Skip to main content
sharethis

29 ตุลาคมที่ผ่านมา โครงการไทยศึกษาภายใต้ศูนย์เอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้จัดปฐกถาสาธารณะภายใต้ชื่อ Inagural Stanley J. Tambiah Lecture in Thai Studies เป็นครั้งแรก โดยได้รับเกียรติจาก ศ.แคทเธอรีน บาววี่ เป็นองค์ปาฐก

 

อ.แทมบายห์ เป็นนักมานุษยวิทยาที่สร้างคุณูปการอย่างสำคัญต่องานศึกษาด้านพุทธศาสนา และความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาและความรุนแรงในไทยและในเอเซีย แนวคิดเรื่อง Galactic Polity ตลอดจนงานคลาสสิกของอาจารย์ อาทิ Buddhism and the Spirits in North-East Thailand, World Conqueror and World Renouncer : A Study of Buddhism and Polity in Thailand against a Historical Background นับเป็นงานสำคัญที่อ่านกันไม่เพียงแต่ในบรรดาผู้ที่ศึกษาศาสนาและประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ หากยังเป็น text พื้นฐานที่ต้องอ่านกันในหมู่นักศึกษามานุษยวิทยาที่สนใจสังคมอุษาคเนย์

แม้ว่า อ.แคทเธอรีน บาววี่จะเป็นศิษย์คนแรกของ อ.แทมบายห์เมื่อครั้งที่ยังสอนอยู่ที่ ม.ชิคาโก้ แต่ก็มิได้เป็นศิษย์ที่เจริญรอยตามแนวทางของอาจารย์อย่างเชื่อฟังนัก อาจารย์ได้เริ่มต้นการบรรยายว่า แม้ว่าจะเป็นศิษย์ที่เคารพรักในอาจารย์ แต่ก็เป็นศิษย์ที่ท้าทายครูมาโดยตลอด เปรียบได้กับ พญาลิงที่ท้าทายพระพุทธเจ้า ในนิทานพื้นบ้านจีนของพุทธฝ่ายมหายานที่เรารู้จักกันดี (The Monkey King and Buddha) แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาจารย์กลับพบว่า การท้าทายคัดง้างกับครูมักจบลงด้วยการต้องกลับมาใคร่ครวญและทบทวนความคิดของตนทุกทีไป เพราะไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่อาจารย์สนใจศึกษา ก็ยากที่พ้นไปจากเรื่องราวที่คนรุ่นครูได้บุกเบิกมาก่อนหน้า

 

หัวข้อปาฐกถาในครั้งนี้ มีชื่อว่า The Politics of Rituals: Humor and the Viccisitudes of Vessantara Jataka in Thailand โดย อ.แคทเธอรีน หรือที่เรามักเรียกเธออย่างเป็นกันเองว่า อ.แคท ได้ท้าทายความคิดทั้ง Theatre State ของ Clifford Geertz และ Galactic Polity ของแทมบายห์ ซึ่งมีฐานคิดคล้ายๆกันว่าด้วยโมเดลของการครองอำนาจนำของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะผ่านการแสดง พิธีกรรม หรือการควบคุมคนและทรัพยากรของรัฐศูนย์กลางผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นโมเดลที่มีลักษณะที่ค่อนข้างสมบูรณ์และทรงอำนาจ และแทบจะมองหาความขัดแย้งและความไม่ลงรอยได้อย่างยากลำบาก

แต่หากอ่านงานรุ่นครูของเธอ ควบคู่ไปกับงานของนักมาร์กซิสต์ในยุคสมัยเดียวกัน เช่น States and Social Revolutions ของ Theda Skocpol ก็จะเริ่มเห็นอะไรที่น่าสนใจขึ้นมาทันที รัฐที่ทรงอำนาจในการสร้างรูปแบบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ จะไม่ใช่รัฐที่เป็นองค์ปฏิมาที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จเหนือสังคมอีกต่อไป หากแต่เราจะสามารถมองเห็นรอยปริแตก วิกฤต และความไม่สามารถในการควบคุมความสมบูรณ์ของอำนาจของรัฐ ไม่ว่าที่แสดงออกในพิธีกรรม หรือความสัมพันธ์ทางสังคมก็ตาม

ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยา อ.แคทได้ใช้การศึกษาเรื่องการเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามของพระเวสสันดรชาดกในภาคต่างๆของประเทศไทย เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยระหว่างสิ่งที่เรียกว่า State craft กับ ritual เพราะในขณะที่พิธีกรรมที่ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐศูนย์กลางในการสร้างและเชิดชูอุดมการณ์ว่าด้วยการบำเพ็ญความดีและการให้ทาน (Virtue of generosity) สถาปนาอุดมการณ์ดังกล่าวขึ้นเป็นมรดกชาติ พิธีกรรมและประเพณีดังกล่าว ดังที่แสดงออกในงานบุญต่างๆในแต่ละภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นงานบุญผะเหวดของอีสาน หรือเทศน์มหาชาติในภาคเหนือ กลับมีความแตกต่างและหลากหลาย ชาวบ้านผู้ที่ประกอบพิธีกรรม มีการให้ความหมายและความสำคัญต่อพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป โดยมิได้ยึดโยงอยู่กับความหมายที่จำกัดความโดยรัฐส่วนกลาง ทั้งนี้ สำหรับชาวบ้านแล้วศาสนามิใช่สิ่งที่มีไว้เพื่อค้ำจุนอำนาจของศูนย์กลาง และพิธีกรรมก็มิใช่เรื่องของการแสดงถึงความขลัง อลังการณ์ของอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งานบุญของชาวบ้านจึงเป็นเรื่องความสนุกสนาน และอารมณ์ขันกลับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพิธีกรรม

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ กัณฑ์ของการเทศน์มหาชาติที่ได้รับความนิยมในภาคเหนือและภาคอีสาน กลับเป็นกัณฑ์ชูชก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มากไปด้วยเล่ห์ เพทุบาย เป็นตัวละครที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามของความดี การเสียสละ การไม่สะสมและความพอเพียง การเทศน์ในกัณฑ์นี้ ต้องอาศัยพระที่มีทักษะของการแสดงและมากความสามารถในการสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ฟังได้ ซึ่งแตกต่างไปจากการเทศน์มหาชาติในงานพิธีของส่วนกลางทั่วไป และแม้ว่าการเทศน์มหาชาติในท้องถิ่นจะถูกลดทอนความสำคัญลงจนเสื่อมความนิยม ทั้งจากการเข้ามาของพุทธศาสนานิกายธรรมยุตของรัฐศูนย์กลาง และจากการที่เป็นพิธีกรรมที่มีต้นทุนการจัดงานค่อนข้างสูง ชูชกก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้รับการพัฒนาให้เป็น cult ในสังคมสมัยใหม่ ที่นิยมบูชาเทพชูชกกันอย่างกว้างขวาง เพื่อความมั่งมี รำ่รวย และมั่งคั่ง จนความหมายดั้งเดิมของเวสสันดรชาดกแทบจะไร้ความหมายไปเลยทีเดียว

อ.แคทได้ทิ้งท้ายการปาฐกถาบูชาครูในครั้งนี้ไว้ว่า แม้ว่า Theatre State จะยังคงทรงอิทธิพลในการสร้างอำนาจนำของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังรัฐประหาร ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่ถูกนำมาแสดงซ้ำซากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร แต่ Cult of ชูชก ในรูปการณ์และสัญลักษณ์ที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการชูนิ้วมือ หรือการอ่านหนังสือ ในฐานะที่เป็นการแสดงออกของประชาชนในการตีความคัดง้างต่อพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของศูนย์กลาง จะยังคงเป็นหอกข้างแคร่ที่ตามหลอกหลอน Theatre State ต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net