติในยามร้าย แต่ท่านไม่ต้องการให้มีความมัวหมองทางพระวินัยที่ได้ไปในการศึกสงคราม ก็สมัครลาสิกขาเอง ส่วนทางบ้านเมืองมองเห็นคุณความดีของท่าน ก็ได้ตั้งอดีตพระมหาช่วยให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ (น.12-13)

ผู้เขียนคิดว่า กรณีตัวอย่างนี้ตีความได้ 2 แบบ จะตีความแบบท่านเจ้าคุณก็ได้ว่า “วินัยของพุทธศาสนาเถรวาทรักษาไว้” จึงทำให้พระมหาช่วยลาสิกขา แล้วทางบ้านเมืองก็ตอบแทนในคุณความดีโดยตั้งให้เป็น “พระยาทุกขราษฎร์” หรือจะตีความอีกทางหนึ่งก็ได้ว่า ในทางข้อเท็จจริงวินัยพุทธศาสนาเถรวาทก็ป้องกันพระ(มหาช่วยเป็นต้น)ไม่ให้เข้าไปยุ่งกับการเมืองไม่ได้หรอก แม้กระทั่งการสงครามพระก็ยังสามารถจะไปชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมรบป้องกันบ้านเมืองก็ได้ (โดยไม่มีคณะสงฆ์หรือชาวบ้านที่นับถือพุทธอ้าง “วินัยสงฆ์เถรวาท” มาคัดค้าน ทัดทานไว้ได้) จากนั้นก็ลาสิกขาไปได้ดิบได้ดีในระบบการเมืองของฆราวาส

ท่านเจ้าคุณยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า

ในฝรั่งเศสยุคศักดินานั้น ฝ่ายศาสนาคือบาทหลวง (clergy) เป็นฐานันดรที่ 2 คู่กับฐานันดรที่ 1 คือขุนนาง (nobility) ทั้งสองพวกนี้ต่างก็แสวงหาทรัพย์อำนาจ เป็นเจ้าเมือง เจ้าที่ดิน เป็นต้น กดขี่ขูดรีด ทำให้ราษฎรเดือดร้อนชิงชัง จนในที่สุดจึงเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นใน ค.ศ. 1789 เพื่อล้มล้างฐานันดรทั้งสองนี้ และได้สถาปนาประชาธิปไตยสำเร็จ ด้วยความรุนแรงสูญเสียชีวิตเลือดเนื้ออย่างสยดสยอง แล้วได้เป็นเหตุให้มีหลักการแยกรัฐกับศาสนา (separation of church and state) ขึ้นในฝรั่งเศส…(น.13)

หันมาดูเมืองไทย ยุคเดียวกันนั้น หลังเหตุการณ์ในอังกฤษมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่ได้ปราบโปรเตสแตนต์เสร็จสิ้น คราวจะล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งนั้น เพราะเหตุที่พระสงฆ์ไทยเถรวาทไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจการเมือง สมเด็จพระสังฆราชจึงสามารถรับนิมนต์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำพระสงฆ์ผ่านกองทัพยึดอำนาจที่ล้อมวัง เข้าไปทำสังฆกรรมผูกสีมา และอุปสมบทข้าราชการผู้ใหญ่แล้วนำพระใหม่อดีตขุนนางมาอยู่ในวัดอย่างปลอดภัย โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองที่เขายึดอำนาจกัน ไม่เข้าไปยุ่งกับฝ่ายไหน (น.15)

คำถามคือ กรณีบทบาทของ “สมเด็จพระสังฆราชที่รับนิมนต์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนำพระสงฆ์ผ่านกองทัพยึดอำนาจที่ล้อมวัง เข้าไปทำสังฆกรรมผูกสีมา และอุปสมบทข้าราชการผู้ใหญ่แล้วนำพระใหม่อดีตขุนนางมาอยู่ในวัดอย่างปลอดภัย” นั้น  นี่เป็น “บทบาททางการเมือง” แบบหนึ่งที่เป็นการช่วยเหลือกลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่

นี่ไม่ใช่แปลว่า การที่พระสงฆ์ (สมเด็จพระสังฆราช) แสดงบทบาทดังกล่าวนี้ได้ ย่อมชัดเจนว่าพระสงฆ์มี “ตำแหน่งแห่งที่”(position) ในระบบสังคมการเมืองแบบโบราณอย่างชัดเจน ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ระหว่าง “อาณาจักร - ศาสนจักร”หรอกหรือ

ท่านเจ้าคุณอธิบาย “หลักการ” ในการเสนอ “ความจริง” ของท่านว่า

...ที่ว่ามานี้แหละ เป็นเรื่องของความรู้ เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง เราควรจะค้นคว้าแสวงหาความรู้นั้น เมื่อรู้แล้ว เราก็จะมองเห็น หลักเห็นเกณฑ์ที่จะวัดได้ แล้วหลักความจริงนั้นก็ตัดสินเองว่า ใคร และอย่างไร เหนือการเมือง หรือไม่เหนือการเมือง ในเรื่องที่เป็นความรู้ มีหลักให้ดูอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปมัวยุ่งกับความคิดเห็นของคน ...

สังเกตว่า เวลาที่ท่านเจ้าคุณวิจารณ์คนอื่น ท่านมักจะใช้ข้อความทำนองนี้มากที่สุด หรือใช้เป็น “มาตรฐาน” เลยก็ว่าได้ คือข้อความนำนองว่า “เป็นเรื่องของความรู้ เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง ...ไม่ต้องไปมัวยุ่งกับความคิดเห็นของคน” แต่ที่จริงสิ่งที่ท่านเจ้าคุณกำลังทำอยู่ก็หนีไม่พ้นเรื่อง “ความเห็น” เพราะท่านเจ้าคุณก็ใช้วิธีการนำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นักบวชฝรั่ง” มาเปรียบเทียบกับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นักบวชไทย” (ซึ่งเป็นข้อมูลเพียงบางส่วน) แล้วก็ให้ “ความเห็น” ว่า “นักบวชฝรั่งอยู่ในการเมือง แต่นักบวชไทยอยู่เหนือการเมือง” (แต่เป็น “การเมือง” ตามกรอบการนิยามหรือตาม “ความเห็น” ของท่านเจ้าคุณ)

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการตีความ หรือการให้ “ความเห็น” ที่ต่างออกไป ต่อข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่ากับคณะสงฆ์ เช่นความเห็นของโดนัลด์ เค. สแวเรอร์ (Donald K. Swearer) ที่อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วสถาบันพุทธศาสนากับสถาบันกษัตริย์ในอุษาคเนย์ต่างมีความสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนกันและกัน พระบรมราชูปถัมภ์ที่มีต่อคณะสงฆ์แห่งพุทธศาสนามีลักษณะ “ต่างตอบแทน” กับการที่คณะสงฆ์ต้องสนับสนุนอำนาจอันชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ เขาอ้างถึงข้อสังเกตของไฮนซ์ บีเชิร์ต(Heinz Bechert) ว่า อำนาจทางศาสนาให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมือง 6 วิธี คือ

1. การสร้างเอกลักษณ์ผู้ปกครองในฐานะกษัตริย์แห่งโลกในตำนาน (พระเจ้าจักรพรรดิ)

2. การให้เหตุผลสนับสนุนความสมบูรณ์แบบทางศีลธรรมและจิตวิญญาณแห่งความเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีอยู่ในตัวผู้ปกครอง

3. การบรรยายภาพพจน์ “กษัตริย์ในอุดมคติ” ในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์และปกป้องพุทธศาสนา

4.การให้เหตุผลแก่สิทธิอำนาจของผู้ปกครองว่าปกครองโดยธรรม กล่าวคือ “ราชธรรม”

5. ยกย่องผู้ปกครองเป็นเทวราชา เป็นผู้วิเศษ เช่นเป็นเทพตามคติฮินดู กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า และ

6. กษัตริย์ในอุษาคเนย์อาศัยการสนับสนุนควบคู่กันไปทั้งโดยพุทธศาสนาและลัทธิความเชื่ออื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนา[2]

จะเห็นได้ว่า จากความสัมพันธ์ “ต่างตอบแทน” ระหว่างพระสงฆ์กับรัฐสมัยโบราณ เราสรุปอย่างสอดคล้องกับ “ข้อเท็จจริง” และอย่างมี “หลักการ” ไม่ได้ว่า “ตำแหน่งแห่งที่” ของคณะสงฆ์ “อยู่นอก” หรือ “อยู่เหนือ” ปริมณฑลของการเมืองแบบโบราณ

แต่เราสามารถสรุปได้อย่างสอดคล้องกับ “ข้อเท็จจริง” และ “หลักการ” ของความสัมพันธ์ต่างตอบแทนนั้นเองว่า คณะสงฆ์อยู่ “ใน” การเมือง และอยู่ในการเมืองในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งมีบทบาทเป็น “กลไก” สนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจรัฐอย่างชัดเจน จะปฏิเสธความจริงนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถลบสิ่งที่ท่านเจ้าคุณเรียกว่า “ความรู้ ข้อมูลข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐสมัยเก่า (อย่างน้อยนับแต่สมัยพระเจ้าอโศกเป็นต้นมา) ทิ้งไปได้เท่านั้น

จริงอยู่พระสงฆ์ไม่ได้เป็นขุนนางแบบนักบวชคริสต์ (เพราะมีพื้นฐานความเชื่อ และกฎทางศาสนาต่างกัน) แต่พระสงฆ์ก็มีสมณศักดิ์ ชั้นยศซึ่งได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ จากรัฐสมัยเก่า เช่น ชนชั้นปกครองบริจาคทาส ที่ดินให้แก่พระสงฆ์ตามลำดับสูง ต่ำของสมณศักดิ์ และพระสงฆ์ก็มีหน้าที่สอนศีลธรรมตามความประสงค์ของชนชั้นปกครองด้วย[3] เป็นต้น

อีกอย่าง การที่นักบวชคริสต์อ้างทฤษฎี “เทวสิทธิ์” (Divine Right) สนับสนุนความชอบธรรมแห่งอำนาจของกษัตริย์ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่คณะสงฆ์อ้างทฤษฎีธรรมราชา โพธิสัตวราชา พุทธราชาสนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจกษัตริย์ยุตโบราณในอุษาคเนย์

จะว่าไปนักบวชคริสต์ถึงจะอ้างว่ากษัตริย์ใช้อำนาจในนามของพระเจ้า แต่เขาก็ไม่เคยอ้างกว่ากษัตริย์เป็นพระเจ้าเสียเอง เขายังยืนยันว่ากษัตริย์เป็นเพียง “มนุษย์” เหมือนคนทั่วไป ต่างแต่ใช้อำนาจในนามของ God เท่านั้น

แต่ภายใต้ความสัมพันธ์ “ต่างตอบแทน” ในระบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “อาณาจักร-ศาสนจักร” ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาผสมพราหมณ์ในยุคเก่านั้น ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมการเมืองของคณะสงฆ์ก็คือตำแห่งของผู้สอนศีลธรรมซึ่งมีบทบาทสนับสนุนการปกครองโดยธรรม ตามอุดมคติทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนานั่นเอง ฉะนั้น ในทางความเป็นจริงแล้วคณะสงฆ์จึงมีบทบาทถ่ายเท “ความเป็นศาสนา” ไปสู่ “รัฐ (กษัตริย์)” อย่างชัดเจน ด้วยการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนความเป็นธรรมราชา โพธิสัตวราชา พุทธราชา กระทั่งเทวราชาของผู้ปกครอง

ความเป็นธรรมราชา โพธิสัตวราชา พุทธราชา กระทั่งเทวราชาของผู้ปกครองนี่เอง คือสิ่งบ่งบอกความเป็น “รัฐพุทธศาสนาผสมพราหมณ์” ในระบบการเมืองยุคเก่า ถามว่าภายใต้รัฐเช่นนี้ คณะสงฆ์อยู่นอก หรืออยู่เหนือการเมืองอย่างไรหรือ

นอกจากนี้ท่านเจ้าคุณ ยังเขียนว่า

เอาง่ายๆ เวลานี้ ที่เมืองไทยอยู่ในระบบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญก็บอกไว้ว่า ภิกษุสามเณร “เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” นี่คือขาดหรือสูญเสีย(สละ)สิทธิพื้นฐานทางการเมือง ก็เป็นอันว่า ภิกษุสามเณรทุกรูป ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อยขั้นไหน ก็ไม่มีบทบาทในการเมือง แค่เลือกตั้งก็ยังไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรในการเมือง เพราะฉะนั้น พระเณรจึงต้องศึกษาให้รู้และให้ความรู้อย่างดีแท้ ที่นำเขาได้ จึงจะสมกับที่เขาให้อยู่เหนือการเมือง ทั้งสามเณรและหลวงพี่ก็รู้ว่าพระเณรไม่อยู่ในการเมือง ถ้าจะเถียงกัน ก็ทำได้แค่ว่า หลวงพี่บอกมา เรานี่อยู่เหนือการเมืองนะ แต่สามเณรแย้งว่า ไม่ใช่ เราอยู่นอกการเมืองครับ เมื่อไม่อยู่ “ใน” ก็เถียงกันได้แค่ว่า “เหนือ” หรือ “นอก” ถ้าแน่กว่านั้น ก็ “นำ” การเมืองเลย (นำทางไปในธรรมและโดยธรรม อย่านำไปนอกธรรมด้วยอธรรม) (น.17)

แปลว่า “อยู่ในการเมือง” ในบริบทสังคมการเมืองไทยปัจจุบันตามทัศนะของท่านเจ้าคุณ หมายถึง “อยู่ในการเมืองแบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย” เท่านั้น นี่เป็นมายาคติสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ท่านเจ้าคุณหรือชาวพุทธบ้านเราโดยทั่วไปมองไม่เห็น “ช้างในห้อง”[4] อันได้แก่การที่คณะสงฆ์ไทยอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยอำนาจรัฐ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นโครงสร้างการปกครองสงฆ์แบบที่กำหนดขึ้นในสมัย ร.5 ทำให้พระสงฆ์ไทยที่มีตำแหน่งปกครองมีสถานะเป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” ตามกฎหมาย มีสมณศักดิ์ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์อย่างหนึ่ง (ขุนนางพระ) ซึ่งทำให้คณะสงฆ์มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็น “กลไก” สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม

นี่ไม่ใช่ “โครงสร้างแบบการเมือง” ของคณะสงฆ์ไทยที่ทำให้คณะสงฆ์ต้องเป็นกลไกสนับสนุน “การเมือง” ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาโดยตลอดหรอกหรือ (และไม่ใช่โครงสร้างที่ก่อให้เกิด “ปัญหาการเมืองภายใน” ของคณะสงฆ์เองมาโดยตลอดหรอกหรือ)

ภายใต้โครงสร้างดังกล่าวนี้ “ช้างตัวใหญ่ในห้อง” ที่ชาวพุทธบ้านเราแสร้งมองไม่เห็นคือ “ถ้าเป็นการเมืองแบบยุคเก่าหรือที่ตกทอดมาจากยุคเก่า เช่นการเมืองที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ยุ่งได้เต็มที่ สนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมได้เต็มที่ ไม่ถือว่ายุ่งการเมือง”

นี่คือมายาคติ “เหนือการเมือง” ที่ทำให้พระสงฆ์ไทยมีสถานะพิเศษ คือสถานะผู้ผลิตศีลธรรมสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและอ้างอิงใช้ศีลธรรมพุทธศาสนาตรวจสอบ ตัดสิน “นักการเมือง” ที่ประชาชนเลือกเท่านั้น โดยถือว่าศีลธรรมทางการเมืองแบบพุทธศาสนานั้น “สูงส่งกว่า” ศีลธรรมทางสังคมการเมืองสมัยใหม่ (สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค)

ฉะนั้น ข้อเสนอของท่านเจ้าคุณที่ว่า “ถ้าแน่กว่านั้น ก็ “นำ” การเมืองเลย (นำทางไปในธรรมและโดยธรรม อย่านำไปนอกธรรมด้วยอธรรม)” คำถามอยู่ที่ว่า “ธรรม” ทางสังคมการเมืองในกรอบการตีความของคณะสงฆ์ไทยตามเป็นจริงนั้น สนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยกันแน่

แท้จริงแล้ว สิ่งที่เราพึงตระหนักและเรียนรู้จากตะวันตกคือ สังคมตะวันตกนั้น นักบวชเขายอมรับความจริงแต่แรกว่าเขาเข้าไปยุ่งกับการเมืองตรงๆ เพราะเขาถือว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมือง แต่เมื่อได้บทเรียนจาก “ยุคกลาง” สังคมตะวันตกถึงได้แยกบทบาทของรัฐกับศาสนาออกจากกัน โดยถือว่ารัฐต้องปกครองด้วยหลักการทางโลก เป็น “รัฐทางโลก” (secular state) ไม่เป็นรัฐศาสนาที่ปกครองด้วยหลักตามความเชื่อทางศาสนาอีกต่อไป

แต่กรณีของไทยนั้น ทั้งๆ ที่ชาวพุทธเราชูการรู้ “ความจริง” และการแก้ปัญหาบนฐานของ “ความจริง”  แต่กลับสร้าง “มายาคติ” หรือ “สภาพการหลอกตัวเอง” ทำให้เราไม่มองความจริงทางประวัติศาสตร์และสภาพปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาและอย่างวิพากษ์วิจารณ์

เลยแก้ปัญหาระบบสังคมการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้อย่างตะวันตก ก็อยู่กับมายาคติหรือสภาพเบลอๆ ไปเรื่อยๆ แบบบอกตัวเองไม่ถูกว่า รัฐไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย จะเป็นรัฐศาสนา-กึ่งกึ่งศาสนา หรือเป็นรัฐทางโลก

 

 

อ้างอิง



[1]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี, (กรุงเทพฯ: พิมสวย, 2554)

[2] Donald K. Swearer, The Buddhist World Southeast Asia, (New York : State University New York Press, 1995), p.64.

[3]จิตร ภูมิศักดิ์, โฉมหน้าศักดินาไทย, (นนทบุรี, ศรีปัญญา, 2550), น.137

[4] สำนวน “ช้างอยู่ในห้องแต่มองไม่เห็น” เป็นสำนวนฝรั่ง หมายถึงสิ่งที่น่าจะเห็นกันง่ายๆ โต้งๆ แต่กลับถูกมองข้าม (ดู ธงชัย วินิจจะกูล, สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง, เชิงอรรถ น.221)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท