Skip to main content
sharethis
 
คปก.ร้องสนช.ชะลอพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม
 
นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวในการเสวนาปฏิรูปประกันสังคม ปฏิรูปประเทศ ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ถูกบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันพรุ่งนี้ไม่ตอบสนองต่อการปฏิรูปประเทศ ทาง คปก. จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี หรือ สนช. ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อนำกลับมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนตลอดจนผู้ประกันตน
 
ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างและกลุ่มแรงงาน จึงต้องการให้มีการแยกสำนักงานประกันสังคมออกเป็นองค์กรอิสระปราศจากการกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการประกันสังคมด้วย
 
อย่างไรก็ตาม นางสุนี กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนช. พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. อย่างรวดเร็ว ทำให้กฎหมายบางฉบับไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนโดนตรง
 
(ไอเอ็นเอ็น, 29-10-2557)
 
ไฟเขียว ก.แรงงาน เดินหน้าตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าว 
 
(30 ต.ค.) พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวโดยข้อมูลล่าสุด (29 ตุลาคม 2557) มีนายจ้าง 289,422 ราย พาแรงงานและผู้ติดตามมาจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1,489,264 คน แบ่งเป็นแรงงาน 1,403,053 คน ผู้ติดตาม 86,211 คน เมื่อแยกตามสัญชาติเป็นแรงงานพม่า 563,947 คน ผู้ติดตาม 38,949 คน แรงงานลาว 202,706 คน ผู้ติดตาม 8,788 คน และแรงงานกัมพูชา 636,400 คน ผู้ติดตาม 38,474 คน
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า หลังจากสิ้นสุดจดทะเบียนในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแนวทางการตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวโดยให้กรมการจัดหางานจัดตั้งศูนย์บริการตรวจลงตราและพิจารณาอนุญาตทำงานของแรงงานพม่า ลาว และ กัมพูชา โดยให้ยื่นแบบคำขออนุญาต คำขอทำงานผ่านระบบออนไลน์ และอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เท่ากันทุกคน ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประทับวีซ่าอยู่ที่คนละ 500 บาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และให้กระทรวงการต่างประเทศ มอบอำนาจให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีอำนาจตรวจลงตราแก่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ รวมทั้งผู้ติดตามโดยตรวจลงตราแก่แรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เท่ากันทุกคน
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า หลังจากแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผ่านการตรวจสัญชาติ และได้รับอนุญาตทำงานแล้วให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพใหม่
       
นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่อนผันการปราบปราม จับกุมดำเนินคดีกับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสัญชาติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในกิจการประมงตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2556 ที่เห็นชอบให้มีการจดทะเบียนปีละ 2 ครั้งโดยรอบแรกใบอนุญาตสิ้นสุดวันที่ 24 กันยายน 2557 และรอบสองใบอนุญาตสิ้นสุดวันที่ 2 มีนาคม 2558 ให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-10-2557)
 
ล็อกหนุ่มสเปนแสบ พาสปอร์ตเก๊เข้าไทย ตุ๋นส่งแรงงาน 100 ล.
 
หัวหน้าแก๊งหลอกเก็บหัวคิวแรงงานสเปนฉ้อโกงนับ 100 ล้านบาท เป็นตัวการสำคัญที่ทางการสเปนต้องการตัว ปลอมเอกสารหนีหลบซ่อนเมืองไทย ไม่รอดชุดสืบสวน สตม.ดักจับค่าสนามบิน ส่วนผู้ก่อการร้ายอินเดียมือ “คาร์บอมบ์” ที่ทางการอินเดียประสานตำรวจไทย ล่าตัว รรท.ผบช.สตม.สั่งชุดสืบสวนหาข่าวเชื่อกบดานในไทย
 
สืบสวน สตม.รวบหัวหน้าแก๊งตุ๋นแรงงานสเปนคาสนามบินรายนี้เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 30 ต.ค. ที่ บช.สตม. พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี รรท.ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.วราวุธ ทวีชัยการ ผบก.สส.สตม. พ.ต.อ.เชิงรณ ริมดี ผกก.ด่านตรวจคนเข้าเมือง พ.ต.ท.ศุภชัย พลเดช รอง ผกก.สส.ท่าอากาศยานกรุงเทพ บก.สตม.2 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมนายหลุยส์บัทเลย์ บียาเซกา (Mr.LuisBatlleVilaseca) อายุ 54 ปี สัญชาติสเปน พร้อมหนังสือเดินทางสัญชาติเม็กซิโกปลอม ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวน สตม.จับกุมผู้ต้องหาได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างเดินทางมากับสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD 619 จากเมืองเสียมราฐประเทศกัมพูชา เข้ามาประเทศไทยในวันที่ 29 ต.ค.
 
พ.ต.อ.เชิงรณกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้รับการประสานมาจากตำรวจประเทศสเปนให้ตรวจสอบการเดินทางของนายหลุยส์บัทเลย์ บียาเซกา ผู้ต้องหาซึ่งมีข้อมูลการเดินทางเข้ามาในไทย แต่ไม่พบฐานข้อมูลปรากฏตามชื่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย จึงได้ทำการตรวจสอบชื่อที่มีลักษณะคล้ายกันพบว่าชื่อนายหลุยส์ มานูเอล บัทเทิล คอสตา (Mr. Luis Manuel Batlle Costa) สัญชาติเม็กซิกัน ซึ่งในการสืบสวนพบว่าเป็นคนเดียวกัน ขยายผลทราบ ว่าผู้ต้องหารายนี้จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยในวันที่ 29 ต.ค. จากเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD 619 จึงได้สกัดจับกุมผู้ต้องหาได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหาได้มีการปลอมแปลงบัตรประชาชนและหนังสือเดินทางปลอม ก่อนดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
พ.ต.อ.เชิงรณกล่าวต่อว่า ผู้ต้องหารายนี้ถือ เป็นผู้ต้องหาที่ทางการสเปนต้องการตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อเหตุฉ้อโกงประชาชน โดยการโฆษณาจัดหาแรงงานในประเทศแถบอเมริกาใต้ว่าสามารถที่จะหางาน รวมทั้งเอกสารในการไปทำงานที่ประเทศแถบยุโรป ผู้ต้องหารายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับกลุ่มแรงงานที่ต้องการรายละ 500 ยูโร หรือ 2 หมื่นบาท ซึ่งที่ผ่านมาผู้ต้องหาหลอกลวงผู้เสียหายไปกว่า 5,000 ราย มูลค่ากว่า 2.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 100 ล้านบาท
 
สำหรับกรณี MR.JAKTAR SINGH TARA ผู้ก่อการร้ายชาวอินเดีย ที่ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ได้หลบหนีออกจากเรือนจำในประเทศอินเดีย ก่อนแฝงตัวเดินทางหลบหนีไปยังประเทศมาเลเซีย พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี รรท.ผบช.สตม. กล่าวว่า ตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหารายนี้ได้เข้ามาในไทยวันที่ 7 ก.ย. แต่ทางประเทศอินเดียประสานเข้ามาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. โดยผู้ก่อการร้ายชาวอินเดียได้ใช้หนังสือเดินทางประเทศปากีสถาน ขณะนี้ได้ออกหมายจับข้อหาผู้ร้ายข้ามแดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมอบหมายให้ชุดสืบสวน สตม.กระจายกำลังลงพื้นที่หาข่าว เชื่อว่าคนร้ายยังคงกบดานในไทย เนื่องจากตรวจสอบไม่พบข้อมูลการเดินทางออกนอกประเทศไทย
 
(ไทยรัฐ, 31-10-2557)
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติวาระ1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) (31 ตุลาคม 2557) มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยที่ประชุมได้มีมติในวาระที่ 1 รับหลักการ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 150 ต่อ 4 งดออกเสียง 19 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 18 คน ในจำนวนนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน กรอบเวลาในการดำเนินงาน 45 วัน
 
โดย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า สาระสำคัญในการแก้ไข คือ เรื่องความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ การแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า ลูกจ้าง ทุพพลภาพ ให้มีความชัดเจน รวมถึง การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มบทบัญญัติให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง ตลอดจนกำหนดโทษทางอาญากรณีนายจ้างไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ
 
ทั้งนี้ ในการอภิปรายของสมาชิกฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่าลูกจ้าง ในมาตรา 5 แห่งร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้กำหนดว่า ลูกจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ตามความในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แทน หมายรวมถึงลูกจ้างที่ทำงานในบ้านซึ่งไม่ได้ประกอบธุรกิจด้วยนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบในอนาคต ขณะที่ ในมาตรา 36 ที่ให้ผู้ประกันตน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือไม่ก็ตามและประสงค์จะไม่พำนักอยู่ในประเทศไทยให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพนั้น มีลักษณะที่ขัดกับพระราชบัญญัติผู้สูงอายุที่ให้ความคุ้มครองกับผู้มีสัญชาติไทย
 
นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตอีกหลายประการ ทั้งในกรณีผู้ประกันตน ซึ่งเป็นผู้พิการที่ถูกตัดสิทธิประโยชน์บางประการตามพระราชบัญญัติอื่นหลังเข้าเป็นผู้ประกันตน การขยายความคุ้มครองแรงงาน รวมไปถึงการขาดแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม
 
อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับคณะกรรมการประกันสังคม และกองทุนประกันสังคม ว่ามีเงื่อนไขติดขัดเกี่ยวกับโครงสร้างและข้อกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาหลายประการทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การลงทุน และสวัสดิการประชาชน จึงเสนอให้แยกคณะกรรมการประกันสังคม และกองทุนประกันสังคม ออกจากส่วนราชการ เพื่อการดำเนินงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นไปตามกลไกที่เป็นมาตรฐานสากล และตรวจสอบได้
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า กฎหมายนี้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อผู้ประกันตนและประเทศชาติ ที่ผ่านมา มีความพยายามจะผลักดัน แต่ไม่สำเร็จจนมาถึงสมัยนี้ ทราบดีว่าทุกคนมีความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ดีกว่าฉบับเดิม เพราะครอบคลุมไปถึงลูกจ้างของรัฐ และราชการที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย ส่วนเรื่องความโปร่งใสของคณะกรรมการบริหาร ได้พยายามใช้ความสามารถ รื้อบอร์ดทั้งหมดด้วยดุลยพินิจ แต่ยอมรับว่า หนักใจที่เงินกองทุนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงาน ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้องค์กรอิสระเข้ามาบริหารจัดการ แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่า จะบริหารเงินจำนวนมหาศาลได้สำเร็จ เพราะเป็นเงินจำนวนมาถึง 1.19 ล้านล้านบาท
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 31-10-2557)
 
ไปรษณีย์จ่อยกเครื่องพนักงาน มุ่งมั่นคุณภาพบริการเป็นเลิศ
 
นายปิยะวัตร์ มหาเปารยะ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากปัญหาคุณภาพการให้บริการไปรษณีย์ไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายการจ้างเหมา จ้างรายวัน พนักงานไปรษณีย์ โดยเฉพาะบุรุษไปรษณีย์ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการส่งจดหมายและพัสดุต่างๆ ซึ่งขณะนี้ไปรษณีย์กำลังเร่งปรับปรุงนโยบายด้านบุคลากรใหม่ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขในการจ้างพนักงานใหม่ โดยเฉพาะพนักงานจ้างเหมา จ้างรายวัน มีโอกาสก้าวหน้าในการทำงาน โดยมีสิทธิ์สอบเป็นลูกจ้างประจำ เป็นต้น
 
“ต้องยอมรับว่าการจ้างเหมาหรือจ้างรายวัน บางครั้งก็สร้างปัญหาให้ไปรษณีย์ หากมีเงื่อนไขที่ดี เช่น ทำงานจ้างเหมา 2 ปี มีสิทธิ์สมัครเป็นลูกจ้างประจำ มีสิทธิ์สอบเป็นพนักงานไปรษณีย์ในอนาคต ฉะนั้นเมื่อมีโอกาส และมีความมั่นคงแล้ว เชื่อว่าจะมีผลต่องานให้บริการของไปรษณีย์ไทยด้วย โดยจะนำเรื่องนี้หารือกับคณะกรรมการ (บอร์ด) ไปรษณีย์อีกครั้ง เพื่อขอรับทราบนโยบายการพัฒนาบุคลากรให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
 
อย่างไรก็ตาม แม้ไปรษณีย์จะนำระบบไอทีมาปรับปรุงการบริการให้เกิดความรวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ แต่งานไปรษณีย์ส่วนใหญ่ก็ยังคงจำเป็นต้องใช้คนในการให้บริการ เช่น บุรุษไปรษณีย์ ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการส่งจดหมายและพัสดุต่างๆตามบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งได้รับความไว้วางใจ ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีพนักงานทั้งหมด 20,000 คน พนักงานจ้างเหมาอีก 2,000 คน
 
(ไทยรัฐ, 1-11-2557)
 
กระทรวงแรงงาน สรุปยอดแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนรอบใหม่กว่า 1.5 ล้านคน เตือนผู้ประกอบการงดจ้างแรงงานผิดกฎหมาย
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สรุปจำนวนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการจดทะเบียน มีแรงงานมาจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีทั้งแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม
 
หลังจากนี้ หากนายจ้างฝ่าฝืน จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท ต่อการจ้างแรงงาน 1 คน ขณะที่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 2-11-2557)
 
กรมชลฯยันแล้งนี้ไม่มีน้ำ คิกออฟ 3 พ.ย.จ้างชาวนา 2 แสนครัวเรือนทำงาน
 
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เริ่มจ้างแรงงานชาวนา และเกษตรกรภาคอื่นๆในทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.เป็นต้นไป โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง 26 จ. ที่จะเริ่มคิกออฟเป็นจุดแรกเพราะเป็นพื้นที่ประกาศตามมติ ครม.ห้ามทำนาปรังในฤดูกาลผลิตนี้ ซึ่งสำนักงานชลประทานในทุกพื้นที่สามารถจ้างแรงงานชาวนาทำงานได้ทันที โดยใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 วงเงิน 2 พันล้านให้แล้วเสร็จช่วงสองเดือนพ.ย.และสิ้นสุด 31 ธ.ค.โดยต่อเนื่องงบปี58 วงเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท โดยจ้างแรงงานวันละ 300 บาทต่อคนต่อแรง เฉลี่ยเดือนละ 6,600 บาทต่อคน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งรัดจ่ายเงินค่าจ้างให้กับเกษตรกรทุก 15 วัน เพื่อกระจายเม็ดเงินลงสู่ชนบทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีให้เกิดความคล่องตัวจนถึงปีหน้า โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือจ้างแรงงานชาวนาที่ต้องหยุดทำนาปรัง 2 แสนครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ที่ไม่สามารรถประกอบอาชีพการเกษตรในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากกรมชลประทาน ได้ประกาศหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่ 1 พ.ย.57-1 พ.ค.58 โดยตนจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจ้างแรงงานชาวนาในพื้นที่ชลประทานที่ 12 ในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในวางระบบตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับเกษตรกรมากที่สุดเพราะเป็นเงินที่รัฐบาลต้องการช่วยให้ถือมือเกษตรกรตัวจริง
 
(แนวหน้า, 2-11-2557)
 
“บิ๊กเต่า” ยันไม่เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ หลังแรงงานขอเพิ่มวันละ 320 บาท
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรียกร้องให้คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้างทบทวนมติให้คงอัตราค่าขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไปจนถึงปี 2558 และเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 320 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าเครือข่ายแรงงานใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาขอปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มอีกวันละ 20 บาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อลูกจ้างและนายจ้างเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่รอดได้
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ (กบร.) เสนอขอปรับปรุงบัญชีโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ 37 แห่งต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์นั้นเป็นเพียงการรับข้อเสนอมาศึกษาในรายละเอียดเท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ และเมื่อมีข้อสรุปออกแล้วกระทรวงแรงงานก็ไม่มีอำนาจพิจารณาเพียงหน่วยงานเดียว จะต้องเสนอและได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย
       
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า สาเหตุที่คสรท. เสนอขอให้กระทรวงแรงงานปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 320 บาท เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ปรับขึ้นมา 2 ปีแล้ว ขณะที่ปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ส่วนที่เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 320 บาท นั้นความจริงแล้วตัวเลขค่าจ้างที่ทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ซึ่งเคยสำรวจไว้เมื่อ 2 ปีก่อนอยู่ที่วันละ 400 - 500 บาท อย่างไรก็ตาม คสรท. ไม่ได้เสนอตัวเลขนี้ เพราะประเมินแล้วนายจ้างไม่มีกำลังจ่ายให้ได้ และเมื่อได้พูดคุยกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เช่น นครปฐม สมุทรสาคร รวมทั้งพี่น้องผู้ใช้แรงงานประเมินว่าตัวเลขที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่วันละ 320 บาท ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็อยากให้กระทรวงแรงงานจัดทำโครงสร้างค่าจ้างโดยให้สถานประกอบการต่างๆ พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างตามอายุงานและประสบการณ์ของแรงงานแต่ละคน และในเร็วๆ นี้ คสรท. จะหารือกันเพื่อกำหนดแนวทางการเรียกร้องในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-11-2557)
 
กกจ. เร่งจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตกค้างกว่า 2 หมื่นคน คาดแล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ
 
นายพิชิต นิลทองคำ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร แรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้าน 3สัญชาติ ทั้งพม่า ลาวและกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการเปิดจดทะเบียน มี แรงงานมาจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1,564,015 คน แยกเป็นแรงงาน ประมาณ 1,474,000 คน ผู้ติดตามประมาณ 90,015 คน ทั้งนี้ยอดดังกล่าวยังไม่ใช่ยอดขึ้นทะเบียนทั้งหมด เนื่องจากวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีนายจ้างพาแรงงานมายื่นขึ้นทะเบียนจำนวนมาก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันจามกำหนด จึงต้องรับเรื่องและออกใบนัดหมายให้มาดำเนินการในภายหลังรวมกว่า 22,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 อาทิตย์ ส่วนยอดยื่นขอพิสูจน์สัญชาติ เพื่อรอเข้ากระบวนการขณะนี้มีประมาณ 12,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกัมพูชา อย่างไรก็ตาม หลังการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสิ้นสุดลง หากนายจ้างฝ่าฝืนจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่นถึง 1 แสนบาท ต่อการจ้างแรงงาน 1 คน แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 พัน ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
นายพิชิต กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ กรมการจัดหางาน จะร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ซึ่งจะมีการตรวจลงตราวีซ่า ออกใบอนุญาตทำงาน โดยมีกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558 - 31 มี.ค. 2559 เท่ากันทุกคน โดยแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-11-2557)
 
สธ.เร่งผลิต Care giver ดูแลคนแก่ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง เริ่ม 20 จังหวัดภายในปี 57
 
นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานการอบรมหลักสูตร Care manager รุ่นแรกของประเทศไทย ว่า ประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 7.5 ล้านคน หรือร้อยละ 11.7 ในปี 2553 เพิ่มเป็น 9.7 ล้านคน หรือร้อยละ 15 ในปี 2557 และ ร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยด้วยโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เข่าเสื่อม โรคซึมเศร้า และทุพพลภาพติดเตียง ขณะที่มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ไม่เป็นโรค ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 56 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุ 1 ใน 2 คน อ้วนและเป็นโรคอ้วน โดยมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 26 มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียว ประมาณ 6 แสนคน หรือร้อยละ 8 และอยู่ลำพังกับคู่สมรส มากถึง1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ผู้สูงอายุเพียง 1 ใน 4 ที่มองเห็นชัดเจน เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีปัญหาด้านการบดเคี้ยวอาหารและสุขภาพช่องปาก โดย ร้อยละ 48 มีฟันแท้เหลือน้อยกว่า 20 ซี่
 
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้พัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรวมถึงผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตโดยเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.การคัดกรองเพื่อจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิง และประเมินความจำเป็นด้านการสนับสนุนบริการและจัดบริการด้านสุขภาพและสังคม และ2.การจัดบริการด้านสุขภาพและสังคมรวมถึง มีผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) และฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) อย่างพอเพียงในสัดส่วน Care manager 1 คน ต่อ Care giver 5-7 คนและ Care giver 1 คนต่อผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง 5-7 คน โดยบูรณาการเรื่องการนวดไทยเข้าไปในหลักสูตร Care Manager และ Care giver เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุและผู้อยู่ในระยะพึ่งพิงรวมผู้พิการ โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการ 20 จังหวัดภายในเดือนธันวาคม 2557
 
“การดำเนินงานนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น และช่วยป้องกันค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้สูงอายุไม่ให้บานปลายแบบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาใช้แนวคิดการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่เช่นกัน สำหรับการจ้างงาน Care Manager และ Care Giver นั้น โดยปกติโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะเป็นผู้จ้าง โดยอาจจ้างเป้นลูกจ้างชั่วคราวรายวัน อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ตำบลหรือเทศบาลใดที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะจ้าง Care Manager และ Care Giver เอง โดยจ้างเป็นอัตราจ้างได้รับเงินขั้นพื้นฐานคือ 300 บาทต่อวัน”นพ.ณัฐพรกล่าว
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 3-11-2557)
 
กกจ.เผยสถิติรับคนพิการเข้าทำงานสูงขึ้นเรื่อยๆ 
 
วันที่ 4 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน นายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน กรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถิติการรับคนพิการเข้าทำงานและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของนายจ้าง ในปีงบประมาณ 2557 นั้น มีนายจ้างรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ พ.ศ.2550 ที่ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ 24,780 คน ซึ่งสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 จำนวน 19,167 คน ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 16,507 คน และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการของนายจ้าง
 
ตามมาตรา 35 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรับและสถานประกอบการที่ไม่ประสงค์รับคนพิการตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ต้องให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลือแก่ผู้พิการหรือผู้ดูแลผู้พิการได้  4,976 คน สูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2,884 คน ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 1,143 คน โดยการทำงานในมาตรา 33 ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่พิการทางการเคลื่อนไหว
 
สำหรับสาเหตุที่มีการรับคนพิการเข้าทำงานในมาตรา 33 และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในมาตรา 35 นั้นเกิดจากการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจของนายจ้างตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยเฉพาะตามมาตรา 35 ที่สถานประกอบการต่างๆนั้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว จึงหันมาส่งเสริมในมาตรานี้มากขึ้น เช่น การซื้อผลิตของคนพิการไปเป็นของขวัญหรือของชำร่วยช่วงปีใหม่ การจัดสถานที่ให้จำหน่ายสินค้า เป็นต้น
 
แนวโน้มการมีงานทำหรือการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่สูงขึ้นเรื่อยๆจะช่วยแก้ปัญหาการมีงานทำของคนพิการได้ ส่วนการส่งเสริมให้สถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตร 33 นั้น เป็นไปได้ยากเนื่องจากระบบสาธารณูปโภคส่วนใหญ่ยังไม่เอื้อต่อคนพิการ ทั้งการเดินทางที่อาจต้องเสียค่าเดินทางสูงซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน จึงมองว่าจำเป็นต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เอื้อต่อการเดินทางของผู้พิการ อีกทั้งจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความเชื่อมั่นของคนพิการและผู้ปกครองว่าคนพิการสามารถทำงานได้
 
(มติชน, 4-11-2557)
 
กกร.ลงมติเลื่อนลงนามกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศออกไปไม่มีกำหนด กรณีให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทย 
 
นายอิสระว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.มีมติให้ชะลอการเข้าร่วมลงนามสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อย่างไม่มีกำหนด โดยฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว หรือการตั้งสหภาพแรงงานคนต่างด้าวในไทย และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง หลังจากที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ขอให้ประเทศสมาชิก 183 ประเทศ ลงนามรับสัตยาบันอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
 
ทั้งนี้ที่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก กกร.ส่วนใหญ่เกือบ 100% ไม่เห็นด้วยกับการลงนามดังกล่าว เนื่องจาก ไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวซึ่งปัจจุบันมี 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานมจากพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนามและอื่น ๆ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทย อยู่ระหว่างการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทำให้อาจส่งผลกระทบต่อการจัดระบบในภาพรวมได้
 
“เป็นการสำรวจบริษัทที่เป็นสมาชิก 4,000 ราย เกือบ 100% ระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะลงนามกับไอแอลโอ เนื่องจากหากรวมตัวประท้วงของคนต่างด้าว เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ในเมืองไทยก็จะเป็นความวุ่นวายเพราะแค่การประท้วงของคนไทยเองด้วยกัน ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา นายจ้างคนไทยก็มีมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ดีอยู่แล้ว เพื่อเอาใจไม่ให้แรงงานต้องย้ายไปทำงานที่อื่น ๆแต่อนาคต หากไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ ก็จะพิจารณากันใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่าหลาย ๆ ประเทศก็ยังไม่มีการลงนามเช่นกัน”
 
(เดลินิวส์, 4-11-2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net