Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

วันนี้นั่งอ่านบทเรียบเรียงจากคำสัมภาษณ์ของอาจารย์ Yukti ในThe Chronicle of Higher Education, November 7, 2014 แล้ว รู้สึกสะท้อนใจในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาในประเทศไทย การวินิจฉัยปัญหาจากบรรดานักศีลธรรม รวมไปถึงการที่ท่านผู้นำเอ่ยถ้อยคำในความหมายที่ว่า ลดเสรีภาพลงหน่อยเพื่อการสร้างชาติ...นึกถึงจดหมายตอบโต้ของอ.สุลักษณ์ ต่อกรณีข้อวิพากษ์อย่างเป็นทางการของอ.นิธิ ผมคิดว่าอาจารย์เป็นธรรมต่อการวิจารณ์มาก ทำการบ้าน หนักแน่น และเคารพคู่วิวาทะด้วยมาก แต่อ.สุลักษณ์ทำตัวเหมือนนักโต้วาที แบบเด็กหัดโตชั้นมัธยมศึกษา

ข้อเขียนที่อ่านวันนี้ ทำให้นึกถึง คำว่าการถูกบังคับให้พลัดถิ่น (forced displacement) และการพลัดถิ่นโดยสมัครใจ (voluntary displacement) เป็นอย่างมาก แน่นอน คำทั้งสองมีเส้นแบ่งความแตกต่างที่เบาบางมากในแง่ของคำอธิบาย อะไรคือการบังคับและอะไรคือความสมัครใจ? ทว่า นักรัฐศาสตร์และนักความสัมพันธ์ต่างประเทศในภาพรวมต่างให้ความหมายเบื้องต้นว่าเกิดจากการผลักดันและใช้อำนาจของรัฐ ส่วนมากแล้วมักเกิดจากกองกำลังทหาร ความไม่เป็นธรรม รวมไปถึงความไม่ชอบธรรมต่างๆ ที่ถูกทำให้ชอบธรรม

คำที่อยู่เบื้องหลัง forced / voluntary displacement ก็คือคำว่า HOME บ้านทั้งในความหมายเชิงกายภาพและความรู้สึกผูกพัน

กรณีโรฮิงญาจากประเทศพม่าก็เช่นกัน พวกเขาถูกความไม่ชอบธรรมต่างๆ ที่รองรับโดยศาสนา กองกำลัง และความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในด้านต่างๆ จนพวกเขาต้องสมัครใจในการย้ายถิ่น พลัดที่นาคาที่อยู่ ออกเดินทางจากบ้านอย่างแทบจะไร้ความมั่นคงรองรับในอนาคตนั้น มันเป็นเรื่องที่โหดร้ายและสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับถอนรากถอนโคนทีเดียว ใครจะคาดคิดว่า พระจำนวนหนึ่งในประเทศพม่า จะกลายโฉมเป็นผู้ก่อการร้าย นำคนพุทธเข่นฆ่าและขับไล่โรฮิงญาอย่างเลือดเย็นและไม่รู้ร้อนหนาว

นักศีลธรรมช่างน่ากลัวยิ่งนัก

กรณีนักวิชาการชาวไทยจำนวนหนึ่งที่จำต้องพลัดถิ่นไปอยู่แดนอื่นก็เช่นกัน แม้พวกเขาจะมีความสะดวกสบายกว่าโรฮิงญามากมายนักจนมิอาจเปรียบกันได้ ทว่า สิ่งที่คล้ายกันคือ การพวกเขาก็ล้วนเป็นผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจจากการถูกบังคับโดยอำนาจรัฐเช่นเดียวกัน รัฐไทยในบางมิติยังน่าพรั่นพรึงเสียยิ่งกว่าพม่าเสียอีก ด้านหนึ่งพม่ากำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่การเลือกตั้ง การเจรจากับกลุ่มกองกำลังต่างๆ แน่นอน พม่าจำเป็นต้องทำเพื่ออยู่และการลงทุนในโลกเสรีนิยมใหม่ (กรณี โรฮิงญาคือข้อยกเว้นที่สุดขั้วมาก ในการดำเนินการของพม่า) แต่ประเทศไทย ความแนบเนียนของกลุ่มรัฐประหารยึดอำนาจรัฐคือการร่วมทางเดินเดียวกับสถาบันสำคัญของชาติคือ สถาบันกษัตริย์, ศาสนา, (อุดมการณ์) ชาติ และสถาบันสุดท้าย "(มวลมหา) ประชาชน"

ดังนั้นการหยิบ เอาโฉมหน้าผู้นำในไทยมาลงหนังสือพร้อมพาดหัว ในรูปแบบเดียวกับกรณีพระพม่ารูปหนึ่งถูกถ่ายภาพลงนิตยสาร TIME แล้วพาดหัวด้วยคำว่า The face of Buddhist Terror นั้น จึงไม่มีใครกล้าทำออกมาเลย การพลัดถิ่นโดยสมัครใจในความหมายนี้ของนักวิชาการหลายท่านอาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระดับวัฒนธรรมและวัฒนธรรมการเมืองของไทยเป็นอย่างมาก อาจสะท้อนไปได้ไกลกว่าความขัดแย้งทางการเมืองแบบตรงไปตรงมาเสียทีเดียว

เราจินตนาการคำว่า "บ้าน" แตกต่างกัน พร้อมกับขับไล่คนที่จินตนาการแตกต่างออกไป ผลักไสให้พวกเขากลายเป็น "คนแปลกหน้าในบ้านของตนเอง" แน่นอน บ้านทุกหลังจำเป็นต้องมีระบอบ มีกติกา ทว่า บ้านที่มีแต่ศีลธรรมและนักศีลธรรมที่ถือปืนได้นั้น เราคงไม่อาจเรียกว่าบ้าน สมาชิกในบ้านทุกคน แม้จะมีบทบาทต่างกัน ศักยภาพต่างกัน แต่ก็คือหนึ่งเสียงที่เท่ากัน หากทุกคนเอาศีลธรรมมาห้ำหั่นโจมตีใส่กันว่าใครน้อย ใครมาก ใครขาด ใครดี....บ้านที่อยู่ก็จะกลายเป็นวัด ทุกคนจะกลายเป็นพระ มองในแง่หนึ่งเหมือนจะดี แต่มันจะกลายเป็นพระหรือนักบวช ในคราบผู้ก่อการร้ายหน่ะสิ เข่นฆ่า ขับไล่ผู้อื่นในนามศีลธรรมและความแตกต่างอื่นๆ

ในแง่นี้ บ้านของเราจึงมิอาจเป็นบ้าน ต่อไปคงจะมีการเนรเทศคนออกจากบ้าน หรือไม่ก็เนรเทศตัวเองออกจากไปแน่ๆ...

ไม่สิ วันนั้นมันมาถึงแล้ว...
 


เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊กEthno-diary

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net