รายงานเสวนา: กฎหมายกับความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์


พิรงรอง รามสูต-คณาธิป ทองรวีวงศ์-พ.ต.อ.สมพร แดงดี

1 พ.ย. 2557 ในการเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ "กฎหมายกับความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์" ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนิยามของ Privacy ว่า ในภาษาไทยไม่มีคำแปลโดยตรง ซึ่งนั่นอาจบ่งบอกว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันก็ได้

พิรงรองกล่าวว่า นิยามเดิมของ privacy ยุคแรกเป็นเรื่องของสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของบุคคล เช่น กรณีการถูกแอบถ่ายโดยปาปารัสซีแล้วนำไปขายให้กับสื่อและถูกนำภาพไปเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยที่บุคคลนั้นไม่ให้ความยินยอม ต่อมาในยุคที่การใช้คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลาย นิยามจึงเปลี่ยนจากมิติทางกายภาพสู่มิติของข้อมูล เป็นเรื่องของการถูกนำข้อมูลมาเชื่อมโยงโดยไม่ได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตาม พิรงรอง เสริมว่า การมองว่าอะไรคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็ขึ้นกับวัฒนธรรมด้วย โดยยกตัวอย่างการสำรวจหนึ่งที่พบว่า ชาวอเมริกันรู้สึกว่า การบุกรุกของตำรวจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ชาวแคนาดามองว่า การโจรกรรมหรือย่องเบาเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่ไทย มองเรื่องการเปิดเผยความลับ ส่วนญี่ปุ่นมองว่าการตีแผ่เรื่องราวส่วนตัวของนักการเมืองเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล  

พิรงรองชี้ว่า ในบริบทสื่อออนไลน์ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลยิ่งแย่ไปอีก เพราะไม่ว่าเราจะไปที่ไหน เราก็ทิ้งรอยเท้าไว้และถูกเก็บข้อมูลหมดแล้ว อาทิ การเก็บคุกกี้ การเก็บรหัสผ่าน ประวัติการใช้งานเว็บ หรือข้อมูลส่วนตัว ซึ่งจะถูกเก็บไว้ถาวรในโลกออนไลน์ จนทำให้มีการพูดถึงสิทธิที่จะถูกลืม (การที่ผู้ใช้สามารถร้องขอต่อศาลให้ผู้ให้บริการสามารถลบข้อมูลของตนได้ หากผลการค้นหานั้นล้าสมัยและไม่เกี่ยวกับตัวเองอีก-ประชาไท)

พิรงรองกล่าวว่า ในรัฐสมัยใหม่ มีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล รัฐต้องคุ้มครองว่าใครจะเข้าถึงได้บ้าง ทั้งนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคลนั้น มีทั้งในระดับนานาชาติ อย่าง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวมถึงในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีกฎหมายนี้ ขณะที่ไทยยังไม่มี แม้ว่าจะมีความพยายามออกกฎหมายตั้งแต่ปี 2533 มีการนำเข้าสภาแล้วทั้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ก็ยังไม่ผ่านจนกระทั่งตอนนี้ร่างล้าสมัยไปหมดแล้ว ส่วน พ.ร.บ.ที่อาจจะใกล้เคียงคือ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ก็คุ้มครองเฉพาะข้อมูลที่อยู่ในมือของรัฐ

"ถ้าเรามองว่าเสรีภาพในการแสดงออกสำคัญและจำเป็น สิทธิบุคคลก็มีความสำคัญเช่นกัน" พิรงรองกล่าวและว่า สิทธิส่วนบุคคลสำคัญมากต่อรัฐประชาธิปไตย โดยรัฐประชาธิปไตยมีหน้าที่คุ้มครองเรื่องนี้ให้ประชาชน  

คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวถึงพฤติกรรมการเผยแพร่ข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์คกับการละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยแบ่งเป็นการแชร์ข้อมูลเชิงลบ ข้อมูลเชิงบวก และการเปิดเผยตัว

หนึ่ง การแชร์ข้อมูลเชิงลบ อาทิ การถ่ายรูปประจานคนที่สังคมออนไลน์มองว่าทำผิด เช่น กรณีเด็กหญิงอายุ 17 ปีขับรถชนรถตู้บนทางด่วน ซึ่งถูกตั้งเพจ "มั่นใจว่าคนเกินล้านเกลียด..." ซึ่งส่วนตัว มองว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายอาญาเรื่องการขับรถโดยประมาทอยู่แล้ว แต่ตั้งคำถามว่า สังคมออนไลน์มีสิทธิแค่ไหนในการขุดเรื่องต่างๆ มาแฉ พร้อมชี้ว่า เรามักไม่ตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ เห็นแล้วไลค์และแชร์ทันที ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาหากข้อมูลนั้นผิดพลาด เพราะแม้ว่าคนอาจจะลืมเรื่องราวไปแล้ว แต่อินเทอร์เน็ตไม่เคยลืมใคร จะลบออกไปไม่ได้ ในยุโรปยังมีเรื่องของสิทธิที่จะถูกลืม แต่ไทยยังไม่มีเรื่องการหมดอายุของข้อมูลตรงนี้

หรือกรณีของคนที่ถูกมองว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า แซงคิว ก็ถูกคนตั้งตัวเป็นตำรวจ เป็นนักสืบไซเบอร์ เอาภาพเอาข้อมูลเขามาเผยแพร่ ถามว่าอะไรคือบรรทัดฐาน การมีพฤติกรรมแบบนี้ผิดกฎหมายไหม หรือทราบหรือไม่ว่าเขาเจตนาไหม แต่เขาถูกลงโทษโดยการลงทัณฑ์ทางสังคมไปแล้ว

คณาธิปชี้ว่า หากเป็นความผิดตามกฎหมาย ยังมีหลักอ้างอิงอย่างข้อกฎหมายและมีวิธีพิจารณาทางกฎหมาย มีขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ต้องผ่านตำรวจ อัยการ ศาล แต่มาตรการออนไลน์นั้นไม่มีสิ่งเหล่านี้ และลงท้ายกลายเป็นว่ามีข้อมูลส่วนบุคคลมหาศาลถูกถ่ายเทลงไปในโลกออนไลน์

สอง การแชร์ข้อมูลผู้อื่นเชิงบวก เช่น กรณีของ เอ้อ หม่า อี้ หญิงพิการ ที่คนไปตามถ่ายภาพเขา แล้วเอามาแชร์ว่าเธอมีความพยายามในการใช้ชีวิต ถามว่า ผู้พิการควรมีสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ หรือกรณีตามถ่ายคนหน้าตาดีในอาชีพต่างๆ เกิดปาปารัสซีรายย่อย ไปสันนิษฐานแทนเขาว่าเขาอยากออกสื่อ

"privacy อยู่ที่ความยินยอม" เขากล่าวและชี้ว่า กรณีนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกฎหมายอาญา เรื่องการหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นถกเถียง เช่น เรื่องว่าอะไรเป็นสาธารณะ เรื่องของบุคคลสาธารณะถูกแชร์ได้ตลอดหรือไม่ โดยกรณีประเทศไทยนั้น เดิม นักการเมืองจะถูกมองว่าเป็นบุคคลสาธารณะ ขณะที่ปัจจุบัน บุคคลทั่วไปตกเป็นเหยื่อ ทั้งที่ไม่ได้สมัครใจเข้าร่วมในประเด็นนั้นๆ เลย

สาม การแชร์ข้อมูลของตนเอง เช่น การถ่ายเซลฟี่ การด่ากันลอยๆ ไม่ระบุชื่อเพื่อเลี่ยงกฎหมายหมิ่นประมาท การแชร์พิกัดที่อยู่ ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยได้ ประเด็นนี้ไม่ค่อยมีความผิดทางกฎหมายเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ชี้ว่ามีประเด็นของการตลาดที่บังคับให้คนต้องแชร์เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษบางประการ เช่น ส่วนลด แม้แต่หน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงาน ก.พ. ยังมีแคมเปญ “Selfie Your Future Through Education” ชวนถ่ายเซลฟี่ลุ้นเงินรางวัล ซึ่งเขาวิจารณ์ว่า ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลเพียงพอ แต่หน่วยงานของรัฐกลับสนับสนุนให้ใส่ข้อมูลลงไปมากๆ

ตอนหนึ่ง ผู้ฟังเสวนาถามว่าหากตนเองไม่อยากถูกเผยแพร่ภาพในรายงานข่าวจะมีกฎหมายใดใช้ได้หรือไม่ คณาธิปกล่าวว่า การถ่ายภาพเป็นการเก็บข้อมูลอย่างหนึ่ง หากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลผ่าน การเก็บข้อมูลจะต้องขอความยินยอมก่อน แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับสื่อ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดว่าแค่ไหน จึงถือเป็นการกระทำของสื่อมวลชน ส่วนหากใช้กฎหมายปัจจุบัน หากภาพที่นำมาเผยแพร่ ไม่ได้เป็นภาพปลอม หรือลามก ก็ถือว่าสามารถทำได้ เพราะเป็นการเผยแพร่ข้อเท็จจริง

ด้าน พิรงรอง ตอบว่า การเลือกมาปรากฏตัวในการเสวนาสาธารณะ ในพื้นที่สาธารณะนั้น เท่ากับว่าได้ยินยอมแล้ว และหากภาพที่นำมาเผยแพร่เป็นข้อเท็จจริงก็ถือว่าทำได้ ยกเว้นกรณีที่มีการจับภาพและนำไปเผยแพร่ด้วยอคติ อาจเป็นการหมิ่นประมาทได้ เช่น เห็นว่ามีบุคคลที่รักเพศเดียวกันกำลังมีพฤติกรรมบางอย่าง ก็จับภาพและนำไปเสนอ ถือเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น

ด้าน พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม (ปอท.) ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวบุคคล ประกอบด้วย 1. การถูกคุกคามจากปาปารัสซี 2. ความประมาทเลินเล่อของบุคคลที่ถูกละเมิดเอง หรือเจ้าของสถานที่ หรือเจ้าของเว็บไซต์ที่ถูกนำเนื้อหามาโพสต์ เช่น กรณีคลิปแอบถ่ายหญิงสาวขณะเข้าห้องน้ำ 3. ตั้งใจถ่ายกันเองแต่ภาพหลุด หรือถูกนำมาเป็นเครื่องต่อรอง เช่น กรณีคู่รักที่ถ่ายภาพขณะมีเพศสัมพันธ์ 4. การเปิดตัวเองต่อสาธารณะโดยคึกคะนอง

พ.ต.อ.สมพร ระบุว่า สำหรับการแก้ปัญหา มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ อยู่ โดยแบ่งเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความมั่นคงและอาชญากรรม โดยเรื่องของความมั่นคงนั้น แม้ไม่มีใครร้องทุกข์ก็จะดำเนินการเอง แต่เรื่องความเป็นส่วนตัว การหมิ่นประมาท ต้องมีการร้องทุกข์ ถ้าผู้เสียหายไม่เอาความ ก็เอาผิดไม่ได้

ต่อคำถามว่า ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการละเมิดความเป็นส่วนตัวหลายอย่าง เช่น การล่าแม่มดผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยเฉพาะกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่ ตำรวจหาข้อมูลจากการล่าแม่มด มาดำเนินการกับผู้กระทำผิด ซึ่งกรณีนี้แม้เหยื่ออาจกระทำความผิด แต่ก็ถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเช่นกัน ตำรวจมองว่ามีความผิดหรือไม่ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวคนอื่น หรือมองว่าเป็นพลเมืองดี   

"ในส่วนนี้ ปอท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เราเป็นเพียงหน่วยที่รับแจ้งหรือรับข้อมูลจากทุกๆ ท่าน ทุกๆ คน ทุกๆ กลุ่ม รับแล้วพิจารณากลั่นกรอง แต่ส่วนที่พิจารณาไปถึง เอ๊ะ คนนี้คุณไปเปิดเผยข้อมูลเขาถึงขนาดนั้น ผิดกฎหมายไหมเนี่ย ถ้ามันชัดเจน ก็คงจะต้องทำ แต่ถ้าไม่ชัดเจนก็เป็นข้อคิดหนึ่งที่ท่านพูดนะครับ แต่ไม่อยู่ในประเด็นที่เป็นงานหลักที่ ปอท.จะต้องทำ" พ.ต.อ.สมพร กล่าวและว่า แต่การสืบสวนการป้องกันการปราบปรามเว็บที่ไม่เหมาะสมเป็นงานหลักของ ปอท. ตามวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งองค์กร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท