Skip to main content
sharethis

การประท้วงต่อต้านการสร้างฐานทัพในโอะกินะวะดำเนินมาเป็นเวลานานแล้ว โดยผู้อาศัยในพื้นที่ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของสงครามโอะกินะวะต่างใช้วิธีการต่างๆ เพื่อต่อต้านและ 'ส่งเสียง' ให้โลกรับรู้ถึงคุณค่าในชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะถูกทำลายจากการตั้งฐานทัพทหารสหรัฐฯ


การประท้วงต้านการสร้างฐานทัพสหรัฐฯ ในเฮะโนะโกะ โอะกินะวะ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2557
ภาพโดย Ojo de Cineasta  (CC BY-NC-ND 2.0)


2 พ.ย. 2557 สื่อต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะร่วมกันสร้างฐานทัพสหรัฐฯ ในเมืองนาโก แหลมเฮะโนะโกะ เนื่องจากพวกเขาวางแผนก่อสร้างริมทะเลซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ ทำให้เกิดมลภาวะต่อทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงทำให้เกิดอันตรายต่อผู้คนในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่พากันประท้วง

นอกจากประเด็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชีวิตของคนในพื้นที่แล้ว การสร้างฐานทัพยังเป็นการละเมิดสิทธิด้านประชาธิปไตยของชาวโอะกินะวะในระยะยาว เช่นเรื่องความสามารถในการกำหนดนโยบายที่กระทบต่อชีวิตของพวกเขา อีกทั้งยังเป็นความถดถอยของทางการญี่ปุ่นในช่วงยุคของชินโซ อาเบะ ที่ยอมให้กองทัพสหรัฐฯ มีบทบาทในเอเชียเพิ่มมากขึ้น

ผู้คนในโอะกินะวะเดินทางด้วยเรือพายทั้งเรือแคนูและเรือคายัค เพื่อไปปักหลักตั้งเต็นท์ประท้วงปกป้องแหลมเฮะโนะโกะด้วยหลายวิธีการ ทั้งการชุมนุมจุดเทียน ใช้โปสเตอร์ ลงนามในระดับนานาชาติ และเดินขบวน แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าชาวโอะกินะวะต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ อย่างแข็งขัน


ประวัติศาสตร์การกดขี่

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นผู้พ่ายแพ้สงครามต้องทำสัญญากับสหรัฐฯ ในด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องที่อนุญาตให้สหรัฐฯ ยึดครองโอะกินะวะและตั้งฐานทัพในพื้นที่ ทำให้มีการตั้งฐานทัพหลายแห่งรวมประมาณร้อยละ 18 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดโอะกินะวะโดยอ้างกฎหมายปี 2496 เพื่อไล่ที่ประชาชนผู้อยู่อาศัย

ชาวโอะกินะวะพยายามเรียกร้องเพื่อกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นแทนที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพสหรัฐฯ เพราะอย่างน้อยก็หวังว่าการได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญสันติภาพที่เป็นประชาธิปไตยน่าจะทำให้พวกเขามีสิทธิมากกว่าการเป็นฐานทัพให้สหรัฐฯ แต่ความหวังของพวกเขาก็ไม่เป็นจริงเมื่อญี่ปุ่นทำข้อตกลงให้กองกำลังของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในโอะกินะวะได้ในปี 2515

การตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ มีมานานแล้วและส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่เนื่องจากมีการแอบส่งกำลังหัวรบนิวเคลียร์มายังเกาะตั้งแต่สมัยก่อนสงครามเวียดนาม รวมถึงเมื่อช่วงปี 2554 ก็มีการค้นพบว่ากองทัพสหรัฐฯ เก็บอาวุธเคมี 'ฝนเหลือง' (Agent Orange) ไว้ที่เกาะโอะกินะวะจนทำให้ทหารผ่านศึกสหรัฐฯ บางคนแสดงความกังวลว่าตนจะได้รับสารพิษ นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดการรั่วไหลจนส่งผลต่อพืชผลของชาวโอะกินะวะได้ ทั้งนี้ยังมีเรื่องมลภาวะทางเสียงจากการซ้อมรบและความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องบินรบด้วย

ผู้คนในโอะกินะวะแสดงการต่อต้านการมีอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ บนเกาะของพวกตนมานานแล้ว พวกเขามองว่ากองกำลังเหล่านี้ไม่ได้ต้องการคุ้มครองญี่ปุ่นแต่เพื่อใช้เป็นแหล่งยุทธศาสตร์ต่อจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น โดยผลสำรวจล่าสุดในเดือน เม.ย. ระบุว่าชาวโอะกินะวะร้อยละ 80 ต่อต้านการมีอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ นอกจากนี้ผู้นำท้องถิ่นทั้งหมดของเกาะ 41 เขตเทศบาลยังร่วมต่อต้านด้วย

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ในปี 2538 ที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ บนเกาะลักพาตัวและข่มขืนเด็กหญิงวัย 12 ปี ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาจนมีการประท้วงต่อต้านกองทัพสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ในโอะกินะวะ หลังจากเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ทางการสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันจัดตั้ง 'คณะกรรมการปฏิบัติการพิเศษในโอะกินะวะ' หรือ 'SACO' ซึ่งอ้างว่าเพื่อ "ลดภาระของประชาชนชาวโอะกินะวะและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ไปพร้อมๆ กัน" โดยมีการระบุว่าจะคืนพื้นที่ของกองทัพร้อยละ 20 ให้แก่ชาวโอะกินะวะ

แต่ในสัญญาของ SACO ยังระบุอีกว่าการคืนพื้นที่ดังกล่าวหมายความว่าจะต้องย้ายฐานทัพอากาศไปอยู่ที่ฐานทัพบนทะเล คือที่แหลมโออุระและเฮะโนะโกะในเมืองนาโก


ราคาของสงครามที่ขูดรีดเอากับพลเรือน

ทางด้านการประท้วงที่เมืองนาโกมีประชาชนซึ่งเป็นชาวประมงและชาวนามาปักหลักตั้งเต็นท์ประท้วงที่แหลมเฮะโนะโกะเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วซึ่งเป็นการประท้วงอย่างสันติเพื่อต้องการปิดเส้นทางเรือสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังยืนยันเดินหน้าโครงการสร้างฐานทัพต่อไป นอกจากนี้ยังมีการใช้เรือคายัคและเรือหาปลาเพื่อก่อกวนการขุดเจาะแท่นก่อสร้างเป็นเวลาหลายเดือน

การประท้วงแบบปักหลักในนาโกนำโดยกลุ่มคนสูงอายุที่รอดชีวิตจาก 'สมรภูมิโอะกินะวะ' (Battle of Okinawa) ซึ่งเป็นปฏิบัติการโจมตีหมู่เกาะริวกิวในพื้นที่โอะกินะวะโดยกองทัพสหรัฐฯ ส่งผลให้พลเรือนในพื้นที่เสียชีวิตราว 40,000 ถึง 150,000 คน จากการติดอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นและฝ่ายกองทัพสหรัฐฯ อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้คนทางตอนกลางและตอนใต้ของเกาะพากันอพยพไปทางตอนเหนือและอาศัยทรัพยากรแถบชายทะเลเพื่อประทังชีวิต

ผู้รอดชีวิตจากสงครามที่แหลมเฮะโนะโกะอาศัยทรัพยากรอาหารอย่างสาหร่ายทะเลและสัตว์ทะเลทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของโอะกินะวะเพื่อยังชีพทำให้แหลมเฮะโนะโกะมีความสำคัญในความทรงจำของผู้สูงวัยชาวโอะกินะวะ นอกจากนี้ยังถือเป็นแหล่งที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นทั้งป่าไม้ เต่าทะเล และปะการังสีน้ำเงิน นักวิจัยจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เคยค้นพบสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง ปู พันธุ์ใหม่ๆ ถึง 36 สายพันธุ์ในปี 2552

แต่แผนการสร้างฐานทัพที่เฮะโนะโกะซึ่งกินพื้นที่ราว 120 ถึง 160 เฮกเตอร์ (ราว 1,200,000 - 1,600,000 ตารางเมตร) จะทำลายทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำลายปะการัง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและอาจจะทำให้อาชีพการประมงของคนในพื้นที่สาบสูญไป


โปสการ์ดแสดงจุดยืน

หนึ่งในวิธีการประท้วงต่อต้านฐานทัพที่แหลมเฮะโนะโกะและโออุระคือการให้ผู้คนทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติส่งโปสการ์ดไปถึงที่ทำการของผู้ว่าราชการจังหวัดโอะกินะวะเพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผู้คิดโครงการนี้คือมาซามิ คาวามูระ เขากล่าวว่าโครงการโปสการ์ดยังแสดงถึงการสนับสนุนผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้คัดค้านการสร้างฐานทัพและเขาต้องการให้ผู้ว่าฯ ยังคงจุดยืนในการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งเอาไว้ให้ลูกหลาน

มีเด็กนักเรียนวาดรูปตัวการ์ตูนลงบนโปสการ์ด ขณะที่พ่อแม่ส่งรูปเด็กของตัวเองเพื่อเตือนให้ผู้ว่าฯ นึกถึงมรดกตกทอดสู่รุ่นคนถัดไป นอกจากนี้ยังมีโปสการ์ดหลากหลายดีไซน์และมีจำนวนมากที่มาจากต่างประเทศทั้งหมดล้วนมีจุดยืนเดียวกันคือการปกป้องทรัพยากรโลกไม่ให้ถูกฝังอยู่ใต้ฐานทัพทหาร

แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่ตัดสินใจในเรื่องนี้หลักๆ จะเป็นสหรัฐฯ มากกว่าทางการญี่ปุ่นเอง ซุซุมุ อินามิเนะ นายกเทศมตรีเมืองนาโกเคยให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงกลางปีนี้ว่าปัญหาหลักคือรัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีปากเสียงเลยในเรื่องนี้ เพราะทางการสหรัฐฯ จะอ้างเรื่องข้อตกลงที่ญี่ปุ่นจะต้องมอบพื้นที่ให้เป็นฐานทัพ และเมื่อมีการโต้เถียงในเรื่องนี้คำตอบที่ได้รับมักจะเป็นคำตอบแบบเดิมคือ "พวกเราอาจจะต้องการฐานทัพสหรัฐฯ ในยามสงคราม"

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้แทนชาวโอะกินะวะยังรู้สึกว่าทางการญี่ปุ่นไม่ฟังเสียงพวกตนมากเท่าที่ควร เคโกะ อิโตคาซุ ส.ส.จากโอะกินะวะและหนึ่งในประธานกลุ่ม 'ผู้หญิงโอะกินะวะต่อต้านความรุนแรงจากกองทัพ' กล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่กดดันสหรัฐฯ ในเรื่องการทำความสะอาดสารเคมีอันตรายที่รั่วไหล และพวกเขาไม่ฟังเสียงของชาวโอะกินะวะราวกับไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประเทศตัวเอง

อย่างไรก็ตามมีอีกหนทางหนึ่งที่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ Foreign Policy In Focus คือการให้พลเมืองชาวสหรัฐฯ ช่วยกดดันสมาชิกสภาคองเกรสว่าไม่ควรสร้างฐานทัพที่เฮะโนะโกะ ส่วนประชาชนในประเทศอื่นที่ต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยสามารถติดต่อเรื่องนี้ผ่านสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศตน หรือส่งข้อความสนับสนุนนักกิจกรรมในเฮะโนะโกะได้ที่ nohenokotakae@gmail.com

"ชีวิตเป็นสิ่งมีค่า พวกเราต่อต้านสงคราม พวกเราไม่ต้องการสูญเสียชีวิตอันมีค่าของพวกเราไปโดยการเข้าไปพัวพันกับสงคราม" อิโตคาซุกล่าวย้อนถึงเหตุการณ์สมรภูมิโอะกินะวะ


เรียบเรียงจาก

Resisting U.S. Bases in Okinawa, Foreign Policy In Focus, 22-10-2014
http://fpif.org/resisting-u-s-bases-okinawa/

Preventing the Next Battle of Okinawa, Foreign Policy In Focus, 11-07-2014
http://fpif.org/preventing-the-next-battle-of-okinawa/

Democratic Values and US Bases in Okinawa, The Diplomat, 26-01-2014
http://thediplomat.com/2014/01/democratic-values-and-us-bases-in-okinawa/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Forces_Japan#U.S._Presence_on_Okinawa
http://en.wikipedia.org/wiki/1995_Okinawa_rape_incident
http://en.wikipedia.org/wiki/1971_Okinawa_Reversion_Agreement

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net