Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของไทย ได้เขียน "จดหมายรัก" ถึง คสช.โดยตรง และได้สรุปสาระสำคัญลงในเฟซบุ๊กของท่าน

ผมขอสรุปอีกทีหนึ่งไว้ดังนี้ ท่านไม่รังเกียจระบอบปกครองเผด็จการ, อภิชนาธิปไตย, ราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด จะเป็นระบอบไหนก็ได้

"...ถ้าระบอบปกครองใดๆ ก็ตาม หากมีผู้นำที่เข้มแข็งเฉลียวฉลาด และมีความเห็นแก่ตัวน้อย ทั้งยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวอย่างจริงใจ พร้อมทั้งวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยมีที่ปรึกษาที่สามารถและรู้จักฟังประชาชน นี้แลคือระบอบที่ดีที่สุด"

ก็ไม่ใช่ความคิดที่แปลกใหม่อะไร และที่จริงไม่ต้องอ้างปราชญ์ฝรั่งเลยสักคนเดียวก็ได้ เพราะนี่คือสาระสำคัญของแนวคิดธรรมราชาซึ่งเผยแพร่ในเมืองไทยจากอินเดียและลังกามาหลายร้อยปีแล้ว และแม้แต่การรัฐประหารทุกครั้งในเมืองไทยก็มักอ้างหลักการข้อนี้เป็นพื้นฐานเสมอ กล่าวคือ ประชาธิปไตยไม่สำคัญเท่ากับความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของประเทศไทย

(จึงไม่ต่างจากเจ้านายไทยนับตั้งแต่ร.5 เป็นต้นมา ที่เสด็จฯข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาในยุโรป เพื่อแสวงหาคำยืนยันคติที่ชนชั้นสูงไทยยึดถืออยู่แล้ว ในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือรัสเซีย)

หากคุณสุลักษณ์จะเขียน "จดหมายรัก" ถึง คสช.โดยตรง โดยมิได้นำสาระสำคัญมาเผยแพร่แก่สาธารณะ ไม่ว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร ก็คงไม่ใช่ธุระของคนอื่นจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่เพราะเมื่อเผยแพร่แก่สาธารณะแล้ว ก็เท่ากับว่าจดหมายฉบับนี้มุ่งจะ "ปราศรัย" กับคนไทยทั่วไปด้วย ผมจึงเห็นความจำเป็นต้องวิพากษ์จดหมายฉบับนี้

แนวทางการวิพากษ์ของผมในครั้งนี้ ผมเห็นความจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยวิธีที่ผมรังเกียจที่สุด นั่นคือพูดถึงบุคลิกภาพของผู้เสนอความเห็น แทนที่จะชี้ให้เห็นจุดอ่อนของความเห็น แต่ผมคิดว่าหากเริ่มต้นด้วยวิธีนี้ จะทำให้เข้าใจจุดอ่อนของความเห็นได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีไม่มากนักของหนังสือพิมพ์รายวัน

วิธีคิดของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์นั้นเป็นวิธีคิดของนักศีลธรรมโดยพื้นฐาน หนักแน่นมั่นคงกับความเป็นนักศีลธรรมยิ่งกว่าผู้ที่ชอบอ้างศีลธรรมทุกคนในเมืองไทย อย่างน้อยก็เพราะคุณสุลักษณ์ไม่เคยฉวยอามิสใดๆ ใส่ตนเองหรือบริษัทบริวารเลย

ผมไม่มีความรังเกียจนักศีลธรรม ซ้ำยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่สังคมใดๆ ไม่ควรขาดด้วย แม้เราอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของเขา แต่นักศีลธรรมคือผู้ที่คอยเตือนสังคมให้นึกถึงสิ่งสำคัญบางอย่างที่เรามักหลงลืมไป แม้เขาอาจเตือนอย่างตื้นเขินอยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เขาเตือนนั้นสำคัญ ซึ่งเราควรทบทวนให้ดี แม้แต่ไม่ยอมรับก็ยังต้องทบทวนอย่างรอบคอบ

แต่ก็เหมือนกับนักศีลธรรมทั่วโลก วิธีคิดของคุณสุลักษณ์คือวิธีคิดที่ไม่มีบริบท ทุกอย่างถูกตัดสินได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทุกด้านซึ่งกำหนดพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์

ใน"จดหมายรัก" คุณสุลักษณ์พูดถึงประชาธิปไตยของโรมันประหนึ่งว่าเป็น "ประชาธิปไตย" เดียวกันกับที่เกิดในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แต่ทั้งฐานคิดและแนวทางปฏิบัติของ "ประชาธิปไตย" โรมันและหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นระบอบเดียวกัน แม้จะใช้ชื่อเดียวกันก็ตาม

Eric Hobsbawm เรียกการปฏิวัติที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ว่าเป็น "การปฏิวัติแฝด" นั่นคือการปฏิวัติทางการเมืองและสังคมในฝรั่งเศส และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ สาระสำคัญไม่ใช่เพราะการปฏิวัติแฝดนี้เกิดในเวลาเดียวกัน แต่เพราะ 1.การปฏิวัติทั้งสองมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนในยุโรปตะวันตกทั้งในแนวกว้างและลึกอย่างไพศาล และ 2.ในที่สุดแล้ว การปฏิวัติทั้งสองผสานเข้าหากัน และกลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมือง, สังคม, วัฒนธรรม และเศรษฐกิจให้แก่กันและกันอย่างแยกไม่ออก

ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว คือการเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของกระฎุมพี ซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือเจ้าศักดินาเดิม จึงอาจรื้อทำลายขนบประเพณีทางชนชั้นซึ่งเจ้าศักดินาได้ประโยชน์ลงได้ แย่งอำนาจทางการเมืองมาไว้ในมือตนเพื่อขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนไปทั่วโลก สร้างระบอบ "ประชาธิปไตย" ซึ่งไม่เพียงแต่ลดหรือสลายอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้าศักดินาลงเท่านั้น แต่ที่เป็นภัยอันน่ากลัวแก่กระฎุมพีมากกว่าคือ ต้องกีดกันคนชั้นล่างซึ่งถูกการปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยนให้กลายเป็นแรงงานที่ยากจนข้นแค้นและไร้ความมั่นคงในชีวิตออกไปจากอำนาจทางการเมืองด้วย

เงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีในสมัยโรมัน"ประชาธิปไตย" ของโรมันจะมีความหมายอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ได้มีอะไรเหมือน "ประชาธิปไตย" ของยุโรปตะวันตกในศตวรรษที่ 18 เลย ยกเว้นแต่ชื่อ เพราะโรมันไม่มีกระฎุมพีจำนวนมากเท่านั้น ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อย (หรือถีบส่ง)แรงงานจากท้องไร่ท้องนาเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม จักรวรรดินิยมของโรมันจึงมีระบบขูดรีดที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากจักรวรรดินิยมยุโรปตะวันตกฯลฯ

และที่ยิ่งกว่าปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์การเมืองจักรวรรดิโรมันไม่ใช่รัฐประชาชาติ ในขณะที่รัฐต่างๆ ในยุโรปตะวันตก นับตั้งแต่ (อย่างน้อย) ต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นรัฐประชาชาติหมดแล้ว...รัฐเดียวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ยอมรับความเป็นเจ้าของรัฐของพลเมืองอย่างเสมอภาค

แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าเมื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไปถึงขั้นนี้แล้ว สูตรของซิเซโร (การถ่วงดุลระหว่างประชาธิปไตย+อภิชนาธิปไตย+ราชาธิปไตย) ยังเป็นคำตอบให้แก่ยุโรปได้อีกหรือ เป็นไปได้หรือที่ในยุโรปตะวันตก ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ลงมา ที่ "รัฐบาลนั้นควรปกครองโดยอาศัยวุฒิสภา (สภาของอภิชน) โดยที่ราษฎรย่อมได้อิสรภาพ แต่ราษฎรแทบไม่มีส่วนในทางพฤติกรรมการเมือง..."

คำตอบของซิเซโรใช้กับเมืองไทยในคริสต์ศตวรรษที่21 ได้หรือ สภาของอภิชนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (และหาก คสช.ยังมีอำนาจอยู่ต่อไปก็คงในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย) ตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจแห่งวาทศิลป์ของซิเซโรและสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรืออำนาจเผด็จการทหารกันแน่

ท่ามกลางความบกพร่องมากมายของ "ประชาธิปไตย" ที่ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกเหยียดว่าเป็นควาย มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือ ในอังกฤษซึ่งเหล่าอภิชนสามารถรักษาสถานะ (อย่างน้อยทางสังคม) ของกลุ่มตนไว้ในสถาบันโบราณทั้งหลาย เช่น สภาขุนนาง, มหาวิทยาลัย, ราชสมาคมต่างๆ, สนามกีฬา ฯลฯ พอมาถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 พื้นที่หวงห้ามเหล่านี้ก็เริ่มพังทลายลง ต้องเปิดให้ลูกหลาน "ควาย" เข้าไปจับจองที่นั่งกันอย่างเสมอหน้ากับอภิชน จนแม้แต่สภาขุนนางเองก็คงจะอยู่ไม่รอดไปในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 นี้แน่

ราคาที่อังกฤษต้องจ่ายเพื่อกีดกันมิให้ประชาธิปไตยแบบใหม่ขยายตัวได้นั้นแพงมาก แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงในเมืองไทย นั่นคือตลอดปลายศตวรรษที่ 18 และครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 อังกฤษอาจเป็นสังคมที่มีการจลาจลมากที่สุดในโลก เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ อันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกือบทุกวัน (E. P. Thompson บรรยายความปั่นป่วนนี้ไว้อย่างละเอียดใน The Making of the English Working Class)

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยนั้นมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ประชาธิปไตยนั้นปกป้องตนเองได้ไม่ดีนัก มีแต่หลักความชอบธรรมซึ่งแสดงออกด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การเลือกตั้งเสรี, เสรีภาพของสื่อ, สิทธิเสมอภาคของพลเมือง (อย่างน้อยในทางการเมือง) ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้อาจถูกฉ้อฉลได้ หรือยังไม่ถูกทำให้เป็นสถาบันเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาธิปไตยจึงเพลี่ยงพล้ำแก่ศัตรูอยู่บ่อยๆศัตรูสำคัญคือกองทัพซึ่งล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาอยู่เสมอ (แต่ก็ลดน้อยลงมากในปัจจุบัน นอกจากนี้กองทัพประจำการสมัยใหม่คุกคามความมั่นคงของทุกระบอบ รวมทั้งราชาธิปไตยด้วย สาธารณรัฐเกือบทุกแห่งเกิดจากกองทัพประจำการสมัยใหม่ทั้งนั้น) ศัตรูสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คณะบุคคลซึ่งผูกขาดอำนาจทางการเมืองในรูปของพรรคการเมือง หรือผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบจากฝ่ายอื่น

คุณสุลักษณ์พูดถึงคณาธิปไตยของทุนขนาดใหญ่ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกซึ่งจริงอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ โดยเฉพาะเมื่อต่างสมาทานอุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แต่หากคุณสุลักษณ์คำนึงถึงบริบทให้มากขึ้นก็จะเห็นได้ว่า เสรีนิยมใหม่ไม่ได้ครอบงำนโยบายเศรษฐกิจเฉพาะของประเทศประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ครอบงำระบอบปกครองทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่ราชาธิปไตย และเผด็จการทหาร

แต่ในขณะเดียวกัน หนังสือวิชาการที่โต้งานของ F. A. Hayek บิดาของเสรีนิยมใหม่ ตีพิมพ์ในประเทศประชาธิปไตย (รวมอินเดีย) มากที่สุด และน่าสังเกตว่าแทบไม่มีที่ตีพิมพ์ในประเทศเผด็จการ (แม้แต่คอมมิวนิสต์) เลย องค์กรทางสังคมและพรรคการเมืองที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ก็ผุดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยมากที่สุด จึงไม่แปลกที่การพังสลายของเศรษฐกิจสหรัฐและอียูจะถูกคนในประเทศนั้นชี้ให้เห็นว่าเป็นผลจากความไร้เหตุผลของลัทธิเสรีนิยมใหม่นั่นเองรวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้นในประเทศตะวันตกซึ่งคุณสุลักษณ์ยกขึ้นมา ก็ล้วนเป็นผลจากการศึกษาของคนในระบอบประชาธิปไตยตะวันตกเอง

พลังของระบอบประชาธิปไตยที่เหนือกว่าระบอบปกครองอื่นจึงอยู่ตรงนี้นั่นคือระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่แก้ไขความผิดพลาดของตนเองได้ แม้ต้องใช้เวลาและอาจถึงกับต้องหลั่งเลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยไปเป็นอันมาก แต่เลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยจะหลั่งอย่างไม่หยุดตลอดไป ภายใต้ระบอบอภิชนาธิปไตยและราชาธิปไตยหรือเผด็จการทุกรูปแบบ

คิดอย่างมีบริบทก็คือ ประชาธิปไตยเท่านั้นที่ปรับตัวได้ง่ายกว่าระบอบปกครองอื่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ไม่มีระบอบปกครองอะไรที่ไม่ต้องปรับตัว แต่ศักยภาพในการปรับตัวของระบอบอื่นเกือบเป็นศูนย์ จึงต้องผ่านการนองเลือดที่ไม่จำเป็นเสมอ

ปรัชญาการศึกษาของผู้ดีอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่19 ก็คือ ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นในโลกอีกแล้วหลังกรีก-โรมัน อันเป็นคติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเรอเนสซองซ์ แต่มีผลต่อการจัดการศึกษาชั้นสูงในอังกฤษสืบมาอีกนาน ไม่ใช่เฉพาะเนื้อหาที่ใช้เล่าเรียนกันเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อสร้างอภิชนที่ต้องมีหน้าที่นำผู้อื่นด้วย ผมเห็นว่าเป็นความคิดที่เหลวไหล (และแม้ในอังกฤษปัจจุบันเองก็มีคนเห็นว่าเหลวไหลเป็นส่วนใหญ่) แต่เป็นความคิดและระบบการศึกษาที่เหมาะจะสร้างนักศีลธรรม ซึ่งไม่ถูกเรียกร้องให้มองบริบทและเงื่อนไขซึ่งแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา คัมภีร์เล่มเดียวใช้ชี้เป็นชี้ตายคนอื่นได้ทั้งโลกชั่วกัลปาวสาน



 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:มติชนรายวัน 3 พ.ย.2557
ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net