Skip to main content
sharethis

นิพนธ์ พัวพงศกร เผยงานวิจัย ‘คอร์รัปชั่น กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด’ ชี้มูลค่ารวมทุจริตในการระบายข้าว 0.94-1.09 แสนล้านบาท ระบุไม่ได้สืบสวนเรื่องการทุจริต เพียงแต่ประมาณการมูลค่าการทุจริต เสนอนำข้าวในสต๊อกบริจาคโครงการอาหารโลก

นิพนธ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังนำเสนอรายงานวิจัย

5 พ.ย. 57 รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หัวหน้าโครงการวิจัย ‘คอร์รัปชั่น กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด’ เผยรายงานวิจัยดังกล่าวในงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร..บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว” ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ณ โรงแรมเอเทรียม กรุงเทพฯ โดยยืนยันเป็นลำดับแรกว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานวิจัยนี้ ไม่เคยได้รับการข่มขู่ใดๆ จากรัฐบาล(ยิ่งลักษณ์) เลย นี่เป็นข้อดีของระบอบประชาธิปไตย

นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า โครงการจำนำข้าวปี 2554-57 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาทซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน ขาดทุนทั้งสิ้น 5.4 แสนล้านบาท ภายหลังการตรวจสต๊อกข้าว พบว่าข้าวร้อยละ 80 ไม่ผ่านมาตรฐาน ถ้าตีราคาสต็อกที่ 7,500 บาท จะขาดทุน 6.6 แสนล้านบาท  นโยบายจำนำข้าวก่อให้เกิดประโยชน์น้อยกว่าต้นทุนและความเสียหายจากการแทรกแซงตลาด คิดเป็นต้นทุนสวัสดิการ -1.23 แสนล้านบาท

มูลค่ารวมของการทุจริตในการระบายข้าว 0.94-1.09 แสนล้านบาท เป็นการทุจริตจากการระบาย 7.5 หมื่นล้านบาท การทุจริตสับเปลี่ยนข้าว 3.2 หมื่นล้านบาท และการทุจริตจากข้าวหายอีก 1.9 พันล้านบาท จากการสำรวจความเห็นผู้เข้าร่วมโครงการและผู้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเห็นว่ามีการทุจริตในโครงการอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และมีการทุจริตอยู่ในทุกระดับของการดำเนินงาน ค่าเช่าทางเศรษฐกิจมีมูลค่า 5.85 แสนล้านบาท หรือ 21% ของGDP เกษตรปี 2555-2556 ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษนี้ เป็นการถลุงทรัพยากรแท้จริงของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า หลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงการทุจริตในการระบายข้าวกับผู้บริหารนโยบายคือ รัฐบาลบริหารจัดการแบบขาดความรับผิดชอบ ปล่อยปะละเลยปัญหาการทุจริตในการระบายข้าว ไม่ใส่ใจกับรายงานข้าวหายจากโกดังกลาง การปิดบังข้อมูลปล่อยให้ค่าใช้จ่ายของโครงการรับจำนำบานปลาย

สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากโครงการจ านำข้าว ทางตรง รายได้จากการขายข้าวสูงขึ้น เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ พบว่า โครงการจำนำข้าวนาปี 2554/55 มีเกษตรกรที่ขายข้าวให้รัฐบาลเป็นจำนวน 1.06 ล้านราย ในฤดูการผลิตสุดท้าย คือ ฤดูนาปี 2556/57 จำนวน 1.66 ล้านราย โครงการจำนำข้าวนาปี 2555/56 เป็นรอบที่มีเกษตรกรขายข้าวให้รัฐบาลมากที่สุด คือ จำนวน 1.78 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าข้าว 239,002.93 ล้านบาท

ขณะที่ประโยชน์ทางอ้อม เกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้ราคาขายที่สูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากรัฐบาลตั้งราคารับซื้อข้าวในราคาที่สูง อย่างไรก็ตามประโยชน์โดยรวมเกษตรกรรายเล็กได้ประโยชน์จากโครงการฯ เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบจำนวนเกษตรกรกับมูลค่าข้าวที่ได้รับจากโครงการ กับเกษตรกรฐานะปานกลางและฐานะดี ซึ่งได้ประโยชน์ในสัดส่วนที่สูงกว่า

หลังจากนำเสนอรายงานศึกษาแล้ว นิพนธ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยกล่าวถึงการวิจัยศึกษาโครงการรับจำนำข้าวฯ ถึงประเด็นที่ว่า ขาดทุนเท่าไหร่ ทรัพยากรเสียหาเท่าไหร่ เบ็ดเสร็จแล้วปรากฏว่า ต้นทุนต่อสังคมมากกว่ามากกว่าประโยชน์ที่สังคมได้รับ 1.23 แสนล้านบาท สอง เราประมาณการขาดทุนทางด้านการคลัง ถ้าเอาตัวเลขในเดือน เม.ย.ก่อนที่จะมีการตรวจสต๊อก ขาดทุนอยู่ประมาณ 5.4 แสนล้าน แต่หลังจากที่มีการตรวจสต๊อกแล้ว พบว่ามีข้าวเสื่อมสภาพประมาณ 80% เราก็ประมาณการขาดทุนออกมา 6.6 ล้านบาท เป็นมูลค่าการทุจริตเฉพาะการระบายข้าวที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับสูงประมาณ 1.1 แสนล้านบาท อันนี้คือความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกเกือบ 17 ล้านตันเศษๆ มันจะมีปัญหาในการระบายมา เพราะรัฐบาลไม่อยากระบายข้าวแล้วทำให้ราคาข้าวในตลาดในประเทศตกต่ำ โดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวแล้ว ก็มีปัญหามาก เพราะฉะนั้นประสบการณ์ในอดีตข้าวที่อยู่ในสต๊อกขนาดมีน้อยกว่านี้เยอะ มีประมาณ 7-8 ล้านตัน รัฐบาลใช้เวลาระบายประมาณเกือบๆ 10 ปีแล้ว คราวนี้ก็ยิ่งมีปัญหามาก และยิ่งระบายช้าขาดทุนก็ยิ่งหนัก เพราะว่ามันจะมีค่าเก็บโกดัง ค่าจ้าง เก็บในโกดัง แล้วข้าวในโกดังก็จะเสื่อมราคา สักประมาณ 3-4 ปี ข้าวก็หมดสภาพแล้ว

ข้อเสนอของผมวันนี้เฉพาะข้าวที่เสื่อมคุณภาพคิดว่ากำจัดทั้งเถอะ ไม่มีประโยชน์ แต่ก็ยังเหลือเยอะ เพราะข้าวเสื่อมคุณภาพไม่เยอะ วันนี้ที่ตรวจพบจริง เลยเสนอว่าถ้าไม่อยากเป็นภาระให้บริจาคให้กับโครงการอาหารโลก บริจาคสักครึ่งหนึ่งเลยแล้วให้เขาเข้ามาบริหารจัดการเคลียร์โกดัง ค่าใช้จ่ายให้เขาดูแลเอง จะช่วยลดปริมาณสต๊อก ที่เหลือเราก็มาบริหารจัดการ

เราต้องคิดแล้วว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาตนเอง อาจมีเกษตรกรบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในฐานะพึ่งพาตนเองได้ ศักยภาพต่ำ เพราะฉะนั้นแนวทางการช่วยเหลือต่อไปต้องเริ่มมุ่งเป้าไปที่เกษตรกรที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จะทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร ซึ่งเป็นงานที่ต้องศึกษากันว่าจะปรับโครงสร้างภาคการเกษตรอย่างไรบ้าง แต่การใช้เงินไปแจกไปอุดหนุนราคาแบบนี้มันไม่ใช่เป็นแนวทางที่ช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ เพราะผลการศึกษาพบว่าเงินส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่เกษตรกรที่ยากจน แต่ไปตกอยู่กับเกษตรกรที่ไม่จำเป็นขอความช่วยเหลือ เพราะช่วยเหลือตนเองได้ ฐานนะดีกลับได้รับการช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มเกษตรกรที่ควรได้รับกาช่วยเหลือ

ต่อมาตราการจ่าย 1,000 บาทต่อไร่ นิพนธ์ มองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ว่าในระยะยาวไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาแน่นอน

ต่อมาตรการ จำนำยุ้งฉาง นิพนธ์ มองว่า ขณะนี้รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารสต๊อก เพราะถ้าไม่ชลอการขายข้าวขณะนี้ ราคาข้าวเปลือกที่อยู่ในการเก็บเกี่ยวจะตกลงมาแล้วจะเป็นผลกระทบ ไม่ใช่ว่าโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมาวันนี้กลายเป็นหอกทิ่มแทงเกษตรกร เพราะถ้าขืนระบายข้าวออกมาเกษตรกรก็จะเดือดร้อน แต่เก็บเอาไว้ประเทศก็จะเสียหายเพราะว่านอกจากค่าเก็บแล้ว ข้าวในสต๊อกก็จะเสื่อมคุณภาพลง

ต่อกรณีการเสื่อมของคุณภาพข้าวจากการเก็บไว้ในยุ้งฉางตามมาตรการจำนำยุ้งฉางนั้น นิพนธ์ กล่าวว่า ชาวนาปกติประเทศไทยเวลานี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้าวแล้วขายเลย ที่แล้วมาทุกๆ ปี ก่อนที่จะมีโครงการจำนำข้าว ประเทศไทยผลิตได้เท่าไหร่ก็ขายหมดมีเหลือสต๊อกสักปีหนึ่งในมือของเอกชนสัก 2 ล้านตัน ไม่มา เพราะเราขายหมด และชาวนาขณะนี้ความเป็นจริงขายข้าวเปลือกซื้อข้าวสารกิน

ผลการศึกษาที่ได้จะเป็นการนำเสนอต่อสาธารณะ เพราะมันเป็นบทเรียนราคาแพง อย่างเกิดวิกฤติเศรษกิจปี 40 นั้น แล้วรัฐบาลขณะนั้นเข้ามาอุ้มสถาบันการเงินแล้วรัฐบาลมีหน้า 2.7 ล้านล้าน ก็ออกพันธบัตรชำระหน้า มาวันนี้(โครงการรับจำนำข้าว) เราขาดทุนประมาณการเบื้องต้น 6 แสนกว่าล้านเข้าไปแล้ว เป็นหนี้จำนวนมากที่ประชาชนต้องแบกภาระ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะปล่อยให้มีโครงการนี้งอกต่อไป

ต่อข้อเสนอเรื่องการบริจากข้าวในสต๊อกให้โครงการอาหารโลกนั้น นิพนธ์ ขยายความว่า การเก็บไว้ในสต๊อกตอนนี้มีค่าใช้จ่ายและข้าวจะยิ่งเสื่อมคุณภาพ ซึ่งทุกวันนี้เป็นปัญหาที่ทำให้มีรายจ่ายที่จะต้องแบกรับ และถ้านำออกมาขายในตลาดวันนี้ในราคาถูกเลยชาวนาก็จะเดือดร้อน หากปล่อยไว้นสต๊อกแบบนี้ 10 ปี ภาระขาดทุนที่ประมาณการเกือบจะ 1 ล้านล้านบาท เราปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้เราต้องจัดการทางใดทางนึ่ง การบริจาคให้กับโครงการอาหารโลกก็เป็นการไปช่วยเหลือคนจนในโลกนี้ ในฐานที่เราเป็นมนุษยโลกเราควรมีมนุษยธรรมตรงนี้ไหม ในเมื่อเรามีอาหารเหลือจำนวนมาก ซึ่งปล่อยไว้จะเน่าเสีย ในที่สุดก็จะนำไปเททิ้ง การนำไปบริจาคในวันนี้จะช่วยชาวนาไม่ให้ราคาข้าวมันตกด้วย

“ผมไม่ได้สืบสวนเรื่องการทุจริต ผมประมาณการมูลค่าการทุจริต ประการที่หนึ่ง และผมดูว่าการทุจริตในการระบายข้าวมีหลักฐานเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ในระดับสูงอะไรบ้าง ผมทำแค่นั้น นักวิชาการไม่มีหน้าที่ไปสืบสวนการทุจริตหรือหาคนผิด อันนั้นเป็นงานของเจ้าหน้าทื่รัฐบาล” นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

บทคัดย่องานวิจัยดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการสัมมนา

บทสรุปสำหรับผู้บริหารงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการสัมมนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net