Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสันติศึกษาร่างจดหมายเปิดผนึก ถึงผู้ทรงอำนาจ หากต้องการแก้ปัญหาป่าไม้อย่างสันติและเป็นธรรม ควรยกเลิกกฏอัยการศึกษา พร้อมชะลอแผนแม่บทป่าไม้ฯ และฟังเสียงประชาชนบ้าง

ภาพจาก : เว็ปพลิกฟื้นผืนดินไทย (4laws.info)

4 พ.ย. 2557 - เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2557 แฟนเพจพลิกฟื้นผืนดินไทย เผยจดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายสันติศึกษา ถึง กอ.รมน และคสช. ภายหลังจากได้จัดการประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง "การมีส่วนร่วมของประชาชนในแผ่นแม่บททรัพยากรป่าไม้ 2557" เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2557 ณ ห้องประชุมจุมภฎพันธ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก–รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดย เครือข่ายสันติศึกษา ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ

ข้อสรุปจากการประชุมตลอดวัน ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันว่า คสช. ควรพิจารณาชะลอการนำแผนแม่บททรัพยากรป่าไม้ฯ 2557 ไปปฏิบัติ พร้อมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผนแม่บทฯ และต้องมีการนำเสนอข้อเท็จจริงถึงข้อดี และข้อเสียของแผนให้แก่สาธารณชนได้ทราบ เพื่อที่จะขอความเห็นจากสาธารณชนด้วย ทั้งนี้คสช.ควรยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก เพื่อที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่จำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับวิถีชีวิตของตนโดยตรง

จดหมายเปิดผนึกถึง กอ.รมน และคสช.

สรุปการประชุมวิชาการเครือข่ายสันติศึกษา เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในแผนแม่บททรัพยากรป่าไม้ 2557” วันพุธที่ 29 ตุลาคม 2557 เวลา 08.30-16.00น. ณ ห้องประชุมจุมภฎพันธ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก–รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย เครือข่ายสันติศึกษา ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 จากสี่ภูมิภาคของประเทศ นักกิจกรรมและนักวิชาการ ประมาณ 80 คน ได้รับทราบแผนแม่บททรัพยากรป่าไม้ 2557 และเห็นว่าการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผล กระทบ และการทวงคืนผืนป่าภายในหนึ่งปีที่เป็นเป้าหมายของแผนนั้น จะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ยากไร้และสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ใน พื้นที่ป่า ทั้งนี้ตามนัยของคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557

ตามที่ กอ.รมน.กับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจาก คสช. ให้จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั้น แผนแม่บทฯ ได้กำหนดเป้าหมายที่จะให้มีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี จะหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกครอบครองให้ได้ภาย ใน 1 ปี อีกทั้งจะจัดระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและยั่งยืน ภายใน 2 ปี

การมีแผนแม่บทฯ นั้นมีข้อดีที่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนในด้านยุทธศาสตร์ของภาครัฐ และเป้าหมายที่กำหนดก็น่าจะเป็นที่เห็นพ้องได้พอสมควร วิทยากรท่านหนึ่งมีความเห็นว่า น่าจะนำแผนแม่บทฯไปใช้ก่อน “แต่เมื่อมีการปฏิบัติแล้วไม่ดี ก็ให้เสนอแก้ไข” อย่างไรก็ดี วิทยากรส่วนใหญ่เห็นว่า ควรพิจารณาทบทวนแผนแม่บทนี้ก่อนนำไปปฏิบัติ โดยขอให้เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของภาคประชาชนเป็นสำคัญ

ผู้เข้าประชุมได้เล่าประสบการณ์ความเดือดร้อนต่างๆ จากการที่รัฐ “ยึดคืนพื้นที่ป่า” ในครั้งนี้ ซึ่งทำให้นึกถึงการไล่รื้อชุมชนออกจากป่าตามโครงการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งรัฐได้จัดทำขึ้นหลังรัฐประหารโดยคณะ รสช. ในปี พ.ศ. 2534 และได้สร้างความทุกข์ยากแก่ชุมชนหลายต่อหลายแห่งมาแล้วในอดีต วิทยากรได้เสนอทางออกที่หลากหลาย เช่น

1) ควรนำที่ดินภายใต้โครงการปฏิรูปที่ดินของ สปก. ซึ่งได้เปลี่ยนมือไปอย่างผิดกฎหมาย กลับคืนมา (รวมทั้งที่ดินที่หมดอายุสัมปทาน) และจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ทำกิน รวมทั้งผู้ที่รัฐจะอพยพออกจากผืนป่า ทั้งนี้ต้องมีพื้นที่รองรับก่อนการอพยพดังกล่าว

2) ควรยอมรับในสิทธิของชุมชนในการจัดการพื้นที่ป่า

3) ควรปรับแนวคิดในการสร้างพื้นที่ป่าโดยถือว่าป่า เช่น แปลงวนเกษตร ที่เกษตรกรปลูกในที่ดินบางส่วนที่ตนครอบครองเป็นป่า ตามเป้าหมาย 40% ของพื้นที่ป่าของรัฐ

4) การให้ชาวบ้านร่วมรักษาป่ากับเจ้าหน้าที่

อนึ่งมีการเสนอด้วยว่า ควรยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่จะเอื้อต่อการมีส่วนร่วมอันจำเป็น อีกทั้งควรมีการดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินโดยออกกฎหมายภาษีที่ดิน และโฉนดชุมชน เป็นต้น

หลักคิดในการแก้ไขปัญหาในแผนแม่บทฯ ที่น่าสนใจคือ 1) การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนที่อาศัยทำกินก่อนการประกาศแนวเขตป่าไม้โดย ด่วน และ 2) ประชาชนคนไทยที่ยากจนทุกคนต้องมีที่ดินทำกินอย่างเหมาะสม

ในส่วนของหลักคิดแรก หมายถึง การเคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่กับป่าตามจารีตและวัฒนธรรมซึ่งรัฐจะ ต้องไม่ไปบีบบังคับให้ออกจากป่า และหมายถึงการเคารพสิทธิของชุมชนที่อยู่ในป่ามานาน โดยให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ที่ ไม่ใช้เฉพาะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งไม่ควรตีความ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และมติ คร.ม. วันที่ 30 มิ.ย. 2541 อย่างเคร่งครัด หากต้องใช้วิธีอื่นๆ ประกอบด้วย เช่นพยานบุคคล ตำนานชุมชน และคำนึงถึงความผ่อนปรนซึ่งใช้กับหลายชุมชนเมืองและชนบทที่เคยเป็นป่าหรือ ที่ดินสาธารณะมาก่อนเช่นกัน ส่วนชุมชนที่เข้าไปอยู่ป่าเมื่อไม่นานมานี้ ก็ควรนำหลักคิดที่สองมาใช้คือจัดที่ดินทำกินให้อย่างเหมาะสมทั้งในการทำการ เกษตรและความกลมกลืนทางสังคมด้วย

ในส่วนของการบริหารจัดการป่าไม้นั้น จะต้องใช้ศาสตร์หลายสาขาร่วมกัน โดยมีการจัดการที่เป็นระบบ และคำนึงถึงอเนกประโยชน์ในเชิงซ้อน โดยให้ชุมชนเป็นหลักในการจัดสรรประโยชน์จากป่า และรัฐทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและปกป้องชุมชนเป็นสำคัญ รัฐไม่ควรผูกขาดการรักป่า เพราะการรักษาป่าจะเกิดแต่การรักป่าของประชาชนนั่นเอง

ในส่วนของแผนแม่บทฯนั้น ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะขอให้ คสช. พิจารณาชะลอการนำแผนนี้ไปปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผนแม่ บทฯที่สำคัญนี้ ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรศึกษาข้อดีข้อเสียของแผนแม่บทฯ และนำเสนอเพื่อขอความเห็นจากสาธารณชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net